Skip to main content

                               

       แปลจากบทความไว้อาลัยแด่ฌอง บาวดริลลารด์จากเวบ www.Telegraph.co.uk (ผู้เขียนไม่ปรากฏนาม)  ผู้แปลขออนุญาตดัดแปลงและตัดทอนเนื้อหาในบางส่วนออกไป

      

   ฌอง บาวดริลลารด์ (Jean Baudrillard) ได้ถึงแก่กรรม (เมื่อวันอังคาร 6 มีนาคม ปี 2007- ผู้แปล) ด้วยสิริอายุรวม 77 ปี เขาเป็นนักปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ชั้นแนวหน้าและนักทฤษฎีทางสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกับแนวคิด  ความจริงที่เหนือจริง (Hyperreality) หรือทฤษฎีที่ว่า "มนุษย์สมัยใหม่ไม่สามารถบอกได้ว่าความจริงคืออะไร เพราะเขาได้หลงเข้าไปในโลกแห่ง "simulacra" นั่นคือภาพและสัญลักษณ์ได้สร้างและนำเสนอว่าเป็น "ความจริง"แทนความจริง โดยสื่อมวลชน"     คนจำนวนมากถือว่าเขาเป็นนักปรัชญาฝรั่งเศสซึ่งสำคัญที่สุดในรอบ 50 ปี

 

                                           

                      

                                           ภาพจาก sungrammata.com     

 

 

แท้จริงแล้วบาวดริลลารด์หาใช่เป็นคนแรกที่มีความคิดเช่นนี้ ในศตวรรษที่ 18  มุขนายกเบิร์กเลย์ (ชื่อเต็มๆ คือจอร์จ เบิร์กเลย์นักปรัชญาชาวอังกฤษ  -ผู้แปล)ได้สร้างทฤษฎีที่ว่า ทั้งหมดที่มนุษย์รู้จักเกี่ยวกับวัตถุหรือเหตุการณ์เป็นเพียงการรับรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับมัน การรับรู้นี้ถูกนำเข้าไปในจิตของเขาโดยพระเจ้า กว่าศตวรรษหลังจากนั้น ความคิดของเบิร์กเลย์ถูกสรุปเป็นบทกวีโดยโรนัลด์ น็อกซ์........ ทฤษฏีของบาวดริลารด์ก็คล้ายคลึงกันเพียงแต่พระเจ้าถูกแทนที่ด้วยสื่อมวลชน ความคิดของเขาคือ ถ้าเราอยู่ในโลกแบบดิสนีย์ (Disneyesque world) ซึ่งความเข้าใจของเราถูกกำหนดโดยระบบสัญลักษณ์ที่ขับเคลื่อนโดยสื่อมวลชน และอุปกรณ์แห่งความสามารถต่อการเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์ได้เลือนหายไป เราจะสามารถบอกว่าอะไรคือความจริง ถ้าหากมีสิ่งที่เรียกว่าความจริงอยู่จริง ๆ ?

 

    มุมมองแบบสูญนิยม (nihilism -แนวคิดที่เห็นว่าไม่มีคุณค่าใดๆ ดำรงอยู่จริง ๆ- ผู้แปล) ได้นำเขาไปสู่ข้อสรุปที่น่าตื่นเต้นเช่นในหนังสือปี 1991 ที่ว่า สงครามอ่าวไม่ได้เกิดขึ้น เขาอ้างว่าสงครามเกิดขึ้นแท้จริงในระดับสัญลักษณ์อย่างเดียว เพราะไม่มีฝ่ายไหนสามารถอ้างชัยชนะได้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในอิรัก และความขัดแย้งในตัวมันเองเป็นเพียง "วิดีโอเกม" ที่ถูกจัดฉากมาอย่างดีของเทคนิคคอมพิวเตอร์และภาพกราฟฟิกของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ความคิดของเขายังอื้อฉาวขึ้นไปอีกในเรียงความ The Spirit of Terrorism: Requiem for the Twin Towers (2002) ซึ่งบอกว่าการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อตึกแฝดเวิล์ดเทรดในกรุงนิวยอร์ก หรือเหตุการณ์ 9/11 แท้ที่จริงเป็น "ภาพแฟนตาซีอันดำมืด"ที่ถูกผลิตโดยสื่อมวลชน

 

     เขาเขียนว่าในขณะที่ผู้ก่อการร้ายได้ก่อความหายนะ พวกเขาเพียงแต่นำจุดสิ้นสุดมาสู่ "ความบ้าคลั่งของอำนาจ การปลดปล่อย การเลื่อนไหลและการคาดคำนวณซึ่งหอแฝดเป็นสัญลักษณ์" เขายังเขียนต่ออีกว่า "ความหวาดกลัวของเหยื่อขณะถูกโจมตีแยกไม่ออกจากความหวาดกลัวที่คนเหล่านั้นมีต่อการดำรงชีวิตอยู่ในตึก" บทความนี้ได้นำไปสู่การประท้วงตามความคาดหมาย "มันเป็นอัจฉริยะแบบปีศาจร้ายอย่างแท้จริง "นักวิจารณ์คนหนึ่งเขียนไว้ "ในการปฏิเสธการสังหารหมู่คนนับพันๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาทุกข์ทรมานจากความเบื่อหน่ายอันแสนสาหัสจากสถาปัตย์สมัยใหม่อันแสนน่าเบื่อ"

 

     บาวดริลลารด์เป็นอัจฉริยะในการเอ่ยคำอันแสนฉลาดเช่น "พระเจ้ามีอยู่จริง แต่ผมไม่เชื่อในพระองค์" หรือ "ผมต้องการประจักษ์พยานต่อการหายไปของตัวผม"และ "สิ่งที่น่าเศร้าเกี่ยวกับสมองกล (artificial Intelligence) ก็คือมันขาดภาวะเทียม (artificial) ดังนั้นมันจึงขาดความฉลาด (Intelligence)" นักวิจารณ์บ่นว่าความซับซ้อนของความคิดเขาเกิดจากการพร่ำบ่นแบบเสแสร้งและบอกว่าเขาเป็นแค่นักต้มตุ๋นหรืออย่างดีที่สุดก็เป็นมุขตลกแบบแดกดันของแนวคิดหลังสมัยใหม่ แต่คนอื่นๆ ก็เห็นว่าเขาเป็นนักคิดที่มีพุทธิปัญญาอันโดดเด่นผู้ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจริงอันเลื่อนไหลของวัฒนธรรมสมัยใหม่ยิ่งกว่าใคร

 

     บาวดริลลารด์กลายเป็นเป้าหมายสำหรับงานวิจัยจำนวนมากและกลายเป็น 1 ใน 5 หรือ 6 บุคคลที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดในวงวิชาการ เขาได้กลายเป็นวีรบุรุษสำหรับศิลปินป็อปยุคใหม่ (Neo-pop) ในทศวรรษที่ 80 และ 90 เพราะได้ให้คำศัพท์ใหม่ๆ แก่คนเหล่านั้นในการอธิบายงานของพวกเขา ทฤษฎีของเขาที่ว่า ความจริงสมัยใหม่ประกอบได้ไม่มากไปกว่าภาพลวง หรือ simulacra ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎีที่ว่า "ศิลปะไม่มีเป้าหมายไปมากกว่าการยกตัวเอง" ในการเคารพต่อทฤษฎีนี้ ศิลปินเช่นปีเตอร์ ฮัลเลย์และอลัน แม็คคอลลัมได้อุทิศผืนผ้าใบกว้างกว่าหลายเอเคอร์ให้กับงานที่ชื่อว่า "simulation" เมื่อบาวดริลลารด์ ได้ปรากฏตัวในพิพิธภัณฑ์วิตนีย์ ที่กรุงนิวยอร์กเมื่อปี 1987 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พวกนักสะสม พวกนักซื้อขายงานศิลปะกับศิลปินทั้งหลายต่างแห่แหนมาหาราวกับว่าเขาเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

 

    ในภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายวิทยาศาสตร์คือ The Matrix นั้นได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของเขาอย่างมาก ตัวเอกหลบซ่อนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายในภาพจำลองอันกลวงเปล่าตามทฤษฎี Simulacra และ Simulation ของ บาวดริลลารด์ ถึงแม้จะมีคนโวยวายกันมาก เขายังคงสุขุมและไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันนัก "ผมยืนอยู่ห่างจากโลกซึ่งสำหรับผมไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง" เขาอธิบาย "ดังนั้นความสุขที่ผมได้รับจากมันก็ไม่ใช่เรื่องจริงที่แท้จริงเหมือนกัน"  (นอกจาก The Matrix แล้วภาพยนตร์เรื่อง Wag The Dog ทำให้ทฤษฎีของบาวดริลลารด์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนในเรื่องของความพยายามของรัฐบาลอเมริกันในการใช้สื่อมวลชนสร้างภาพเช่นสงครามจอมปลอมเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นอื้อฉาวของประธานาธิบดี-ผู้แปล)

 

   ในฐานะหลานของชาวนาและลูกของข้าราชการ บาวดริลลารด์เกิดที่เมืองไรมส์ซึ่งอยู่ทางเหนือของฝรั่งเศส ในวันที่ 29 กรกฏาคม ปี 1929 หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาประจำท้องถิ่น เขาก็ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยไลซีอังรีที่ 4 ที่กรุงปารีสเป็นเวลา 1 ปี เขาเรียนภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ต่อมาก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่โรงเรียนมัธยมต้นไลซี ในเวลาเดียวกันนั้นเขาก็ได้แปลงานกวีของเบโธลด์ เบรชต์ และบทละครของปีเตอร์ ไวส ออกเป็นภาษาฝรั่งเศส รวมไปถึงได้เขียนเรียงความและบทวิจารณ์สำหรับนิตยสารของพวกหัวรุนแรงที่ชื่อ Les Temps Modernes

 

     ในช่วงทศวรรษที่ 60 เขาก็หันไปเรียนสาขาสังคมวิทยาจนได้ปริญญาเอกในปี 1966 เกี่ยวกับระบบของวัตถุต่าง ๆ (The System of Objects) ภายใต้การดูแลของอังรี เลอเฟบ ในวิทยานิพนธ์เล่มนั้น เขาเสนอความคิดว่า ลัทธิบริโภคนิยมแบบอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้สร้างระบบที่สินค้าได้กำหนดความต้องการของมนุษย์ซึ่งพวกมันเข้ามาเติมเต็มและได้ประโยชน์จากความจริงที่ว่าไม่มีขีดจำกัดต่อการบริโภคและความต้องการที่จะบริโภคมักจะทำให้คนไม่เคยรู้สึกพึงพอใจราวกับเสพภาพลามกมิปาน

 

     วิทยานิพนธ์ได้ทำให้บาวดริลลารด์มาเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยปารีสที่เมืองนองแตร์ ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา ถึงแม้เขาไม่เคยเข้าร่วมพรรคการเมือง มุมมองเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ทำให้เขาสนับสนุนนักศึกษาที่ก่อจลาจลในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 ซึ่งเกือบจะโค่นล้มรัฐบาลของชาร์ล เดอ โกลลงได้

 

     บาวดริลลารด์ได้พัฒนาแนวคิดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1968 มาเป็นหนังสือชื่อ The Consumer Society (1970) ซึ่งเขาเห็นว่า สินค้าในการบริโภคได้สร้าง "ป่าดงดิบซึ่งคนป่าเถื่อนในยุคสมัยใหม่พบกับปัญหาในการมองหาภาพสะท้อนของอารยธรรม" ใน For a Critique of the Political Economy of the Sign (1972) เขาได้เสนอความคิดว่าในสังคมบริโภคนิยมของเรา คำและสัญลักษณ์ได้กลายเป็นระบบของการจัดการทางสังคม ซึ่งอำนาจของมันเหนือชีวิตของพวกเราสามารถถูกทำลายโดย "การปฏิวัติทุกด้าน"

 

 

                                                    

 

                                             แหล่งจาก /www.goodreads.com/

 

    ในหนังสือเล่มถัดมาของเขาคือ The Mirror of Production (1973) บาวดริลลารด์ได้ประกาศเลิกเชื่อในความคิดแบบมาร์กซ์พร้อมกับเสนอความคิดว่าทฤษฎีของมาร์กซ์ที่ว่าคนงานได้ "แปลกแยกจากวิถีแห่งการผลิต" นั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์จึงไม่มีความหมายในศตวรรษที่ 20 เขาได้สร้างงานเชิงวิพากษ์อย่างดุเดือดเช่นเดียวกันนี้ต่อแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม ใน Forget Foucault (1977)

 

     ใน Symbolic Exchange and Death (1976) เขาพยายามจะอธิบายยุคร่วมสมัยว่าเป็นเวลาที่ความพยายามของสังคมในการปฏิเสธการมีอยู่ของความตายได้ทำให้มันกลายเป็น "ภาวะแห่งความไม่ปกติ" (state of abnormality) ถึงแม้มันได้ทิ้งร่องรอยเชิงสัญลักษณ์ไว้ทุกที่ ในงานชิ้นนี้เสนอความคิดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับความจริงที่เหนือจริง วัฒนธรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยสื่อและเทคโนโลยีล้วนถูกกำหนดโดย "simulacra" ที่ผสมผสานความจริงกับจินตนาการ

 

     เขาได้พัฒนาแนวคิดเหล่านั้นใน Simulacra and Simulation (1981)โดยเสนอความคิดว่า สังคมทุกวันนี้สิ่งที่เป็นจริงหาใช่เป็นความสำคัญอันดับแรกเสียแล้วดังเช่นดิสนีย์แลนด์ถูกนำเสนอแบบภาพฝัน ๆ "เพื่อที่จะทำให้เราเชื่อว่าทั้งหมดนั้นเป็นความจริง ในขณะที่ตามความจริง พื้นที่ทั้งหมดในนครลอสแองเจลิสและในอเมริกาซึ่งอยู่ล้อมรอบมันหาได้เป็นจริงอีกต่อไป แต่เป็นไปตามลำดับขั้นของความจริงที่เหนือจริง (hyperreal) และของการจำลอง (simulation)"  ดังนั้นเหตุการณ์ดังเช่นฆาตกรรม การจี้เครื่องบินและภัยทางธรรมชาติจะเป็น “จริง” ก็เมื่อพวกมันได้รับการตีความให้เป็นเช่นนั้นผ่านสื่อมวลชน

 

    ในทศวรรษที่ 80 บาวดริลลารด์ได้เริ่มต้นการเดินทางรอบโลกซึ่งได้ทำให้เขาเกิดทฤษฎีใหม่ๆ ใน America (1986) เขาเห็นว่า "อารยธรรมตามรูปแบบรีสอร์ต"ของประเทศนี้พร้อมกับเตาอบไมโครเวฟ เครื่องบำบัดของเสีย และ "ความยืดหยุ่นในการถึงจุดสุดยอด" (มาจากคำว่า Orgasnomic elasticity เป็นศัพท์เฉพาะที่เขาคิดขึ้นมาเอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการอธิบายมาก -ผู้แปล) ของพรมปูพื้นของมันทำให้เราอดจะรู้สึกถึงจุดจบของโลกไม่ได้"

 

    บาวดริลลารด์ได้ลาออกจากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยปารีสในปี 1987 และในปีเดียวกันได้ตีพิมพ์ Cool Memories (1980-1985) ซึ่งรวมชุดความคิดของเขาที่มีต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ และต่อโดย Cool Memories II (1990) จากนั้นก็เป็น Illusion of the End (1992) ซึ่งเขาแสดงความเห็นว่ารูปแบบที่สื่อมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์เช่นการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ได้นำไปสู่การผันกลับของประวัติศาสตร์ เหตุการณ์เช่นสงครามเย็นและการปฏิวัติทางอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 20 ได้ถูกลบหายไปจากความจำของชาวโลกราวกับว่าพวกมันไม่เคยเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับเล่ห์กลแบบจารีตในประวัติศาสตร์ (มาจากคำว่า traditional ruse ซึ่งเขาอาจหมายถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีอย่างดาษดื่นที่คนมักยกย่องว่าสำคัญหรือจริงแท้ซึ่งแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ปฏฺิเสธ- ผู้แปล) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมันกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสังเกตนัก

 

    บาวดริลลารด์ ชายสวมแว่นซึ่งหน้าย่นและอ้วนล่ำ ชอบสูบบุหรี่มวนโตที่มวนเองกับมือ มีความเห็นเกี่ยวกับตัวเองที่ดูมีเสน่ห์หรือดูขัดแย้งในตัวเองคือเขาเป็น "คนง่าย ๆ " ซึ่งมีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานคือการเกลียดวัฒนธรรมและความรักในการขับรถเร็ว ในชีวิตช่วงท้าย ๆ เขาได้เกิดความสนใจต่อการถ่ายภาพ และงานของเขาถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชน

 

    แฟลตของเขาในมองปาร์นาสเซถูกตกแต่งโดยโทรทัศน์ 50 เครื่องและภาพถ่ายตามสถานที่ต่าง ๆของสหรัฐอเมริกา  ถึงแม้เขาดูเหมือนจะถือว่าอเมริกาจะเป็นตัวอย่างสุดยอดแห่งความจริงที่เหนือความจริง เขาก็พบว่ามัน "มีชีวิตจิตใจยิ่งกว่ากรุงปารีสอย่างมาก" เขาอาจจะชื่นชมความจริงที่ว่า เขาเสียชีวิตเพียง 1  วันก่อนที่ตัวละครของค่ายการ์ตูนมาร์เวลคอมิกส์คือกัปตันอเมริกาถูกฆ่าตาย

 

 

     ฌอง บาวดริลลารด์ แต่งงาน 2 ครั้งและมีบุตร 2  คน

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที