Skip to main content

 

            นักประพันธ์เพลงหรือคีตกวีชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงเสียงระดับเดียวกับดมิทรี โชสตาโควิคและเกิดยุคใกล้กันเพื่อพบกับโชคชะตาคล้าย ๆ กัน ในประเทศเดียวกัน แต่คงไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไร ในขณะที่ทั่วโลกต่างชื่นชอบงานของเขาเช่นเพลงประกอบนิทานเรื่อง Peter and The Wolf  ซิมโฟนีหมายเลข 1 รวมไปถึงอุปรากรเรื่อง The Love for Three Oranges เขาผู้นั้นก็คือเซอร์กีย์ โปรโกเฟียฟ (Sergei Prokofiev)  คีตกวีแนวอาวองการ์ด (Avant-garde) คำว่าอาวองการ์ด ในที่นี้เป็นคำที่เรียกกับบรรดาศิลปินที่ชอบทดลองผลิตงานศิลปะแปลก ๆ ใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งทำให้โปรโกเฟียฟได้รับการยกย่องให้หนึ่งในคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20

      โปรโกเฟียฟเกิดเมื่อประมาณวันที่ 23 (หรืออาจจะ 27) เมษายน ปี 1891 เมืองซอนต์ซอฟกา ในยูเครนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย เขาได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวอย่างประคบประหงมแต่เข้มงวด พ่อเป็นวิศวกรฐานะค่อนข้างดี ส่วนแม่เป็นผู้มีทักษะด้านเปียโนอย่างดีเลิศ เธอยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อเขาทางดนตรี ถึงแม้เมืองบ้านเกิดจะห่างไกลจากศูนย์กลางวัฒนธรรมเช่นกรุงมอสโคว์และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก   โปรโกเฟียฟก็หาได้ห่างไกลจากดนตรีไม่ ดังบันทึกที่เขาเขียนไว้เมื่อวัยเด็ก

"เมื่อแม่พาผมเข้านอน ผมไม่เคยอยากจะหลับเลยสักที ได้แต่นิ่งฟังเสียงเพลงโซนาตาของเบโธเฟนซึ่งแว่วมาจากสักที่ ประมาณหลายห้องถัดจากที่นี้ ที่สำคัญแม่ของผมบรรเลงเพลงเปียโนโซนาตาหมายเลข 1

ต่อมาเธอก็เล่นแนวดนตรีพรีลูดส์ มาเซอร์กาส์ และวอลต์เซสของโชแปง บางครั้งก็เป็นเพลงของฟรานซ์ ลิสซต์ซึ่งไม่ยากนักสำหรับการเล่น คีตกวีที่แม่ชอบก็ได้แก่ปีเตอร์ ไชคอฟสกี และรูบินสไตน์  รูบินสไตน์ตอนนั้นกำลังมีชื่อเสียงถึงจุดสุดยอด แม่ของผมเชื่อว่าเขาเป็นคีตกวีที่ดังยิ่งกว่าไชคอฟสกี รูปของรูบินสไตน์แขวนอยู่เหนือเปียโนขนาดใหญ่"

      คุณแม่ยังให้เด็กชายโปรโกเฟียฟหัดเปียโนตอนอายุ 3 ขวบจนเล่นได้อย่างคล่องแคล่วในอีก 2 ปีต่อมา แถมยังแต่งเพลงได้อีกด้วย ต่อมาด้วยอายุ 10 ขวบเขาก็แต่งเนื้อร้องของเพลงอุปรากรได้แล้ว ในวัยเด็กเขายังชอบอ่านเทพนิยายซึ่งแน่นอนว่าจะมีอิทธิพลต่อเพลงของเขาในอนาคต ต่อมาแม่พาตัวเขาไปเล่นเปียโนต่อหน้าครูสอนดนตรีที่มีชื่อคนหนึ่ง  ครูผู้นั้นเกิดประทับใจจึงชักชวนครูดนตรีอื่นๆ ให้ไปสอนพิเศษที่บ้านของโปรโกเฟียฟในปี 1902   อีก 2 ปีต่อมาก็เป็นแม่อีกนั้นแหละที่พาเขาไปเรียนดนตรีที่นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยทิ้งพ่อไว้อยู่เบื้องหลัง เขาเข้าเรียนโรงเรียนสอนดนตรีเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก และได้เป็นลูกศิษย์ของครูดนตรีชื่อดังหลายท่าน เช่นริมสกี คอร์ซาคอฟ  ลียาดอฟและทเชอเรพนิน และหนึ่งในนั้นได้แนะนำให้ เขารู้จักดนตรีของคีตกวีชื่อดังของต่างประเทศไม่ว่า คลอด เดบูสซีย์ หรือโยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์  ตัวโปรโกเฟียฟออกแสดงเดี่ยวเปียโนเป็นครั้งแรกในปี 1908 นี่เป็นจุดเริ่มต้นของชื่ออันโด่งดังของเขาในนาม "เด็กเฮี้ยวอัจฉริยะ" (l'enfant terrible) แต่ผลงานกลับได้รับการยอมรับอย่างดี ในปี 1909 โปรโกเฟียฟจบการศึกษาแต่คะแนนกลับออกมาไม่ค่อยสวย ก็เลยอยู่เรียนต่อและเน้นไปที่การเล่นเปียโนและการกำกับวงดนตรี อีก 1 ปีต่อมาบิดาของเขาเสียชีวิตทำให้จังหวะชีวิตของเขาสะดุดไปบ้าง แต่ดีที่ โปรโกเฟียฟเริ่มทำมาหากินโดยการเป็นวาทยกร จวบจนจบการศึกษาในปี 1914 เขาก็เดินทางไปยังกรุงลอนดอน อังกฤษเพื่อเข้าชมการแสดงของอีกอร์ สตราวินสกี และได้ร่วมงานกับเซอร์กีย์ เดียกิเลฟ

 

                                                       

                               

                                            ภาพจาก   deeprootmag.org                        

 

    จวบจนปี 1917 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1  โปรโกเฟียฟกลับไปที่บ้านเกิดอีกครั้งเพื่อเรียนการเล่นออร์แกนและได้แต่งอุปรากรที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง "นักพนัน" (The Gambler) ของนักเขียนรัสเซียชื่อดังคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี อุปรากรเรื่องนี้จะเน้นความหมกมุ่นและความมืดดำในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก แต่นอกจากการซ้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคแล้วยังไม่ทันจะออกแสดงก็ต้องพับไปเพราะการปฏิวัติรัสเซียระลอกแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน (อีกครั้งเดือนตุลาคม) เขาจึงแต่งบทเพลงที่แสนจะโด่งดังของเขาคือซิมโฟนีหมายเลข 1 ที่มีชื่อว่า The Classical รวมไปถึงเปียโนโซนาตาบางบท และแล้วในปี 1918   โปรโกเฟียฟออกเดินทางไปอยู่ที่สหรัฐฯ เพียงชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่ว่าการเมืองในรัสเซียมีแต่ความวุ่นวายสับสน เขาเดินทางไปแสดงดนตรีที่นครซานฟรานซิสโกและกรุงนิวยอร์ก ภายใต้แรงกดดันจากการเปรียบเทียบระหว่างตัวเขากับคีตกวีรัสเซียที่สร้างชื่อก่อนหน้านี้คือเซอร์กีย์ แรคามานีนอฟ  การออกแสดงเปียโนของเขาเป็นไปด้วยดี ทว่าอุปรากรเรื่องที่ 2 ซึ่งเขาแต่งขณะอยู่ในอเมริกาคือ The Love for Three Oranges ก็ประสบปัญหาจนไม่ได้ออกแสดงและยังทำให้เขาเสียเวลาที่ทุ่มเทไปโดยเปล่าประโยชน์จนเกิดปัญหาเรื่องการเงิน

    ปี 1920 โปรโกเฟียฟก็เดินทางไปที่อยู่ที่ปารีสแทนและได้งานทำอย่างดี เช่นแต่งเพลงให้กับคณะบัลเลต์  ของเดียกิเลฟและกับ สตราวินสกี ต่อมาเขาได้พยายามนำอุปรากร The Love for Three Oranges ออกแสดงอีกครั้งที่ชิคาโก แต่ได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาจากคนอเมริกันทำให้เขาแทบจะตัดญาติขาดมิตรกับอเมริกาเลยก็ว่าได้ และ โปรโกเฟียฟก็พบว่าอีกหลายปีต่อมางานของเขากลับถูกนำไปแสดงที่รัสเซียบ้านเกิดมากขึ้นจนได้ไปออกแสดงในหลายๆ เมือง จนอุปากรเรื่องที่ 2  ประสบความสำเร็จในเมืองเลนินกราด นอกจากนี้เขายังได้ผลิตผลงานอีกหลายชิ้นไม่ว่าเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 4 และ 5 และเป็นเรื่องน่าชื่นใจว่าเขาประสบความสำเร็จในการออกแสดงทั่วยุโรปจนกลับไปสหรัฐฯ อีกครั้งและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ในต้นทศวรรษที่ 30  ระหว่างตระเวนออกแสดงในรัสเซีย   โปรโกเฟียฟยังได้ผลิตผลงานที่จะทำให้เขาเป็นอมตะต่อไปคือ Lieutenant Kijé Suite เพื่อประกอบกับภาพยนตร์ของรัสเซียและเพลงประกอบบัลเลย์คือRomeo and Juliet จนในที่สุดปี 1934 เขาก็ได้กลับไปตั้งรกรากที่รัสเซียเป็นการถาวร

       จะว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งร้ายแรงของเขาก็ว่าได้ เพราะทางการโซเวียตภายใต้การนำของ  สตาลินได้เข้ามาบีบบังคับศิลปินทั้งหลายให้เป็นไปตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ผ่านสหภาพนักแต่งเพลง ทำให้ศิลปินทั้งหลายของโซเวียตต้องตัดขาดจากโลกภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงนั้น โปรโกเฟียฟได้แต่งเพลงประกอบนิทานสำหรับเด็กที่แสนจะโด่งดังคือ Peter and The Wolf ในปี 1936 ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับใจของค่ายวอลต์ ดิสนีย์มากจนถึงกลับสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อประกอบกับเพลงนี้โดยเฉพาะ ในช่วงนี้เองบรรดาผู้ร่วมงานของเขาต่างพบกับความหายนะที่เกิดจากการเมืองดังเช่นวเซวอล์ด เมเยอร์มันโฮลด์ ผู้อำนวยการโรงละครและผู้อำนวยการสร้างอุปรากรของโปรโกเฟียฟ   เมเยอร์มันโฮลด์เคยต่อต้านอย่างหัวชนฝาต่อแนวคิดสัจนิยมสังคมนิยม (Socialist Realism) ที่สตาลินยกย่อง จนในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์สั่งปิดโรงละครของเขา  ตัวผู้อำนวยการได้ถูกจับไปทรมานให้สารภาพความผิดและถูกยิงทิ้ง ส่วนโปรโกเฟียฟต้องพยายามแสดงว่าตัวเองได้ยอมรับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่โดยการแต่งเพลง Cantata for the 20th Anniversary of the October Revolution ซึ่งเป็นเพลงฉลองครบรอบ 20  ปีการปฏิบัติรัสเซียและ Zdravitsa Cantata for Chorus and Orchestra, Op 85 ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพลงยกย่องสตาลินแต่ก็ถูกตีตราว่าเป็นพวกยุคใหม่ หรือModernist และไม่เคยได้รับอนุญาตให้แสดงตลอดชีวิตของเขาเลย

 

 

                                           

 

                                                    ภาพจาก  www.musicroom.com

 

      กระนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่อุบัติขึ้นดูเหมือนช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของทางการโซเวียตต่อตัวของโปรโกเฟียฟไปได้มาก แต่คีตกวีของเราพบว่าการที่โซเวียตไปเป็นพันธมิตรของเยอรมันในปี 1939 ปิดกั้นโอกาสให้เขาออกไปแสดงต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นศัตรูกับเยอรมันเลย แต่โปรโกเฟียฟก็ยังผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าอุปรากรเรื่อง War and Peace และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Evan the Terrible ของผู้กำกับอัจฉริยะที่ชื่อเซอร์กีย์ ไอนเซนสไตน์  (เจ้าของภาพยนตร์ที่กลายเป็นมรดกโลกคือ Battleship Potemkin) รวมไปถึงงานหลายๆ ชิ้นที่โปรโกเฟียฟได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม จนหลังสงคราม คณะกรรมการของรัฐบาลภายใต้การนำของอังเดร ซดานอฟได้ตัดสินให้งานของโปรโกเฟียฟเป็นงานแบบ Formalism นั่นคือเลิศหรูเกินไปจนไม่สามารถสื่ออุดมการณ์ของสังคมนิยมได้ และเป็นอันตรายของประชาชนชาวโซเวียต เช่นเดียวกับงานของคีตกวีคนอื่นคือโชสตาโควิคและคาทชาทูเรียน งานส่วนใหญ่ของเขาจึงถูกสั่งห้ามออกแสดง ประจวบกับสุขภาพอันย่ำแย่ทำให้คีตกวีของเราต้องผลิตผลงานในยุคหลังมาแบบซังกะตาย แต่ยังดีที่ว่าไม่ถูกนำไปค่ายกักกันหรือถูกฆ่าตายเสียก่อน งานชิ้นสุดท้ายของโปรโกเฟียฟที่ถูกนำออกแสดงคือซิมโฟนี หมายเลข 7 ซึ่งทำให้เขาได้รับเหรียญรางวัลเลนิน ในปี 1957 คือ 4 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว

      เรื่องที่น่ากล่าวถึงอีกเรื่องคือช่วงหลังสงครามรัฐบาลโซเวียตได้ออกกฏหมายห้ามไม่ให้ชาวรัสเซียแต่งงานกับชาวต่างชาติ เป็นผลให้การแต่งงานระหว่างโปรโกเฟียฟกับลินา ลูเบอรา ภรรยาชาวสเปนของเขาที่มีมาตั้งแต่อยู่ปารีสต้องเป็นโมฆะไป เกือบ 1 ปีหลังจากนั้นเขาได้แต่งงานกับ  มิรา เมนเดลสัน  อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความหวาดระแวงอย่างไร้ขอบเขตของรัฐบาลของโซเวียตคือ ลินาถูกจับข้อหาก่อวินาศกรรมทั้งที่เธอเพียงพยายามลักลอบส่งเงินไปหามารดาที่สเปนผ่านสถานทูต เธอถูกส่งเข้าค่ายกักกันถึง 8  ปีและถูกปล่อยเมื่อสตาลินเสียชีวิต

       โปรโกเฟียฟเสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม 1953 จากเส้นเลือดในสมองแตก น่าตลกแบบหัวเราะไม่ออกนั่นคือเขาเสียชีวิตก่อนจอมโหดสตาลินเพียงชั่วโมงเดียว จนสาธารณชนไม่สนใจความตายของเขาเลยแม้แต่น้อย มีแขกเพียง 40 คนที่เข้าร่วมงานศพของโปรโกเฟียฟที่จัดในสุสานแห่งหนึ่งของกรุงมอสโคว์ ถือได้ว่าเขาเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของสตาลิน หลังจากจอมเผด็จการได้ทำให้คนรัสเซียต้องล้มตายไปสามสิบล้านคนตลอดยุคของตน

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที