Skip to main content

   Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948  และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก   หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเล็กๆ ในสังคมว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ชนิดนี้อย่างมากมายโดยเฉพาะเรื่อง "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" หรือแม้แต่เรื่อง "มือปืน" จนท่านมุ้ยน่าจะจัดได้ว่าเคยเป็นผู้กำกับตระกูลนวสัจนิยมแบบไทย ๆ หรือถ้าเป็นภาพยนตร์อเมริกันก็คือภาพยนตร์ขาวดำของชาร์ลี แชปลินที่ถูกผลิตมาขายหลายเรื่องตามห้างสรรพสินค้าพร้อมเสียงพากย์ภาษาอีสาน (ถือได้ว่าภาพยนตร์ของแชปลินเป็นต้นกำเนิดของแนวนวสัจนิยมเลยก็ว่าได้)  สำหรับคนที่ชื่นชอบหนังโรแมนติกคอมเมดีคือ Roman Holiday (1953) ที่มีออร์เดย์ เฮฟเบิรน์แสดงเป็นเจ้าหญิงที่ท่องเที่ยวไปในกรุงโรม หากได้ดู Bicycle Thieves จะพบว่าภาพยนตร์ทั้ง 2 ได้ให้มุมมองของกรุงโรมที่แตกต่างกันแบบสุดขั้วทั้งๆ ที่เวลาการถ่ายทำต่างกันแค่ 4- 5 ปี ในขณะที่เรื่องแรกตามสายตาของคนอเมริกันคือมองกรุงโรมเป็นเมืองตื่นตาตื่นใจน่าลัดเลาะเที่ยวทั้งคืน ชาวกรุงโรมก็แสนจะน่ารัก แต่เรื่องที่ 2 ตามสายตาของคนอิตาลีแท้ ๆ คือเมืองแห่งความเย็นชา หดหู่ ชีวิตของชาวกรุงโรมจมปรักอยู่เศรษฐกิจอันย่ำแย่และระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพของประเทศตัวเองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ผ่านเนื้อเรื่องแบบง่าย ๆ ก็คือพระเอกที่ทำงานเป็นช่างติดโปสเตอร์เกิดถูกขโมยจักรยานไป เขาและลูกชายจึงต้องตามหาจักรยานของตนไปทั่วกรุงโรมก่อนที่จะถูกไล่ออกจากงาน

   หากเราต้องการผ่อนคลายกับความเครียดในชีวิตประจำวันให้มาดู Roman Holiday อันเป็นภาพยนตร์พาฝันแบบฮอลลีวูดแท้ ๆ แต่ถ้าต้องการดื่มด่ำผลงานระดับคลาสสิกของโลกให้ดู Bicycle Thieves ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แนวคิดทางการเมือง สังคมอันลุ่มลึกและแฝงไปด้วยความเจ็บปวดของชนรากหญ้าแห่งอิตาลี ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเหมือนจะสื่อแนวคิดคอมมิวนิสต์นั่นคือการวิพากษ์ระบบทุนนิยม ศาสนาและสังคมแบบเก่าของอิตาลี แต่ก็ถูกพวกคอมมิวนิสต์โจมตีว่าไม่ได้เสนอทางออกอะไรให้กับสังคมเลย แต่ผมเห็นว่าคุณค่าของภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดโดยอุดมการณ์ทางการเมืองหรืออย่างอื่นเสมอไป (อันนี้เป็นปัญหาทางสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์เลยทีเดียว)  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องและรางวัลต่างๆ ไปทั่วโลกแม้แต่รางวัลออสกา อีกทั้งยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อหนังที่คนไทยชื่นชอบอีกเรื่องคือ La Vita è bella (1997) หรือ Life is Beautiful ของโรแบร์โต เบนิกยีอีกด้วย

 

 

                                                      

                                                                 แหล่งที่มา  www.amazon.com

 

       บทความนี้แปลจากบทเรียงความภาษาอังกฤษชื่อ "พันธะกิจอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ต่อความเป็นจริง" (A Passionate Commitment to the Real) คนเขียนคือคุณกอดฟรีย์ เคชเชียร์จากเว็บไซต์ criterion.com

     หากมองกลับไป ภาพยนตร์สมัยใหม่จำนวนมากสามารถไหลวกไปยังแหล่งให้กำเนิด 2 แหล่งนั่นคือเรื่อง Citizen Kane (1941) ของออร์สัน เวลลส์ และ Bicycle Thieves (1948) ของวิกตอริโอ เดอ ซิกา ถึงแม้จะมีสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาขวางกั้น ภาพยนตร์ทั้ง 2  เรื่องเป็นสัญลักษณ์ของแรงผลักอันอันสำคัญยิ่งสำหรับนักสร้างภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์และคนดูในช่วงหลังสงคราม แนวโน้มซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องได้สร้างขึ้นมานั้นในไม่ช้าก็เข้ามาผสมกลมกลืนกันเป็นความสุนทรียะเพียงหนึ่งเดียวโดยตระกูลนิวเวฟของฝรั่งเศสซึ่งรูปแบบออกมาแทบไม่ได้แตกต่างจากภาพยนตร์ต้นฉบับเท่าไรนักนอกจากการเสริมเติมแต่ง

     ในขณะที่ Citizen Kane นำไปสู่ยุคแห่งผู้กำกับแบบศิลปิน และรูปแบบของภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพของปัจเจกบุคคลที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ Bicycle Thieves ยกเลิกแนวคิดแบบ"ตัวกู ของกู"อันนำไปสู่แนวคิดแบบสังคมโดยรวม และภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพของจิตสำนึกทางสังคมที่เผ็ดร้อน ภาพยนตร์ทั้ง 2 สะท้อนให้เห็นถึงพรสวรรค์อันยวดยิ่งของผู้กำกับและวิธีการอันโดดเด่นในเข้าสู่"ความจริง" ได้แปรเปลี่ยนผลงานให้มีความแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ที่ภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้น ในขณะที่การเจาะจงภาพให้มีความลึกและนวตกรรมอื่น ๆ ของเวลลส์นำรูปแบบการสร้างแบบเหนือจริงไปสู่แฟนตาซีอันละเอียดอ่อนตามแบบของภาพยนตร์แบบฮอลลีวูด ทักษะพิเศษของเดอ ซิกาในฐานะผู้สร้างสรรค์ภาพและผู้กำกับภาพยนตร์นั้นดื่มด่ำด้วยรูปแบบแท้ๆ ตามแนวคิดทางสังคมของพวกนวสัจนิยมแบบอิตาลี การใช้สถานที่จริงและผู้แสดงสมัครเล่น พร้อมด้วยพลังในการแสดงที่ดูมีเสน่ห์และภาษาพูดอันสละสลวยตามแบบของเดอ ซิกาถือได้ว่าสุดยอดจริง ๆ

    ในขอบเขตที่คนทุกวันนี้จินตนาการแทบไม่ออก รูปแบบอันแตกต่างกันอย่างมากของภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมได้ถูกสะท้อนมาจากภาพยนตร์ในฐานะไม่ใช่เพียงแค่ความก้าวหน้าทางสุนทรียะแต่รวมไปถึงปัญหาทางศีลธรรม การวิพากษ์ของเวลลส์ต่อความฉ้อฉลของอำนาจแห่งเศรษฐกิจ การเมืองและสื่อมวลชนนั้นไม่มีใครก่อนหน้าเขาเคยทำมาก่อนและต่อมาเขาก็ต้องรับผลต่อความบ้าบิ่นนั้น ในยุโรป การสำรวจตัวเองเรื่อย ๆ ที่เกิดจากสงครามอันโหดร้ายและเกิดเปิดโปงค่ายกักกันของฮิตเลอร์นั้นเข้ามาพัวพันกับวัฒนธรรมทั้งหมด เช่นภาพยนตร์แห่งการสมรู้ร่วมคิดและการหลงทางที่ไร้สาระนั้น เราจะพบเห็นได้จากมุขตลกของภาพยนตร์แบบ “white telephone” (ภาพยนตร์เสียดสีชนชั้นสูง-ผู้แปล) และภาพยนตร์แบบทุนสร้างมหาศาลในทศวรรษที่ 30 ของอิตาลี

    ภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมซึ่งถือกำเนิดในเปลวเพลิงของสงคราม ได้มีบทบาทในการโจมตีและถอดถอนมายาคติของลัทธิฟาสซิสต์และภาพยนตร์แบบพาฝัน แต่การที่มันถ่ายทำชีวิตในท้องถนนตามรูปแบบสารคดี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ที่น่าสนใจอย่างมากคือ Rome ,Open City ในปี 1945) นั้นเป็นเพียงเรื่องของขีดจำกัด ในไม่ช้ามันกลายการนำเสนอประเด็นทางจริยธรรม ซึ่งส่งผลอย่างรวดเร็วและยืนยงจนมาถึงปัจจุบัน มากกว่าสารชนิดอื่น ๆในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ รูปแบบและความคิดจากภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองและจุดยืนที่แท้จริงของวงการภาพยนตร์

      แต่กลุ่มนวสัจนิยมสามารถผลิตภาพยนตร์ออกมาได้เพียง 21 เรื่องภายใน 7 ปีนั้นในที่สุดได้กลายเป็นเพียงแฟชั่นมากกว่าขบวนการไปเสีย พลังแห่งการสร้างสรรค์ของมันถูกจุดประกายและในที่สุดถูกผูกมัดโดยเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยใดสมัยหนึ่ง ผู้กำกับของกลุ่มนี้เริ่มต้นโดยการเป็นพวกใต้ดินและคิดว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติแต่การปฏิวัติไม่ได้บังเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ Bicycle Thieves ถูกนำออกฉายคือปี 1948 นั้นภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมได้ถึงจุดสูงสุด สังคมอิตาลีได้เปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นสังคมนิยมแต่เป็นทุนนิยมที่เต็มไปด้วยภาวะการตกงาน (ความเจริญหลังสงครามยังไม่เกิดขึ้น) ภาพยนตร์ก็จะโอนเอียงไปมาระหว่างแนวคิดจิตนิยมและอารมณ์ความหดหู่ที่รุกคืบเข้ามา ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ภาพยนตร์ใช้ในการสะท้อนอุดมคติโดยผ่านโศกนาฏกรรม

      ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการร่วมมือมือกันอย่างเป็นทางการเรื่องที่ 3 ระหว่าง เดอ ซิกานักแสดงขวัญใจสาวๆ ผู้หันมาเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จและเซซาเร ซาวาตตินี นักเขียนบทและเป็นนักสร้างทฤษฎีชั้นนำของกลุ่มนวสัจนิยมผ่านงานเช่น The Children Are Watching Us (1944) และ Shoeshine (1946) สำหรับ Bicycle Thieves ได้ใช้เด็ก ๆเป็นตัวผู้แสดงซึ่งความไร้เดียงสาของพวกเขาได้เป็นตัวตั้งคำถามต่ออำนาจของผู้ใหญ่รอบๆ ตัวพวกเขา ถึงแม้จะสร้างอย่างหลวมๆ จากหนังสือที่เขียนโดยลุยจิ บาร์โตลินี ภาพยนตร์ได้เป็นตัวแทนของของความปรารถนาของเดอ ซิกา ที่จะ "สร้างอารมณ์ความรู้สึกจากเหตุการณ์ประจำวันหรือความมหัศจรรย์จากข่าวชิ้นเล็ก ๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ"  ข่าวประจำวันที่ถูกนำมาสร้างให้มีอารมณ์ความรู้สึกในที่นี้เป็นเรื่องของอันโตนิโอ ริชชี ชายหนุ่มผู้ต้องทนทุกข์ทรมานจากการตกงานอย่างยาวนานและได้รับข้อเสนอให้ทำงานเป็นคนติดโปสเตอร์ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีจักรยานในขณะที่เขาดันไม่มี ภรรยาของเขามาช่วยไว้โดยการเอาผ้าปูเตียงทั้งหมดในบ้านไปจำนำ อันโตนีโอเริ่มต้นงานใหม่อย่างภาคภูมิใจเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นแต่ในวันแรกจักรยานก็ถูกขโมยเสียแล้ว ด้วยความกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน เขาก็ตระเวนรอบกรุงโรมเพื่อตามหาจักรยานโดยมีบรูโนลูกชายตัวเล็กของเขาติดตามไปด้วย

 

                                  

                                         แหล่งที่มา  www.3.bp.blogspot.com

 

     ด้วยเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นการยากที่จะนึกภาพว่าภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมของอิตาลีพร้อมด้วยสถานที่ถ่ายทำคือท้องถนนในเมืองหลวงและใบหน้าเย็นชาของฝูงชนที่เราไม่คุ้นเคยถูกนำเสนอต่อผู้ชมทั่วโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ 40  ได้อย่างโดดเด่นอย่างไร ในขณะที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันจะถูกถ่ายทำในสตูดิโอพร้อมด้วยดาราอย่างเช่น แครี่ แกรนท์มารับบทนำ (เป็นทางเลือกสำหรับ เดวิด โอเซลนิกสำหรับรับบทบาทของอันโตนิโอ) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมเรื่องอื่นที่ใช้รูปแบบการถ่ายทำแบบลูกทุ่งนั้นคือมีลูกทีมไม่กี่คนและเทคนิคน้อยนิด ในทางกลับกัน มันถูกสร้างจากทีมงานมืออาชีพกับทุนสร้างที่เอื้อต่อการสร้างฉากใหญ่โตและตัวประกอบนับร้อย รวมไปถึงเครื่องมือที่สามารถสร้างพายุฝนจำลองขึ้นมาได้

      ดังนั้น เสน่ห์ของภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมแต่เริ่มแรกได้กลายเป็นสุนทรียะที่ถูกประดิษฐ์ประดอยไปเสีย ดังจะเห็นได้จากคุณค่าทางการตลาดของมันในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยคนรักภาพยนตร์ของยุโรปและอเมริกา (ภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมโดยมากมักจะเป็นสินค้าส่งออก) แต่นี่ไม่ใช่การตั้งคำถามต่อความจริงใจของทั้งเดอ ซิกาและซาวาตตินี ถึงแม้พวกเขาอาจจะเลือกแข่งขันกับฮอลลีวูดในเรื่องเทคนิคที่มีระดับเปรียบเทียบกันได้ พวกเขายังคงมุ่งเน้นอย่างอาจหาญในการพูดถึงเรื่องบุคคลและสถานที่จริงและความยากลำบากทางสังคมซึ่งคนทำภาพยนตร์เกือบทั้งหมด (ในตอนนั้นก็เหมือนปัจจุบันนี่แหละ) ต้องฝืนใจหลบเลี่ยง

    พันธะของคนทั้งคู่ต่อความจริงนั้นได้พบกับหลักฐานที่น่าพอใจอย่างชัดเจนที่สุดใน การนำเสนอภาพของกรุงโรมที่ค่อนข้างจะน่าตื่นตาตื่นใจและกว้างขวาง เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Berlin: Symphony of a Great City, A propos de Nice และ Wings of Desire  เรื่อง Bicycle Thieves เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่ง แต่มุมมองอันกว้างใหญ่ของมันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องทางพื้นที่แบบง่าย ๆ มันเป็นวิถีที่ทำให้วิสัยทัศน์ของเดอ ซิกามีลักษณะคล้ายคลึงอยู่ไม่น้อยกับดังเตกวีชื่อดัง ช่องว่างทางกายภาพของมันนั้นมีมิติทางศีลธรรม อารมณ์และสังคม จากห้องโถงซึ่งความบันเทิงแบบโกโรโกโสถูกจัดขึ้น มายังตลาดมืดสำหรับพวกหัวขโมยอันกว้างขวางในปอร์ตา ปอร์เตส ไปยังโบสถ์ซึ่งผู้ยากไร้ถูกจัดให้เดินเป็นแถวสำหรับการโกนหนวดเครา การรับประทานอาหาร รวมไปถึงซ่องโสเภณี ไปยังรอบ ๆ สถานที่แข่งขันฟุตบอลซึ่งความทุกข์ทรมานของอันโตนิโอได้ไปถึงจุดสุดยอด อันทำให้เขาต้องอับอายต่อหน้าสาธารณชน

     ซิมโฟนีแห่งเมืองหลวงบทนี้ยังเป็นซิมโฟนีแห่งการเพ่งมอง ในตอนเริ่มต้น พวกเราถูกดึงอารมณ์เข้ากับการมองที่หมกมุ่นและเปี่ยมไปด้วยความหวังของอันโตนีโอ ในร้านซึ่งภรรยาของเขาจำนำผ้าปูที่นอน กล้องได้นำสายตาของเราทอดไปบนหอคอยที่เก็บกองผ้าซึ่งเปรียบได้กับความฝันอันบรรเจิด ในตอนที่กำลังมองหาจักรยานอยู่นั้น อันโตนิโอได้ทอดสายตาและพบกับสายตาที่เต็มไปด้วยความระแวง ความสงสัยและที่มากที่สุดคือความไม่ใส่ใจจากคนรอบข้าง บางครั้งนั้น การมองก็ได้ถูกปิดกั้นอย่างแรง(โดยหน้าต่างที่ถูกปิดอย่างรวดเร็ว) หรือหลงทิศ (อันโตนิโอเร่งรุดมองไปข้างหน้าในขณะที่บรูโนล้มลงบนถนนอยู่ข้างหลังถึง 2 ครั้ง)

     ฉากที่มักถือกันว่าสำคัญสุดในภาพยนตร์ก็คือตอนที่อันโตนีโอตัดสินใจที่จะเลี้ยงอาหารดีๆ แก่บรูโน อากัปกิริยาอันซับซ้อนจากบิดาไปยังบุตรชายแบบนี้ถูกนำเสนอให้สวนทางกับการแลกเปลี่ยนสายตากันระหว่างบรูโนกับเด็กชายผู้มีฐานะและนั่งวางมาดเย่อหยิ่งอยู่บนโต๊ะใกล้ๆ เราไม่สามารถเรียกสารในฉากนี้ว่าเป็นการแฝงมา แต่อำนาจอันยิ่งใหญ่และความร่ำรวยของมันได้แสดงให้เราเห็นในสิ่งที่ภาพยนตร์ทำได้มากกว่านวนิยายและละครเวที

    การมองยังนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยในความเป็นอารมณ์ความรู้สึกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงแม้มันจะเริ่มต้นโดยการให้ความสำคัญต่อความยากจนของอันโตนีโอและความต้องการที่สิ้นหวังต่อการได้จักรยานคืน ในส่วนหลังๆ ของภาพยนตร์ซึ่งมีผลต่อคนดูมากที่สุดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเขาและจักรยาน การดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งที่ 2 อาจจะทำให้เราได้คำตอบว่าสิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกมาตลอดเรื่องก็คือการที่บรูโนนั้น"กำลังดูแล"อันโตนิโอ อันจะเห็นได้จากตอนจบอันโด่งดังของภาพยนตร์เมื่อพ่อลูกสัมผัสกันเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวอันเป็นการแทนที่การรวมพลังกันของชนชั้นซึ่งเดอ ซิกาและซาวาตตินีเห็นชัดเจนว่ากำลังเสื่อมถอยในอิตาลีจากการให้ความสำคัญต่อการมองของมนุษย์ในภาพยนตร์ จึงไม่น่าประหลาดที่จะว่าเดอ ซิกาจะใช้รูปแบบและการตัดต่อที่หลากหลายยิ่งกว่าผู้กำกับตระกูลสัจนิยมด้วยกันไม่ว่ารอสเซลลินีและลูชิโน วิสคอนติ ซึ่งเน้นไปยังการใช้กล้องภาพยนตร์ซูมจากที่ไกล ๆมากขึ้น แต่เดอซิกาก็ปฏิเสธที่จะใช้การขยับกล้องเข้าหาหรือภาพซ้อนสำหรับการสร้างอารมณ์จนเกิดความจำเป็นตามแบบฮอลลีวูด การกำกับภาพยนตร์ของเขายังคงน่าประทับใจ สำหรับการสร้างสรรค์อันบรรเจิด ชนิดที่ว่าทุกฉากนั้นดาษดื่นด้วยชั่วเวลาและรายละเอียดที่เปี่ยมด้วยไปด้วยความหมายอันซับซ้อนทวีคูณ นอกจากนี้ความเป็นอัจฉริยะของเดอ ซิกาในการกำกับผู้แสดงได้นำไปสู่การแสดงที่น่าตราตรึงใจของมือสมัครเล่นอย่างเช่น ลัมแบร์โต มัจจิโอรานีในบทของอันโตนีโอ และเอนโซ สตาอิโอลาในบทของบรูโน

     และจากตอนที่อันโตนีโอกำลังติดโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ของริตา เฮย์เวิร์ท (ดาราชื่อดังของฮอลลีวูดในยุคนั้น-ผู้แปล) เมื่อจักรยานถูกขโมยถือได้ว่าเป็นที่ถกเถียงกันมาก คนที่แก้ต่างให้ภาพยนตร์อย่างเช่นซาวาตตินีผู้วางตำแหน่งภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมให้อยู่ในฐานะสิ่งที่อยู่ขัดแย้งกับฮอลลีวูดมักจะอ้างซึ่งฟังดูในปัจจุบันว่าถ้าไม่เกินจริงก็นึกฝันเอาเอง อันเดร์ บาซินนั้นแน่นอนว่าใกล้กับความจริงยิ่งกว่า เมื่อเขาพูดถึงความสัมพันธ์แบบ"ไดอะเล็กติก" (นั้นคือทั้งฮอลลีวูดและนวสัจนิยมต่างเป็นแค่ส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของภาพยนตร์โลก-ผู้แปล) มากกว่าเมื่อตอนที่อวดอ้างว่าตระกูลนวสัจนิยมกำลังเข้าสู่ "ความเป็นภาพยนตร์บริสุทธิ์"  แต่สิ่งมีคุณประโยชน์ต่อภาพยนตร์ไม่ควรที่จะถูกตำหนิในเรื่องวาทะที่เชิดชูภาพยนตร์จนเลิศหรูของมัน หากเรามองถึงมุมมองอันปราดเปรื่องของ Bicycle Thieves  ภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยมดูเหมือนจะเป็นผู้ย้ำเตือนอันทรงอิทธิพลที่สุดสำหรับเราว่า โลกทั้งหมดนั้นอยู่ภายนอกโรงภาพยนตร์โดยสำนึกและความเป็นมนุษย์ของเราผูกมัดให้เราต้องใส่ใจกับมัน

 

                                               

                                                    

                                                               แหล่งที่มา www.smugfilm.com

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที