Skip to main content

อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน รวมไปถึงนวนิยายอย่าง The Poor Folk , Note from underground , The Idiot ,The Possessed ฯลฯ รวมไปถึงเรื่องสั้นอย่าง White Nights

         “ อาชญากรรมและการลงทัณฑ์” ได้รับการตีพิมพ์ ในปี 1866  มันเป็นเรื่องราวของนักศึกษายากไร้นามว่า โรมาโนวิช รัสโคลนิคอฟ ผู้มีนิสวาสสถานคือบ้านเช่าในนครเซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ชีวิตของเขาอยู่ท่ามกลางความสิ้นไร้ไม้ตอก ถึงขั้นเจ้าของบ้านเช่ายังต้องแบ่งอาหารมาให้กิน เขากลายเป็นโรคประสาทและหมกมุ่นกับทฤษฎีที่แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2  กลุ่มนั่นคือ กลุ่มกระจอก ซึ่งหมายถึงคนทั่วไป และกลุ่มแห่งอภิมนุษย์ หรือผู้ยิ่งใหญ่ที่มีอำนาจโดยมีนโปเลียนเป็นตัวแทน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ฟริดริช นิชเช (Friedrich Nietzsche)  นักปรัชญาชาวเยอรมันแนวอัตถิภาวนิยมย่อมได้รับอิทธิพลจากดอสโตเยฟสกีอย่างชัดเจน

      น่าเศร้าที่ว่ารัสโคลนิคอฟจัดตัวเองให้เป็นกลุ่มเดียวกับนโปเลียน จนในที่สุดเขาก็ได้ฆาตกรรมหญิงชราที่รับจำนำของจากเขาด้วยขวาน รวมไปถึงน้องสาวของเธอที่บังเอิญมาเห็นเหตุการณ์เข้า โดยคนทั้งสองนี้เขาจัดว่าเป็นพวกกระจอกหรือเดนมนุษย์ สมควรจะถูกฆ่าตายหมดสิ้น กระนั้นนวนิยายก็ได้บอกว่าเกิดจากความโลภอยากได้เงินของตัวเขาเอง ดังนั้นทฤษฎีที่ว่าจึงกลายเป็นกลไกป้องกันตัวเองไป  จากนั้นความรู้สึกผิดบาปที่เกาะกุมในจิตใจของเขาทำให้ชายหนุ่มต้องพบกับความทุกข์ทรมานจากโรคประสาทแบบ Paranoid หรือโรคหวาดระแวงคิดว่าคนรอบข้างเฝ้ามองและสงสัยตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีใครรู้หรือพบเห็นอาชญากรรมของเขา อย่างไรก็ตามในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง เขาได้พบกับอดีตข้าราชการผู้ทุกข์ระทมที่จมกับขวดเหล้าและสารภาพว่าตนบังคับให้ลูกสาวนามว่าซอนยา เซมโยนอฟนาดำรงชีพเป็นโสเภณี แต่แล้วชายผู้นี้ก็เสียชีวิตจากการถูกรถม้าชน รัสโคลนิคอฟจึงเดินทางไปช่วยเหลือซอนยาและครอบครัว และพบว่าแท้ที่จริงหญิงสาวผู้นี้เป็นคนจิตใจดีงาม อีกทั้งยังนับถือพระเจ้า  และเป็นเธอนั่นเองที่จะทำให้ชีวิตอันแสนทุกข์ทรมานของรัสโคลนิคอฟต้องเปลี่ยนแปลงไปในตอนจบของเรื่อง เมื่อเขาตัดสินใจสารภาพบาปให้เธอฟัง......

 

 

                                                        

                                                             ภาพจาก www.npenn.org

 

      ดูเหมือนว่าดอสโตเยฟสกีจะแตกต่างจากนักเขียนชาวรัสเซียที่โด่งดังไม่แพ้กันไม่ว่าแม็กซิม กอร์กี เจ้าของนวนิยายเรื่อง Mother หรือลีโอ ตอลสตอย เจ้าของนวนิยายเรื่อง Anna Karenina  กับ War and Peace  ที่ว่าแทนที่ดอสโตเยฟสกีจะจำกัดนวนิยายอยู่ที่การพรรณนาตัวละครแบบสัจนิยม ที่เน้นความเหมือนจริง และวิพากษ์สังคมเพียงอย่างเดียว เขาได้หันมาบรรยายให้ผู้อ่านเห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละคร ดังคำที่เรียกว่า Stream of consciousness จึงทำให้คนอ่านรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องและดื่มด่ำไปกับตัวละครจนแทบถอนตัวไม่ขึ้น

    นอกจากนี้ตัวละครยังมีความคิดที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งก็เหมาะกับการพรรณนาความรู้สึกของคนเป็นโรคประสาทอันเป็นลักษณะเด่นของพระเอกในนวนิยายส่วนใหญ่ของดอสโตเยฟสกี รูปแบบการเขียนรูปเช่นนี้ได้มีอิทธิพลต่อนักเขียนในรุ่นหลังไม่ว่าจะเป็น เฮอร์มันน์ เฮสเส  ฟรานซ์ คาฟกา เจ้าของนวนิยายชื่อดังคือ Metamorphosis รวมไปถึงนักคิดแนวอัตถิภาวนิยมชาวฝรั่งเศสคือฌอง ปอล ซาร์ตร์ และอัลแบร์ กามูส์

   นอกจากนี้ดอสโตเยฟสกียังโดดเด่นในการนำเสนอแนวคิดแบบอภิปรัชญา (แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ไกลโพ้นจากประสาทสัมผัสเช่นเรื่องของพระเจ้าหรือความเป็นมนุษย์) ที่ลึกซึ้งไม่ว่าจะเป็นความตกต่ำของมนุษยชาติอันเกิดจากความผิดบาป โดยมีรัสโคลนิคอฟเป็นตัวแทนและแน่นอนว่า โซเฟียเปรียบได้ดังความรักของพระเจ้าที่จะมาไถ่บาปมวลมนุษย์ หากมองแบบเป็นสากล โซเฟียคือตัวแทนของแสงสว่างแห่งความดีที่สาดส่องมาในความมืดในจิตใจของมนุษย์ โดยแหล่งที่มาของแสงสว่างนั้นอาจจะไม่ได้สูงส่งเลย ใครบางคนอาจจะหันมากลับตัวเป็นคนดีหรือได้ความคิดอะไรดี ๆ ได้ก็เพียงเพราะเห็นรอยยิ้มของเด็กหรือได้ยินคำพูดซื่อ ๆ ของคนเก็บขยะ

     ที่จริงแล้ว "อาชญากรรมและการลงทัณฑ์" ยังมีโครงเรื่องและตัวละครอื่นอีกหลายตัว แม้จะไม่ซับซ้อนและยืดยาวเหมือนกับ Brothers Karamazov ก็ตามแต่ก็คงลักษณะคล้ายกัน เช่นดอสโตเยฟสกีได้ผสมผสานแนวเรื่องแบบสืบสวนสอบสวนผ่านนักสืบซึ่งสงสัยในพฤติกรรมของรัสโคลนิคอฟแต่ยังหาหลักฐานมามัดตัวเขาไม่ได้ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอ่านเผลอเอาใจลุ้นตัวเอกของเรื่องจนเหนื่อยแทน นอกจากนี้นวนิยายยังสะท้อนถึงแนวคิดของดอสโตเยฟสกีที่วิพากษ์สังคมบริโภคทุนนิยมของนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก อย่างรุนแรง เช่นเดียวกับแนวคิดทางการเมืองที่เขาให้รัสโคลนิคอฟเป็นตัวแทนของการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดของนักสังคมนิยม ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าที่ชนชั้นกลาง หรือพวกปัญญาชนของรัสเซียในสมัยนั้นเป็นกันมาก  สาเหตุดังกล่าวอาจเนื่องมาจากการที่เขาเคยถูกจับกุมตัวในปี 1849 ด้วยข้อหาก่อการขบถต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 และถูกนำมาประหารชีวิตก่อนจะเปลี่ยนคำตัดสินเป็นถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียแทน เมื่อพ้นโทษออกมาดอสโตเยฟสกีจึงเปลี่ยนจากเป็นพวกหัวรุนแรง เชื่อมั่นในแนวคิดเสรีนิยมมาเป็นมาพวกอนุรักษ์นิยมและเคร่งในศาสนาแทน อาจเพราะประสบการณ์เฉียดตายนั่นเอง เช่นเดียวกับการเป็นโรคลมบ้าหมูซึ่งเขามักสะท้อนออกมาผ่านตัวละครในนวนิยายหลายเรื่อง

    "อาชญากรรมและการลงทัณฑ์" ได้รับการยกย่องในโลกตะวันตกอย่างมาก และถูกสร้างมาเป็นทั้งละครรวมไปถึงภาพยนตร์ทั้งแบบตรงไปตรงมาและดัดแปลง (หนึ่งในนั้นที่น่ากล่าวถึงได้แก่เรื่อง Match Point  ของวู้ดดี อัลเลนซึ่งฉายในปี 2005)  น่าสนใจว่า อัลเฟรด อิตช์ค็อก ผู้กำกับภาพยนตร์คนเก่งให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่คิดจะสร้างภาพยนตร์จากวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่อย่างเช่นหนังสือเล่มนี้ของดอสโตเยฟสกีเป็นอันขาดเพราะจะทำให้ภาพยนตร์ดูด้อยค่าไป

วรรณกรรมเรื่องนี้ของดอสโตเยฟสกีจึงเป็นหนังสือที่เราไม่น่าพลาดและไม่น่าจะวางลงก่อนอ่านจบด้วยประการทั้งปวง

 

 

                                                      

                                                            ภาพจาก Wikimedia.org

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที