Skip to main content

 สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจและเกือบทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3  สำหรับในปี 1963 นี้เองที่ภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American ถูกนำออกมาให้ชาวโลกได้ยลโฉมก่อนประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนนาดีจะถูกลอบสังหารไม่กี่เดือน ที่น่าประหลาดใจก็คือถึงแม้ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคำด่าว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" แต่ภาพยนตร์ถูกสร้างโดยคนในวงการฮอลลีวูดเองซึ่งมักจะเยินยอรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่เป็นนิจในทศวรรษที่ 40 และ 50 ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีผู้กำกับภาพยนตร์เป็นคนอเมริกันคือจอร์จ อิงลันด์ได้สร้างมาจากนิยายของนักเขียนอเมริกันคือ ยูจีน เบอร์ดิกและวิลเลียม เลเดอร์เรอร์ (ตีพิมพ์ออกมาในปี1958) และเป็นคนอเมริกันอีกเช่นกันที่แห่มาซื้อจนได้เป็น best seller หรือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และชื่อเรื่องที่ด่าอเมริกันนี้หาใช่เป็นการตั้งชื่อแบบตรงกันข้ามแต่เนื้อเรื่องเชิดชูตัวเองไม่เพราะเป็นการวิพากษ์นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯแบบตรงไปตรงมาอันเป็นการสะท้อนว่า “ยุคเงียบ” ของสหรัฐฯ หรือยุคล่าแม่มดที่นำโดยวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 50  กำลังหมดอิทธิพลไปพร้อมกับบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเสรีนิยมโดยเฉพาะพวกต่อต้านสงคราม อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนักเมื่อถูกนำออกฉาย

 

 

                             

 

                                  ภาพจาก  www.moviepostershop.com

 

 

     The Ugly American เป็นเรื่องของนักวิชาการหนุ่มนามว่าแฮร์ริสัน คาร์เตอร์ แม็คไวท์ (รับบทโดยมาร์ลอน แบรนโด)  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสารขัณฑ์หลังจากต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา สำหรับสารขัณฑ์เป็นประเทศที่ถูกสมมติขึ้นว่าตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อาศัยภาพลักษณ์ของไทยอย่างไม่เป็นทางการเพราะใช้ฉากในเมืองไทยและมีภาษาพูดหลักคือภาษาไทย แถมยังมีมารยาทคือการไหว้ทักทายกัน ในช่วงที่แม็คไวท์เดินทางมานั้นเป็นช่วงที่กระแสชาตินิยมของชาวสารขัณฑ์กำลังถึงจุดสูงสุดโดยมีเป้าหมายหลักคือต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกันถึงขั้นที่มีการก่อการร้ายสะกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลร่วมทุนกับสหรัฐฯในการสร้างถนนมิตรภาพสำเร็จ ผู้นำขบวนการชาตินิยมมีนามว่าแดง (รับบทโดยนักแสดงญี่ปุ่น เออิจิ โอกาดา) ซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่ากับแม็คไวท์ในช่วงที่เป็นพวกใต้ดินต่อสู้กับญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทางการสหรัฐฯกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์แต่แม็คไวท์ไม่ปักเชื่อใจนัก

 

เมื่อแม็คไวท์กับภรรยาพร้อมคณะเดินทางมาถึงสนามบินของประเทศสารขัณฑ์ ชาวบ้านหลายพันคนก็ได้มาร่วมชุมนุมประท้วงการมาของเขาจนถึงขั้นจลาจล แต่พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากทหารของรัฐบาลเสียก่อนจะถูกประชาทัณฑ์ หลังจากแม็คไวท์ได้เข้าพำนักในสถานทูตแล้วก็ได้แอบหนีภรรยามาพบกับแดงเพื่อนเก่าเพื่อเกลี่ยกล่อมผู้นำหัวรุนแรงให้ยอมประนีประนอมกับรัฐบาล แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็มาทะเลาะกันเพราะแดงมีเจตจำนงอันแรงกล้าในการขับไล่สหรัฐฯ ออกไปจากประเทศและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ  กระนั้นที่น่าจะกล่าวถึงคือจุดศูนย์กลางแห่งความเกลียดชังของชาวสารขัณฑ์อย่างเช่นนายกรัฐมนตรี ขวัญ ไซ (การถอดชื่อภาษาไทยเป็นของผมเอง) และผู้มารับบทบาทนี้คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชซึ่งน่าจะเป็นคนไทยจริงๆ เพียงคนเดียวในเรื่องที่มีบทพูดเป็นกิจจะลักษณะที่สุด  ในที่สุดแดงซึ่งไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ไปขอความช่วยเหลือจากพวกคอมมิวนิสต์ในการนำประชาชนก่อการปฏิวัติโค่นล้มขวัญไซโดยหารู้ไม่ว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับอันตรายอันใหญ่หลวง....เป็นที่น่าสนใจว่าภาพยนตร์มีการเอ่ยชื่อประเทศคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนไม่ว่าจีนแดงและโซเวียตและแสดงท่าทางประเทศเหล่านั้นว่าเป็นผู้ร้าย ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เข้าข้างคอมมิวนิสต์และก็ไม่เข้าข้างสหรัฐฯ สาเหตุเป็นไปได้ว่าพวกอเมริกันหัวเสรีนิยมในยุคนั้นเองก็กลัวจะถูกโจมตีว่าเข้าข้างพวกคอมมิวนิสต์ อันจะนำพวกเขาไปสู่ปัญหากับทางการก็ได้ 

 

สำหรับคนที่เป็นพวก Nostalgia คือชอบระลึกความหลังเก่าน่าจะหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาดูต่อเป็นอย่างยิ่งเพราะจะได้เห็นกรุงเทพมหานครในยุคเก่าๆ เช่นตลาดน้ำ และวัดพระแก้วที่ภาพยนตร์สมมติให้เป็นวังที่กษัตริย์ของสารขัณฑ์ทรงประทับอยู่ รวมไปถึงได้เห็นแบรนโดยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวสวัสดีกับเด็กชาวสารขัณฑ์ตัวเล็ก ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังในเมืองไทยมากจนทำให้สื่อมวลชนและบรรดานักเขียนในเมืองไทยมักใช้คำว่า “สารขัณฑ์” เป็นคำล้อเลียนกึ่งประชดประชันการเมืองของตัวเองจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามชื่อนี้ผมคิดว่าคงไม่ได้อยู่ในความทรงจำหรือความสนใจของชาวต่างประเทศเท่าไรนัก

 

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ที่มีบทบาทการแสดงอันโดดเด่นก็คือมาร์ลอน แบรนโดนั่นเอง  แบรนโดก่อนหน้านี้มักได้รับบทบาทของหนุ่มห้าวผู้ขบถต่อสังคม ดังนั้นในเรื่องนี้บุคลิกของเขาจึงดูขัดอยู่บ้างสำหรับบทบาทของผู้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ด้วยความสามารถของการเป็นนักแสดงชายระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดก็ได้ทำให้เขายังคงเป็นจุดศูนย์กลางของภาพยนตร์ได้จนจบ  เป็นที่น่าสนใจว่าแบรนโดน่าจะนำรูปแบบการแสดงเช่นนี้ไปใช้กับเรื่อง The Godfather ในอีก 10 ปีต่อมา ส่วนแดงนั้น ผมเกิดความสงสัยว่าภาพยนตร์ได้จำลองภาพมาจากผู้นำทางการเมืองคนใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ? ผู้ที่น่าจะใกล้เคียงมากที่สุดคือปรีดี พนมยงค์ซึ่งถึงแม้จะถูกสหรัฐฯ สงสัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์จนเป็นสาเหตุให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารซึ่งโค่นล้มรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ผู้เป็นลูกน้องของปรีดีในปี 1947 (พ.ศ.2490)   กระนั้นปรีดีก็ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยตั้งแต่การทำรัฐประหารในครั้งนั้น  อีกทั้งอดีตมันสมองของคณะราษฎรก็ไม่ได้มีบุคลิกเป็นพวกปลุกระดมมวลชนแบบแดงแต่ประการใด นอกจากนี้บรรยากาศทางการเมืองในประเทศสารขันฑ์ก็ไม่ได้สะท้อนภาพของสังคมไทยนักเพราะกระแสต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ของไทยก็ไม่ได้รุนแรงและเป็นรูปธรรมมากเท่าใดนักจนกว่าจะถึงช่วงปลายสงครามเวียดนามคือในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่คนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะนักศึกษาเริ่มสำนึกได้ว่าสหรัฐฯ เข้ามาละเมิดอธิปไตยของชาติตน สำหรับผู้นำทางการเมืองคนอื่นอย่างเช่นซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียก็ไม่น่าจะใช่เพราะถึงแม้จะฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำของรัฐบาลคือประธานาธิบดี (ต่อมาซูการ์โนถูกโค่นโดยซูฮาร์โตในปี 1967 ด้วยสาเหตุแห่งการฝักใฝ่นี้เอง)  ส่วนโฮจีมินห์แห่งเวียดนามก็น่าจะมีส่วนอยู่บ้างแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 เขาเป็นผู้นำของเวียดนามเหนือซึ่งอยู่แยกจากเวียดนามใต้ไปแล้วไม่ใช่ผู้นำที่อยู่ปะปนกับประชาชนในเมืองเหมือนกับเดียง  ผมจึงขอเดาว่า "แดง" น่าจะเป็นภาพผสมของใครหลายๆ คนที่เป็นผู้นำมวลชนฝ่ายซ้ายของประเทศโลกที่ 3  ดังนั้นเป็นไปได้ว่าผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ก็อาจไปเอาข้อมูลมาจากผู้นำของประเทศในทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกาอีกด้วยซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

 

กระนั้นสารัตถะของภาพยนตร์ไม่ใช่การบอกว่าใครเป็นใคร เพราะภาพยนตร์ต้องการจะบอกว่าผู้นำมวลชนของประเทศในประเทศโลกที่ 3 มีเจตนาดีต่อประเทศชาติแต่ต้องตกเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐฯ หรือสหภาพโซเวียต ดังเช่นสหรัฐฯเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์จึงไม่ให้การช่วยเหลือ พวกเขาจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตหรือจีน[i] ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีชื่อว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" ? ก็เพราะภาพยนตร์ต้องการประณามนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศด้อยพัฒนาอย่างเช่นสารขัณฑ์ว่าเกิดจากความกร่างและหลงตัวเองแถมยังมุ่งเน้นไปที่ความฉาบฉวย ไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเจ้าประเทศ เช่นสนับสนุนให้รัฐบาลสร้างถนนและเน้นพิธีเปิดอย่างอลังการเพื่อทำให้ชาวสารขัณฑ์ประทับใจต่อตัวของรัฐบาลอเมริกัน ในขณะเดียวกันกลับไม่สนใจช่วยสร้างโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงโดยมีคนอเมริกันพร้อมภรรยาเพียง 2 คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือชาวสารขัณฑ์เรื่องสาธารณสุขและมาขอความช่วยเหลือจากแม็คไวท์ แต่แม็คไวท์ซึ่งถูกแนวคิดแบบรัฐอเมริกันครอบงำกลับปฏิเสธไป  ดังนั้นภาพยนตร์จึงใช้ชื่อว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" เพื่อการเสียดสีคนอเมริกันโดยเฉพาะรัฐบาลผู้คิดว่าตัวเองเป็น "American The Beautiful" อันมาจากชื่อเพลงมาร์ชปลุกใจอันแสนโด่งดัง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนกับคำพยากรณ์อันแม่นยำว่าสหรัฐฯ จะแพ้สงครามในอนาคตเพราะไม่สามารถเอาชนะ “hearts and minds”  หรือ จิตใจและความคิดของคนในพื้นที่ได้เลย อันสอดคล้องกับความจริงเมื่อสหรัฐฯ ต้องถอนฐานทัพออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1975 หลังจากที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับภูมิภาคอินโดจีนตั้งแต่ปี 1965  เป็นเวลา 10 ปีกับชีวิตคนเวียดนามกว่า 2  ล้านคนที่หายไปจากโลก 10 ปีกับชีวิตทหารอเมริกัน 58,000 คนที่สาบสูญ พร้อมเงินละลายลงแม่น้ำอีกกว่าล้านล้านเหรียญ ซึ่งถือได้ว่าแพงอย่างมหาศาลกับคำว่าประชาธิปไตยของโลกที่สหรัฐฯ อ้างว่าต้องการปกป้องไว้ตามทฤษฎีโดมิโน ดังนั้นหากสหรัฐฯ ช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้นอย่างแท้จริงไม่ใช่การยึดครองผ่านรัฐบาลที่แสนฉ้อฉลเป็นที่เกลียดชังของประชาชน สงครามอาจจะไม่เกิดขึ้นหรือสหรัฐฯอาจจะชนะสงครามเวียดนามโดยไม่ต้องสูญเสียมากมายขนาดนี้จริง ๆ [ii]

 

ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะดูทรงพลังไม่น้อยหากถูกฉายอีกครั้งในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออัฟกานิสถานหรืออิรักเมื่อไม่กี่ปีมานี้ดังจะดูได้จากตอนที่ภาพยนตร์ต้องการโจมตีความอหังการของสหรัฐฯก็คือตอนจบที่ความวุ่นวายทางการเมืองของสารขัณฑ์อย่างรุนแรงทำให้พวกที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐฯเตรียมจะหลบหนีกัน นักข่าวกรูมาสัมภาษณ์แม็คไวท์

      นักข่าว"ท่านครับ เรากำลังจะสูญเสียประเทศนี้ไปจริงๆ หรือครับ ?"

      แม็คไวท์ "เราไม่ได้สูญเสียเพราะเราไม่เคยครอบครองประเทศนี้มาก่อนเลย" 

 



 

[i] หากตัดรายละเอียดของ “แดง” ออกไป อีกตัวอย่างที่น่าจะเอาเทียบเคียงกันอีกอันหนึ่งก็คือฟีเดล คาสโตร แห่งคิวบา ในตอนแรกที่เขาโค่นประธานาธิบดีฟัลเจนเชีย บาติสต้าและตั้งรัฐบาลใหม่ในปี 1959 ก็ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ แต่เมื่อเขาเริ่มนโยบายสังคมนิยม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มหวาดระแวงเขาถึงแม้ว่าประเทศที่มีนโยบายเช่นนี้อาจไม่ได้ความว่าจะอยู่ใต้อำนาจของกรุงมอสโคว์หรือกรุงปักกิ่งเสมอไปดังเช่นพม่าและยูโกสลาเวียในยุคนายพลติโต (แต่นี่ไม่ได้แสดงว่าสหรัฐฯ ยึดทุนนิยมแบบตายตัวคือให้ความสำคัญแก่เอกชนนักเพราะสหรัฐฯ ยังยอมรับระบบทุนนิยมที่ถูกชี้นำและควบคุมโดยรัฐซึ่งเป็นเผด็จการทหารดังเช่นไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในปีเดียวกันนั้นคาสโตรได้รับเชิญให้ไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงรัฐบาลของดี ดี ไอเซนฮาวร์ แต่ได้รับการเมินเฉยจากกรุงวอชิงตัน อันน่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาสโตรหันไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตภายใต้นิกิตา ครุซชอฟและประกาศตนอย่างชัดเจนว่ายึดถือในลัทธิมาร์กซ์ เลนินในปี 1961 ความสัมพันธ์ของทั้งคิวบาและสหรัฐฯ จึงเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ได้ถูกรัฐบาลของคาสโตรเข้ายึดและแปรรูปให้เป็นของรัฐอันนำไปสู่ความพยายามของสำนักข่าวกรองของสหรัฐฯ ในการลอบสังหารคาสโตรด้วยวิธีต่างๆ นาๆ จนไปถึงการฝึกให้ชาวคิวบาพลัดถิ่นโค่นล้มคาสโตรแต่ก็ล้มเหลวในปี 1961 นั้นเอง เหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาดังที่ได้กล่าวมาข้างบนนั้นเอง

 

[ii]  กระนั้นการนำเสนอสารเช่นนี้ของภาพยนตร์ก็ถือได้ว่าสามารถถูกโต้แย้งได้หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของการเข้าไปแทรกแซงของสหรัฐฯยังประเทศต่างๆ  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ได้ให้การช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นในด้านสาธารณสุข การศึกษาหรือโครงสร้างพื้นฐานเพราะตระหนักดีถึงการเอาชนะจิตใจของคนในท้องถิ่น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องพบกับขีดจำกัดหลายประการเช่นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ฝรั่งอย่างไรก็ไม่เข้าใจเอเชียแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพิงรัฐบาลของประเทศนั้นซึ่งมักถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการและเน้นไปที่ความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด รัฐบาลสหรัฐฯ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมอบเงินช่วยเหลือทางทหารเป็นหลัก (ซึ่งก็ถูกรัฐบาลทหารโกงกินอย่างไม่คิดชีวิต) นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เหมือนกับมหาอำนาจอื่นๆ ที่ถือว่ากองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่ค้ำจุนความมั่นคงไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดซึ่งกลับกลายเป็นดาบ 2 คม เพราะยิ่งสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาล ประชาชนซึ่งไม่ชอบรัฐบาลก็ยิ่งเกลียดสหรัฐฯ และหันไปเข้าข้างฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลและสหรัฐฯ ยิ่งขึ้น

 

 

โฆษณา

 

บทความอื่นของผมในประชาไทย ซึ่งกำลังจะออกไปจากหน้าแรกของเว็บ

 

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญต่อเผด็จการ

http://www.prachatai.com/journal/2015/09/61516

 

คลิปที่ผมให้สัมภาษณ์แก่คุณจอม เพชรประดับอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

 

https://www.youtube.com/watch?v=VijnNVEub-w

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที