Skip to main content

                                           

มื่อปีก่อน การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้สั่งห้ามไม่ให้ภาพยนตร์เรื่องอาบัติออกฉายจนกว่าผู้สร้างจะตัดบางฉากซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมอันไม่ดีงามของนักบวชในพุทธศาสนาออกไป ทำให้ผมตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ที่มีต่อสังคมและการเมืองเกินกว่าที่ใครหลายคนจะสามารถคาดคิดได้

       เราสามารถแบ่งกลุ่มบุคคลที่มีปฏิกิริยากับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งขัดแย้งกัน กลุ่มแรกคือ พระบางรูปและกลุ่มชาวพุทธหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์  กลุ่มที่ 2 คือ พวกเสรีนิยมซึ่งมีความเห็นตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกคือเห็นว่า เราควรแยกระหว่างภาพยนตร์ออกจากความจริงเพราะภาพยนตร์เป็นเพียงศิลปะอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการสร้างภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ แหวกแนว ไม่ถูกจำกัดจากรัฐ ที่สำคัญภาพยนตร์ที่ไม่มีการปิดกั้นทางความคิดก็จะสามารถสะท้อนความจริงให้สังคมได้รับรู้  สำหรับผมนั้นแน่นอนว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มแรก แต่ผมเห็นว่าแนวคิดของกลุ่มที่ 2  หรือพวกเสรีนิยมเป็นการมองข้ามพลังและความสำคัญของภาพยนตร์ไป  หากมองในอดีต  ภาพยนตร์นับตั้งแต่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคม การเมืองและของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาพยนตร์ยังต้องแอบอิงและมีปฏิสัมพันธ์อยู่กับมวลชนอยู่เสมอ เพราะคงไม่มีใครสร้างภาพยนตร์มาให้ตัวเองดูคนเดียวหรือนำเสนอในเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจแม้แต่ภาพยนตร์ศิลปะก็ยังต้องมีทำให้ใครสักใครเข้าใจ (อย่างน้อยตามแง่มุมของตัวเอง) ยิ่งเทคโนโลยีในการสร้างภาพยนตร์ทวีความซับซ้อนในการนำเสนอเพื่อหลอกล่อประสาทสัมผัสของมนุษย์เท่าไร (เช่นมีคอมพิวเตอร์กราฟิก) ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความคิดของคนดูไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางสังคม รสนิยม ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ได้มากเท่านั้น และย่อมทำให้มนุษย์เกิดความหลงต่อภาพที่ปรากฏ ถึงแม้จะรู้อยู่กับใจตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นก็ตาม

 

      การชมภาพยนตร์จึงเป็นการนำตัวมนุษย์ไปสู่การสะกดจิตแบบกึ่งตื่นกึ่งหลับ ที่ตื่นคือมนุษย์ยังรู้ว่าตัวเองดูภาพยนตร์ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดีอย่างไร ผู้แสดงเก่งหรือไม่ บทมีความประณีตมากน้อยเพียงใด วิเคราะห์กันได้อย่างหลากหลาย หลายคนยังชอบดูเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ที่หลับก็คือ ภาพยนตร์พามนุษย์ดำดิ่งไปสู่โลกและสังคมด้วยกันในแง่มุมที่มนุษย์ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะนำเสนอเนื้อเรื่องและวัตถุดิบคือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เสียส่วนใหญ่ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ภาพยนตร์จะสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้เหมือนกับความเป็นจริงทุกแง่มุม ภาพยนตร์จึงเป็นตัวกระตุ้นให้สมองของมนุษย์ได้สร้างความจริงที่เกิดขึ้นมาอีกปริมณฑล (sphere) หนึ่ง โดยการใช้วัตถุดิบก็คือความจริงของโลกผสมกับจินตนาการ ภาพยนตร์กลายเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความจริงที่เหนือจริง (Hyper-reality) อีกแบบหนึ่งไปที่ทำให้เราเชื่อว่าจริงโดยไม่รู้ตัวแม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ที่สำคัญภาพยนตร์เป็นตัวปลูกฝังนิสัยให้มนุษย์เป็นโรคถ้ำมอง ชอบมองดูชีวิตของคนอื่น (ที่สมมติขึ้นมา) โดยที่ตนสามารถเลือกได้ว่าจะเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องได้หรือไม่ แต่ความจริงแล้วภาพยนตร์ก็หลอกล่อให้มนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันได้อยู่หลายครั้ง  ตัวอย่างได้แก่ Hachi เวอร์ชันฮอลลีวูด ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับสุนัขญี่ปุ่นผู้ภักดีต่อเจ้าของนั้น ผมเชื่อว่ามีน้อยรายที่ได้ดูแล้วจะไม่ร้องไห้ หรือชาวรัฐแคนซัสคนหนึ่งบ่นว่ามีคนชอบมาทักเขาว่าได้เจอดอโรธีหรือไม่ ดอโรธีนั้นคือตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์ Wizard of Oz อันแสนโด่งดังและเป็นที่รักที่สุดเรื่องหนึ่งของคนอเมริกัน โดยเธอมีนิวาสสถานอยู่ที่แคนซัส หรือภาพยนตร์อาบัติซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถพบกับพฤติกรรมเช่นนี้หรืออาจยิ่งกว่าของพระได้ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงๆ เช่น มีนาย ก. หน้าตาเช่นนี้มาบวชและได้พบนางเอกหน้าตาเช่นนี้ จนสุดท้ายได้พบกับผีเปรต เป็นต้น แต่ก็ทำให้คนสะเทือนใจกับพฤติกรรมของพระอย่างมากเช่นเดียวกับตอกย้ำความเชื่อเรื่องผี

 

    หลายคนอาจเข้าใจว่าตนนั้นเป็นเจ้านายในการเสพภาพยนตร์ นั่นคือสามารถเลือกหรือปฏิเสธสารที่ภาพยนตร์นำเสนอ ซึ่งความสามารถเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับคนจำนวนไม่มากนักซึ่งผมก็ไม่มั่นใจอีกเหมือนกันว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรทางความคิดหรืออารมณ์จากภาพยนตร์เลย และผมคิดว่าคนที่บอกว่า “หนังก็คือหนัง คนละเรื่องกับความจริง” เป็นคนที่ไม่สามารถชมภาพยนตร์ได้สนุกเท่าไรนัก  แต่สำหรับมวลชนแล้ว ภาพยนตร์คือเครื่องมือในการสะกดจิตอันแสนทรงพลัง ไม่ว่าพวกเสรีนิยมจะเชื่อมั่นถึงวุฒิภาวะของมนุษย์ก็ตาม (อันก่อให้เกิดคำถามที่ว่าหากมนุษย์มีวุฒิภาวะในการชมภาพยนตร์จริง ๆ เหตุใดจึงไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนในโลก แม้แต่ที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ยอมให้ภาพยนตร์เข้าฉายในโรงทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบของรัฐเลย)

 

ภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งที่สร้างชุมชนในจินตนาการได้อย่างยิ่งใหญ่เหนือกว่าข่าวหรือสารคดี (ซึ่งก็พยายามนำเสนอให้เหมือนภาพยนตร์เข้าไปทุกทีเพื่อให้เกิดความเร้าใจมากขึ้น)  ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ในรูปแบบละครซึ่งกลายเป็นอาจารย์ผู้มอบความรู้หรือส่งผ่านคติ ค่านิยมทางสังคมให้กับมวลชนได้ดีกว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเสียอีก อย่างเช่นคนจำนวนไม่น้อยต้องการเป็นหรือมีคู่ครองอย่างพระเอกหรือนางเอกในละครอย่างเช่นหล่อ สวย ร่ำรวย ฯลฯ  ชนชั้นล่างเป็นชนชั้นที่น่าสมเพศที่พึงได้รับความเมตตาชนชั้นสูงกว่า ผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชาย เช่นนางเอกยากจนแต่ก็ได้ดีเพราะพระเอกที่เป็นนักธุรกิจพันล้าน ฯลฯ  นอกจากนี้ภาพยนตร์สามารถทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมมองเห็นซึ่งกันและกันได้ดีกว่าสื่อทางวัฒนธรรมประชานิยมอื่นๆ (ไม่สารคดีการ์ตูน เพลง ฯลฯ)  แม้ว่าจะบิดเบือนจากความเป็นจริงก็ตามอย่างเช่น คนไทยหรือคนทั่วโลกจะเข้าใจสังคมอเมริกันโดยมากก็ผ่านภาพยนตร์ ยิ่งดูภาพยนตร์ต่อสู้หรืออาชญากรรมก็ทำให้ชาวโลกมองสังคมอเมริกันเป็นสังคมบ้านป่าเมืองเถื่อน (ตัวละครอยู่ในอพาร์ตเมนท์และมีเสียงหวอของตำรวจผ่านไป) หรือภาพยนตร์รักโรแมนติกก็ทำให้คนทั่วโลกเข้าใจว่าหนุ่มสาวอเมริกันนิยมเรื่องเพศอย่างเสรี คือมีอะไรกันเมื่อไรก็ได้ หรือเลิกกันเมื่อไรก็ได้ เพื่อนผมเคยบอกว่าผมว่าฝรั่งนี่เวลาเลิกกันมันคงไม่เจ็บปวดเท่าไร เพราะมันฟรีเหลือหลาย แต่การเคยพูดกับคนอเมริกัน เขาบอกว่าค่านิยมทางเพศของคนอเมริกันก็ไม่ค่อยต่างอะไรกับสังคมไทย และหลายรัฐหรือหลายเมืองของสหรัฐฯ ล้วนน่าอยู่กว่าประเทศไทยอีก ในทางกลับกัน คนอเมริกันก็เข้าใจประวัติของชาวสยามผ่านเรื่อง The King and I หรือ Anna and the King ว่านางแอนนา เป็นผู้นำความศรีวิลัยมาสู่สังคมสยาม  ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มาถ่ายทำในเมืองไทยในปัจจุบัน ก็ชวนให้ฝรั่งที่ไม่เคยมาเมืองไทยดูบ้านเรามันช่างป่าเถื่อนและอันตรายเหลือเกิน เต็มไปด้วยยาเสพติด หรือโสเภณี

 

   ที่สำคัญภาพยนตร์ยังสามารถทำหน้าที่เป็นภาพจริงที่เหนือจริงของอดีตในการช่วยให้คนในยุคปัจจุบันจะมองเห็นชีวิตของคนในยุคก่อนอันจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของพวกเขาโดยการเชื่อมโยงเข้ากับสังคมในอดีต  คนไทยจะรู้จักคนในยุคกรุงศรีอยุธยาได้ก็ผ่านภาพยนตร์ เพราะแค่อ่านหนังสือกับดูภาพวาดก็ไม่เร้าใจเท่า  การจะมารอเข้าใจสังคมและประวัติศาสตร์ของชาตินั้น ๆ โดยผ่านการอ่านหนังสือ เป็นเรื่องที่ช้าและละเอียดอ่อนเกินไปสำหรับมวลชนที่จะเข้าถึง  วงวิชาการก้าวไปก้าวเดียว ภาพยนตร์ก้าวล่วงหน้าไปสิบก้าว ซึ่งก็คงเหมือนกับดังได้กล่าวไว้ข้างบนคือภาพอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไร (อันเป็นเหตุที่ทำให้ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคลใช้ชื่อว่า “ตำนาน” ก่อนหน้าคำว่า “สมเด็จพระนเรศวร” เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพยนตร์ถูกโจมตีว่าใส่ใข่เสียเยอะ)

 

  แน่นอนว่ารัฐย่อมไม่พลาดโอกาสนี้ในการหยิบฉวยภาพยนตร์มาเพื่อล้างสมองเพื่อให้พลเมืองเกิดความเชื่อถือในตัวรัฐหรือถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ของรัฐ ดังเช่นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ที่มีผู้กำกับอย่าง Triumph of the Will  ในขณะที่ภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่เชิดชูประชาธิปไตยก็จะสร้างภาพยนตร์ต่อต้านนาซี เช่นเรื่อง Casablanca ที่ฉากเด็ดคือให้บรรดาแขกที่อยู่ในผับของพระเอก ร้องเพลง La Marseillaise ประชันกับเพลงของเยอรมันนาซี หรือภาพยนตร์อย่าง It’s a Wonderful Life สร้างโดย แฟรงค์ คาปรา เป็นการสร้างภาพของชุมชนในจินตนาการของสังคมเพื่อเป็นการเชิดชูคุณค่าอันสูงส่งแบบอเมริกันเช่นครอบครัวและการอุทิศตนให้กับสังคม อันเป็นการต่อต้านค่านิยมของอุดมการณ์อื่นๆ เช่นฟาสซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอำนาจแบบละมุน (soft power) ในการทำให้สหรัฐฯ ดูดีในสายตาชาวโลกแข่งกับคอมมิวนิสต์ แม้ว่าบทบาททางการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ ในช่วงหลังอย่างการบุกรุกอัฟกานิสถานและอิรักจะทำให้ประเทศนี้ดูกลายเป็นรัฐอันธพาลก็ตาม แต่ผมคิดว่าคงมีคนไม่น้อยยังคงคิดว่าสหรัฐฯ นั้นยังดูน่าเชื่อถือกว่าประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย จีน อิหร่าน เช่นถ้าจะให้อพยพไปอยู่หรือว่าส่งลูกหลานไปเรียนต่อก็คงเลือกสหรัฐฯ มากกว่าประเทศดังกล่าว (แม้จะกลัวอาชญากรรมหรือเรื่องทางเพศเสรีก็ตาม แต่ก็พอยอมได้)

 

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งมักจะปลูกฝังคนไทยในด้านอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ศาสนานิยม  อนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่กองทัพนิยมอย่างเช่น สุริโยทัย ตำนานสมเด็จพระนเรศวร หรือ 4 แผ่นดินจึงได้รับการสนุนจากรัฐอย่างล้นพ้น ในทางกลับกัน รัฐก็จะระแวดระวังโดยการตรวจสอบ ควบคุม ตัดทอน หรือสั่งห้ามภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอันไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของรัฐเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความคิดหรือมีพฤติกรรมที่หันมาบั่นทอนความมั่นคงของรัฐ หรืออยู่นอกเหนือจากขอบเขตที่รัฐวางไว้ ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์สะท้อนมุมมองที่แท้จริงของชาว 3 จังหวัดภาคใต้ต่อกองทัพ ภาพยนตร์ของพวกเสื้อแดง  หรือภาพยนตร์ที่กระทบกระเทือนศีลธรรมอันดีงาม (ซึ่งปัจจุบันเกณฑ์ดูเหมือนจะอิงกับระบบศักดินามาก ดังภาพยนตร์โป๊เปลือยของราชนิกูลอย่างหม่อมน้อยมักจะออกฉายได้ ในขณะที่เรื่องอื่นที่ถูกกำกับโดยพวกไพร่ก็ถูกสั่งห้ามหรือตัดบางฉากออกไปจนเสียภาพยนตร์อย่างจันดาราของนนทรีย์ นิมิบุตร) ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาพยนตร์ที่มีสารดังกล่าวอาจสามารถทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงมิติอันหลากหลายของตน หรือกระตุ้นให้เราได้เห็นความจริงได้ดีกว่าอุดมการณ์หลักของรัฐไม่รู้กี่เท่า และไม่เกี่ยวอะไรกับความมั่นคงของรัฐเลย นอกจากความมั่นคงของชนชั้นนำเอง

 

       ผมคิดว่าพวกอนุรักษ์นิยมหรือพวกที่ต่อต้านอาบัตินั้นเข้าใจถึงพลังของภาพยนตร์เช่นนี้ดี ถึงแม้พวกเขาจะทราบว่าพฤติกรรมของสงฆ์ (อันอาจจะรวมไปถึงพวกเขาบางคนด้วย) ในปัจจุบันจะย่ำแย่หรือเน่าเฟะยิ่งกว่าในภาพยนตร์ก็ตาม พวกเขาก็ปลงตกได้กับข่าวเช่นนี้ทางสื่อต่างๆ เพราะมันเป็นเพียงการนำเสนอภาพและข่าวสารอันแห้งแล้ง (กระนั้นมีพระหลายรูปออกมาด่าสื่ออยู่เรื่อยๆ) แต่สำหรับภาพยนตร์แล้วพวกเขาไม่แน่ใจว่าสารที่นำเสนอจากภาพยนตร์นั้นจะมีทิศทางไปทางใด แม้ว่าเจตนาของผู้สร้างภาพยนตร์จะเป็นการนำเสนอหลักธรรมของพุทธศาสนาทางอ้อมโดยการให้พระที่พฤติกรรมไม่ดีโดนลงโทษ แต่รูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์เช่นนี้แตกต่างจากภาพยนตร์หรือละครเชิดชูพุทธศาสนาตามแบบกระทรวงศึกษาธิการที่พวกเขาคุ้นเคย พวกเขาคงสงสัยว่าหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ คนไทยจำนวนไม่น้อยจะเสื่อมศรัทธาต่อพระและศาสนา เพราะพลังของสารที่ปะปนมากับแสงสีเสียงที่คนเหล่านั้นประสบพบในโรงภาพยนตร์ผสมกับภาพพจน์ของพระตัวจริงที่เห็นได้ชีวิตประจำวัน   ดังนั้นการปิดกั้นภาพยนตร์หรือไม่ก็ตัดบางฉากออกไปก็เป็นวิธีการที่สะดวกและง่ายดายที่สุด ในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจนำทางความคิดแบบอนุรักษ์นิยมผสมศาสนานิยมเหนือสังคมไทยต่อไป เสียยิ่งกว่าจะหันมาแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างเช่นปฏิรูปองค์กรสงฆ์หรือการเลือกพระสังฆราชหรือผู้นำที่มีคุณภาพและความสามารถจริงๆ มานำองค์กรอันประกอบไปด้วยสมาชิกหลายแสนคนซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทย

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที