Skip to main content

    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน  เกอร์ทรูด รวมเรื่องสั้นขลุ่ยในฝัน  สเตเฟนวูล์ฟ ... ฯลฯ ผมก็พบว่าเขาเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาได้สวยงามดุจดังกวี และเปี่ยมด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิตวิญญาณอย่างแท้จริง กระนั้นผมคงเป็นสาวกที่ดีของเฮสเสไม่ได้ เพราะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ Das Glasperlenspiel ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์แล้ว นอกจากนี้ในปัจจุบันผมก็ไม่ได้อ่านงานของเฮสเสนานมากแล้ว

    ต่อไปนี้เป็นบทแปล (และดัดแปลงเล็กน้อย) ชีวประวัติของเฮสเส ซึ่งผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าไปเอามาจากไหน จะกลับไปค้นหาแหล่งและคนเขียนก็หาไม่เจอ จึงต้องอภัยและขอขอบคุณผู้เขียนท่านนั้นอย่างยิ่ง

     เฮอร์มันน์ เฮสเส (1877-1962)

     เฮสเส นักกวีและนักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของผลงานซึ่งศึกษาความเป็นทวิลักษณ์ระหว่างจิตกับธรรมชาติ และ การค้นหาทางจิตวิญญาณของปัจเจก อันโพ้นจากขอบเขตทั้งมวลของสังคมมนุษย์ เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1946 นวนิยายของเฮสเสหลายเรื่องได้ถึงบรรยายถึงการเดินทางของตัวเองไปสู่โลกภายใน การชี้แนะทางจิตวิญญาณได้ช่วยเหลือตัวเอกในการค้นหาการรู้แจ้งแห่งตนและนำทางไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือจากโลกซึ่งเต็มไปด้วยเงิน ตัวเลขและเวลา

    "แม้แต่พิษร้ายที่ไร้เดียงสาที่สุดซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนา จะต้องจำนนและยอมรับว่า ตัวหนังสือนั้นมีความเป็นอมตะ หลักในการใช้คำและแสดงพวกมันผ่านการเขียนไม่ได้เพียงเป็นตัวช่วยเหลือสำคัญในการสื่อสาร แต่ยังเป็นวิธีการเดียวที่มนุษยชาติสามารถมีประวัติศาสตร์และสำนึกแห่งตัวตนที่ดำเนินอยู่เรื่อยๆ" (เฮสเส ในหนังสืออ่านก่อนนอน เรียบเรียงโดย สตีเวน กิลบาร์ 1974)

 

 

                                                      

                                                                    ภาพจาก bookhaven.stanford.edu

 

      เฮสเสถือกำเนิดในครอบครัวมิชชันนารีที่เคร่งศาสนา และเจ้าของโรงพิมพ์หนังสือทางศาสนาในเมืองป่าดำแห่งคาล์ว ในรัฐ เวือร์ทเทมแบร์ก ของเยอรมัน  โยฮันเนส เฮสเส บิดาของเขาถือสัญชาติรัสเซียเพราะเกิดใน ไวเซนสไตน์ เอสโตเนีย แม่ของเฮสเส คือมารี กุนแดร์ท เกิดในตาลาเชอรี อินเดียและยังเป็นลูกสาวของ มิชชันนารี และนักภรตวิทยา คือ เฮอร์มันน์  กุนเดร์ท พ่อแม่ของเขาต้องการให้เขาเดินตามทางของครอบครัวนั่นคือศึกษาเทววิทยา จากการที่เคยเป็นมิชชันนารีทำงานในอินเดียมาก่อน เฮสเสได้เข้าเรียนในโรงเรียนของนิกายโปรเตสแตนต์ในมอลบรอนน์ ในปี 1891 แต่แล้วก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเสียก่อน เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนธรรมดา เฮสเสก็ไม่ได้มีความสุขเท่าไรนัก เขาลาออกมาทำงานเป็นเสมียนประจำร้านหนังสือ และไปเป็นช่าง รวมไปถึงคนขายหนังสือในตือบิงเกน ซึ่งเขาได้เข้าร่วมกับชมรมชื่อเลอ เปอติท์ ซองเกอะ (Le petit Cenacle)  ในช่วงนั้น เขาได้อ่านหนังสือเป็นจำนวนมากและมุ่งมั่นในการเป็นนักเขียน ในปี 1899 เฮสเสก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก

       เฮสเสได้กลายเป็นนักเขียนอิสระ ในปี 1904 ภายหลังจากนวนิยายของเขาคือ Peter Kamenzind ได้รับการตีพิมพ์ อิทธิพลจากแนวคิดจากรุสโซในเรื่องการ "การกลับสู่ธรรมชาติ"ได้ทำให้ตัวเอกของเขาทอดทิ้งเมืองใหญ่เพื่อใช้ชีวิตเยี่ยงนักบุญฟรานซิส แห่งอัสซีซี หนังสือประสบความสำเร็จอย่างสูง เฮสเสได้แต่งงานกับ มาเรียน เบอร์นูรี และมีบุตร 3 คนในเวลาต่อมา ถึงแม้การไปเยือนอินเดียในปี 1911 จะนำไปสู่การผิดหวัง แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้    เฮสเสได้ศึกษาศาสนาตะวันออก อันนำไปสู่นวนิยายเรื่อง  Siddhartha หรือ สิทธารถะ  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชีวิตในช่วงแรก ๆของพระพุทธเจ้า เริ่มจากเด็กหนุ่มในวรรณะพราหมณ์ขบถต่อประเพณีและการสั่งสอนจากบิดา ในที่สุดเขาก็เข้าสู่การรู้แจ้งระดับปรมัตถ์ วัฒนธรรมฮินดูและจีนโบราณมีอิทธิพลต่องานของเฮสเสอย่างสูงมาก แต่เป็นเวลาหลายปีในกลางทศวรรษของช่วง 1910   เฮสเสได้เข้าบำบัดทางจิตโดยวิธีของสำนักจิตวิเคราะห์โดย ผู้ช่วยของ คาร์ล ยูง (สานุศิษย์คนสำคัญของซิกมันด์ ฟรอยด์ – ผู้แปล)  คือ เย.บี.ลาง

     ในปี 1912 เฮสเสและครอบครัวได้รับสัญชาติถาวรจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในนวนิยายเรื่อง Rosshalde (1914) เฮสเสได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ศิลปินควรแต่งงานหรือไม่ แนวคิดที่แฝงมาของเขาเป็นไปในแง่ลบและสะท้อนให้เห็นถึงความยุ่งยากใจของตัวเอง ในช่วงนี้เอง ที่ภรรยาของเขา เริ่มมีปัญหาทางจิต และลุกชายของเขาป่วยหนัก เฮสเสใช้เวลาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสวิสเซอร์แลนด์ โจมตี ความเฟื่องฟูของลัทธิทหารและลัทธิคลั่งชาติ เขายังกระตุ้นให้สาธารณชนสนใจความเป็นอยู่ของเชลยสงคราม เฮสเส ซึ่งมีความคิดคล้ายคลึงกับ อัลดัส ฮักซลีย์ต่อเรื่องความต้องการหยั่งรู้ทางจิตวิญญาณ ได้รับการประณามจากเพื่อนร่วมชาติว่า "เจ้าคนทรยศ"

     นวนิยายที่พัฒนาขึ้นไปของเฮสเส คือ Demian (1919) ได้รับการยกย่องจากโทมัส มันน์ ว่ามีความสำคัญระดับเดียวกับ Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์ และ The Counterfeiter ของ อองเดร์ กิด นวนิยายเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้แก่ทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาก มันยังได้สะท้อนให้เห็นถึง วิกฤตทางด้านจิตใจของตัวเฮสเสเองและความสนใจในแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบยูง Demian ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกโดยเขาใช้นามปากกาว่า เอมิล ซินเเคลร์ แต่ต่อมาเฮสเสก็ได้ชื่อจริงตลอดมา มันเป็นนวนิยายที่ได้รับอิทธิพลจาก Faust (วรรณคดีชิ้นเอกของเกอเธ่ กวีชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ –ผู้แปล) ตัวเอกมีความแตกแยกระหว่างชีวิตแบบชนชั้นกลางและ โลกแห่งความสุขทางเนื้อหนังอันวุ่นวาย เฮสเสยอมรับในภายหลังว่า Demian คือเรื่องของ "การเป็นปัจเจก" ตามแนวคิดของยูง เขายังได้ยกย่องต่อการศึกษาจิตวิเคราะห์ตามแบบของยูงเป็นอย่างมาก แต่แล้ว ในปี 1921 เขาก็ยุติความสนใจต่อแนวคิดนี้และกล่าวว่ายูงเป็นแค่ลูกศิษย์อันเก่งกาจของฟรอยด์

       ในปี 1919 เฮสเสทอดทิ้งครอบครัวตัวเอง แล้วย้ายไปยัง มอนทากโนลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสวิสเซอร์แลนด์ และลงมือเขียนสิทธารถะ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่สุด เมื่อได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในทศวรรษที่ 50 มันได้กลายเป็นผู้ชี้แนะทางจิตวิญญาณของกวีบีท (ภาษาอังกฤษคือ Beat อันหมายถึงพวกขบถต่อสังคมซึ่งกลายเป็นพวกฮิปปี้ในทศวรรษต่อมา- ผู้แปล)  จำนวนมากในอเมริกา การแต่งงานช่วงสั้น ๆ กับ รูท เวทเจอร์ ซึ่งเป็น ลูกสาวของ ลิสา เวทเชอร์ นักเขียนชาวสวิส หาได้ทำให้เฮสเสมีความสุขไม่ เขาพบกับรูทในปี 1919 และลงมือเขียนเทพนิยาย เรื่อง "Piktor’s Verwandlungen” เพื่อหล่อน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณตนหนึ่งชื่อปีเตอร์ ได้กลายเป็นต้นไม้โบราณ และค้นพบวัยหนุ่มของตนอีกครั้งจากความรักที่มีต่อหญิงสาว

    เฮสเสได้หย่าขาดจาก มาเรีย เบอร์นูลี และแต่งงานกับ รูท แต่การแต่งงานได้ยุติลงในไม่กี่เดือนต่อมา แต่ในช่วงนั้นเองที่ เขาได้เขียนเรื่อง Der Steppenwolf (1927) ตัวเอกคือ แฮร์รี ฮัลเลอร์ ผู้เผชิญวิกฤตการณ์วัยกลางคนและต้องเลือกเอาระหว่างการชีวิตแห่งความจริงและความฝัน จุดเริ่มต้นของเขาอาจจะไม่ได้บังเอิญเหมือนคนเขียน

   "ความสามารถและพลังเพียงน้อยนิดซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งอย่างกะทันหันได้ทำให้ผมหมกมุ่นอยู่กับมัน ผมวาดภาพตัวเองว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางบทกวี ดนตรีและปรัชญา ผู้คงแก่เรียนและเยี่ยมยอดที่สุด ดังนั้นผมจึงมีชีวิตอยู่โดยการทำให้ที่เหลือของมันคือความสับสนของศักยภาพ สัญชาติญาณและแรงจูงใจ ซึ่งผมพบว่ามันเป็นอุปสรรคและเป็นไปตามแบบของ สเตเฟน วูล์ฟ"

     ฮัลเลอร์ รู้สึกว่ามี 2 สิ่งอยู่ในตัวเขา และได้พบกับอัตตาซึ่งซ่อนเร้น นามว่า "เฮอร์มิน" หญิงผู้เกิดจากภาพมายาตนนี้ได้ชักจูงให้แฮร์รีดื่มเหล้า เต้นรำ ฟังเพลง มีเพศสัมพันธ์และทดลองยาเสพติด ในที่สุดบุคลิกของเขาก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และกลับมารวมอีกครั้งใน "โรงหนังแห่งเวทมนต์" ซึ่งเป็นโรงหนังสำหรับคนบ้าเท่านั้น

     "ไม่มีความจริงใด ๆ นอกจากสิ่งซึ่งอยู่ภายในตัวเรา นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนมากมายถึงหนีเพื่อซ้อนอยู่ในชีวิตมายาเช่นนั้น พวกเขาคิดว่า ภาพภายนอกคือความเป็นจริงและไม่เคยปล่อยให้โลกภายในได้แสดงตนออกมา"

     ในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (1919-1933) เฮสเส ได้ปลีกตนออกจากการเมือง สำหรับ Etrachtungen (1928) และ Krieg und Frieden (1946) คือ หนังสือรวมบทความซึ่งสะท้อนความเป็นปัจเจกและการต่อต้านกระแสเห่อของสังคม  สำหรับ Narcissus and Goldmund (1930) คือ นิยายที่จำลองยุคกลางของยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าอาวาสและลูกศิษย์ของเขาซึ่งใฝ่ใจในเรื่องทางโลก ทั้งคู่กำลังค้นหา "มารดาผู้ยิ่งใหญ่"

    ในปี 1931 เฮสเสได้แต่งานกับ นินอน ดอลบิน (1895-1966) หญิงสาวชาวยิว หล่อนได้เขียนจดหมายถึงเฮสเสในปี 1909 ในวัยเพียง 14 ปี และจากนั้นการโต้ตอบทางจดหมายก็เริ่มขึ้น ในปี 1926 เขาและหล่อนได้พบกันโดยบังเอิญ ขณะนั้นนินอนได้หย่าขาดจาก บี เอฟ บอล์ดิน นักวาดภาพ และวางแผนว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เฮสเสได้ย้ายตามหล่อนไปที่ คาซา บอดเมอร์ จากนั้น ความสับสนวุ่นวายทางจิตของตนก็ได้บรรเทาลง หนังสือของเฮสเสยังคงได้รับการตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ในเยอรมัน ช่วงที่นาซีขึ้นมามีอำนาจ และได้รับการปกป้องในชมรมลึกลับในปี 1937 โดยโจเซฟ เกิบเบลส์ (รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์- ผู้แปล) เมื่อเขาเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์แฟรงค์เฟิร์ตเตอร์ ไซตุง  ผู้ลี้ภัยชาวยิวในฝรั่งเศสกล่าวหาว่าเขาฝักใฝ่พวกนาซี แต่เฮสเสก็ไม่ได้โต้ตอบกลับไป อย่างไรก็ตาม เขาได้ช่วยผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อ Narcissus and Goldmund  ถูกตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1941 เขาปฏิเสธที่จะตัดส่วนที่สะท้อนภาพ การสังหารหมู่และการต่อต้านยิวออกไป ในปี 1943 ชื่อของเฮสเสก็ขึ้นบัญชีดำของนาซี

    "ความลับของเฮสเสคือ พลังอันสร้างสรรคของการอุปมาอุปมัยในบทกวี หรือใน "โรงหนังแห่งเวทย์มนต์" ของ ภาพอันอลังการของวิญญาณซึ่งเขาได้สร้างขึ้นต่อหน้าโลกใบนี้ มันแสดงให้เห็นถึง อัตลักษณ์ของแนวคิดและลักษณะภาพนอก อันแน่นอนว่า งานของเขา เหมือนกับงานทั่วไปที่ถูกเนรมิตโดยตัวมนุษย์ คือไม่อาจทำอย่างอื่นนอกจากในสิ่งที่ได้ชี้นำไป" ( อูโก บอลล์ ใน เฮอร์มันน์ เฮสเส 1947)

 

 

                                                        

                                                               ภาพจาก www.epubbooks.com

 

    ในปี 1931 เฮสเสได้เริ่มเขียนงานชิ้นสำคัญ คือ Das Glasperlenspiel (เกมลูกแก้ว) ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1931 ฉากของนวนิยายคือ โลกอนาคตในแคว้นที่ถูกจินตนาการขึ้นมาคือ คาสติลเลีย หรือชุมชนที่เต็มไปด้วยปัญญาชนและชนชั้นนำของสังคม ซึ่งอุทิศตนให้กับเลขคณิตและดนตรี ....ในปี 1942 เฮสเสได้ส่งต้นฉบับไปยังกรุงเบอร์ลินสำหรับการตีพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธโดยพวกนาซี งานเขียนของเขาจึงปรากฏตัวในนครซูริก สวิสเซอร์แลนด์

    "ความสิ้นหวังคือผลลัพธ์ของความพยายามอันกระตือรือร้นไปที่จะนำชีวิตไปตาม คุณธรรม ความยุติธรรมรวมไปถึงความเข้าใจ และเข้าสู่จุดสุดยอดของสิ่งเหล่านั้น เด็กๆ อาศัยอยู่ในอีกด้านหนึ่งของความสิ้นหวัง พวกเขาล้วนตระหนักรู้ในด้านอีกด้านหนึ่ง" (จาก "การเดินทางสู่ตะวันออก" 1932)

     หลังจากได้รับรางวัลโนเบล เฮสเส ไม่ได้ตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญอีก ในช่วงปี 1945 และ ปี 1962 เขาเขียนบทกวี และบทวิจารณ์อีก 32 บท โดยมากลงในหนังสือพิมพ์สวิส เขาเสียชีวิตจากเส้นเลือดแตกในสมองขณะนอนหลับในปี 1962 ด้วยอายุ 85 ปี งานเขียนสำคัญ ๆ ของเฮสเสชิ้นอื่น ๆ  รวมไปถึง Sight of Chaos (1923) และรวมบทความต่างๆ  ในทศวรรษที่ 60 และ70 เขาได้กลายเป็นเจ้าลัทธิสำหรับนักอ่านวัยรุ่น และมาสร่างซาลงในทศวรรษที่ 80  ก่อนหน้านี้ในปี 1969 วงดนตรีแนวร็อคจากแคนาดาแคลิฟอร์เนีย คือ The Sparrows  ได้เปลี่ยนชื่อตามงานเขียนของเฮสเสคือ Steppenwolf และเขียนเพลง "Born to be wild" อย่างไรก็ดี งานเขียนของเฮสเสมีเสน่ห์ต่อคนที่อยู่ในขบวนการยุคใหม่ (New age movement) และเขายังเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาเยอรมันซึ่งหนังสือขายดีอันดับหนึ่งทั่วโลก

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ  Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913  และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 "Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois  ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3  ของเยอรมัน นั่นคือ Bach  Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก