Skip to main content

   

    เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วทำให้นึกถึงบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสซึ่งผู้แปลได้หยิบมาเขียนวิพากษ์คือบทความของวรนัย วาณิชกะ ว่ามีมุมมองที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ผิดแต่ว่าผู้เขียนบทความนี้คือดร.ฟารีด ซาคาเรียค่อนข้างเป็นกลางๆ และมีเหตุมีผลมากกว่า ที่สำคัญไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปสนับสนุนกองทัพมากจนเกินไป  สาเหตุที่ผู้แปลได้หยิบบทความนี้มาแปลก็เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นการเมืองโลกที่แตกต่างกว่าเดิมเพราะมันได้กล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่งที่ดูตรงกันข้ามกับฟรานซิส ฟูกูยามาเจ้าของบทความที่ผู้แปลได้ยกมาก่อนหน้านี้

      บทความนี้แปลมาจากบทความ Rise of Putinism ของฟารีด ซาคาเรียใน The Washington Post  เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

    เมื่อสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง ฮังการีดูเหมือนจะเป็นพื้นที่พิเศษในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติเมื่อปี 1989 มันเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศแรกๆ ในวงจรอำนาจของรัสเซียที่ทอดทิ้งลัทธิคอมมิวนิสต์และรับเอาประชาธิปไตยเสรีนิยมเข้ามาแทน และปัจจุบันนี้เองที่ฮังการีได้กลายเป็นผู้นำกระแสโลกอีกครั้งคือเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่ประณามและพาตัวเองออกห่างจากประชาธิปไตยเสรีนิยม มันได้รับระบบและชุดคุณค่าใหม่ซึ่งมีตัวอย่างที่ดีที่สุดคือรัสเซียของปูตินมาแทน แต่เรายังพบเสียงสะท้อนลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ เช่นกัน

     ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญเมื่ออาทิตย์แล้ว นายกรัฐมนตรีของฮังการีคือนายวิกเตอร์ ออร์บานได้อธิบายว่าประเทศเขานั้นได้มุ่งมั่นที่จะสร้างต้นแบบทางการเมืองแบบใหม่นั้นคือประชาธิปแบบเทียมๆ (Illiberal democracy) สิ่งนี้ทำให้ผมเกิดความสนใจเพราะในปี 1997 ผมได้เขียนเรียงความลงในนิตยสาร         ฟอร์เรนจ์ แอฟแฟร์ส และได้ใช้วลีเดียวกันนี้ในการอธิบายแนวโน้มอันตรายของการเมืองโลก    รัฐบาลประชาธิปไตยถึงแม้จะได้รับความนิยมแต่ก็ได้ใช้อำนาจในการบั่นทอนสิทธิของปัจเจกชน การแบ่งแยกอำนาจและภาวะนิติรัฐ  แต่ผมไม่นึกไม่ฝันว่าผู้นำของชาติจากยุโรปจะใช้คำเช่นนี้ในการประกาศเกียรติคุณตัวเอง

    นายออร์บานได้อ้างว่า "หัวข้อซึ่งยอดนิยมที่สุดสำหรับการคิดคำนึงในทุกวันนี้คือความพยายามเข้าใจว่าระบบซึ่งไม่ใช่เป็นแบบตะวันตก ไม่ใช่เสรีนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีนิยมและอาจไม่ใช่แม้แต่ประชาธิปไตยจะสามารถทำให้ชาติของพวกตนประสบความสำเร็จได้อย่างไร"  สำหรับออร์บาน โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงรากถึงโคนในปี 2008 ด้วยสิ่งที่ซึ่งเขาเรียกว่า "การล่มสลายทางการเงินของตะวันตกครั้งสำคัญ" และเขาก็ได้เสนอแนวคิดว่าอำนาจของสหรัฐอเมริกานั้นได้เสื่อมถอยลงและคุณค่าแบบเสรีนิยมได้กลายเป็นเรื่องของ"การฉ้อราษฎรบังหลวง เรื่องทางเพศและความรุนแรง" ยุโรปตะวันตกได้กลายเป็นดินแดนของ "เหลือบที่เกาะกินระบบสวัสดิการ" เขายังกล่าวอีกว่า ต้นแบบที่เป็นเสรีเทียม ๆ สำหรับโลกอนาคตนั้นคือรัสเซีย ตุรกี จีน สิงคโปร์และอินเดีย

     ถ้าไม่กล่าวถึงรายชื่อประเทศแบบแปลกๆ ของเขาออกไป (เช่นรวมอินเดียด้วย ?) พฤติกรรมของออร์บานในรอบหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าต้นแบบของเขานั้นคือรัสเซียภายใต้การปกครองของปูติน ออร์บานได้สร้างและปฏิบัติตามรูปแบบที่สามารถอธิบายได้อย่างดีที่สุดว่าเป็น "ลัทธิปูติน"ในฮังการี  เพื่อความเข้าใจ เราต้องกลับไปหาผู้ก่อตั้งลัทธินี้

     เมื่อได้ขึ้นมามีอำนาจในปี 2000 ปูตินดูเหมือนเป็นผู้จัดการที่แข็งแกร่ง ฉลาดและเต็มไปด้วยความสามารถ เป็นคนมุ่งมั่นที่จะนำเสถียรภาพมายังรัสเซียซึ่งจมปลักอยู่กับความวุ่นวายภายในประเทศ การชะงักงันของเศรษฐกิจ และการไม่สามารถชำระหนี้ระหว่างประเทศ ในปี 2008  เขาพยายามผนึกประเทศรัสเซียให้เป็นหนึ่งเดียวกับโลก และต้องการความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตก  เขาได้ร้องขอกรุงวอชิงตันให้ช่วยเหลือรัสเซียให้กลายเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลกและแม้กระทั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ  รัฐบาลของเขามีนักวิชาการหลายคนซึ่งมีความคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก และรู้เรื่องดีเกี่ยวกับระบบตลาดเสรีและการค้าแบบเปิด

   

 

                                   

 

                                       ภาพจาก  www.inrumor.com

 

 

กระนั้นในระยะเวลาหนึ่ง ปูตินได้เสริมสร้างระเบียบขึ้นมาในประเทศของเขาพร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองเพราะราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นเป็นสี่เท่าภายใต้การควบคุมของเขา เขาเริ่มต้นสร้างระบบการกดขี่ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อเป็นการรักษาอำนาจเอาไว้ เมื่อต้องพบกับการต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อปี 2011 ปูตินระลึกดีว่าเขาต้องการสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจในการเอาชนะปรปักษ์ทั้งหลาย เขาต้องการอุดมการณ์แห่งอำนาจและเริ่มเผยแพร่มันผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ การออกกฎหมายและการใช้ตำแหน่งของตัวเองในการสานต่อชุดของคุณค่าเหล่านั้น

     องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของลัทธิปูตินคือลัทธิชาตินิยม ศาสนา ลัทธิอนุรักษ์นิยมทางสังคม ระบบทุนนิยมที่รัฐเป็นเจ้าของทุน (State capitalism) และการครอบงำของรัฐบาลต่อสื่อมวลชน  สิ่งเหล่านั้นล้วนแตกต่างไม่ทางใดทางหนึ่งกับคุณค่าทางตะวันตกยุคใหม่เกี่ยวกับสิทธิปัจเจกชน ความอดทนต่อความแตกต่างในสังคม การถือว่ามนุษย์ทุกคนคือพี่น้องกันและการเน้นความสัมพันธ์กับนานาชาติ มันเป็นความเข้าใจผิดหากไปเชื่อว่าลัทธิของปูตินนั้นทำให้เขาได้รับความนิยม เขานั้นได้รับความนิยมมาก่อนแล้ว แต่มันได้ทำให้ความนิยมของเขาดำรงต่อไปต่างหาก

      ออร์บานได้เดินตามรอยเท้าของปูตินโดยการบั่นทอนความเป็นอิสระของศาล (เช่นเดียวกับคสช.-ผู้แปล) จำกัดสิทธิของปัจเจกชน พูดเน้นลัทธิชาตินิยมโดยอ้างถึงเชื้อชาติฮังการี และปิดปากสื่อ (เช่นเดียวกับคสช.อีกเหมือนกัน-ผู้แปล) วิธีการควบคุมสังคมมักจะซับซ้อนกว่ารูปแบบเก่าๆ มาก  เมื่อไม่นานมานี้ฮังการีได้ประกาศเก็บภาษีร้อยละ 40  ของรายได้ที่มาจากการโฆษณาของสื่อซึ่งดูเหมือนจะพุ่งเป้ามายังเครือข่ายโทรทัศน์เสรีเพียงแห่งเดียวของประเทศซึ่งอาจนำไปสู่การล้มละลายของบริษัท

    ถ้าคุณมองไปรอบๆ โลก มีผู้นำคนอื่นๆ ที่รับเอาแนวคิดของปูตินมาใช้  เรเจป ไตยิป  เออร์โดกันแห่งตุรกีก็ได้ปลีกตัวออกห่างจากแนวคิดการปฏิรูปของเขาไปยังแนวคิดอนุรักษ์นิยมทางสังคม แนวคิดเคร่งศาสนาและลัทธิชาตินิยมอย่างสูง  เช่นเดียวกันเออร์โดกันได้ใช้กลยุทธในการข่มขู่ให้สื่อสยบยอม ผู้นำพรรคการเมืองแบบขวาตกขอบในยุโรปหลายคนไม่ว่ามารีน เลอ ปองแห่งฝรั่งเศส เกิร์ต วิลเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ หรือแม้แต่กระทั่ง ไนเจล แฟราจของอังกฤษ ก็แสดงความชื่นชมอย่างเปิดเผยต่อปูตินและอุดมการณ์ของเขา (หากบุคคลดังกล่าวต้องการมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตก็ต้องแสดงการชื่นชอบปูตินให้น้อยลงไป เพราะมีประชาชนในชาติเหล่านี้เป็นจำนวนมากที่ไม่ชอบหรือหวาดระแวงความเป็นทรราชของปูติน ที่สำคัญพรรคขวาตกขอบเหล่านั้นต้องลดแนวคิดที่ค่อนไปทางเผด็จการลงเพราะประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งไม่เหมือนฮังการีหรือรัสเซีย-ผู้แปล)

     ความสำเร็จของลัทธิปูตินนั้นจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จอย่างมหาศาลของตัวปูตินและรัสเซียในการปกครองของเขา ถ้าเขาประสบความสำเร็จในเรื่องยูเครนโดยการเปลี่ยนยูเครนให้เป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่จนต้องคุกเข่าขอร้องกรุงมอสโคว์  เขาก็จะดูเหมือนเป็นผู้มีชัย แต่ในทางกลับกันถ้ายูเครนสามารถออกจากวงจรอำนาจของรัสเซียได้สำเร็จและเศรษฐกิจของรัสเซียยังคงอ่อนแอลงเรื่อยๆ  ปูตินอาจจะพบว่าตนนั้นกำลังปกครองรัฐรวยน้ำมันที่โดดเดี่ยวจากชาวโลกฉกเช่นเดียวกับเขตไซบีเรีย

 

 

            

                  

                                                                          ภาพจาก   i1.wp.com/hungarianspectrum.org                                                                   

                     

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที