บทที่ 4 เสรีภาพกับอำนาจ (Liberty vs. Power)
กลไกทางรัฐธรรมนูญอันแสดงลักษณะพิเศษของรัฐบนฐานที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันปัจเจกชนให้พ้นจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อเป็นเครื่องยืนยันในเสรีภาพ ในความหมายของเสรีภาพที่จะไม่ถูกกระทำ (negative liberty) อันหมายถึง ขอบเขตของการกระทำที่ปัจเจกชนจะไม่ถูกบังคับให้กระทำสิ่งใดก็ตามที่เขาไม่ปรารถนา ไม่ว่าใครเป็นผู้ถือครองอำนาจในการบังคับขู่เข็ญนั้นก็ตาม ทั้งยังจะไม่ถูกกีดกันจากการกระทำในสิ่งที่เขาปรารถนาที่จะทำด้วย ในแง่หนึ่ง (อันเป็นแง่มุมที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดเสรีนิยม) 'เสรีภาพ' กับ 'อำนาจ' ก็เป็นสิ่งตรงกันข้ามในความหมายว่า ทั้งสองปริมณฑลนั้นต่างขัดแย้งกัน ฉะนั้นจึงไม่อาจเข้ากันได้ ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน เมื่ออำนาจของคนแรกมีเพิ่มมากขึ้น (อำนาจที่จะบังคับหรือห้ามปราม) เสรีภาพในความหมายของเสรีภาพที่จะไม่ถูกกระทำของคนหลังก็ย่อมลดลงด้วย ในทางกลับกัน หากคนหลังมีพื้นที่ของเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น อำนาจของคนแรกก็ย่อมน้อยลงตามมา เราจำต้องเสริมว่า ในความคิดแบบเสรีนิยม เสรีภาพของปัจเจกได้รับการรับรอง ไม่ใช่เพียงโดยกลไกทางรัฐธรรมนูญของรัฐที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ แต่ยังรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐเองรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเรียบร้อยของสาธารณะ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเท่านั้น ในความคิดแบบเสรีนิยม ทฤษฎีเกี่ยวกับความจำเป็นในการควบคุมอำนาจและทฤษฎีของการจำกัดบทบาทของรัฐดำเนินไปอย่างพร้อม ๆ กัน (pari passu) เราอาจจะกล่าวได้กระทั่งว่า การจำกัดบทบาทของรัฐเป็นเงื่่อนไขที่ขาดไม่ได้ (sine qua non) ของการควบคุมอำนาจรัฐ ในความหมายที่ว่า การใช้อำนาจในทางที่ผิดจะถูกควบคุมได้ง่ายขึ้น หากรัฐเหลือพื้นที่ในการแทรกแซงน้อยลง พูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐที่มีบทบาทจำกัดย่อมควบคุมได้ง่ายกว่ารัฐที่มีบทบาทไม่จำกัด ในมุมมองของปัจเจกชน ด้วยสมมติฐานแบบเสรีนิยม รัฐคือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น และในฐานะสิ่งชั่วร้ายที่แม้จะจำเป็น (ตรงนี้เองที่เสรีนิยมต่างจากอนาธิปัตย์) รัฐก็ควรแทรกแซงขอบเขตของการกระทำของปัจเจกชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ธอมัส เพน (Thomas Paine 1737-1809) ปกป้องสิทธิของมนุษย์ในช่วงก่อนปฏิวัติอเมริกา ด้วยการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า:
สังคมคือผลิตผลของความต้องการของเรา ขณะที่รัฐบาลคือผลผลิตของความเลวร้ายของเรา สังคมนั้นส่งเสริมความสุขเชิงบวกของเราด้วยการเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของเราไว้ด้วยกัน ขณะที่รัฐบาลส่งเสริมความสุขเชิงลบด้วยการปิดกั้นความเลวร้ายของเราเอาไว้ สิ่งหนึ่งเกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนกัน สิ่งหนึ่งสรรค์สร้างการแบ่งแยก สิ่งแรกคือผู้อุปถัมภ์ สิ่งหลังคือผู้ลงทัณฑ์ สังคมในทุกรัฐคือเรื่องดี ทว่าแม้แต่รัฐบาลในรัฐที่ดีที่สุดก็เป็นเพียงสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น และยิ่งในรัฐที่เลวที่สุด รัฐบาลก็เป็นสิ่งที่สุดจะทนได้[1]
เมื่อเสรีภาพถูกนิยามอย่างที่แพร่หลายในทฤษฎีเสรีนิยม และเมื่อมันหมายถึงเสรีภาพที่จะอยู่ห่างจากรัฐ (from the state) การก่อร่างสร้างรัฐเสรีนิยมจึงถูกมองว่า เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของพื้นที่ที่ปัจเจกชนเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจมหาชนขึ้นเรื่อย ๆ (ถ้าพูดด้วยภาษาของเพน) หรือพูดในภาษาเฮเกลเลี่ยนหรือมาร์กซิสต์คือ เกิดขึ้นพร้อมกับการปลดปล่อยสังคมหรือประชาสังคมให้เป็นอิสระจากรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง การปลดปล่อยที่ว่านี้เกิดขึ้นในสองพื้นที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ทางศาสนาและจิตวิญญาณด้านหนึ่ง และพื้นที่ของชีวิตทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุอีกด้านหนึ่ง ในข้อเสนอที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมแบบโปรแตสแตนท์กับสปิริตของทุนนิยม เวเบอร์ (Max Weber) โต้แย้งว่า ทั้งสองกระบวนการนี้เชื่อมโยงใกล้ชิดกัน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ ประวัติศาสตร์ของรัฐเสรีนิยมเกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมถอยลงของรัฐศาสนา (confessional state) และการรุ่งเรืองขึ้นของรัฐที่เป็นกลาง (neutral) หรือไม่ได้เชื่อเรื่องพระเจ้า (agnostic) ในแง่ทัศนคติที่มีต่อความเชื่อทางศาสนาของพลเมืองของตน ทำนองเดียวกัน ก็เกิดขึ้นพร้อมการเสื่อมถอยของอภิสิทธิ์พิเศษ (privileges) กับโยงใยของระบบฟิวดัล และการก่อตัวของข้อเรียกร้องให้มีการโอนถ่ายความมั่งคั่งอย่างเสรีและให้มีเสรีภาพในการแลกเปลี่ยน ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดและพัฒนาการของสังคมการค้าขายแบบกระฎุมพี
มองในมุมนี้ รัฐเสรีนิยมต้องแตกต่างจากระบอบพ่อขุน (Paternalism) ทุกรูปแบบ ในมุมมองแบบพ่อขุน ภาระหน้าที่ของรัฐคือการดูแลผู้ใต้ปกครองในทำนองเดียวกับที่พ่อดูแลลูกของตน เป็นความห่วงใยบนฐานของสถานะของผู้ใต้ปกครองที่ถือกันว่าด้อยกว่าผู้ปกครองอย่างถาวร เป้าหมายหนึ่งของล็อคใน Two Treaties of Civil Government คือการแสดงให้เห็นว่า อำนาจของประชาชนที่สร้างขึ้นเพื่อรับรองเสรีภาพและการครอบครองทรัพย์สินของปัจเจกชนทีได้ก่อตั้งสมาคมหนึ่งขึ้นมาเพื่อปกครองตัวพวกเขาเองนั้น แตกต่างจากการปกครองแบบพ่อขุน และแตกต่างอย่างไม่ต้องสงสัย (a fortiori) จากการอุปถัมภ์ค้ำชู คานท์เอง (Kant 1724-1804) ก็ได้ชี้ประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนและเห็นผล เมื่อเขาเสนอว่า
การปกครองที่มีรากฐานอยู่บนหลักของความเมตตากรุณาต่อประชาชน อย่างเช่นการปกครองของพ่อต่อลูก หรือการปกครองแบบพ่อขุน (imperium paternale) ที่ผู้ใต้ปกครอง เช่นเดียวกับบรรดาผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งทีเป็นประโยชน์และอะไรคือสิ่งที่เป็นโทษสำหรับพวกเขาเอง ถูกบังคับให้รับบทบาทที่เฉื่อยชา (passive role) เพื่อที่จะรอคอยการตัดสินใจจากองค์อธิปัตย์ว่าพวกเขาควรมีความสุขอย่างไร ซึงนั่นก็คือการไม่คาดหวังสิ่งใดเว้นแต่สิ่งที่องค์อธิปัตย์มอบให้ การปกครองเช่นนี้คือระบอบเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการถึงได้[2]
ข้อกังวลหลักของคานท์อยู่ที่เสรีภาพทางศีลธรรม (moral freedom) ของปัจเจกชน ในแง่เสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเห็นแก่ประโยชน์ทางวัตถุส่วนตน ข้อกังวลของอดัม สมิธ (Adam Smith) ก็ชัดเจนพอ ๆ กัน นั่นคือ ตาม 'ระบบของเสรีภาพตามธรรมชาติ' องค์อธิปัตย์มีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญไม่เกินสามประการ ได้แก่ การป้องกันสังคมจากศัตรูภายนอก การคุ้มครองปัจเจกแต่ละคนจากความเสียหายที่กระทำโดยผู้อื่น และรับผิดชอบงานสาธารณะ (public works) แต่ละอย่างที่ไม่สามารถลุล่วงได้หากมอบความไว้วางใจให้กับผลประโยชน์ของเอกชน แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันยิ่ง คานท์กลับมองเช่นเดียวกับสมิธว่า การจำกัดบทบาทของรัฐนั้นวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพที่มาก่อนของปัจเจกชนกับอำนาจขององค์อธิปัตย์ ฉะนั้น จึงตั้งอยู่บนฐานของการทำให้บทบาทหน้าที่ขององค์อธิปัตย์สำคัญน้อยกว่าสิทธิและผลประโยชน์ของปัจเจกชน
เมื่อใกล้สิ้นศตวรรษของคำประกาศสิทธิของมนุษย์ อันเป็นศตวรรษของคานท์และสมิธ วิลเฮล์ม ฟอน ฮุมโบลดท์ (Wilhelm von Humboldt 1767-1835) ได้สรุปความคิดเกี่ยวกับรัฐแบบเสรีนิยมไว้อย่างสมบูรณ์ในงานเขียนเรื่อง The Limits of State Action (1792) จุดมุ่งหมายของผู้เขียน อย่างที่เปิดเผยอยู่ในชื่อเรื่อง ได้ปรากฏอยู่อีกครั้งในคำกล่าวนำในบทแรก ซึ่งเขานำมาจากผู้เฒ่ามิราโบ (the elder Mirabeau)
สิ่งที่ยากลำบากก็คือ การประกาศใช้กฎหมายเฉพาะเท่าที่จำเป็น และยังคงยึดหลักการทางรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของสังคม ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลยับยั้งความโหดร้าย (fury) ในการปกครอง อันเป็นโรคภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่สร้างผลร้ายให้กับระบอบการปกครองสมัยใหม่
นี่คือความเชื่ออันแน่วแน่ของฮุมโบลดท์ที่ว่า เราต้องเริ่มต้นจากปัจเจกที่มีความเฉพาะเจาะจงและหลากหลายอย่างไม่สามารถอธิบายได้ เขากล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงของมนุษย์คือการพัฒนาความสามารถของตนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว รัฐก็ควรถูกขับเคลื่อนทางความคิดตามหลักการดังต่อไปนี้
เหตุผลไม่อาจเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ได้ หากปราศจากเงื่อนไขที่ปัจเจกแต่ละคนไม่เพียงอิ่มเอมกับเสรีภาพในการพัฒนาตัวเอง ด้วยพละกำลังของตัวเอง ให้กลายเป็นปัจเจกชนที่สมบูรณ์ ได้อย่างเต็มที่ แต่ธรรมชาติภายนอกเอง ยังจะต้องไม่ได้รับการดัดแปลง ด้วยน้ำมือของมนุษย์คนอื่นใด ทว่าปัจเจกสามารถรับรู้ภาพประทับของมันได้ด้วยตัวเขาและเจตจำนงเสรีของเขา ตามแต่ความต้องการและสัญชาติญาณของเขา อันถูกจำกัดไว้เพียงเพราะขีดจำกัดของอำนาจและสิทธิของเขาเองเท่านั้น[3]
ด้วยสมมติฐานดังกล่าว ฮุมโบลดท์สรุปว่า “การแทรกแซงใด ๆ ของรัฐต่อกิจการของเอกชน ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์โดยตรง (immediate reference) กับความรุนแรงที่กระทำต่อสิทธิของปัจเจกชน ควรถูกประณามอย่างถึงที่สุด”[4] การกลับหัวกลับหางมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับรัฐในแบบดั้งเดิมหรือแบบอินทรีย์เช่นนี้ เกิดขึ้นคู่ขนานและมั่นคงขึ้นได้จากผลกระทบโดยตรงจากการกลับหัวกลับหางความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย กล่าวคือ รัฐ ตามมุมมองของฮุมโบลดท์ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง ทว่าเป็นเพียงวิธีการ “ในการยกระดับวัฒนธรรมของประชาชนให้ถึงระดับที่พวกเขาอาจรู้สึกถึงแรงจูงใจในการสร้างความร่วมมือกันตามที่รัฐวางไว้ ด้วยการตระหนักถึงผลดีต่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่สถาบันทางการเมืองเสนอให้ปัจเจกแต่ละคน”[5] หากรัฐจะมีจุดหมายสูงสุดสักอย่าง สิ่งนั้นย่อมเป็น “ความมั่นคง” ฮุมโบลดท์ย้ำไว้อีกครั้งในข้อเขียนของเขาว่า เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐ ก็คือ “ความมั่นคง” อันเป็น “หลักประกันของเสรีภาพทางกฎหมาย”[6].
[1] T. Paine, Common Sense (1776), Penguin, Harmondsworth 1976, p. 65.
[2] I. Kant, Über den Gemeinspruch: Das mag in der Theorie richtig sein, taugt aber nicht für die Praxis (1793).
[3] W. von Humboldt, The Limits of State Action (1792), Cambridge University Press, Cambridge 1969, pp. 20-21.
[4] Ibid., p. 22.
[5] Ibid., p. 65.
[6] Ibid., p. 83.