บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
เช่นเดียวกับต็อกเกอวีลย์ มิลล์เองหวาดกลัวทรราชเสียงข้างมากและมองว่ามันคือหนึ่งในปิศาจร้ายที่สังคมต้องเลี่ยงให้พ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เขาปฏิเสธรัฐบาลประชาธิปไตยแต่อย่างใด ในงานเขียนเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เขียนขึ้นภายหลัง On Liberty ไม่นานนัก มิลล์ถามตัวเองด้วยคำถามอันเก่าแก่ว่า อะไรคือรูปแบบของการปกครองที่ดีที่สุด และเขาสรุปว่า คำตอบคือประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่เฉพาะในชาติที่เป็นอารยะ อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการตามธรรมชาติของรัฐในการพยายามรับรองเสรีภาพขั้นสูงสุดในแก่พลเมืองของตน ซึ่ง "การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์เหล่านี้ของคนทุกคน คือมโนทัศน์อันสมบูรณ์ตามอุดมคติของการปกครองที่เสรี" เขาสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวด้วยข้อพิจารณาด้านล่างนี้
ตราบเท่าที่มีใครก็ตามถูกกีดกัน [ออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง - ผู้แปล] ผลประโยชน์ของคนเหล่านั้นย่อมไม่ได้รับการรับรองเหมือนผลประโยชน์ของคนที่เหลือ เช่นนั้น พวกเขาเองย่อมมีความสามารถหรือแรงจูงใจในการอุทิศพละกำลังเพื่อสิ่งที่ดีต่อตนเองหรือต่อสังคมน้อยลง เมื่อเทียบในทางกลับกันว่าพวกเขาได้มีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย[1]
ถึงตรงนี้ เราได้พบการเชื่อมโยงระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ การเชื่อมโยงระหว่างมโนทัศน์เฉพาะเรื่องรัฐกับวิธีการและรูปแบบของการบังคับใช้อำนาจที่เหมาะสมที่สุดแก่การทำให้มโนทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง
มุมมองที่เห็นว่าการปกครองที่เป็นเสรีอย่างสมบูรณ์คือการปกครองที่ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อผลประโยชน์ของคนทุกคน ได้ทำให้มิลล์กลายเป็นผู้สนับสนุนการขยายสิทธิการเลือกตั้ง ถึงตรงนี้ เขาเดินตามความคิดราดิคัลแบบเบนแธมที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเลือกตั้งในอังกฤษเมื่อปี 1832 ทางแก้ปัญหาทรราชเสียงข้างมากประการหนึ่งอยู่ที่การขยายการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งให้ไม่จำกัดอยู่กับแค่ชนชั้นที่มีเวลาว่าง (ซึ่งมักเป็นประชากรส่วนน้อยและโดยธรรมชาติแล้วจะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น) รวมทั้งเปิดโอกาสให้เสียงส่วนใหญ่นั้นรวมเอาชนชั้นล่าง (popular class) ที่มีเงื่อนไขว่าเป็นผู้เสียภาษีไม่ว่ามากน้อยแค่ไหนเข้ามาด้วย การเลือกตั้งมีคุณค่าต่อการศึกษาอย่างมาก การถกเถียงทางการเมืองส่งเสริมให้แรงงานกรรมกรที่แม้จะมีลักษณะของงานที่ซ้ำซากและมีขอบฟ้าความรู้เฉพาะที่เกี่ยวกับโรงงานของตนเท่านั้น ได้มีโอกาสขยายความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดไกลตัวกับผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาเอง และทำให้พวกเขาสร้างความสัมพันธ์กับพลเมืองคนอื่น ๆ ในลักษณะที่แตกต่างจากที่พวกเขาเป็นในงานการแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจะกลายเป็นสมาชิกผู้ตระหนักรู้ของสังคมอันยิ่งใหญ่ "ชาติที่เป็นอารยะและเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ควรมีคนนอก ไม่ควรมีใครถูกตัดสิทธิ [จากการมีส่วนร่วมทางการเมือง - ผู้แปล] เว้นแต่จะเกิดจากการเพิกเฉยของตัวเขาเอง"[2]
ถึงกระนั้นก็ตาม การเลือกตั้งที่เป็นสากลยังคงเป็นอุดมคติและเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ดี และข้อเสนอของมิลล์เองก็ต่ำกว่าเป้าหมายนั้นมาก มิลล์ไม่เพียงตัดสิทธิการเลือกตั้งของคนล้มละลายและผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวเท่านั้น ทว่าเขายังเห็นว่าผู้ที่ไร้การศึกษา (ถึงแม้เขาจะตั้งตาคอยการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ที่เขากล่าวว่าจำต้องเริ่มต้นขึ้นก่อนการเลือกตั้งสำหรับคนทั้งมวล) และผู้ที่ได้รับการผ่อนปรนทางศาสนา ซึ่งไม่ได้สร้างคุณูปการใด ๆ จากการจ่ายภาษี ไม่อาจมีสิทธิในการตัดสินใจว่าคนทุกคนจะใช้ประโยชน์จากรายจ่ายสาธารณะไปในเรื่องใดบ้างอีกด้วย อีกทางหนึ่ง มิลล์สนับสนุนการขยายสิทธิการเลือกตั้งให้กับผู้หญิง (ขณะที่ในยุโรปภาคพื้นทวีป การเลือกตั้งโดยทั่วไปได้ครอบคลุมผู้ชายที่ไร้การศึกษาก่อนผู้หญิง) บนสมมติฐานที่ว่า มนุษย์นั้นสนใจกับการที่ตัวเองได้การดูแลอย่างดี เช่นนั้น แต่ละคนจึงมีความจำเป็นอย่างเท่าเทียมกันในการลงคะแนนเสียงเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาหรือเธอจะได้รับส่วนแบ่งอันชอบธรรมจากผลประโยชน์ที่จัดสรรให้แก่สมาชิกแต่ละคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ มิลล์จึงกลับหัวกลับหางข้อโต้แย้งที่ทั่วไปใช้ต่อต้านสตรีนิยม ด้วยการเสนอว่า หากชาย-หญิงมีความแตกต่างกัน "ผู้หญิงก็ต้องการมันมากกว่าผู้ชาย เพราะด้วยความอ่อนแอเชิงกายภาพ พวกเธอจึงต้องอาศัยกฎหมายและสังคมเพื่อคุ้มครองพวกเธอมากกว่านั่นเอง"[3]
ทางแก้ปัญหาทรราชเสียงข้างมากประการที่สอง คือการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง เขาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากระบบเสียงข้างมากที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้แทนได้เพียงคนเดียว โดยผู้ชนะคือผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด (ไม่ว่าจะเลือกรอบเดียวหรือหลายรอบ) ขณะที่คนที่เหลือจะถูกคัดทิ้งไป ไปสู่ระบบสัดส่วน (โมเดลของมิลล์ได้รับการนำเสนอโดยธอมัส แฮร์ (Thomas Haire, 1806-1891)) อันเป็นระบบที่รับรองว่าเสียงส่วนน้อยจะมีตัวแทนของตัวเองอย่างพอควร ในสัดส่วนตามคะแนนเสียงที่ได้รับ และอาจได้รับมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระดับประเทศเพียงอย่างเดียว หรือจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่มากพอต่อการจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้แทนหลาย ๆ คน มิลล์ไล่เรียงให้เห็นถึงข้อดีและประโยชน์ของระบบดังกล่าว ด้วยการเน้นย้ำว่า เสียงส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจสอบจากการทัดทานโดยเสียงส่วนน้อยที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะคอยขัดขวางการใช้อำนาจในทางมิชอบทุกประการที่อาจเกิดขึ้นได้ และเป็นผู้ที่จะปกป้องประชาธิปไตยให้พ้นจากความเสื่อมด้อยถอยลง เขาถือโอกาสนี้เขียนหนึ่งในถ้อยคำสรรเสริญอันทรงพลังที่สุดแก่ความขัดแย้งที่อาจพบได้ในความคิดแบบเสรีนิยม ไว้ในย่อหน้าที่แสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของจริยธรรมแบบเสรีนิยม ว่า
ไม่มีสังคมใดจะพัฒนาต่อเนื่องไปได้ยาวนาน เว้นเพียงในสังคมที่ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างอำนาจที่ทรงพลังที่สุดในสังคมกับอำนาจอันเป็นปรปักษ์บางอย่าง ระหว่างผู้มีสิทธิอำนาจทางจิตวิญญาณกับทางโลก ระหว่างกองทัพกับชนชั้นผู้อุตสาหะ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ระหว่างนักปฏิรูปติดคัมภีร์กับนักปฏิรูปทางศาสนา[4]
ที่ใดก็ตามที่ความขัดแย้งถูกระงับหรือกำจัดไปหมดสิ้น ความชะงักงันอันไม่สิ้นสุดจะเกิดขึ้น ตามมาด้วยความล่มสลายและเสื่อมด้อยถอยหลังของรัฐหรือของอารยธรรมทั้งมวล
ถึงแม้มิลล์จะยอมรับในหลักการประชาธิปไตยอย่างสุดใจ และแม้เขาจะสรรเสริญประชาธิปไตยแบบตัวแทนว่าเป็นรูปแบบของการปกครองที่ดีที่สุด กระนั้น ความคิดของเขายังคงอยู่ห่างไกลจากอุดมคติของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อยู่มาก ราวกับต้องการเปลี่ยนแปลงผลของการขยายสิทธิเลือกตั้ง มิลล์ได้เสนอระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหลายเสียง (plural votes) (ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่เคยถูกนำมาใช้) ขึ้นมา เขาโต้แย้งว่า ถึงแม้ทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนควรมีคะแนนเสียงเพียงคนละเสียงเดียว มิลล์เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษา (ไม่ใช่ผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวย) ควรมีคะแนนเสียงมากกว่าหนึ่งเสียง และเพิ่มเงื่อนไขอีกว่า ผู้ที่ร้องขอคะแนนเสียงพิเศษและผ่านการทดสอบ ควรจะมีคะแนนเสียงมากกว่าหนึ่งเสียงด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญสมัยใหม่ได้ยืนยันด้วยเหตุด้วยผลว่า สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งควรเป็นสิทธิที่ "เท่าเทียมกัน" (อย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญของอิตาลีในปัจจุบัน)
[1] Ibid., p. 211.
[2] Ibid., p. 279.
[3] Ibid., p. 290.
[4] Ibid., p. 268.