(ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเองผสมกับบทความอื่นอย่างแนบเนียนโดยระบุแหล่งที่มาซึ่งสืบถึงตัวผมได้ยากเหลือเกินหรือก็ไม่ได้พูดถึงเลย จึงขอชี้แจงมา ณ ที่นี้)
รู้จักกันไหมกับคำว่า perfect murder หรือ "ฆาตกรรมอันสมบูรณ์แบบ" ? สำหรับพวกเราที่คุ้นเคยกับฆาตกรรมที่ผลุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดในหนังสือพิมพ์หัวสีก็พบว่าล้วนมีแรงจูงใจซ้ำกันๆ ไม่ว่าเรื่องการขัดผลประโยชน์กัน เรื่องชู้สาว หรือการประสงค์ต่อทรัพย์กับร่างกายของเหยื่อหรือแม้แต่เรื่องโง่ๆ เช่นเกิดบันดาลโทสะเพราะมองหน้ากันนานเกินควร การจับกุมฆาตกรจึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก แต่ก็คงมีไม่น้อยที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตำรวจยังจับคนผิดไม่ได้เพราะถึงแม้จะทราบว่าเหยื่อเป็นใครแต่ไม่ทราบว่าใครฆ่าและฆ่าเพื่ออะไร
ฆาตกรรมอันสมบูรณ์แบบจึงหมายถึงการฆ่าแบบแนบเนียนแบบไร้ร่องรอย หลักฐานและผู้ฆ่าไม่ได้ฆ่าเหยื่อเพราะมีวัตถุประสงค์ใดแน่นอน การฆาตกรรมอันสมบูรณ์แบบที่ปรากฏในภาพยนตร์ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อกสุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษอยู่หลายเรื่องดังเช่น Rope (1948) อันเป็นเรื่องของชายหนุ่ม 2 คนฆ่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งแล้วเอาศพมาซ่อนไว้ในลังที่กลายเป็นโต๊ะชั่วคราวสำหรับจัดงานเลี้ยงเพื่อพวกเพื่อนๆ รวมไปถึงพ่อและป้าของเหยื่อ โดยไม่ได้มีความโกรธแค้นต่อเหยื่อแม้แต่น้อยเพียงแต่เห็นว่าเป็น"งานศิลปะ"อย่างหนึ่งและเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีของฟรีดริก นิตเช่ต์ (เอาตามจริงผมว่าเป็นการตีความของผู้สร้างภาพยนตร์ต่อนักปรัชญาชาวเยอรมันเช่นนี้คลาดเคลื่อนไปมากเหมือนกัน) แต่ฆาตกรรมอันสมบูรณ์แบบของฮิตช์ค็อกใช่ว่าจะหมายความอย่างนี้เท่านั้นหากหมายถึงการที่ผู้ฆ่าลวงหรือข่มขู่ให้คนอื่นซึ่งไม่ได้เป็นนักฆ่าอาชีพและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหยื่อมาฆ่าเหยื่อเพื่อไม่ให้ตำรวจสามารถสาวไปถึงได้อย่างเช่น Dial M for Murder (1954) ที่สามีข่มขู่เพื่อนเก่าให้มาลอบฆ่าภรรยาของตนซึ่งเป็นเศรษฐีนีหรือ Vertigo (1958) ที่สามีลวงให้ผู้อื่นมาเป็นพยานในการฆ่าภรรยาของตัวเองที่ใช้วิธีแนบเนียนที่สุดแต่ในที่นี้เราจะพูดถึง Strangers on a Train (1951) ซึ่งในทัศนะของผมเองเห็นว่าสนุกตื่นเต้นกว่าภาพยนตร์ 3 เรื่องที่ได้กล่าวมา
ภาพจาก www.Hitchcokzone.com
Strangers on a Train เป็นภาพยนตร์แนวตื่นเต้น เขย่าขวัญปนแนวคิดจิตวิทยาของฮิตช์ค็อกที่สร้างมา จากนวนิยายของแพทริเชีย ไฮสมิธ เจ้าของนวนิยายชื่อดังที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันดีคือ The Talented Mr.Ripley และ Ripley's Game ซึ่งเรื่องแรกมีลักษณะของตัวละครและโครงเรื่องคล้ายกับ Strangers on a Train อยู่มาก ฮิตช์ค็อกใช้กลยุทธในการซื้อลิขสิทธิ์ของนวนิยายจากไฮสมิธด้วยราคาถูกแสนถูกเพราะเป็นนวนิยายเรื่องแรกของเธอ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวเอกเป็นนักเทนนิสชื่อดังนามว่า กาย เฮนส์ (ฟาร์ลีย์ แกรงเจอร์)ซึ่งกำลังดำเนินเรื่องหย่ากับภรรยาเพื่อที่จะได้ไปแต่งงานกับแอน มอร์ทัน (รูธ โรมัน) ซึ่งเป็นลูกสาวของวุฒิสมาชิก ขณะที่เขานั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องนั่งเล่นของรถไฟอย่างสบายอารมณ์อยู่นั้น เท้าของเขาก็ไปปัดกับเท้าของผู้ชายที่นั่งอยู่ตรงกันข้ามโดยบังเอิญ หมอนั้นก็เข้ามาตีความสนิทกับกายพร้อมกับแนะนำตนว่าชื่อแอนโทนี บรูโน (โรเบิร์ต วอล์คเกอร์) และเป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวจริงที่ติดตามดูการแข่งขันของเขาอยู่เสมอ และรู้ถึงเรื่องส่วนตัวของกายจนดูเกินงาม จนทำให้คิดว่าที่จริงเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่เขามานั่งในรถไฟคันเดียวกับกาย
การสนทนาดำเนินไปพร้อมกับความอึดอัดใจของกายต่อลักษณะซึ่งดูประหลาดขึ้นเรื่อย ๆ ของชายแปลกหน้า บรูโนได้เล่าเรื่องเล่าส่วนตัวให้กับกายโดยเฉพาะความเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงกับพ่อแท้ๆ ของตน และในที่สุดก็ได้เสนอโครงการน่าสยองก็คือเขากับกายน่าจะสลับกันฆ่าบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของอีกฝ่ายคือภรรยาของกายและพ่อของบรูโนเสียเพื่อที่ตำรวจไม่สามารถสืบมาถึงคนทั้งคู่ได้เพราะทั้งพวกเขาเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่บังเอิญมารู้จักกันบนรถไฟเท่านั้น กายแสร้งแสดงความเห็นดีเห็นงามด้วยเพราะนึกว่าบรูโนพูดเล่น โดยหารู้ไม่ว่าต่อมาบรูโนได้แสดงตนว่าเป็นโรคจิตขนานแท้โดยเดินทางไปฆ่าภรรยาของกายที่ชื่อมิเรียมจริง ๆ และได้มาหากายอีกครั้งพร้อมกับยื่นคำขาดให้เขาฆ่าพ่อของตนตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ กายตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะทางตำรวจสงสัยเขาว่าเป็นคนฆ่าภรรยาของตนด้วยมีพยานเห็นว่าเขากับภรรยาทะเลากันอย่างรุนแรง ครั้นจะไปแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องของบรูโน กายก็ไม่แน่ใจว่าตำรวจจะเชื่อเรื่องนี้หรือไม่ บรูโนยังบีบบังคับกายโดยบอกว่าเขาเก็บที่จุดบุหรี่ของกายได้และจะนำไปไว้ในที่จุดเกิดเหตุเพราะตำรวจซึ่งจะไปสืบหาร่องรอยอีกครั้งจะได้เข้าใจว่าเป็นฝีมือของกายจริง ๆ กายจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเอาตัวรอดจากทั้งตำรวจและบรูโนเป็นหน้าที่ของผู้อ่านจะหาชมเอง
ภาพยนตร์โดยทั่วไปของฮิตช์ค็อกมักไม่ใช่ภาพยนตร์ธรรมดาที่ผู้ชมจะออกจากโรงแล้วสมองกลวงเปล่า เพราะนอกจากปรัชญาและจิตวิทยาอันลึกซึ้ง นอกจากนี้ภาพยนตร์มักมีบางอย่างที่หวือหวาและท้าทายจารีตของสังคมร่วมสมัยสอดแทรกเข้าไปด้วย อย่างเช่น Strangers on a Train ที่นอกจากแนวคิดการฆาตกรรมสมบูรณ์แบบแล้วยังมีประเด็นของความรักร่วมเพศที่โชยมาด้วย บรูโนถูกนำเสนอในภาพยนตร์ในลักษณะของอัตลักษณ์ทางเพศที่กำกวม เขาเป็นชายหนุ่มหน้าดี บุคลิกดีแต่งชุดสูทหรูหราและมีลวดลายมากกว่าผู้ชายทั่วไป ที่สำคัญภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าเขารักและมีความสนิทสนมกับแม่อย่างมาก เหมือนนอร์แมน เบทส์กับแม่ใน Psycho (1960) แม่ของบรูโนดูเหมือนเป็นผู้หญิงที่สติไม่สมประกอบอย่างตอนที่แอนพยายามจะบอกเธอถึงพฤติกรรมชั่ว ๆของบรูโนแต่ดูเหมือนหญิงชราจะไม่ใส่ใจนัก ในขณะเดียวกันบรูโนก็จงเกลียดจงชัดพ่อของเขาซึ่งเป็นเผด็จการชอบวางกฎระเบียบ จนความต้องการปิตุฆาตบังเกิดขึ้นมาในจิตใจของบรูโน อย่างไรก็ตามการที่บรูโนเข้าไปแสดงความชื่นชอบกายจนเกินงามจนทำให้มีผู้วิเคราะห์ว่าเป็น "การจีบกัน" นั้นหากมองได้อีกแง่คือบรูโนมีความปรารถนาต่อต้นแบบของพ่อ (father figure)จากผู้อื่น ดังจะสังเกตได้ว่าบรูโนล่วงรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับกายจนดูราวกับว่าเขาอยากจะเป็นกายเสียเอง อันเป็นลักษณะคล้าย The Talented Mr.Ripley ที่เสนอสารกำกวมว่าทอม ริปเรย์มีความลุ่มหลงหรือต้องการเป็นตัวของดิกกี กรีนลิฟกันแน่ ด้วยความเป็นอัจฉริยะของฮิชท์ค็อกจึงทำให้ภาพยนตร์รอดพ้นจากการเซ็นเซอร์ของคณะกรรมการที่เคร่งจารีตและหลักศาสนาของฮอลลีวู้ดไปได้
ภาพจาก www.theasc.com/asc_blog
ภาพยนตร์ยังแสดงถึงความเป็นพวกโรคจิตที่ไม่ธรรมดาตามแบบของภาพยนตร์โดยทั่วไปของฮิตช์ค็อกคือคนเหล่านี้จะสามารถซ่อนเร้นความไม่ปกติทางจิตของตนไว้กับบุคคลดูทรงเสน่ห์ มากความรู้ วาทศิลป์ยังดีเลิศจนสามารถดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้างโดยไม่ยากดังเช่นอย่างเช่นตอนที่บรูโนตามไปสังหารภรรยาของกายที่สวนสนุกนั้น ภรรยาของกายเองก็รู้ตัวว่ามีคนติดตามมาแต่ดูเหมือนเธอจะพึงพอใจเพราะเข้าใจว่ามีชายหนุ่มหน้าตาดีมาตามจีบเธอ หรือตอนที่บรูโนแอบเข้าไปมั่วร่วมงานในคฤหาสน์ของวุฒิสมาชิกมอร์ตันและคุยกับภริยาของผู้พิพากษาอย่างสนิทสนมอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่สามารถแนะนำเป็นทีเล่นทีจริงว่าควรจะสังหารสามีของเธออย่างไร อันเป็นลูกเล่นของฮิตช์ค็อกที่ทำมาแล้วหลายเรื่องคือให้ฆาตกรกำลังเล่นเกมกับเหยื่อหรือคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร
สำหรับตัวของกายนั้นใช่ว่าจะบริสุทธิ์แบบพระเอกในภาพยนตร์น้ำเน่านัก การที่เขาต้องการแต่งงานกับลูกสาวของวุฒิสมาชิกทำให้คนดูเกิดความสงสัยว่าที่จริงเขามีความทะเยอทะยานอยากได้ดิบได้ดีในวงการเมืองหรือไม่ แต่ภาพยนตร์ก็ทำให้คนดูลืมประเด็นนี้ไปเพราะการที่เขาต้องการหย่าจากภรรยาก็เพราะภรรยาของกายเป็นคนเจ้าชู้ ตั้งท้องเพราะไปมั่วกับผู้ชายคนอื่นแต่ยังอยากอยู่กับกายต่อไปเพราะพ่อเด็กไม่รับผิดชอบ นอกจากนี้กายยังเป็นคนที่ดูซื่อ ๆ ขาดไหวพริบในการเอาตัวรอดจากการคุกคามจากบรูโนจนกลายเป็นเกมแมวไล่จับหนูไป โชคยังดีเขาได้รับความช่วยเหลือจากแอนซึ่งเป็นคนสมบูรณ์แบบทั้งสวย ชาญฉลาดและรักกายอย่างแท้จริงรวมไปถึงน้องสาวของแอนชื่อบาร์บาราซึ่งเป็นเด็กใส่แว่นหนาเตอะดูแก่แดดมีความรู้มากจนเหมือนจะรู้ทันบรูโนในบางครั้ง
Strangers on a Train เป็นภาพยนตร์ที่มีลูกล่อลูกชนที่ทำให้คนดูในยุคนั้นตัวเกร็งบนเก้าอี้เพราะความตื่นเต้น ฉากเกือบทุกฉากทำให้ได้ลุ้น ภาพยนตร์ยังอาศัยแสงเงาของภาพขาวดำเพื่อสะท้อนความชั่วร้ายของตัวแสดงได้อย่างดีเยี่ยม ฉากหลายฉากมีความแปลกใหม่ที่ทำให้คนดูเกิดความสยดสยองกับความชั่ววิปริตจาก บรูโนซึ่งมีนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นด้านมืดของตัวกายเอง อย่างเช่นหลังจากมิเรียมถูกบรูโนบีบคอจนสิ้นใจ แว่นของเธอก็ตกลงพื้นและมีภาพของบรูโนสะท้อนออกมา หรือฉากที่กายนั่งรถยนต์ตำรวจออกไปจากอนุสาวรีย์เจฟเฟอร์สัน เมมเมอร์เรี่ยล และกายก็ได้แลเห็นร่างของบรูโนยืนมองเขาอยู่ลิบ ๆ อยู่บนอนุสาวรีย์พร้อมกับเพลงบรรเลงของดมิทรี ทีโอมคิน และฉากที่จะไม่กล่าวถึงเป็นไม่ได้คือฉากที่กายซึ่งหยุดพักจากการเล่นเทนนิสและมองไปที่อัฒจันทร์แลเห็นคนดูซึ่งทั้งหมดหันซ้ายหันขวาไปตามลูกเทนนิสมีเพียงบรูโนซึ่งนั่งจ้องมองเขาตาเขม็งเพียงคนเดียว ฉากเหล่านี้ดูเรียบง่ายทำให้คนดูขนลุกขนพองได้ เช่นเดียวกับการแสดงของโรเบิร์ต วอล์คเกอร์ซึ่งถือได้ว่ายอดเยี่ยมที่สุดของเรื่อง
ภาพจาก www.jasonbovberg.com
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/ เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง Give It Up ของวง KC&Sunshine Band (ปี 1983)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002 และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที