Skip to main content
 
ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรือแม้แต่ก้าวขึ้นมาใหญ่เสียเองและประวัติศาสตร์ก็จะย้อนไปประเมินค่าตีตราเธอเหล่านั้นว่าจะเป็นนางฟ้าผู้บริสุทธิ์หรือนางแพศยาสุดโฉดชั่วก็แล้วแต่ตัวบุคคลไปดังเช่นสมเด็จพระสุริโยทัยกับท้าวศรีสุดาจันทร์ สำหรับตัวกวีเอกของโลกอย่างเช่นวิลเลียม เช็คสเปียร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่งของอังกฤษ (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ.1558 – 1603) ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของอังกฤษที่เจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมแล้วก็คงจะตระหนักถึงพลังเช่นนี้ของสตรี บทละครของเขาเรื่องหนึ่งคือโศกนาฎกรรมของแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า Macbeth จึงเป็นตัวสะท้อนโลกทัศน์ของเช็คสเปียร์ต่อผู้หญิงถึงประโยคที่ได้กล่าวแนะนำมา บทละครเรื่องนี้เชื่อกันว่าถูกเขียนในช่วง ปี ค.ศ.1603 ถึง 1607 อันอิงมาจากชีวิตจริงของกษัตริย์ของสก็อตแลนด์พระองค์หนึ่งซึ่งมีครองราชย์ในช่วงศตวรรษที่ 11 
 
อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงบทละครของเช็คสเปียร์แต่เป็นอุปรากรของจูเซปเป เวอร์ดี (1)  คีตกวีชาวอิตาลีที่เวอร์ดีได้นำบทบทละครของเช็คสเปียร์ผู้มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าเขากว่าสองร้อยปีมาดัดแปลงถึงสามเรื่องคือ Macbeth (1846) Otello (1887)และ Falstaff (1893) ซึ่งเป็นอุปรากรหรรษาเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเวอร์ดีที่อิงจากละครชื่อ The Merry Wives of Windsor ความจริงแล้วสำหรับ Macbeth เวอร์ดีต้องขอบคุณนักแต่งบทอุปรากรคู่บุญของเขาคือฟรานเชสโก้ มาเรีย เปียบซึ่งก็อิงจากการแปลมาเป็นเชิงร้อยแก้วเป็นภาษาอิตาลีของคาร์โล รุสโคนีอีกทีหนึ่ง แต่ก็ถือได้ว่าเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ ตัวอุปรากรจะซื่อสัตย์ต่อละครของเช็คสเปียร์อย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเช่นในบทละครมีแม่มดเพียงสามคน แต่ในอุปรากรจะเป็นกลุ่มแม่มดกว่าสิบคน  
 
 
 
 
 
 
ภาพจาก www.musicweb-international.com
 
 
Macbeth ของเวอร์ดีถูกนำแสดงเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม ปี ค.ศ. 1847 ที่โรงละครทีโทร เดลล่า เปอโรโกล่าของนครฟลอเรนซ์และประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อนจะถูกเวอร์ดีนำมาเพิ่มเติมดนตรีเข้าและเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในบางองก์ เพื่อนำออกแสดงอีกครั้งใน กรุงปารีส เมื่อปี ค.ศ.1865 แต่กลับได้รับความนิยมน้อยกว่าฉบับแรก  อุปรากรเรื่องนี้ก็ได้จางหายไปจากความนิยมของชาวโลกจนกระทั้งได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในหลังสงครามโลกครั้งที่สองและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
 
อุปรากรมีทั้งหมดสี่องก์ เป็นเรื่องของนายพลแม็คเบ็ธพร้อมเพื่อนคือบังโกวได้พลัดหลงไปในป่าลึกหลังจากได้ชัยชนะจากสงครามและพบกับฝูงแม่มดซึ่งทำนายว่าแม็คเบ็ธจะได้เป็นขุนนางชั้นอัศวินและจะได้เป็นกษัตริย์สืบต่อพระเจ้าดันแคนของอาณาจักรสก็อตแลนด์ แม็คเบ็ธเชื่อในคำทำนายมากเพราะหลังจากคำทำนายเขาได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ให้เป็นอัศวินทันที เขาจึงไปบอกให้ภรรยาของเขาคือเลดี้แม็คเบ็ธ เธอเฝ้าครุ่นคิดที่จะผลักดันให้สามีขึ้นเป็นใหญ่ตามคำทำนาย แต่แล้วก็ได้รับแจ้งว่ากษัตริย์ดันแคนทรงเสด็จมาแปรพระราชฐานที่ปราสาทของแม็คเบ็ธพอดี เลดี้แม็คเบ็ธจึงวางแผนการร้ายที่จะปลงพระชนม์กษัตริย์ (เป็นเพลง aria หรือเพลงร้องเดี่ยวที่ไพเราะและดุดันที่สุดในอุปรากรคือ Or tutti, sorgete หรือ "จงลุกขึ้นมาเจ้าพวกอสุรกายแห่งนรกทั้งหลาย")และสามารถเกลี่ยกล่อมแม็คเบ็ธซึ่งลังเลใจในตอนแรกให้ลอบเข้าไปใช้กริชแทงกษัตริย์ดันแคนในห้องบรรทมจนสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นก็แอบเอากริชไปไว้ที่ตัวยามซึ่งเผลองีบหลับพร้อมกับเอาพระโลหิตของกษัตริย์มาป้ายที่ตัวของหมอนั่น ทุกคนจึงเชื่อว่าเป็นฝีมือของยามและสองสามีภรรยายังพยายามใส่ร้ายว่าผู้บงการคือมัลคอล์มซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าดันแคนเอง มัลคอล์มจึงต้องหลบหนีไปยังอังกฤษ
 
เมื่อแม็คเบ็ธขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์ เขาก็ยังคงไม่สบายใจเกี่ยวกับคำทำนายที่พวกแม่มดต่อตัวบังโกวเพื่อนของเขาว่าลูกชายของบังโกวนามว่าฟลีนซีโอ้จะได้เป็นกษัตริย์ในอนาคต แม็คเบ็ธได้ส่งกลุ่มนักฆ่ามาดักรอขณะที่คนทั้งคู่กำลังเดินทางมายังงานเลี้ยงบนทางอันมืดมิด บังโกวถูกรุมแทงเสียชีวิต แต่ฟลีนซีโอ้หนีไปได้ ฉากที่สามในองก์ที่สองถือว่าเพลงไพเราะไม่น้อยเป็นฉากในห้องโถงที่แม็คเบ็ธและภรรยาต้อนรับแขกทั้งหลาย เลดี้แม็คเบ็ธร้องนำให้แขกดื่มสุรากันอย่างสนุกสนาน (Si colmi il calice หรือ "เอ๊า มาเต็มแก้วสุรากันให้เต็ม") หลังจากที่นักฆ่ามารายงานให้แม็คเบ็ธทราบถึงการลอบสังหาร แม็คเบ็ธแลเห็นผีของบังโกวมาร่วมงานด้วยจึงเอะอะโวยวายราวกับคนบ้าถึงแม้ศรีภรรยาจะพยายามกลบเกลื่อนอย่างไรก็ตามสุดท้ายงานเลี้ยงก็ล่ม 
 
ต่อมาแม็คเบ็ธได้เดินทางไปในถ้ำของพวกแม่มดเพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง พวกแม่มดก็ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำนายอนาคตให้แม็คเบ็ธถึงสามข้อ ข้อแรกให้ระวังแม็คดัฟฟ์ให้จงดี ข้อสองผู้ที่เกิดจากผู้หญิงจะไม่สามารถฆ่าแม็คเบ็ธได้ ที่สำคัญข้อสามแม็คเบ็ธจะไม่พ่ายแพ้จนกว่าป่าเบอร์นัมจะเดินมาประชิดวังตน ทำให้แม็คเบ็ธดีใจมากถึงแม้ตนจะทุกข์ทรมาณเพราะถูกผีหลอก ส่วนเลดี้แม็คเบ็ธนั้นเดินละเมอไปรอบพระราชวังและเกิดสติฟั่นเฟือนเข้าใจว่ามีเลือดที่เปรอะเปื้อนอยู่บนมือของตนอยู่ตลอดเวลา (Una macchia e qui tuttora! หรือ "มักจะมีจุดเลือดอยู่เสมอ")
 
 
 
 
 
(ภาพจาก www.scena.org/blog)
 
 
 
คู่กษัตริย์ราชินีสั่งให้ทหารไปฆ่าแม็คดัฟฟ์แต่เขาสามารถหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด ด้วยความแค้นเคืองที่ลูกและเมียถูกสังหาร แม็คดัฟฟ์จึงร่วมมือกับมัลคอล์มและกองทัพอังกฤษในการบุกสก็อตแลนด์อย่างเต็มกำลังศึกเพื่อปลดปล่อยสก็อตแลนด์ออกจากน้ำมือของทรราช (La patria tradita หรือ "ชาติของเราถูกทำการทุรยศ") ฉากสุดท้ายที่น่าสะเทือนใจคือแม็คเบ็ธนั่งพร่ำพรรณนาถึงความตกต่ำของตนอย่างเดียวดายท่ามกลางราชวังซึ่งรกร้างเพราะข้าราชบริพารต่างหลบหนีด้วยความกลัวต่อกองทัพอังกฤษ(Pieta, rispetto, amore หรือ "ความเมตตา เกียรติยศและความรัก") ส่วนเลดี้แม็คเบ็ธที่ได้ตัดช่องน้อยเสียชีวิตไปแล้ว แต่แม็คเบ็ธก็ยังมั่นใจในคำทำนาย จึงได้รวบรวมพลที่เหลือเข้าโรมรันกับกองทัพอังกฤษและตกตะลึงที่ว่ากองกำลังอังกฤษใช้กิ่งไม้ของป่าเบอร์นัมมาพรางตัวจึงเปรียบเสมือนกับป่าที่เดินได้ ในที่สุดกองทัพของแม็คเบ็ธก็พ่ายแพ้แต่เขาได้ต่อสู้กับแม็คดัฟฟ์ตัวต่อตัว เมื่อแม็คเบ็ธกล่าวถึงคำทำนายที่เหลือด้วยความลำพองใจ แม็คดัฟฟ์ก็เฉลยว่าเขาไม่ได้ "เกิด"จากมารดาแบบคนทั่วไปเพราะเขาถูกนำตัวออกจากครรภ์โดยการผ่า เขาจึงฆ่าแม็คเบ็ธได้สำเร็จ และมัลคอล์มก็ได้ขึ้นครองราชย์แทนท่ามกลางความยินดีของเหล่าทหารประชาชน (การร้องประสานเสียง Salva, o re! หรือ "กษัตริย์ทรงพระเจริญ")ในการแสดงบางครั้งนั้นตอนจบจะให้ฟลีนซีโอ้ลูกชายของบังโกวก้าวมาเดินต่อหน้าทุกคนราวกับจะบอกว่าคำทำนายของแม่มดยังไม่จบสิ้น 
 
แม็คเบ็ธเป็นตัวละครที่แตกต่างจากละครแบบโศกนาฎกรรมทั้งหลายของเช็คสเปียร์ไม่ว่าจะเป็น เอียโก  ใน Othello พระเจ้าริชาร์ดที่สามใน Richard III เอ็ดมุนด์ใน King Lear ที่แม็คเบ็ธเป็นผู้ที่มีทั้งความแข็งแกร่งและความอ่อนแอในตัวเอง ในขณะที่เขาทะเยอทะยานถึงขั้นลอบปลงพระชนม์กษัตริย์แต่เขาก็มีความสงสัยในใจว่าสิ่งที่ทำลงไปในถูกต้องหรือไม่และต้องมาทุกข์ทรมานไปกับความรู้สึกผิดบาปซึ่งปรากฎตัวในรูปแบบของผีบังโกว แต่ในท้ายสุดแล้วแม็คเบ็ธก็ยังมีความแข็งแกร่งคือไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตายเหมือนกับตัวละครอื่นๆ ของเช็คสเปียร์ที่แต่ตัดสินใจจบชีวิตตนในสมรภูมิ ส่วนเลดี้แม็คเบ็ธเป็นกรณีที่น่าสนใจสำหรับบทบาทของผู้หญิง เธอเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงเองก็มีความทะเยอทะยาน ความชั่วร้ายแต่จารีตของสังคมโบราณที่ผู้ชายเป็นใหญ่ทำให้เธอไม่สามารถแสวงหาความยิ่งใหญ่ด้วยตัวเองจึงพยายามใช้ผู้ชายให้เป็นเครื่องมือแม้แต่เหล่าแม่มดเองซึ่งเป็นตัวแทนของโชคชะตาที่กำหนดชีวิตของมนุษย์ทั้งมวลก็เป็นผู้หญิง
 
แท้ที่จริงผู้หญิงมีอำนาจแฝงที่น่ากลัวเทียบได้กับธาตุหยินซึ่งอ่อนแอแต่สามารถใช้ความอ่อนแอนั้นสยบความแข็งแกร่งของผู้ชายซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุหยางอันไม่ได้หมายถึงการใช้เสน่ห์ทางเพศของเท่านั้นหากยังหมายถึงสติปัญญาหรือความกล้าหาญของเธออีกด้วย แม้ในบทละครหรืออุปรากรเรื่องนี้จะเป็นในด้านชั่วร้ายก็ตาม ฉากที่ฟ้องถึงสิ่งนี้ได้อย่างดีคือฉากที่แม็คเบ็ธชายชาติทหารร่างบึกบึนแสดงท่าทางกระอักกระอ่วนใจแต่ก็จำใจถือกริชตามคำชักจูงกึ่งคำสั่งของผู้หญิงร่างอ้อนแอ้นอรชรและเมื่อแม็คเบ็ธเดินตัวสั่นเหงื่อโทรมกายออกจากห้องบรรทมของกษัตริย์มาทรุดตัวนั่งลงเงียบ ๆ ก็เป็นผู้หญิงคนเดิมอีกเช่นกันที่จัดการกลบเกลื่อนทุกอย่างเพื่อให้ลุตามความทะเยอทะยาน แม็คเบ็ธจึงดูไม่ต่างจากหุ่นเชิดของเลดี้แม็คเบ็ธแม้แต่น้อย
 
 
 
 
(1) นอกจากอุปรากรแล้ว  บทละครของเช็คสเปียร์เรื่องยังถูกดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์หลายเรื่องอย่างเช่น Macbeth ของออร์สัน เวลล์ส และโรมัน โปลันสกี หรือถูกดัดแปลงไปใช้บริบทของชาติอื่นๆ เช่น  Throne of Blood ของอาคิระ คูโรซาว่า  และ ล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์แนวอิสระนอกรีต (อินดี) ของไทย คือ Shakespeare Must Die  ซึ่งสร้างความฮือฮาเพราะถูกแบน 
 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที