บทที่ 11 ทรราชเสียงข้างมาก (the Tyranny of the Majority)
ตัวแทนที่ดีของปีกสองข้างของเสรีนิยมในยุโรปอย่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายราดิคัล ได้แก่ อเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวีลย์ และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1807-1873) นักเขียนฝ่ายเสรีนิยมคนสำคัญสองคนของศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งสองเป็นบุคคลร่วมสมัย (ต็อกเกอวีลย์เกิดก่อนมิลล์สองปี) ที่รู้จักและเคารพซึ่งกันและกัน มิลล์เขียนบทปริทัศน์ขนาดยาวเกี่ยวกับหนังสือ Democracy in America เล่มแรกลงใน London Review หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงให้กับฝ่ายราดิคัลในอังกฤษ[1] ในงานเขียนเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ตีพิมพ์หลังจากที่ต็อกเกอวีลย์เสียชีวิตไปแล้ว (1861) มิลล์ยังได้เตือนให้ผู้อ่านระลึกถึงงาน "ชิ้นเอก"[2] ของเพื่อนของเขา ขณะที่ต็อกเกอวีลย์เองได้เขียนจดหมายถึงมิลล์หลังได้อ่านบทความว่าด้วยเสรีภาพของฝ่ายหลัง (ในช่วงเวลาที่ตัวเขาเองใกล้จะสิ้นใจเต็มที) ว่า "ผมเชื่อมั่นว่าคุณตระหนักรู้อยู่เป็นนิจว่าในเรื่องเกี่ยวกับการเสาะแสวงหาผืนดินแห่งเสรีภาพนั้น พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกเสียจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"[3] เนื่องจากความแตกต่างทางขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และนิสัยใจคอ ผลงานของนักเขียนทั้งสองคนจึงสะท้อนลักษณะทางสังคม (communality) อันเป็นหัวใจของขนบของเสรีนิยมยุโรป 2 รูปแบบ ได้แก่ ในอังกฤษและในฝรั่งเศส ต็อกเกอวีลย์อุทิศเวลาหลายปีให้กับการศึกษาประชาธิปไตย และสะท้อนออกมาเป็นสังคมรูปแบบใหม่ที่มองการณ์ไกลไปในอนาคต ขณะที่มิลล์ ซึ่งไม่ได้มีทัศนคติคับแคบเหมือนเพื่อนร่วมชาติของตน กลับมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับความคิดของนักคิดฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่ก็องท์ (Comte, 1798-1857) เป็นต้นมา
ต็อกเกอวีลย์เป็นนักเสรีนิยมก่อนจะเป็นผู้นิยมประชาธิปไตย เขาเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าชีวิตในสังคมจำต้องวางอยู่บนและขับเคลื่อนไปด้วยเสรีภาพ ซึ่งเหนืออื่นใดก็คือ เสรีภาพทางศาสนาและศีลธรรม (เขาไม่ได้สนใจเสรีภาพทางเศรษฐกิจมากนัก) อย่างไรก็ตาม เขาตระหนักว่า การปฏิวัติได้ให้กำเนิดศตวรรษแห่งการใฝ่หาประชาธิปไตยอย่างผลีผลามและไม่หยุดหย่อน ทั้งยังไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งกระบวนการเช่นนี้ได้ ในบทนำของ Democracy in America เล่มแรก (1835) เขาตั้งคำถามว่า
มีสักคนหรือจะคิดจินตนาการว่า ประชาธิปไตยที่ได้ทำลายระบบฟิวดัลและกำจัดกษัตริย์องค์ต่าง ๆ จนหมดสิ้น จะถดถอยลงเบื้องหน้าชนชั้นกลางและผู้มั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลาย มันจะยุติในครานี้หรือ ในเวลาที่มันเติบโตจนแกร่งกล้า ขณะที่อริศัตรูทั้งหลายกำลังอ่อนกำลังลง[4]
เขาอธิบายว่า หนังสือของเขานั้นเขียนขึ้นภายใต้แรงกระตุ้นจากความเลื่่อมใสยำเกรงทางศาสนาบางประการที่ปะทุขึ้นจากภาพแสดงของ "การปฏิวัติที่มิอาจต้านทานได้" ซึ่งได้กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางต่าง ๆ มุ่งหน้าอย่างมั่นคง แม้อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังที่มันสร้างขึ้นมาเอง ภายหลังจากที่เขาเดินทางไปอเมริกา ที่ที่เขาพยายามจะทำความเข้าใจธรรมชาติของเงื่อนไขของสังคมประชาธิปไตยในโลกที่แตกต่างจากยุโรปอย่างยิ่ง และเป็นที่ที่เขาได้เห็น "ภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างที่มันเป็นจริง ๆ" ต็อกเกอวีลย์ก็ยังอุทิศเวลาทั้งชีวิตอยู่กับคำถามที่ว่า "เสรีภาพจะดำรงอยู่สืบต่อไปได้หรือไม่และอย่างไร ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย"
