Skip to main content

บทที่ 9 ปัจเจกชนนิยมกับอินทรียภาพนิยม (Individualism and Organicism)

 

ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นเป็นไปได้เพราะทั้งสองมีจุดตั้งต้นร่วมกันอยู่ที่ปัจเจกชน ทั้งคู่ต่างตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องสังคมแบบปัจเจก ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองทั้งมวลถูกแบ่งแยกโดยคู่ขัดแย้งสำคัญระหว่างอินทรียภาพนิยม (องค์รวม) กับปัจเจกชนนิยม (หน่วยย่อย) ถึงแม้จะปราศจากรูปแบบอันเป็นหนึ่งเดียว แต่เราสามารถพูดอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า อินทรียภาพนิยมนั้นเป็นสิ่งโบราณและคลาสสิก ขณะที่ปัจเจกชนนิยมเป็นสิ่งทันสมัย (หรืออย่างน้อยที่สุด ปัจเจกชนนิยมก็เป็นรากฐานให้กับทฤษฎีของรัฐสมัยใหม่) ซึ่งนี่ใกล้เคียงกับความจริงมากว่าความเข้าใจทางประวัติศาสตร์แบบกงสต็องที่เห็นประชาธิปไตย (โบราณ) อยู่ตรงข้ามกับเสรีนิยม (สมัยใหม่) สำหรับอินทรียภาพนิยม รัฐคือองคาพยพหนึ่ง เป็นโครงสร้างทั้งมวลที่ประกอบด้วยผู้คนหน่วยย่อยที่ต่างมีชะตากรรมของตัวเอง และตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยปัจเจกคนแต่ละคน (uti singuli) ไม่ได้ถือครองสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนอย่างเป็นอิสระแต่อย่างใด กลับกัน ปัจเจกชนนิยมเห็นว่า รัฐคือการรวมตัวของปัจเจกชน และรูปแบบของรัฐมาจากการกระทำและความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นระหว่างปัจเจกแต่ละคน ในหน้าแรก ๆ ของ Politics อริสโตเติลได้บัญญัติคำอธิบายเกี่ยวกับหลักการอันเป็นรากฐานของอินทรียภาพนิยม นั่นคือ "ส่วนทั้งหมดนั้นสำคัญกว่าส่วนย่อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากร่างกายทั้งหมดถูกทำลาย ก็ย่อมเหลืออะไรตั้งแต่หัวจรดเท้า" เราจะเห็นว่า "นครรัฐมีอยู่โดยธรรมชาติ และเป็นสิ่งสำคัญกว่าปัจเจกชน"[1] ไม่มีทฤษฎีปัจเจกชนนิยมที่สมบูรณ์ใด ๆ เกิดขึ้นจนกระทั่งถึงฮอบส์ ผู้เสนอสมมติฐานเกี่ยวกับสภาวะธรรมชาติที่มีแต่ปัจเจกผู้ถูกแยกออกจากกันด้วยผลประโยชน์และความปรารถนาที่จะกดขี่กันเอง และถูกบังคับให้เข้าสู่สังคมการเมืองด้วยฉันทามติร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะรวมหมู่ ผลลัพธ์สำคัญของการกลับหัวกลับหางจุดตั้งต้นก่อนหน้าคือ การก่อกำเนิดความคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในความคิดแบบเสรีนิยม มโนทัศน์เรื่องความสอดคล้องแบบอินทรียภาพอันเป็นที่มั่นที่ทำให้รัฐมีความสำคัญและอยู่เหนือกว่าส่วนอื่น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ มิได้เปิดพื้นที่ให้กับการกระทำที่เป็นอิสระจากส่วนทั้งหมด ไม่มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ และไม่อาจอธิบายถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นนามธรรม ซึ่งได้รับการตอบสนองจากความสัมพันธ์ร่วมกับปัจเจกคนอื่น ๆ (ในตลาด) จากผลประโยชน์สาธารณะได้ ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยมีรากฐานอยู่บนมโนทัศน์เรื่องอำนาจที่มาจากเบื้องล่าง และมองความเข้าใจที่แตกต่างกันเกี่ยวกับอำนาจแบบอินทรียภาพนิยมที่ได้รับมาจากเบื้องบน ว่าเป็นการกระตุ้นเสริมรูปแบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ เหตุเพราะเป็นเรื่องยากที่จะคิดจินตนาการถึงอินทรียภาพนิยมภายใต้การปกครองของมวลหมู่สมาชิก ไม่ใช่โดยท่านผู้นำ

 

จำต้องเสริมว่า ขณะที่เสรีนิยมและประชาธิปไตยเป็นมโนทัศน์แบบปัจเจกชนนิยม ปัจเจกของเสรีนิยมก็ไม่ได้เหมือนกับปัจเจกของประชาธิปไตย หรือพูดให้ชัดคือ ผลประโยชน์เชิงปัจเจกที่เสรีนิยมปกป้องไม่เหมือนกับที่ประชาธิปไตยปกป้อง สิ่งนี้อาจชี้ให้เห็นถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมการผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยกับเสรีนิยมจึงเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้จำเป็นเสมอไป

 

ไม่มีมโนทัศน์เกี่ยวกับสังคมแบบปัจเจกชนนิยมใด ๆ ที่ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม (social being) หรือเห็นว่าปัจเจกนั้นอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราไม่ควรสับสนระหว่างปัจเจกชนนิยมกับอนาธิปัตย์นิยมทางปรัชญา (philosophical anarchism) ที่สไตร์เนอร์ (Stirner, 1806-1856) เสนอไว้ อย่างไรก็ดี เสรีนิยมและประชาธิปไตยนั้นแตกต่างกันในเรื่องของทิศทางที่ทั้งสองเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคม เสรีนิยมนั้นตัดปัจเจกชนออกจากองคาพยพแบบอินทรีย์ ให้พวกเขาใช้ชีวิตหรืออย่างน้อยส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่นอกครรภ์มารดา ผลักพวกเขาเข้าสู่โลกของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอันแสนอันตรายและไม่มีใครรู้จักใคร ขณะที่ประชาธิปไตยพาปัจเจกเข้าหาปัจเจกคนอื่น ๆ เพื่อให้สังคมที่ไม่ใช่สังคมองค์รวมอินทรีย์อีกต่อไป แต่คือการรวมตัวของปัจเจกที่เสรี สามารถก่อตัวขึ้นอีกครั้งจากความเป็นหนึ่งเดียวกันของพวกเขาเอง เสรีนิยมปกป้องและป่าวประกาศถึงเสรีภาพของปัจเจกชนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐทั้งในพื้นที่ทางเศรษฐกิจและจิตวิญญาณ ขณะที่ประชาธิปไตยสร้างความปรองดองระหว่างปัจเจกกับสังคม ด้วยการทำให้สังคมเป็นผลผลิตของข้อตกลงร่วมกันระหว่างปัจเจกชน สำหรับเสรีนิยม ปัจเจกชนคือผู้กระทำการทุกอย่างที่อยู่ภายนอกขอบเขตการควบคุมของรัฐ สำหรับประชาธิปไตย ปัจเจกคือผู้กระทำการในรัฐที่แตกต่างออกไป นั่นคือ ในรัฐที่การตัดสินใจร่วมกันเกิดขึ้นจากปัจเจก หรือไม่ก็โดยผู้แทนของพวกเขาโดยตรง เสรีนิยมให้ความสำคัญกับความสามารถของปัจเจกในการสร้างชีวิตตัวเอง ความสามารถในการพัฒนาความสามารถของตน และความก้าวหน้าทางปัญญาและศีลธรรม บนเงื่อนไขของอิสรภาพที่พ้นจากพันธนาการจากภายนอกที่ห้อมล้อมเขาไว้ด้วยการบังคับขู่เข็ญ ขณะที่ประชาธิปไตยเคารพในความสามารถของปัจเจกในการเอาชนะความโดดเดี่ยว ด้วยการออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ที่เปิดทางให้สถาบันที่ใช้อำนาจร่วมกันโดยไม่เป็นทรราชเกิดขึ้นได้ จากแง่มุมเกี่ยวกับปัจเจกชนนิยมทั้งสองแบบนี้ เสรีนิยมนั้นมองไปยังแง่มุมภายใน ขณะที่ประชาธิปไตยมองออกมาภายนอก สิ่งที่เป็นคำถามก็คือ ความเป็นไปได้ของปัจเจกสองแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ ปัจเจกในฐานะส่วนเล็ก ๆ (microcosm) หรือส่วนทั้งหมดที่สมบูรณ์ในตัวเอง กับปัจเจกในฐานะอนุภาค (หน่วยย่อย) ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ทว่าอาจรวมหรือรวมกันขึ้นใหม่กับอนุภาคที่คล้ายกันอื่น ๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย จนก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพแบบสมมติ (ที่แบ่งตัวได้เสมอ) ขึ้นมา

 

ปัจเจกชนนิยมแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่างเกิดขึ้นจากการต่อสู้กับอินทรียภาพนิยมที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน ด้วยกระบวนการเฉพาะแบบเดียวกัน สำหรับปัจเจกชนนิยมเสรี กระบวนการนั้นเกิดจากการค่อย ๆ บ่อนเซาะความเป็นองค์รวม คล้ายกับกิริยาท่าทางของเด็กเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ที่ถอยห่างตัวเองออกจากกลุ่มดั้งเดิมที่เปี่ยมด้วยอำนาจอันล้นพ้น จนได้มาซึ่งพื้นที่ของการกระทำของปัจเจกที่กว้างขวางขึ้้นของตนเอง อีกทางหนึ่ง สำหรับปัจเจกชนนิยประชาธิปไตย กระบวนการนี้เกิดจากการสลายตัวภายในของการหลอมรวมทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียว จนเกิดเป็นส่วนประกอบที่ก่อตัวขึ้นภายนอกอันเป็นอิสระทั้งจากกันเองและจากส่วนทั้งหมด และยังสามารถกำหนดชีวิตตัวเองต่อไปได้ ผลกระทบของกระบวนการแรก คือการลดอำนาจสาธารณะให้เหลือน้อยที่สุด ขณะที่ผลของกระบวนการที่สอง คือการสร้างอำนาจสาธารณะขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการสร้างใหม่ผ่านผลรวมของอำนาจเฉพาะของแต่ละคน อย่างที่เห็นชัดในทฤษฎีสัญญาประชาคมที่มองว่า รัฐตั้งอยู่บนหลักการของสถาบันทางกฎหมายที่คล้ายคลึงกับสัญญา และเป็นพื้นที่ของสิทธิส่วนบุคคลซึ่งได้รวมเจตจำนงเฉพาะของแต่ละคนเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเจตจำนงส่วนรวม 

 

 

[1] Aristotle, Politics 1253a, trans. E. Barker, Clarendon Press, Oxford 1948, pp. 7-8.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา