Skip to main content

บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)

 

จากที่พิจารณาไปข้างต้น ไม่มีหลักการเกี่ยวกับความเท่าเทียมที่เชื่อมโยงกับการรุ่งเรืองขึ้นของรัฐเสรีนิยมใด ๆ เกี่ยวข้องกับหลักเสมอภาคนิยมประชาธิปไตยซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมไปถึงการเสาะหาอุดมคติบางประการของความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอันแปลกแยกออกจากความคิดแบบเสรีนิยม ตลอดมา นอกเหนือจากความเท่าเทียมกันตามกฎหมายแล้ว หลักการเสมอภาคนิยมประชาธิปไตยได้ยอมรับความเท่าเทียมกันในโอกาส ซึ่งเสนอความเท่าเทียมแก่ปัจเจกในช่วงของการออกเดินทาง ไม่ใช่ช่วงเริ่มต้น ดังนั้น ในเรื่องนี้ โครงสร้างที่เป็นไปได้ต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียม เสรีนิยม และประชาธิปไตย จึงถูกกำหนดให้เดินตามเส้นทางที่แยกห่างจากกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตลอดช่วงเวลาอันยาวนานทางประวัติศาสตร์ ทั้งสามจึงขัดแย้งกันเสมอ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ประชาธิปไตยจะสามารถเป็นส่วนขยายและทำให้รัฐเสรีนิยมเป็นจริงโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร และประชาธิปไตยจะพิสูจน์ความถูกต้องของวลี 'เสรีนิยม-ประชาธิปไตย' (liberal-democratic) ที่เราใช้อธิบายระบอบการปกครองจำนวนหนึ่งในทุกวันนี้ได้อย่างไร ไม่เพียงแต่เสรีนิยมจะไปด้วยกันได้กับประชาธิปไตย แต่เราสามารถมองประชาธิปไตยได้ว่าเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของเสรีนิยมอีกด้วย หากเพียงเราไม่ได้คิดถึงอุดมคติเกี่ยวกับแง่มุมความเท่าเทียมกันของประชาธิปไตย แต่เป็นคุณลักษณะ (character) ของประชาธิปไตยในฐานะแบบแผนทางการเมือง (political formula) ที่ประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชน เราสามารถใช้อธิปไตยของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อพลเมืองส่วนใหญ่ได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินในร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีการขยายสิทธิทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่ผู้ชายและผู้หญิงทุกคนสามารถเลือกตั้งได้โดยข้อจำกัดเพียงประการเดียวคือเกณฑ์อายุขั้นต่ำ (ซึ่งโดยทั่วไปมักมาพร้อมกับอายุของคนส่วนใหญ่ตามกฎหมาย) ถึงแม้นักเขียนฝ่ายเสรีนิยมหลายคนจะเห็นว่า การขยายสิทธิการเลือกตั้งเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่พึงปรารถนา และแม้ระหว่างช่วงเวลาของการก่อรูปรัฐเสรีนิยมขึ้นมา จะมีเพียงผู้ที่ถือครองทรัพย์สินเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงได้ กระนั้น สิทธิการเลือกตั้งที่เป็นสากล โดยหลักการแล้ว ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับทั้งรัฐบนฐานคิดเรื่องสิทธิและรัฐที่มีอำนาจจำกัดแต่อย่างใด ฉะนั้น นี่จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยระหว่างหลักการสองประการที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมา ถึงแม้ว่าใจตอนเริ่มแรกจะเป็นไปได้ที่รัฐเสรีนิยมจะเติบโตมาพร้อมกับความไม่เป็นประชาธิปไตย (เว้นก็แต่หลักการในคำประกาศ) แต่ในทุกวันนี้ รัฐเสรีนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกจะเป็นสิ่งที่จินตนาการได้ยาก เช่นเดียวกับรัฐประชาธิปไตยที่ไม่เสรี โดยสรุป จึงมีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่า (1) กระบวนการประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคลอันเป็นรากฐานของรัฐเสรีนิยม และ (2) สิทธิเหล่านั้นจำต้องได้รับการคุ้มคร้อง หากต้องการให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงานได้  

 

ในประเด็นแรก ควรต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่จะรับประกันว่า สิทธิในการมีเสรีภาพจะได้รับการป้องกันให้พ้นจากการจำกัดหรือหยุดยั้งโดยผู้ปกครอง คือความสามารถของพลเมืองในการปกป้องสิทธิเหล่านั้นจากการละเมิดด้วยตัวเอง ถึงตอนนี้ หนทางที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่  (ดีที่สุดเท่าที่มี ไม่ได้หมายความว่า สมบูรณ์แบบ หรือ ไม่มีข้อผิดพลาด) ในการปกป้องสิทธิของตนจากการใช้อำนาจในทางที่ผิดทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนและพลเมืองจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในการก่อร่างสร้างกฎหมายขึ้นมาเอง จากจุดนี้ สิทธิทางการเมืองจึงเป็นผลลัพธ์โดยธรรมชาติของสิทธิที่จะมีเสรีภาพ พูดด้วยภาษาของเยลลิเนค (Jellinek 1851--1911) ก็คือ สิทธิของพลเมืองที่แข็งขัน (iura activae civitatis)นั้นเป็นเครื่องป้องกันสิทธิในเสรีภาพและความเป็นพลเมือง (iura libertatis et civitatis) ที่ดีที่สุด ในขณะที่ ในระบอบการเมืองที่ไม่ได้วางรากฐานอยู่บนอำนาจอธิปไตยของประชาชน เครื่องป้องกันสิทธิของประชาชนก็ขึ้นอยู่กับสิทธิตามธรรมชาติในการต่อต้านการกดขี่เพียงอย่างเดียว  

 

เชื่อมโยงกับประเด็นที่สอง ถึงตรงนี้ เราไม่ได้กำลังสนใจความจำเป็นของประชาธิปไตยต่อความอยู่รอดของรัฐเสรีนิยม แต่เป็นความจำเป็นของการยอมรับในสิทธิอันไม่อาจล่วงละเมิดได้ หากหวังให้ประชาธิปไตยทำงานได้อย่างราบรื่นมากกว่า เราต้องตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การลงคะแนนเสียงจะเป็นการใช้อำนาจทางการเมือง  (หมายถึง การใช้อำนาจในการกำหนดการตัดสินใจร่วมกัน) อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อการลงคะแนนเป็นไปอย่างเสรี หรือพูดอีกทางหนึ่งคือ ต่อเมื่อปัจเจกชนผู้ลงคะแนนสามารถใช้ประโยชน์จากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อมวลชนที่มีเสรี สิทธิในการรวมตัวชุมนุมอย่างเสรี และเสรีภาพอื่น ๆ ทั้งหมดที่เป็นหัวใจของรัฐเสรีนิยม และเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงลวง ๆ  

 

ความคิดแบบเสรีนิยมและกระบวนการประชาธิปไตยค่อย ๆ ผสมผสานกันเข้าเรื่อย ๆ ในขณะที่เป็นความจริงที่ว่าสิทธิในการมีเสรีภาพเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการปรับใช้กฎกติกาประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นความจริงเช่นกันที่พัฒนาการของประชาธิปไตยได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องสิทธิในการมีเสรีภาพตลอดมา ทุกวันนี้ รัฐประชาธิปไตยเท่านั้นที่ถือกำเนิดจากการปฏิวัติเสรีนิยม และเฉพาะในรัฐประชาธิปไตยเท่านั้นทีสิทธิของมนุษย์จะได้รับการปกป้อง ทำนองเดียวกัน รัฐเผด็จการทุกรัฐในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นรัฐที่ไม่เสรีและไม่เป็นประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา