Skip to main content

Ethereum ในฐานะส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีในภาพกว้าง

ในปี 2014 เกวิน วู้ดได้นำเสนอ Ethereum ในฐานะหนึ่งในชุดเครื่องมือสามอย่างสามารถพัฒนาขึ้นได้ โดยอีกสองเครื่องมือคือ Whisper (ระบบส่งข้อความแบบกระจายศูนย์) และ Swarm (ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์) ในช่วงแรก Whisper ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่เมื่อโลกของคริปโตเริ่มหันไปทางด้านการเงินในปี 2017 เครื่องมือทั้งสองก็เริ่มเสื่อมความนิยมลง โชคดีที่ Whisper ยังไม่สูญหายไป และปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Waku ซึ่งถูกใช้งานในโปรเจคต่างๆ เช่นในแพลตฟอร์มส่งข้อความกระจายศูนย์อย่าง Status ในขณะเดียวกัน Swarm ก็ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แถมเรายังมี IPFS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการโฮสต์และให้บริการเว็บบล็อกที่ผมเขียนอยู่นี้ด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเติบโตของโซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์ เช่น Lens และ Farcaster เปิดโอกาสให้เรากลับมาพิจารณาชุดเครื่องมือเหล่านี้อีกครั้ง นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องมือใหม่ที่ทรงพลังมากเข้ามาเสริมทัพ คือ Zero Knowledge Proofs (ZKPs) เทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งาน (scalability) ของ Ethereum (อาทิ ZK rollups) แต่พวกมันยังมีประโยชน์มากในแง่ของความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการเขียนคำสั่งใหม่ลงไปได้ (programmability) ของ ZKPs ทำให้เราสามารถก้าวข้ามแนวคิดผิดๆ ที่ว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “การไม่ระบุตัวตนแต่เสี่ยง” กับ “การระบุตัวตนเต็มรูปแบบ (KYC) จึงปลอดภัย” และทำให้เราสามารถมีทั้งความเป็นส่วนตัวและการตรวจสอบหรือยืนยันตัวตนในรูปแบบต่างๆ ได้พร้อมกัน

ตัวอย่างของสิ่งนี้ในปี 2003 ก็คือ Zupass ระบบที่ใช้งาน ZKPs ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ซูซาลู (Zuzalu) โดยใช้ทั้งเพื่อยืนยันตัวตนแบบออฟไลน์สำหรับการเข้างาน และยืนยันตัวตนแบบออนไลน์เพื่อใช้งานระบบต่าง ๆ เช่น ระบบสำรวจความคิดเห็น Zupoll และแพลตฟอร์มหน้าตาคล้าย Twitter อย่าง Zucast เป็นต้น จุดเด่นสำคัญของ Zupass คือ คุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณเป็นผู้อาศัยในซูซาลู โดยไม่ต้องเปิดเผยว่าคุณเป็นใครในนั้น นอกจากนี้ ผู้อาศัยแต่ละคนในซูซาลู จะได้รับตัวตนเข้ารหัสแบบสุ่มที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละแอปพลิเคชัน (เช่น การลงคะแนนใน Zupoll) ที่พวกเขาลงชื่อเข้าใช้งาน Zupass ประสบความสำเร็จอย่างมาก และถูกนำไปใช้จัดการระบบจำหน่ายตั๋วในงาน Devconnect ในปีเดียวกันนั้นด้วย

การใช้งาน Zupass อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดจนถึงตอนนี้น่าจะเป็นการใช้สำหรับการลงคะแนนเสียง ระบบนี้ถูกใช้จัดการโพลในหลากหลายหัวข้อ บางหัวข้อเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวที่ผู้คนต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตน โดยใช้ Zupass เป็นแพลตฟอร์มลงคะแนนแบบไม่เปิดเผยตัวตน

จากตรงนี้ เราเริ่มเห็นภาพว่าโลก “ไซเฟอร์พังก์” ในแบบของ Ethereum อาจมีหน้าตาเป็นอย่างไรในทางเทคนิค เราสามารถถือสินทรัพย์ในรูปของ ETH หรือโทเคน ERC20 รวมถึง NFT ประเภทต่างๆ และใช้ระบบความเป็นส่วนตัวที่สร้างจาก stealth addresses และเทคโนโลยี Privacy Pools เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเรา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้ประโยชน์จากการไม่เปิดเผยตัวตนแบบเดียวกันนี้ได้

ไม่ว่าจะเพื่อการใช้งานภายใน DAOs เพื่อช่วยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโปรโตคอล Ethereum หรือเพื่อเป้าหมายอื่นๆ เราสามารถใช้ระบบการลงคะแนนแบบ zero-knowledge ซึ่งช่วยให้เรากำหนดคุณสมบัติต่างๆ เพื่อระบุว่าใครเป็นผู้มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน ยกตัวอย่างเช่น นอกจากการลงคะแนนด้วยโทเคนแบบที่ทำในปี 2017 เราอาจสร้างโพลแบบไม่ระบุตัวตนสำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมกับระบบนิเวศมาพอสมควร หรือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมากพอ หรือแม้แต่ระบบ หนึ่งคนหนึ่งเสียง

การชำระเงินทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายด้วยธุรกรรมราคาถูกมากบน Layer 2 (L2) ซึ่งใช้ประโยชน์จากพื้นที่ความพร้อมใช้งานของข้อมูล (data availability space) (หรือข้อมูลนอกเชนที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยด้วย Plasma) รวมถึงการบีบอัดข้อมูลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ใช้งาน การโอนเงินระหว่าง rollup สามารถทำได้ผ่านโปรโตคอลกระจายศูนย์อย่าง UniswapX โซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์สามารถใช้เลเยอร์จัดเก็บข้อมูลเพื่อบันทึกกิจกรรม เช่น โพสต์ การรีทวีต หรือการกดไลก์ และใช้ ENS (ซึ่งมีต้นทุนต่ำบน L2 ด้วย CCIP) เพื่อเป็นชื่อผู้ใช้งาน ระบบยังสามารถผสานรวมโทเคนที่อยู่บนเชนเข้ากับการยืนยันข้อมูลนอกเชนที่ผู้ใช้เก็บไว้เป็นส่วนตัว และการพิสูจน์ด้วยเทคโนโลยี ZK ผ่านระบบอย่าง Zupass ได้อย่างไร้รอยต่อ

กลไกใหม่ๆ อย่าง quadratic voting, cross-tribal consensus finding และ prediction markets สามารถช่วยให้องค์กรและชุมชนต่างๆ บริหารจัดการตัวเองได้ดีขึ้นและรับข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ บล็อกเชนและระบบตัวตนบนพื้นฐาน ZK-proofs ยังสามารถทำให้ระบบเหล่านี้ปลอดภัยจากการเซ็นเซอร์แบบรวมศูนย์จากภายในและการบิดเบือนข้อมูลจากภายนอก กระเป๋าที่มีระบบซับซ้อนขึ้นสามารถช่วยปกป้องผู้ใช้งานเมื่อใช้ dApps อินเทอร์เฟซผู้ใช้อาจถูกเผยแพร่ผ่าน IPFS และเข้าถึงได้ด้วยโดเมน .eth โดยที่แฮชของ HTML, JavaScript และซอฟต์แวร์อื่นๆ จะได้รับการอัปเดตบนเชนผ่าน DAO โดยตรง กระเป๋าสมาร์ทคอนแทรกต์ที่เริ่มพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานสูญเสียคริปโตมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์ จะพัฒนาต่อเพื่อปกป้อง “รากฐานตัวตน” (identity roots) ของผู้ใช้งาน โดยสร้างระบบที่ปลอดภัยยิ่งกว่าผู้ให้บริการตัวตนแบบรวมศูนย์ เช่น “ลงชื่อเข้าใช้ด้วย Google"

เราสามารถมอง Ethereum-verse (หรือ Web3) ว่าเป็นการสร้าง สแต็กโปรโตคอลเทคโนโลยีแบบอิสระ ซึ่งกำลังแข่งขันกับสแต็กโปรโตคอลแบบรวมศูนย์ในทุกระดับ หลายคนอาจเลือกใช้ทั้งสองระบบร่วมกัน และมีวิธีที่ชาญฉลาดในการทำให้ระบบทั้งสองนี้ทำงานเข้ากันได้ เช่น ZKEmail ซึ่งสามารถให้อีเมลของคุณเป็นในการ์เดี้ยนเพื่อกู้คืนโซเชียลวอลเล็ตของคุณได้! แต่การใช้ส่วนต่างๆ ของสแต็กแบบกระจายศูนย์ร่วมกันยังประโยชน์อีกหลายอย่างโดยเฉพาะหากเราออกแบบให้ส่วนเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้ดี

ข้อดีอย่างหนึ่งของการมองระบบในรูปแบบสแต็กคือมันสอดคล้องกับจิตวิญญาณแบบพหุนิยม (pluralist ethos) ของ Ethereum บิตคอยน์พยายามแก้ปัญหาแค่หนึ่งหรืออย่างดีก็แค่สองสามปัญหา แต่ Ethereum มีชุมชนย่อยที่มีเป้าหมายหลากหลาย ไม่มีเรื่องเล่าเรื่องเดียวที่ครอบงำ เป้าหมายของการสร้างสแต็กนี้คือเพื่อสนับสนุนความหลากหลายดังกล่าว ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้ระบบที่หลากหลายเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
Apolitical
บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)
Apolitical
บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)
Apolitical
บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals a
Apolitical
บทที่ 9 ปัจเจกชนนิยมกับอินทรียภาพนิยม (Individualism and Organi
Apolitical
บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)
Apolitical
บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเท่าเทียม
Apolitical
บทที่ 6 แนวคิดประชาธิปไตยสมัยโบราณและสมัยใหม่ 
Apolitical
บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitful
Apolitical
บทที่ 4 เสรีภาพกับอำนาจ &nb