สำหรับต็อกเกอวีลย์ "ประชาธิปไตย" ในแง่มุมหนึ่ง หมายถึงรูปแบบของการปกครองที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ และนี่เองที่ทำให้มันแตกต่างจากระบอบอภิชนาธิปไตย ขณะที่อีกมุมหนึ่ง มันหมายถึงสังคมที่ดลใจด้วยความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ในท้ายที่สุดจะมีชัยเหนือโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมที่มีรากฐานอยู่บนความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับเพื่อนของเขาอย่างมิลล์ ต็อกเกอวีลย์เห็นว่า ประชาธิปไตยในฐานะรูปแบบการปกครองประเภทหนึ่ง จะนำมาซึ่งอันตรายจากทรราชของเสียงส่วนใหญ่ กล่าวคือ ประชาธิปไตยในฐานะการยอมรับในอุดมคติเรื่องความเท่าเทียมกันอย่างก้าวหน้า มาพร้อมกับอันตรายของการทำให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งท้ายที่สุดจะปรากฏออกมาในรูปของการปกครองแบบเผด็จการ นี่คือทรราชสองรูปแบบที่แม้จะแตกต่างกัน แต่เป็นการปฏิเสธเสรีภาพเหมือน ๆ กัน ข้อเท็จจริงที่ว่า ต็อกเกอวีลย์ไม่เคยแยกแยกความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยสองความหมายนี้ออกจากกันอย่างเด่นชัด อาจทำให้ผู้อ่านประเมินทัศนคติของเขาต่อประชาธิปไตยแตกต่างหรือขัดแย้งกับสิ่งที่เขาคิดจริง ๆ ในยามที่ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงขอบเขตของสถาบันต่าง ๆ ที่มีเกณฑ์วัดอยู่ที่การทำให้การมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองของประชาชนกลายเป็นที่ยอมรับ แต่หมายความถึง การยกระดับคุณค่าของความเท่าเทียมในสังคมและการเมือง หรือการทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันโดยไม่ใยดีต่อเสรีภาพ ต็อกเกอวีลย์แสดงให้เห็นว่าตัวเขาเองนั้นเป็นนักเสรีนิยมที่เหนียวแน่น ไม่ใช่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแต่อย่างใด เขาไม่เคยลังเลที่จะยกย่องเสรีภาพส่วนบุคคลให้เหนือกว่าความเท่าเทียมกันทางสังคม ในขณะที่เขาเชื่อว่า ผู้ที่นิยมในประชาธิปไตย แม้จะมีความโน้มเอียงตามธรรมชาติในการใฝ่หาเสรีภาพ ก็จะรู้สึกโหยหาความเท่าเทียมอย่าง "กระตือรือร้น, ไม่รู้จักพอ, อยู่ชั่วนิรันดร์, และไม่มีวันทำลายลงได้" ถึงแม้ว่า "พวกเขาต้องการความเท่าเทียมในอิสรภาพ" แต่หากไม่สามารถไขว่คว้ามาได้เสียแล้ว "พวกเขาก็ยังคงต้องการความเท่าเทียมในการเป็นทาส"[5] อยู่ดี พวกเขาจะอยู่ร่วมกันในความยากจน แต่จะไม่ยอมทนให้กับพวกผู้ลากมากดี
เขาอุทิศบทที่ 7 ของ Democracy in America เล่มแรกให้กับถกเถียงเกี่ยวกับทรราชเสียงข้างมาก หลักการที่ว่าคนส่วนใหญ่ควรมีอำนาจเหนือกว่าเป็นหลักการที่เน้นความเท่าเทียมกันในแง่ที่มันส่งเสริมการหมุนเวียนแพร่หลายของพลังของตัวเลขเหนืออำนาจของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง ข้อโต้แย้งนี้วางอยู่บนหลักที่ว่า "การรวมตัวของคนจำนวนมากนั้นย่อมมีความรู้และภูมิปัญญามากกว่าคนเพียงคนเดียว และจำนวนของผู้บัญญัติกฎหมายที่มากไว้ก่อนย่อมสำคัญกว่าประเด็นว่าพวกเขาถูกเลือกสรรมาเช่นไร นี่คือทฤษฎีของความเท่าเทียมที่เกี่ยวข้องกับสมอง"[6]
เมื่อคนส่วนใหญ่ทรงพลังอำนาจ ผลกระทบอันเลวร้ายต่าง ๆ ย่อมติดตามมาอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างเช่น ความไร้เสถียรภาพของฝ่ายนิติบัญญัติ การใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ความสอดคล้องลงรอยของความเห็น และความขาดแคลนผู้คนที่ควรค่าแก่การเคารพในพื้นที่สาธารณะ สำหรับเสรีนิยมอย่างต็อกเกอวีลย์ -ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของกษัตริย์หรือประชาชน- อำนาจก็คือความเลวร้ายทั้งสิ้น ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญกว่าจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ถือครองอำนาจ แต่เป็นหนทางในการควบคุมและจำกัดอำนาจเหล่านั้นเอาไว้ รัฐบาลจะถูกพิจารณาตัดสินว่าดีหรือเลว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในมือคนส่วนมากหรือส่วนน้อย แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลได้รับอนุญาตให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากหรือน้อยเพียงใดต่างหาก
ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายและอันตรายในตัวเอง ... ฉะนั้น จึงไม่มีอำนาจใด ๆ ในโลกที่โดยตัวมันเองแล้ว ควรค่าแก่การเคารพหรือมอบสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดที่ตัวข้าพเจ้าเองปรารถนา เพื่อให้กระทำสิ่งใดโดยปราศจากการควบคุมและครอบงำโดยไร้ซึ่งสิ่งกีดขวาง ด้วยเหตุนี้ เมื่อข้าพเจ้าพบว่า สิทธิหรือความสามารถในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ถูกมอบให้กับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเรียกว่าประชาชนหรือกษัตริย์ ประชาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตย ไม่ว่าฉากหลังของการใช้อำนาจจะเป็นระบอบกษัตริย์หรือสาธารณรัฐ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า เชื้อร้ายของทรราชอยู่ที่นั่น จากนั้น ข้าพเจ้าจะออกไปเสาะหาและใช้ชีวิตอยู่ภายใต้หลักกฎหมายอื่น ๆ ต่อไป[7]
ต็อกเกอวีลย์นั้นรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ถึงที่สุดแล้ว ความคิดแบบเสรีนิยมซึ่งให้คุณค่ากับอิสรภาพของปัจเจกชนในทางศีลธรรมและอารมณ์ความรู้สึกเหนือสิ่งอื่นใด ไม่อาจประนีประนอมกับความคิดว่าด้วยความเสมอภาคที่มองหาสังคมที่มวลสมาชิกทุกคนควรมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของความปรารถนา รสนิยม ความต้องการ และเงื่อนไขการใช้ชีวิต มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เขาเองไม่เคยเชื่อมั่นเลยจริง ๆ ว่า เสรีภาพจะดำรงอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตย แม้เขาจะไม่สามารถยอมรับความคิดที่ว่า เพื่อนร่วมชาติของเขาและลูกหลานในอนาคตจะไม่ใช่อะไรอื่น ๆ นอกจากทาสที่เป็นสุขได้เลยก็ตามที ในหน้าสุดท้ายของ "ผลงานชิ้นเอก" เล่มที่สอง (ตีพิมพ์ในปี 1940) ซึ่งเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดี เขาคาดการณ์ถึงช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยจะกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม เหตุเพราะมันเองได้พกพาเมล็ดพันธุ์ของเผด็จการชนิดใหม่ในรูปของรัฐบาลที่รวมศูนย์และมีอำนาจไม่จำกัดมาด้วย ด้วยการครุ่นคิดถึงความเข้าใจคลาสสิกเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่กงสต็องไม่ไว้วางใจ และถึงความคิดของรูโซเกี่ยวกับเจตจำนงทั่วไป ต็อกเกอวีลย์เขียนเอาไว้ว่า
ผู้คนร่วมสมัยของเรา ... นึกคิดถึงรัฐบาลที่มีเอกภาพ ทำหน้าที่คอยคุ้มครองรักษา และมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ กระนั้นก็ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนด้วย การรวมศูนย์อำนาจถูกผนวกรวมไว้กับอำนาจอธิปไตยของประชาชน และนั่นเปิดโอกาสให้ตนเองได้ผ่อนคลาย พวกเขาปลอบโยนตัวเองให้อุ่นใจถึงการอยู่ภายใต้การปกครองของคุณครู ด้วยการคิดเอาว่าพวกเขาได้เลือกคนเหล่านี้มาด้วยตัวเอง ... ภายใต้ระบบเช่นนี้ พลเมืองจึงละเลิกจากสภาพการไม่เป็นอิสระ เพียงให้นานพอที่จะเลือกผู้ปกครองของตน แล้วจากนั้นก็กลับไปสู่สภาวะดังกล่าวอีกครั้ง[8]
ประชาธิปไตยที่เข้าใจกันว่าคือการมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมของประชาชนทั้งมวล จึงไม่ใช่ทางแก้ไขที่เพียงพอในตัวเอง ยามเผชิญกับสังคมที่กำลังดำดิ่งสู่สภาวะที่มีเสรีน้อยที่สุด "เราไม่ควรคาดหวังว่า" เขาประกาศไว้ในตอนท้ายของข้อถกเถียง "รัฐบาลเสรีนิยมที่แข็งขันและเฉลียวฉลาด จะถือกำเนิดขึ้นได้จากการลงคะแนนของประชาชนผู้เป็นทาสรับใช้"[9] หากจะมีทางแก้สักทางหนึ่ง และต็อกเกอวีลย์เองก็ไม่เคยหยุดเชื่อว่ามีทางแก้นั้นอยู่ ทั้งยังไม่เคยหยุดที่จะเสนอว่ามันควรเป็นอย่างไร สิ่งนั้นก็สามารถเสาะหาได้จาก ประการที่หนึ่ง บทบัญญัติคลาสสิกของขนบเสรีนิยม และเหนือสิ่งอื่นใด จากการปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบางประเภท อาทิ เสรีภาพในการตีพิมพ์และการสมาคม รวมไปถึงเสรีภาพในสิทธิทั่วไปของปัจเจกชนซึ่งรัฐประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะละเลยในนามของผลประโยชน์ส่วนรวม ประการที่สอง จากบรรทัดฐานที่อย่างน้อยที่สุดได้รับรองความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย และประการท้ายที่สุด จากการกระจายอำนาจ
ด้วยเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เขาเป็นนักเสรีนิยมก่อนจะเป็นนักประชาธิปไตย ต็อกเกอวีลย์จึงไม่เคยสนับสนุนสังคมนิยมเลย ในทางตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เขาแสดงความเกลียดชังอย่างลึกซึ้งต่อสังคมนิยม คนหนึ่ง ๆ สามารถเป็นได้ทั้งเสรีนิยมแนะผู้นิยมประชาธิปไตย หรือเป็นผู้นิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมในเวลาเดียวกัน ทว่าการเป็นทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยมเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก หากว่ากันด้วยรากฐานของการเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตยกับอุดมคติอันสูงส่งของเสรีภาพ ต็อกเกอวีลย์ก็ไม่เคยนิยมชมชอบในประชาธิปไตยเลย กระนั้น เขากลับกลายเป็นผู้ที่ปกป้องหลักการประชาธิปไตยในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคมนิยม ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการปรากฏตัวของรัฐแบบรวมหมู่ (collective state) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมของบีเวอร์มากกว่าสังคมของมนุษย์ ในวันที่ 12 กันยายน 1848 เขาได้กล่าวปาฐกถา ณ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับสิทธิ์ในการทำงาน ที่นั่น เขาได้อ้างถึงและยกย่องประชาธิปไตยแบบอเมริกันเอาไว้ด้วยการประกาศว่า มันได้รอดพ้นจากภยันตรายของเชื้อภัยของสังคมนิยมอย่างสมบูรณ์ เขากล่าวต่อไปว่า ประชาธิปไตยและสังคมนิยมไม่มีทางไปด้วยกันได้ "มันไม่เพียงแตกต่าง แต่อยู่ตรงข้ามกัน" ทั้งสองมีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกัน นั่นคือ "ประชาธิปไตยต้องการความเท่าเทียมในระดับที่ทุกคนได้ใช้เสรีภาพ ขณะที่สังคมนิยมต้องการความเท่าเทียมในระดับของการแทรกแซงและการเป็นทาส"[10]
[1] J.S. Mill, “Tocqueville on Democracy in America”, London Review, June-January 1835-36, pp. 85-129.
[2] J.S. Mill, Utilitarianism, Liberty, Representative Government, Dent, London 1962, p. 277.
[3] อ้างถึงในรวมงานเขียนของต็อกเกอวีลย์ในภาษาอิตาเลียน, D. Confrancesco, ed. Guida, Naples 1971, p. 13.
[4] Tocqueville, Democracy in America, vol. 1, p. 8.
[5] Ibid., vol. 2, p. 650.
[6] Ibid., vol. 1, p. 305.
[7] Ibid., vol. 1, p. 311.
[8] Ibid., vol. 2, pp. 899-900.
[9] Ibid., vol. 2, p. 901.
[10] Tocqueville, Discours sur la revolution sociale (1848).