เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกและได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะ ชื่อของเขามักจะถูกยกมาเคียงคู่กับคนไอคิวสูงอย่างเช่นอัลเบิร์ต ไอนสไตน์นักวิทยาศาสตร์เรืองนาม หรือวิกตอ อูโก นักเขียนชาวฝรั่งเศสแนวสัจนิยม โมสาร์ตยังปรากฏตัวในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ละครเวที โฆษณา ภาพยนตร์ คนที่ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิกก็จะรู้จักเขาผ่านซีดีเพลงคลาสสิกสำหรับเปิดให้ลูกในท้องหรือเด็กฟังตามทฤษฎีจิตวิทยาที่ว่า หากเด็กฟังดนตรีคลาสสิกแต่วัยเยาว์จะทำให้เป็นอัจฉริยะ จนในที่สุดกลายเป็นวัฒนธรรมแบบกระฎุมพีที่แพร่หลายมาช้านาน แม้ว่าบางทีอาจมีคีตกวีในยุคเดียวกันหรือใกล้ๆ กันที่มีความสามารถไม่แพ้กัน เพียงแต่ตัวตนและผลงานไม่ได้รับความนิยมเท่าก็เป็นได้
ชายคนนี้เป็นใคร เหตุใดถึงมีคนกล่าวขวัญถึงและเอาดนตรีของเขามาเล่น ถึงแม้คีตกวีท่านนี้จะเสียชีวิตตั้งแต่ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยไปแล้วก็ตาม ต่อไปนี้เป็นชีวประวัติของโมสาร์ตรวมไปถึงผลงานที่น่าสนใจของเขา
โมสาร์ต ผู้มีชื่อเต็มว่า Wolfgang Amadeus Mozart เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1756 ที่เมืองซาลซ์เบิร์กซึ่งเป็นเมืองเล็กๆในซีกตะวันตกของออสเตรีย บิดาของโมสาร์ตมีนามว่า ลีโอโพลด์ โมสาร์ต ซึ่งเป็นคีตกวีชื่อดังอีกคนหนึ่งของยุโรปแต่ก็ถูกชื่อเสียงของลูกชายกลบหมด (ดังนั้นเวลาเราเอ่ยชื่อโมสาร์ต เราจะนึกถึงแต่วูฟกัง อะมาเดอุสเพียงคนเดียว) มารดาของโมสาร์ตมีชื่อว่าแอนนา มาเรีย เพิร์ต ตัวโมสาร์ตนั้นยังมีพี่สาวชื่อว่า มาเรียน แอนนา ผู้ได้รับการปลูกฝังจากบิดาให้เล่นดนตรีเหมือนน้องชายแถมยังเล่นได้ดีเสียด้วย แต่โมสาร์ตล้ำหน้าพี่สาวของเขาโดยการเล่นไวโอลินอย่างคล่องแคล่วในขณะที่พี่สาวเล่นแต่ดนตรีประเภทเปียโนอย่างเดียว (ก่อนจะที่จะมีเปียโนอย่างที่เห็นได้ปัจจุบันมีเครื่องดนตรีที่ชื่อว่าฮาร์ฟซีคอร์ดซึ่งขนาดเล็กกว่า)
โมสาร์ตสามารถแต่งเพลงเมื่อเขาอายุได้เพียง 5 ปี เพลงที่แต่งคือ Minuet หรือ เพลงเต้นรำ และสามารถแต่งเพลงซิมโฟนีซึ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่ออายุ 9 ปี นอกจากความเป็นอัจฉริยะกุมาร (Child Prodigy) แล้วยังต้องขอบคุณการเคี่ยวเข็ญอย่างหนักจากบิดาผู้เห็นช่องทางจากแววฉลาดของเด็กทั้งสอง แต่เด็กก็คือเด็ก ว่ากันว่าครั้งหนึ่งขณะที่โมสาร์ตน้อยกำลังหัดเล่นเปียโน เขาเห็นแมวเดินผ่านก็ผละจากเปียโนเพื่อไปเล่นกับแมว
ลีโอโพลด์ กะเตงพาลูกชายและลูกสาวไปเปิดการแสดงทั่วยุโรปไปเป็นเวลาหลายๆ ปี ไม่ว่าเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ โดยเน้นไปที่ชนชั้นสูง คือกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และขุนนาง หรือแม้แต่พวกพระชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาก็เกิดตำนานที่ว่าเขาได้พบกับพระนางมารีอันตัวเน็ตซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน เมื่อโมสาร์ตหกล้มในท้องพระโรง พระองค์ทรงรีบไปช่วยประคองโมสาร์ต ด้วยความไร้เดียงสา โมสาร์ตบอกว่าต้องการแต่งงานกับพระองค์ (ดังที่พระเจ้าโจเซฟที่ 2 ตรัสเล่าเรื่องนี้กับโมสาร์ตเมื่อพบกันครั้งแรกในหนังเรื่อง Amadeus)
(ภาพวาดของโมสาร์ตตอนยังเด็กเล่นเปียโนคู่ไปกับบิดาที่เล่นไวโอลิน ผู้หญิงที่ยืนข้างๆ น่าจะเป็นพี่สาว)
ภาพจาก www.intouchpiano.com
แต่มีอีกตำนานหนึ่งคือเมื่อเขาเล่นดนตรีให้จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย คือ พระนางมาเรีย เทเรซ่า และพระนางทรงถามเขาว่าต้องการอะไรเป็นรางวัล เด็กอัจฉริยะก็ตอบแบบพาซื่อว่าต้องการแต่งงานกับพระธิดาของพระองค์คือพระนางมาเรียอันตวนเน็ต (ผู้ที่ต่อมาเข้าอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และทั้งคู่ต้องสิ้นพระชนม์อย่างอนาถจากกิโยตินเมื่อเกิดการปฏิวัติที่ฝรั่งเศส) กระนั้นชีวิตก็ไม่ได้สวยงามเหมือนเทพนิยาย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า เมื่อโมสาร์ตน้อยล้มป่วยจากการเดินทางไปหลายที่ ผู้เป็นบิดาจะบ่นถึงจำนวนเงินรายได้ที่ลดน้อยลงมากกว่าจะสนใจอาการป่วยของบุตรน้อย
แต่เป็นที่น่าสนใจมากว่าโมสาร์ตได้พบกับโจฮันน์ คริสเตียน บาคบุตรชายคนที่ 11 ของคีตกวีนามลือเลื่องโจฮันน์ เซบาสเตียน บาคที่กรุงลอนดอน บาคผู้ลูกถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อโมสาร์ตอย่างสูงในด้านเปียโนโซนาต้าและอุปรากร จึงน่าจะเป็นการส่งต่ออิทธิพลจากบาคผู้พ่อมายังโมสาร์ต ใน ปี 1764โมสาร์ตตีพิมพ์ คลาเวียโซนาต้า (คู่ไปกับไวโอลิน) 4 บทที่กรุงปารีส ในปี 1768 โมสาร์ตแต่งอุปรากรเรื่องแรกในชีวิตคือ La Finta Semplice
เกิดเรื่องน่าเศร้าคือโมสาร์ตเองก็มีปัญหากับผู้อุปถัมภ์คนแรกคืออาร์บิชอบ คอลโลเรโด ผู้ซึ่งแต่แรกพึงพอใจคีตกวีหนุ่มน้อย แต่ต่อมาเริ่มอิดหนาระอาใจกับความดื้อด้านและการหายตัวไปนานๆของเขาจึงแกล้งแต่งตั้งให้โมสาร์ตเป็นแค่คอนเสิร์ตมาสเตอร์หรือผู้ช่วยวาทยกร ที่มีเงินเดือนเพียงน้อยนิด ในช่วงนี้โมสาร์ตก็เขียนงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและทั่วๆ ไปออกมาเป็นจำนวนมาก เขาได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังปารีสในปี 1777 พร้อมกับมารดาเพื่อหาตำแหน่งของนักดนตรีที่มั่นคง แต่น่าเสียดายที่พลาดหมด อันแสดงให้เห็นว่าผลงานของโมสาร์ตไม่จำเป็นต้องได้รับความนิยมเหมือนปัจจุบันแต่แล้วมารดาของเขาเสียชีวิตที่กรุงปารีสนั้นเอง
โมสาร์ตจึงเดินทางกลับไปยังซาลซ์เบิร์กโดยมีตำแหน่งเป็นนักเล่นออร์แกนในปี 1779และก็ถูกคอลโลเรโดไล่ออกจากงานภายหลังจากทั้งคู่มีปากเสียงอย่างรุนแรง กระนั้นเขาก็ได้รับการว่าจ้างจากพวกขุนนางในกรุงเวียนนาให้เขียนงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ โมสาร์ตได้ทำให้บิดาต้องขุ่นเคืองใจเพราะไม่เห็นด้วยที่เขารีบด่วนไปแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อคอนสแตนซ์ เวเบอร์ในปี 1782 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 6 คน แต่มีเพียง 2 คนที่อยู่รอดจนเติบใหญ่
ในช่วงเวลานั้นเขาได้ผูกมิตรกับฟานซ์ โจเซฟ ไฮเดิน คีตกวีผู้มีอายุมากกว่าเขาถึง 24 ปี อาจารย์ผู้เฒ่ามีความเคารพต่อลูกศิษย์หนุ่มคนนี้อย่างมาก ทั้งคู่ต่างมีอิทธิพลทางดนตรีต่อกันจนสำหรับผู้ฟังร่วมสมัย บางทียังแยกไม่ออกว่าเป็นดนตรีของไฮเดิลหรือโมซาร์ต ยังเป็นที่น่าสนใจว่าอุปรากรที่สร้างชื่อให้แก่เขาอย่างมากคือ เรื่อง Le Nozze Di Figaro (การแต่งงานของฟิกาโร) ออกแสดงในปี 1786 แต่ก็มีผลร้ายต่อชื่อเสียของเขาในเวลาต่อมา นั่นคือ พวกขุนนางและพวกราชสำนักไม่ชอบเนื้อหาของอุปรากรที่ค่อนข้างไปในเชิงต่อต้านพวกเจ้า นอกจากนี้เขาก็ยังต้องพบกับความทุกข์จากเรื่องเงินๆ ทอง ๆ เพราะแต่งเพลงแล้วไม่ได้เงินแถมยังชอบใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ่มเฟือย ซ้ำร้ายบิดาของเขามาด่วนจากไปในปี 1787
ภาพจาก Wikipedia.org
ปี 1791 ในช่วงที่โมสาร์ตไม่ค่อยสบายนั้น ขุนนางลึกลับผู้หนึ่งได้ให้คนใช้มาว่าจ้างให้โมสาร์ตเขียนเพลงสวดศพอันโด่งดัง และมาทราบกันทีหลังว่าขุนนางคนนั้นชื่อว่า เคาท์ วาลเซกก์ สตุพพัช ผู้มีจุดประสงค์เพื่อจะได้เอาไปแอบอ้างว่าเป็นงานของตัวเอง (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่าโมสาร์ตได้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่) และในขณะที่ตั้งใจจะเขียนเพลงสวดศพให้เสร็จนั้นโมสาร์ตล้มป่วยอย่างหนัก มือทั้ง2 ข้างบวมเป่งจนทำอะไรไม่ได้ เขาเสียชีวิตในวันที่ 5 ธันวาคมในปีเดียวกันโดยที่ยังแต่งเพลงสวดศพไม่เสร็จ คนที่ช่วยแต่งต่อจนเสร็จ หาใช่อันโตนีโอ ซาลิเอรี ไม่หากแต่เป็นลูกศิษย์ของ ซาลิเอรี คือฟรานซ์ เซเวอร์ ซูสมาเยอร์ที่ได้รับการขอร้องจากภรรยาของโมสาร์ต
สาเหตุการเสียชีวิตของโมสาร์ตยังเป็นที่ถูกถกเถียงกันอยู่มากคือข่าวลือว่าซาลิเอรีเป็นผู้ลอบสังหารโดยการวางยาพิษ (อาจจะเป็นปรอท) และยังถูกซ้ำเติมจากบทละครที่ถูกเขียนในยุคหลัง หากพิจารณาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ถือว่าไกลจากความจริงมากนัก แต่ก็ยังถกเถียงกันอีกว่าถ้าไม่ตายเพราะยาพิษ โมสาร์ตน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคอะไร แต่ที่เชื่อกันมากที่สุดคือโรค Rheumatic Feverหรือโรคไข้เรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิดและก็ยังถกเถียงอีกว่าโมสาร์ตรู้ว่าตัวเองใกล้ตายมากน้อยแค่ไหนและมันจะมีอิทธิพลต่อเพลงของเขาหรือไม่
เมื่อโมสาร์ตตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นให้ท่านเลือกเชื่อเอาเอง
A . ตามความเชื่อของคนทั่วไป โมสาร์ตตายตอนถังแตก และถูกนำไปฝังในหลุมร่วมกับศพของคนจนคนอื่นๆ อย่างอนาถา (ลองนึกภาพตามฉากสุดท้ายของหนังเรื่อง Amadeus)
B.ตามทฤษฎีใหม่ โมสาร์ตตายตอนที่ยังมีเงินอยู่พอสมควร เพราะถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่ก็ยังได้รับเงินค่าจ้างมากสมควรจากราชสำนักและก็ยังได้รายได้จากค่าจ้างแต่งเพลงจากนายจ้างในหลายๆ ประเทศของยุโรป แต่มีนิสัยเสียคือชอบใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ศพของเขาถูกฝังไว้ในหลุมตามที่กฎหมายของปี 1783 ในสุสานเซนต์แม็คซึ่งเป็นสุสานที่ฝังศพคนดังมากมายรวมไปถึง โจเซฟ สเตราส์ น้องชายของโยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์เจ้าพ่อเพลงวอลว์ 17 ปีต่อมาเวบเบอร์ซึ่งแต่งงานใหม่ไปแล้วได้กลับไปที่สุสานอีกครั้งแต่หาหลุมศพจริงของอดีตสามีแต่ไม่เจอ ในปี 1855 ได้มีการวางหินสลักบนที่ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นหลุมศพของโมสาร์ต
ภาพจาก www.mozartportraits.com
ผลงานที่น่าสนใจของโมสาร์ต
ในช่วงชีวิตอันแสนสั้นคือเพียง 36 ปี ไม่น่าเชื่อว่า โมสาร์ตจะผลิตผลงานออกมามากกว่า 600 ชิ้นและมีความหลากหลายมาก ส่วนมากถูกนำมาเล่นอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ต่อไปนี้เป็นเพลงที่มักจะถูกนำมาเล่นบ่อยของโมสาร์ต โดยมีเลขประกอบคือ K. ซึ่งมาจากชื่อของลุดวิก ริตเตอร์ ฟอน โคเคล ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีที่นำเอาเพลงของโมสาร์ตมาจัดประเภท บางที่ก็ใช้คำว่า KV - Koechel Verzeichnis หรือตัวเลขของโคเคล
ต่อไปนี้เป็นผลงานที่น่าสนใจที่สุดคือคนทั่วโลกรู้จักดี
1.Piano Sonata No.11 in G major k.311 ท่อนที่ 3 คือ Rondo all Turca
2.Serenade for strings in G major K.525 หรือ Eine Kleine Nacht Musik มีชื่อแปลว่า"ดนตรียามค่ำคืนชิ้นเล็กๆ"
3.Requiem Mass in D minor K.626
4.Clarinet Concerto in A Major K.622 ท่อนที่คุ้นหูที่สุดคือท่อนที่ 2 คือ Adagio ที่ช้าเนิบนาบและไพเราะมาก หนังเรื่อง Out of Africa นำมาใช้เข้ากับเพลงประกอบภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม
5.Sinfonia Concertante For Violin, Viola And Orchestra In E-Flat Major, K. 364: ท่อนที่ 3 คือ Presto
6.เพลงโหมโรงของ อุปรากรเรื่อง Le nozze di Figaro
7. Serenade in B flat K.361 กระบวนหนึ่งของเพลงถูกใช้ในหนังเรื่อง Amadeus ตอนโมสาร์ตกำลังจ้ำจี้กับสาว ส่วนซาลิเอรีแอบดูด้วยความตะลึง แต่แล้วเมื่อได้ยินเสียงเพลงโมสาร์ตก็รีบวิ่งไปกำกับเพลง ๆ นี้ที่อีกห้องหนึ่งทันที
ตัวอย่างของผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจรองลงมา
Opera หรืออุปรากร มีทั้งหมด 24 เรื่อง ได้แก่
1. Le nozze di Figaro (K. 492) หรือการแต่งงานของฟิกาโร โมสาร์ตแต่งในปี 1786 หากนึกภาพไม่ออก ในหนังเรื่อง Godfather ภาคแรกตอน งานเลี้ยงของลูกสาวของดอน คอร์เลโอเน หลังจากคนเต้นรำเสร็จแล้วก็มีนักร้องหญิงคนหนึ่งร้อง aria หนึ่งของเพลงนี้คั่นรายการ และเพลงโหมโรงหรือ overture ถือได้ว่าโด่งดังและถูกนำมาเล่นเพียงอย่างเดียว บ่อยที่สุดในบรรดาเพลงโหมโรงของอุปรากรทั้งหลาย
2. Die Zauberfloete (K. 620) หรือขลุ่ยวิเศษได้รับการแแต่งและออกแสดงในปี 1791 เพลงที่ดังก็คือเพลง Aria ของ ราชินีแห่งรัตติกาล คือ Der Hoelle Rache kocht in meinem Herzen แปลเป็นภาษาไทยคือ "ความแค้นเคืองลุกโชนในหัวใจฉัน"
3. Die Entfuehrung aus dem Serail (k. 384) หรือ"การลักพาตัวจากแซรากิลโอ" เป็นอุปรากรหรรษาหรือมีอารมณ์ขันร่วมด้วยเช่นเดียวกับขลุ่ยวิเศษ เนื้อหาดังที่กล่าวไว้ในหนังเรื่อง Amadeus คือมีฉากในฮาเร็มของพวกเติร์ก
4. Don Giovanni (K. 527) โมสาร์ตแต่งอุปรากรเรื่องนี้ในปี 1787 ในหนัง Amadeus ได้นำมาเปิดเรื่อง และตอนกลางเรื่องหลังจากการเสียชีวิตของบิดาของเขา เพลงที่ดังที่สุดคือการร้องคู่ระหว่าง ดอนโจวานนี่กับ แซร์ลินาคือเพลง La ci darem la mano หรือ "ยื่นมือมาให้ฉันหน่อยได้ไหม คนสวย"
5.Cosi Fan Tutte (K. 588) หรือ "ผู้หญิงเหมือนกันทั้งโลก" เป็นอุปรากรหรรษา มีเนื้อหาเสียดสีผู้หญิงโดยเฉพาะโมสาร์ตแต่งเรื่องนี้ในปี 1789
Symphony มีทั้งหมด 41 บท ที่รู้จักกันดีก็ได้แก่
1. Symphony No.25 in G minor K.183 โมสาร์ตแต่งในปี 1773 เสร็จเกือบจะพร้อมกันกับ หมายเลข 24 ถูกใช้ในหนังเรื่อง Amadeus ในช่วงต้นเรื่อง ตอนที่ตาเฒ่าซาลิเอรีถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
2. Symphony No.31 in D Major K.297 โมสาร์ตแต่งในปี 1778 เป็นที่รู้จักกันดีใน Paris Symphony เพราะโมสาร์ตแต่งขณะเดินทางมายัง กรุงปารีสเพื่อหางานดี ๆทำ
3.Symphony No.35 in D Major K.385 โมสาร์ตแต่งในปี 1782 เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Haffner ของเขาเอง ที่ใช้ชื่อนี้เพราะเขาดัดแปลงมาจาก Serenade (ดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีมากแต่ซับซ้อนน้อยกว่าซิมโฟนี) K 249 ที่เขาเขียนจากการว่าจ้างของครอบครัวฮาฟฟ์เนอร์
4. Symphony No.38 in D Major K.504 โมสาร์ตแต่งในปี 1786 เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Prague เพราะเขาต้องการขอบคุณชาวเมืองปราก สาธารณรัฐเช็คในปัจจุบัน ที่ยังให้การต้อนรับดนตรีของเขาอย่างท่วมท้น ในขณะที่ชื่อเสียงของเขาในกรุงเวียนนาจางหายไป
5. Symphony No.40 in G Minor K. 550 โมสาร์ตแต่งในปี 1778 เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Great G Minor Symphony ซิมโฟนีบทนี้ได้รับการนิยม ชมชอบมาก มีผู้เรียกงานชิ้นนี้ว่าเป็นงานแห่ง “อารมณ์ ความรุนแรงและความโศกเศร้า” มีอิทธิพลต่อท่อนที่ 3 ใน ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟนและ String Quartet (ดนตรีที่เล่นโดยเครื่องสายสี่ชิ้น) ของฟรานซ์ ชูเบิร์ต
6. Symphony No.41 in C Major K.551 โมสาร์ตแต่งหลังจากหมายเลข 40 เพียงไม่กี่อาทิตย์ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Jupiter สันนิฐานว่าผู้ตั้งชื่อคือโยฮันน์ เปเตอร์ ซาโลมอน นักดนตรีรุ่นหลังขณะที่เรียบเรียงเพลง ๆ นี้มาอยู่ในรูปแบบของการบรรเลงเปียโน
Violin Concerto (การเล่นคู่กันระหว่างเครื่องดนตรีเป็นวงกับไวโอลิน) ของโมสาร์ตมีทั้งหมด 5 บทดังนี้
Violin Concerto No. 1 in B flat major, K. 207
Violin Concerto No. 2 in D major, K. 211
Violin Concerto No. 3 in G major, K. 216
Violin Concerto No. 4 in D major, K. 218
Violin Concerto No. 5 in A major, K. 219
ทั้งหมดถูกแต่งในปี 1775 ตอนนั้นโมสาร์ตเป็นวัยรุ่นตอนปลาย เขียนเพลงเหล่านี้ตอนออกแสดงไปทั่วยุโรปพร้อมบิดา Violin concerto เหล่านี้มีชื่อเสียงสำหรับความงดงามและรูปแบบการแสดงออกอย่างเปี่ยมด้วยทักษะในเครื่องดนตรี
Requiem Mass in D , Minor k. 626 เป็นเพลงสวดศพที่โมสาร์ตแต่งประมาณช่วงปี1791 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตและเขียนไม่เสร็จ เพลงนี้ถูกนำไปประกอบกับภาพยนตร์และโฆษณามากที่สุด อาจเพราะเพลงเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกที่รุนแรง อ้างว้าง อันเป็นการสารภาพของความรู้สึกของโมซาร์ตที่อาจรู้ว่าชีวิตของตัวเองจะยังอีกไม่นาน ส่วนเพลงสวดที่โด่งดังรองลงมาคือเพลงที่ถูกแต่งในปี 1779 หรือกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้คือ Coronation Mass in C, K. 317 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าลีโอโพลที่ 2 ของออสเตรีย ถือได้ว่าเพลงสวดนี้โดยมากมีทำนองที่หลากหลายคือทั้งสง่างาม รวดเร็ว ช้าเนิบนาบ ฟังแล้วน่าขนลุกเหมือนอยู่ในโบสถ์ เพราะมีฉันทลักษณ์มาจากเพลงสวดของศาสนาคริสต์
Piano Concerto (การบรรเลงร่วมกันระหว่างเครื่องดนตรีเป็นวงกับไวโอลิน) โมสาร์ตเขียนทั้งหมด 27 บทดังนี้
Piano Concerto No. 9 "Jeunehomme" in E flat major, K. 271
Piano Concerto No. 11 in F major, K. 413/387a
Piano Concerto No. 12 in A major, K. 414/385p
Piano Concerto No. 13 in C major, K. 415/387b
Piano Concerto No. 14 in E flat major, K. 449
Piano Concerto No. 15 in B flat major, K. 450
Piano Concerto No. 16 in D major, K. 451
Piano Concerto No. 17 in G major, K. 453
Piano Concerto No. 18 in B flat major, K. 456
Piano Concerto No. 19 "Coronation I" in F major, K. 459
Piano Concerto No. 20 in D minor, K. 466
Piano Concerto No. 21 in C major, K. 467
Piano Concerto No. 22 in E flat major, K. 482
Piano Concerto No. 23 in A major, K. 488
Piano Concerto No. 24 in C minor, K. 491
Piano Concerto No. 25 in C major, K. 503
Piano Concerto No. 26 in D major, K. 537
Piano Concerto No. 27 in B flat major, K. 595
ที่น่าสนใจได้แก่ หมายเลขเก้า ที่มีชื่อว่า Jeunehomme หรือ "ชายหนุ่ม " โมสาร์ตเขียนเมื่อเขาอายุได้เพียง 21 ปี นักเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีขนานนามว่าเป็น Eroica ของโมสาร์ต (คือเทียบความยิ่งใหญ่ได้กับซิมโฟนีหมายเลข 3 ของเบโธเฟน) นอกจากนี้ยังมีหมายเลข 19-21 ในหมายเลข 21 ท่อนที่ 2 คือ Andante ถือว่าไพเราะมาก และเป็นเพลงประกอบ Amadeus ตอนจบที่ตาเฒ่าซาลิเอรีถูกเข็นออกจากห้องไป
Nannerl's music book เป็นการรวบรวมงานคีย์บอร์ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮาปซิคอร์ดที่โมสาร์ตตั้งชื่อเลียนแบบพี่สาวของเขา
Andante in C, K. 1a
Allegro in C, K. 1b
Allegro in F, K. 1c
Minuet in F, K. 1d
Minuet in G, K. 1e
Minuet in C, K. 1f
Minuet in F, K. 2
Allegro in B-flat, K. 3
Minuet in F, K. 4
Minuet in F, K. 5
Allegro in C, K. 5a
Andante in B-flat, K. 5b
(Minuet แปลว่าจังหวะเต้นรำ มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศส)
Piano Sonata หมายเลข1-19 (การบรรเลงเปียโนอย่างเดียว) นั่นคือ
Piano Sonata No. 1 in C major, K. 279
Piano Sonata No. 2 in F major, K. 280
Piano Sonata No. 3 in B-flat major, K. 281
Piano Sonata No. 4 in E-flat major, K. 282
Piano Sonata No. 6 in D major, K. 284
Piano Sonata No. 7 in C major, K. 309
Piano Sonata No. 8 in A minor, K. 310
Piano Sonata No. 9 in D major, K. 311
Piano Sonata No. 10 in C major, K. 330
Piano Sonata No. 11 "Turkish March" in A major, K. 331
Piano Sonata No. 12 in F major, K. 332
Piano Sonata No. 13 in B-flat major, K. 333
Piano Sonata No. 14 in C minor, K. 457
Piano Sonata No. 15 in F Major, K. 533
Piano Sonata No. 16 in C Major, K. 545
Piano Sonata No. 18 in B-flat Major, K. 570
Piano Sonata No. 19 in D Major K. 576
ที่โด่งดังก็ได้แก่ หมายเลข 16 มีชื่อเล่น ว่า Sonata facile หรือ Sonata semplice และที่เคยได้กล่าวมาแล้วในบทความที่แล้ว คือหมายเลข 11 ตอนที่ชื่อว่าRondo Alla Turca: Allegretto ซึ่งมีชื่ออีกอย่างคือ Turkish Rondo ซึ่งโมสาร์ตได้แรงบันดาลใจมาจากวงดนตรีของพวกตุรกี (แต่งประมาณปี 1778 หรือ 1783) ดนตรีจำนวนมากของโมสาร์ตจะไปในลักษณะแบบตุรกี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปรากรที่ได้อ้างแล้วคือ Die Entfuehrung aus dem Serail
Horn เป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่โมสาร์ตชอบนำมาใช้ในงานของเขานั่นคือ Horn Concerto ซึ่งสื่อให้เห็นถึงอารมณ์ขันต่อคนที่เขาอุทิศเพลงให้ ดังนั้น ฮอร์นคอนแชร์โต้จึงมีลักษณะสบาย ๆ เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ขี้เล่น มีทั้งหมดดังต่อไปนี้
Horn Concerto No. 1 in D major, K. 412
Horn Concerto No. 2 in E flat major, K. 417
Horn Concerto No. 3 in E flat major, K. 447
Horn Concerto No. 4 in E flat major, K. 495
หมายเลข 1 นั้นเข้าใจว่า โมสาร์ตเขียนกระบวนที่ 2 ไม่เสร็จ จนเมื่อเขาได้เสียชีวิตไปแล้วลูกศิษย์ของเขาคือฟรานซ์ ซาเวอร์ ซูสส์มาเยอร์ ได้แต่งให้จนเสร็จ ยังว่ากันว่า ชายผู้นี้ช่วยแต่งเพลง Requiem ของโมสาร์ตอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี Basson Concerto ซึ่งถือว่าเป็นผลงานระดับสุดยอดสำหรับนักเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ โมสาร์ตเขียนบาซซูน คอนแชร์โตในช่วงที่เขายังเป็นละอ่อนคืออายุ 18 ปี ว่ากันว่าเขาเขียนถึง 3 บท แต่เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เล่นเพียงบทเดียวคือ in B flat major, K. 191 ที่เขาเอากระบวนหนึ่งมาแปลงเป็นบทร้องบทหนึ่งในอุปรากรเรื่อง Le nozze di figaro
Oboe concerto in C major, K. 314 ต่อมาโมสาร์ตดัดแปลงมาเป็น Flute Concerto ดนตรีชิ้นนี้เบาสบาย และขี้เล่นเช่นเดียวกับ ฮอร์น
แต่กระนั้นดนตรีที่น่าจดจำอีกชิ้นหนึ่งก็คือ Sinfonia Concertante for Oboe, Clarinet, Horn, Bassoon and Orchestra, K. 297b แต่ปัจจุบันนักวิชาการยังถกเถียงกันว่าโมสาร์ตเป็นคนแต่งจริง ๆ หรือไม่
กระนั้นก็มีเครื่องเป่าอยู่ชิ้นหนึ่งที่โมสาร์ตเกลียดนักเกลียดหนานั่นคือทรัมเปรต ตอนเด็กๆ หนูน้อยโมสาร์ตได้ยินเสียงทรัมเปตก็ร้องไห้จ้าก็เลยไม่ยอมแต่ง trumpet Concerto แถมโตมาก็ไม่ค่อยถูกโฉลกกับฟลุ๊ต นัก แต่ก็ยังอุตสาห์แต่ง Flute Concerto ถึง 2 บทคือ K313-314 (และอุปรากรเรื่อง ขลุ่ยวิเศษ) รวมไปถึง Concerto for flute and Harp K.299 ดนตรีชิ้นนี้โมซาร์น่าจะเสียรังวัดไปไม่ใช่น้อยเพราะเขาไม่ได้สตางค์สักแดงเดียวจากการแต่ง
String Quartet หรือวงเครื่องสายที่ใช้เครื่องดนตรี 4 ชิ้น 3 ประเภทคือไวโอลิน 2 วิโอล่า 1 เชลโล 1 โมสาร์ตเขียนทั้งหมด 23 บท แต่ที่สุดยอดคือ 6 บทที่เขาอุทิศให้กับท่านอาจารย์ไฮเดิน คือ K. 387, 421, 428, 458, 464, 465
String Quintet หรือวงดนตรีเครื่องสายที่ใช้เครื่องดนตรี 5 ชิ้น ซึ่งถ้าพิจารณาโดยรวมแล้วไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับตัวคีตกวีเองว่าจะเอาแบบไหน ที่นิยมกันได้แก่ ไวโอลิน 2 ตัว วิโอล่า 2 ตัว เชลโล่ 1 หรืออาจจะเป็นวิโอล่า 1 ตัว เชลโล่ 2 ตัวก็ได้
สำหรับโมสาร์ตจะเป็นวิโอล่า 2 ตัว มีทั้งหมด 6 บท คือ K.174 , 515 ,516, 406 ,593 , 614 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ K 516 ที่ว่ากันว่าแฝงด้วยอารมณ์อันเศร้าหมองของโมสาร์ตเช่นเดียวกับซิมโฟนีหมายเลข 40
นอกจากนี้โมสาร์ตยังเอาเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องเป่ามาร่วมด้วยเช่น
Quintet for piano and winds (พร้อมเครื่องเป่าเช่น โอโบ แคลิเน็ต ฮอร์น บาซซูน) K.285 แล Clarinet Quintet in A major K.581
และที่นิยมนำมาเล่นกันก็ได้ Sonata for violin and Piano ซึ่งมีทั้งหมด ประมาณ 39-40 บทคือ K.6-15 , K 26-31 , 301-306 , 372 ,378,379 ,359-60
ในด้านวัฒนธรรมนั้น หากดูจากหนัง (เพราะผมไม่เคยไปยุโรปหรืออเมริกาจริงๆ เสียที) ฝรั่งมักจะใช้ดนตรีแบบ Quartet Quintet หรือ Sonata for violin and Piano ของโมสาร์ต เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในงานกินเลี้ยงแบบไฮโซ ประเภทแขกผู้มีเกียรติจะเดินถือแก้วพูดคุยกัน ไม่รู้ว่าจะชื่นชมเพลงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นเมืองไทยจะเป็นนักร้องสาว ร้องเพลงของ ดาวใจ ไพจิตรหรือไม่ก็ สุเทพ วงศ์คำแหง คลอไปกับอิเล็คโทน
สุดท้ายก็จะเป็นเพลงที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปคือ Divertimenti, Notturni, Cassazioni, Marches and Dances แต่ที่คุ้นหูจะเป็นอันแรกคือ Divertimenti K.136-138 และ Divertimenti for two horns and strings, A Musical Joke (Ein Musikalischer Spass,) K. 522 ซึ่งว่ากันว่าโมสาร์ตแต่งเพื่อล้อเลียนคีตกวีคนอื่นที่ฝีมือด้อยกว่า นิสัยเสียเช่นนี้ถูกนำมาขยายต่ออย่างชัดเจนในเรื่อง Amadeus แต่ก็มีนักวิชาการบางคนแย้งว่าอาจจะเป็นตลกล้อเลียนตัวเองของโมสาร์ตก็ได้ แต่เทคนิคของดนตรีบทนี้มีอิทธิพลต่อนักแต่งเพลงรุ่นหลังเช่นอีกอร์ สตราวินสกี และคลอด เดบูซี
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื