เอฟ. สก็อต ฟิตเจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เขียนข้อความที่เป็นที่รู้จักกันดีไว้ว่า พวกมหาเศรษฐีนั้น “แตกต่างจากคุณและผม” ความมั่งคั่งทำให้พวกเขา “ถากถางในสิ่งที่เราเชื่อมั่น” และทำให้พวกเขาคิดว่า “ตนเองนั้นดีเลิศกว่าใคร ๆ” หากถ้อยความเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นจริงอยู่ในขณะนี้ บางทีอาจเป็นเพราะเมื่อตอนที่ฟิตเจอรัลด์เขียนไว้ในปี 1926 ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาได้ทะยานสูงเทียบเท่ากับปัจจุบัน
เกือบตลอดช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงทศวรรษ 1980s ความเหลื่อมล้ำในประเทศชั้นแนวหน้าอยู่ในระดับปานกลาง ช่องว่างระหว่างมหาเศรษฐีกับคนส่วนอื่นของสังคม ไม่เฉพาะด้านของรายได้และความมั่งคั่ง แต่รวมถึงความผูกพันทางอารมณ์และเป้าหมายทางสังคม ดูไม่ค่อยใหญ่โตอะไรมากนัก แน่นอน คนรวยมีเงินทองมากกว่า แต่พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกันกับคนยากคนจน โดยตระหนักว่า สภาพภูมิศาสตร์และความเป็นพลเมืองทำให้พวกเขาต้องร่วมแบ่งปันชะตากรรมร่วมกัน
ตามที่มาร์ก มิซรูชิ (Mark Mizruchi) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ชนชั้นนำในบรรษัทต่าง ๆ (corporate elite) ในยุคหลังสงคราม มี “จริยธรรมสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและตระหนักถึงปัญหาของของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” พวกเขาร่วมมือกับสหภาพแรงงานและสนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของรัฐบาลในการกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด พวกเขาเข้าใจดีถึงความจำเป็นในการจ่ายภาษีเพื่อนำไปสร้างสินค้าสาธารณะที่สำคัญ ๆ อาทิ ทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ และโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้กับคนยากคนจนและคนชรา
ในช่วงเวลานั้น ชนชั้นนำในภาคธุรกิจไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองมากมายนัก แต่พวกเขาใช้อิทธิพลของตนในการผลักดันระเบียบวาระต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ
ตรงกันข้าม มหาเศรษฐีในทุกวันนี้เป็นพวกที่ซูโรวีคกี (Surowiecki) เรียกว่า “เศรษฐีขี้โวยวาย” (Moaning moguls) ตัวอย่างที่ดีที่เขายกมาคือ สตีเฟน ชวาร์ซแมน (Stephen Schwarzman) ประธานและผู้บริหารสูงสุดของ Blackstone Group บริษัทลงทุนหุ้นนอกตลาด (Private equity firm) ผู้มีมูลค่าสินทรัพย์ส่วนตัวสูงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.2 แสนล้านบาท)
ชวาร์ซแมนทำราวกับ “ตัวเองถูกรุมเร้าโดยรัฐบาลที่จุ้นจ้านและจ้องแต่จะเก็บภาษี กับพวกคนขี้อิจฉาที่เอาแต่ร้องครวญคราง” เขาเสนอว่า “คงเป็นเรื่องดีที่จะเก็บภาษีรายได้จากคนจนให้มากขึ้น เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ “มีส่วนได้ส่วนเสีย” (had skin in the game) ทั้งยังโจมตีแผนการอุดช่องโหว่ของการเก็บภาษีกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (carried-interest tax) ซึ่งตัวเขาเองเคยได้ประโยชน์ ว่าไม่ต่างอะไรกับการที่เยอรมันยกทัพบุกโปแลนด์” ตัวอย่างอื่น ๆ สำหรับซูโรวีคกีคือ “ทอม เพอร์กินส์ (Tom Perkins) และเคนเนธ แลงกอน (Kenneth Langone) สองนายทุนร่วมลงทุนผู้ร่วมก่อตั้ง Home Depot ซึ่งต่างก็เปรียบเทียบการที่ประชาชนโจมตีคนรวยว่าเหมือนกับนาซีโจมตีชาวยิว”
ซูโรวีคกีคิดว่า ทัศนคติของชนชั้นนำที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับโลกาภิวัตน์ ทุกวันนี้ บรรษัทและธนาคารขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกันได้ตะลอนไปทั่วโลกอย่างอิสระ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศอีกต่อไป สุขภาพของชนชั้นกลางชาวอเมริกันเป็นเรื่องที่พวกเขาแทบจะไม่แยแสอีกแล้ว ซูโรวีคกีโต้แย้งว่า ยิ่งไปกว่านั้น สังคมนิยมเองกลับกลายเป็นเรื่องล้าสมัย จนทำให้พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องไปร่วมมือกับชนชั้นแรงงาน
กระนั้น หากพวกเศรษฐีในบรรษัทต่าง ๆ คิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐบาลของตนอีกต่อไป พวกเขาก็กำลังเข้าใจผิดอย่างรุนแรง สภาพความเป็นจริงคือ เสถียรภาพและความเปิดกว้างของตลาดอันเป็นที่มาของความมั่งคั่งของพวกเขา ไม่เคยพึ่งพิงการดำเนินการของรัฐบาลมากเท่าที่เป็นอยู่เลย
ในช่วงเวลาของความสงบ บทบาทของรัฐในการร่างและสนับสนุนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้ตลาดทำงานได้อาจจะคลุมเครือ จนดูเหมือนตลาดเป็นเครื่องบินไร้คนขับที่ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนจากรัฐบาลให้มากที่สุด
แต่เมื่อเมฆดำของวิกฤตเศรษฐกิจปกคลุมเส้นขอบฟ้า ทุกคนกลับพยายามมองหาที่กำบังภายใต้ชายคาของรัฐบาล ช่วงเวลานี้เองที่ความสัมพันธ์ที่โยงใยบรรษัทขนาดใหญ่กับแหล่งกำเนิดของมันปรากฏให้เห็นเด่นชัด อย่างที่อดีตผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ เมอร์วิน คิง (Mervyn King) พูดถึงบริบททางการเงินเอาไว้ว่า “ธนาคารระหว่างประเทศนั้นมีชีวิตอยู่ทั่วโลก แต่มีความตายอยู่ในประเทศ”
ลองพิจารณาดูว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นมือเข้าไปช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ด้วยวิธีการอย่างไร หากรัฐบาลไม่ช่วยอุ้มทั้งธนาคารขนาดใหญ่ บรรษัทประกันยักษ์ใหญ่อย่าง AIG และอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่อัดฉีดเงินเข้าไปในกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของพวกมหาเศรษฐีคงพังทลายไปหมดแล้ว หลายคนโต้แย้งว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้เป็นเจ้าของบ้านมากกว่า ทว่าแทนที่จะเป็นเช่นนั้น รัฐบาลกลับเลือกสนับสนุนธนาคารต่าง ๆ อันเป็นแนวนโยบายที่ชนชั้นนำทางการเงินได้ประโยชน์มากที่สุด
พวกมหาเศรษฐีพึ่งพิงการสนับสนุนและการดำเนินการของรัฐบาลไม่เว้นกระทั่งช่วงเวลาปกติ รัฐบาลนี่เองที่ให้การสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่การทำวิจัยที่นำมาสู่การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและบริษัทน้อยใหญ่ที่เกิดตามมา (อย่างเช่น Apple และ Microsoft)
รัฐบาลยังออกและบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าที่คอยคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และรับรองการผูกขาดผลกำไรในระยะยาวให้กับผู้สรรค์สร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลยังอุดหนุนสถาบันการศึกษาระดับสูงเพื่อฝึกอบรมกำลังแรงงานที่มีฝีมือ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเจรจาต่อรองข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพื่อรับรองว่า บริษัทในประเทศของตนจะสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้
หากมหาเศรษฐีทั้งหลายเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและแทบจะไม่ต้องการรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ก็ไม่ใช่เพราะความเชื่อนี้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงภายนอก แต่เพราะเรื่องเล่าที่ได้ยินกันทั่วไปในยุคสมัยของเรา ได้ฉายภาพของตลาดในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองและขับเคลื่อนไปด้วยตัวมันเอง นี่เป็นเรื่องเล่าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วนของสังคม และกระทบกับชั้นกลางไม่น้อยไปกว่าคนรวย
ไม่มีเหตุผลให้คาดหวังว่า มหาเศรษฐีจะเห็นแก่ตัวน้อยลงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ กระนั้น การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาไม่ได้ขัดขวางการส่งเสริมความเท่าเทียมกันและการสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรมมากมายนัก สิ่งกีดขวางที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ การไม่ตระหนักว่า ตลาดไม่อาจสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้กับใครหน้าไหนได้ยาวนานนัก เว้นแต่มันจะได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่เข้มแข็งและจากการกำกับดูแลกิจการและทรัพยากรสาธารณะที่ดี
หมายเหตุ:
แปลจาก Dani Rodrik “Why the Super-Rich Need Governments” Social Europe Journal. http://www.social-europe.eu/2014/07/super-rich/
ดานี โรดริก (Dani Rodrik) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ ประจำสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institute for Advanced Study) ปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา