-1-
"It is hard to know any longer if women still exist, if they will always exist, if there should be women at all, what place they hold in this world, what place they should hold. [...] But first, what is a woman?"- Simone De Beauvoir
ในบทสนทนาระหว่างโยฮานนา ฮโยสเต็ดท์ (Johanna Sjöstedt) กับแนนซี บาวเออร์ (Nancy Bauer) นักปรัชญาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยทัฟฟ์ ทั้งสองได้พูดคุยเกี่ยวกับความคิดเรื่องความเคลือบแคลงสงสัย (Scepticism) ในฐานะรากฐานของปรัชญาสตรีนิยมสมัยใหม่
แนนซีได้ยกงานเขียนของซิโมน เดอ โบวัวร์ เรื่อง The Second Sex (1949) และชี้ให้เห็นว่า ซิโมนเป็นนักปรัชญาคนแรก ๆ ที่เริ่มตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เรียกว่า "ผู้หญิง" ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการสงสัยถึงการมีอยู่ของตนเองแบบเรอเน่ เดส์การ์ต (René Descartes) นักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศส
ใน Meditations on First Philosophy (1691) เดส์การ์ตเริ่มสงสัยถึงการมีอยู่ของตน ถึงการคิด จนนำไปสู่ข้อสรุปที่เราคุ้นเคยกันดีว่า "เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" (cogito ergo sum) ซึ่งหมายถึง ในฐานะที่เขาพยายามสงสัยถึงการมีอยู่ของตน เขากลับพบว่าเขาทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเมื่อเขาสงสัยถึงว่าตัวเขาเองมีอยู่หรือไม่ เขาก็รู้สึกได้ว่าตัวเองมีอยู่
คุณูปการสำคัญของเดส์การ์ต คือการแยกจิตออกจากวัตถุ เขากล่าวว่าเขาเป็นมนุษย์ แล้วตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วมนุษย์คืออะไร (What is a man?) ถึงตรงนี้ เขารู้ว่ามนุษย์ไม่ใช่เพียงร่างกาย เพราะเขาสามารถสงสัยถึงการมีอยู่ของมัน หรือคิดว่าเขาเป็นมนุษย์โดยไม่มีอวัยวะต่าง ๆ ได้ แต่สิ่งเดียวที่เขาสงสัยไม่ได้ก็คือ "ความคิด" หรืออีกแง่หนึ่ง เขาไม่อาจสงสัยว่าเขากำลังคิดอยู่หรือไม่ บทสรุปอย่างรวบรัดที่สุด มนุษย์ของเดส์การ์ต์จึงเป็นสิ่งที่คิดได้ (a thinking thing) นั่นเอง
ถึงตรงนี้ ซิโมนตั้งคำถามที่คล้ายคลึงกันมากในงานของเธอ ไม่ว่าเธอจะตั้งใจหรือไม่ เธอถามว่า อะไรคือผู้หญิง (What is woman?) และตอบว่า "ฉันนี่ไง ผู้หญิง" (I am) การเป็นผู้หญิงสำหรับซิโมนคือการมีร่างกายแบบผู้หญิง ไม่ใช่แค่อวัยวะอย่างผู้หญิง กล่าวคือ นอกจากจะมีอวัยวะบางอย่างแล้ว ยังต้องมีประสบการณ์อย่างผู้หญิงด้วย การมีนม มีรังไข่ มีฮอร์โมนเพศหญิง มีอวัยวะเพศหญิง ยังไม่เพียงพอจะเรียกได้ว่าเป็นผู้หญิง ทว่าคนคนนั้นต้องมีความเป็นผู้หญิง (womanhood) ซึ่งสำหรับเธอ ไม่ใช่สิ่งที่มีโดยธรรมชาติ
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ผู้หญิงไม่เคยหลุดพ้นจากการถูกจ้องมอง (gaze) ความเป็นหญิงจึงเป็นการนิยามจากความเข้าใจของคนอื่นที่มีต่อร่างกายของผู้หญิง ต่ออวัยวะเหล่านั้น พูดให้ถึงที่สุด ลำพังแต่อวัยวะอย่างหญิง ไม่อาจทำให้เราเป็นผู้หญิง แต่มิติทางสังคมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก ที่ขัดเกลาให้เราเป็นหญิง และบอกว่าการเป็นหญิงต้องเป็นอย่างไร ฉะนั้น เราจึงไม่ได้เกิดเป็นหญิง ทว่าถูกทำให้เป็นผู้หญิง (One is not born, but rather becomes, a woman)
แล้วอะไรคือสิ่งที่ซิโมนต่างจากเดสการ์ต หรืออีกควาหมายหนึ่งก็คือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างการเคลือบแคลงสงสัยของผู้ชายและผู้หญิง แนนซียกตัวอย่างหนังสือเล่มสำคัญของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) เรื่อง A Room of One's Own (1929) ว่า เอาเข้าจริงแล้ว เดส์การ์ตเริ่มสงสัยเพราะเขาอยู่ลำพัง แต่ผู้หญิงไม่เคยทำอย่างนั้นได้ ผู้หญิงไม่อาจสงสัยในขณะที่อยู่โดยลำพัง ยิ่งกว่านั้น สำหรับแนนซี การสงสัยของผู้หญิงได้นำความคิดทางปรัชญา (philosophical thinking) กลับเข้าสู่ชีวิตประจำวัน (ordinary life) อีกครั้งหนึ่ง
-2-
ในนิยายของวูล์ฟ เธออ้างถึง ชาร์ล็อต บรอนเธ่อ (Charlotte Bronte) และเจน ออสเตน (Jane Austen) สองนักเขียนหญิงชื่อดังในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 และอธิบายว่า เราไม่มีทางนึกออกว่านักเขียนหญิงเหล่านี้จะเขียนอะไรออกมาได้บ้าง หากพวกเธอไม่ได้ถูกหล่อหลอมหรือถูกข่ม (smothered) อยู่ตลอดเวลาให้คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง
ต่างจากเดส์การ์ตที่เริ่มสงสัยถึงการมีอยู่อย่างโดดเดี่ยว แนนซีเห็นว่า ผู้หญิงกลับไม่เคยได้อยู่เพียงลำพัง พวกเธอถูกบอก ถูกข่ม ถูกหล่อหลอม ให้รับรู้ว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง และความเป็นหญิงควรเป็นอย่างไร ผู้หญิงถูกกำหนดโดยคนอื่นและโดยโลกอยู่เสมอ ฉะนั้น การตระหนักถึงความเป็นหญิงในตนเอง จึงเป็นผลผลิตของการไม่เคยและไม่อาจอยู่เพียงลำพัง ผู้หญิงต้องมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลใครสักคนเสมอ หรือไม่เช่นนั้น ชีวิตของเธอก็ควรมีลูกมีผัวให้สิ้นเรื่อง ปัญหาของผู้หญิงจึงเริ่มต้นต่างจากเดส์การ์ต เพราะพวกเธอเริ่มสงสัยในขณะที่อยู่ร่วมกับคนอื่น สงสัยในขณะที่สัมพันธ์กับใครอีกหลายคน
คำถามสำคัญคือ แล้วความเคลือบแคลงสงสัยกลายเป็นหัวใจของสตรีนิยมสมัยใหม่อย่างไร
ถึงตรงนี้ แนนซีอธิบายว่า ความเป็นหญิงที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น ทำงานร่วมกับความคิดของผู้หญิงสมัยใหม่อย่างไม่อาจเลี่ยงได้ มันกำหนดทิศทางความน่าจะเป็นของพวกเธอให้สัมพันธ์กับอะไรมากมาย และหลายครั้ง ผู้หญิงมักคิดหรือสงสัยว่า นี่เป็นปัญหาของฉันเองคนเดียวสินะ นี่ฉันบ้าไปแล้วหรือเปล่า เธอยกตัวอย่างว่า ไม่มีใครสักคนที่จะกล้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การมีลูกนั้นแสนยากลำบากและทรมานแค่ไหน แน่นอน เธอรักลูกของเธอทุกคน แต่การมีลูกและเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องน่าพิศมัยเหมือนอย่างที่สังคมบอกเรา ที่น่าเศร้าก็คือ เมื่อผู้หญิงรู้สึกรำคาญ เซ็ง ผิดหวัง เหนื่อย เบื่อ กับการใช้เวลาทั้งวันไปกับการเลี้ยงเด็กสักคน สิ่งที่พวกเธอทำได้จริง ๆ มักมีเพียงการ (1) ปลอบใจตัวเองและรำลึกคิดถึงคุณค่าความเป็นแม่ ซึ่งมีรากฐานจากความเป็นหญิงที่ถูกกล่อมเกลาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือไม่ก็ (2) กล่าวโทษตัวเองว่าเราช่างเป็นแม่ที่ไม่เอาไหน เราผิดปกติ เรานี่ท่าจะบ้า!
ความสงสัยของผู้หญิงจึงเริ่มจากการสัมพันธ์กับคนอื่น สงสัยว่าตัวเองผิดปกติไปจากหญิงทั่วไป ผู้หญิงจำนวนมากเชื่อว่าการกระทำหนึ่ง ๆ ของเธอ ไม่ใช่การกระทำของผู้หญิง ความสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงและตัวตนของเธอจึงเกิดขึ้นเมื่่อพวกเธออยู่นอกห้อง ไม่ใช่การนั่งครุ่นคิดอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง
สำหรับผู้หญิงจำนวนมาก การได้อยู่ในห้องของตัวเอง หรืออยู่กับตัวเอง ทำให้พวกเธอรู้สึกสงบ แต่การอยู่กับโลกภายนอก ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นบ้า และต้องพยายามอย่างหนักที่จะแสร้งทำเป็นว่าเธอไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นบ้าหรือผิดปกติ ตลอดมา ผู้หญิงถูกสอนให้ไม่ตั้งคำถามกับความเชื่อเรื่องความเป็นหญิงของตนเอง และถึงที่สุด เมื่อไม่ถาม ก็ยอมรับและเชื่อโดยปริยายว่า นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และพวกเธอเองต่างหากที่ผิดปกติ
ความเคลือบแคลงสงสัยของผู้หญิงจึงคล้ายการเสียสติ การคิดว่าตัวเองเป็นบ้า อย่างที่เดส์การ์ตคิดว่าตัวเขาเองเป็นบ้าและถูกสิงสู่โดยปิศาจ ผิดกันที่ว่า การครุ่นคิดสงสัยของเดส์การ์ตนั้นกระทำเพียงลำพัง ทว่าผู้หญิงจะสงสัยเมื่อพวกเธอสัมพันธ์กับคนอื่น ฉะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงจากความบ้าคลั่งเหล่านี้ ทางออกของพวกเธอหลายต่อหลายครั้งจึงคล้ายเป็นสิ่งที่วูล์ฟเสนอไว้ นั่นคือ เพียงห้องของตัวเองสักห้องหนึ่ง (A Room of One's Own).
อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม ๆ ได้ที่ http://www.eurozine.com/articles/2013-03-08-bauer-en.html