Skip to main content

   

   ในฐานะที่ผมเป็นคนชอบดูภาพยนตร์สยองขวัญแม้จะเป็นคนกลัวผีก็ตาม ภาพยนตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในดวงใจของผมเคียงคู่ไปกับเรื่อง The Exorcist  ก็คือ  The Haunting  อันเป็นสุดยอดภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติและความมืดดำในใจของมนุษย์เรื่องนี้กำกับโดยโรเบิร์ต ไวส์  ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานอันโด่งดังอย่าง The Body Snatcher (1945) The Day the Earth Stood Still (1951) West Side Story (1961)  The Sound of Music (1965)

     The Haunting ออกฉายในปี 1963  สร้างมาจากนวนิยายสยองขวัญขายดีชื่อ The Haunting of Hill House (1959) ของเชอรี แจคสันซึ่งมีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นหลังอย่างเช่นสตีเฟน คิงซึ่งให้การยกย่องนวนิยายเรื่องนี้อย่างมากมาย  น่าสนใจแม้ว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในต้นทศวรรษที่ 60  จะหันมาเป็นสีธรรมชาติ แต่ The Haunting ยังคงนิยมใช้สีขาวดำซึ่งส่งผลคือภาพยนตร์มีความน่ากลัว เร้นลับอย่างที่สีธรรมชาติไม่สามารถสรรค์สร้างขึ้นมาได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้กำกับภาพยนตร์ของไทยที่ชอบทำหนัง  "ผีสะดุ้ง" คือให้ผีโผล่มาแบบไม่เป็นเวล่ำเวลาและใช้เสียงดังๆ ข่มขวัญคนดู นั้นคือ The Haunting จะทำให้คนดูโดยใช้การเล่าเรื่องและบรรยากาศในการสร้างความน่ากลัวเสียมากกว่า ส่วนเทคนิคพิเศษนั้นไม่ต้องกล่าวถึงแทบไม่มีเลย (ทำให้นึกถึงผู้กำกับหนังไทยคนหนึ่งที่ชอบใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกสร้างผีขึ้นมาจนหนังหมดความน่ากลัวไปเลย)  หรือถ้ามีก็เป็นแบบรากหญ้าเหมือนหนังเกรดบี แต่สามารถตรึงคนดูให้ขนลุกซู่กับเก้าอี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด คงต้องรอไปถึงปลายทศวรรษที่ 60  โน้นภาพยนตร์อย่างเช่น Rosemary's Baby (1968) จึงจะทำเช่นนี้ได้ หรืออย่าง The Exorcist (1973) ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศแห่งความชั่วร้ายซึ่งดูค่อยเป็นค่อยไปในช่วงต้นๆ ก่อนจะนำไปสู่จุดสุดยอดทางอารมณ์สุดสยอง

 

 

                                                                 

                                                                          ภาพจาก www.flickfetish.com

                ต่อไปนี้เป็นการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์                                             

              เริ่มต้นมาภาพยนตร์ก็สร้างบรรยากาศหลอน ๆ แก่ผู้ชมโดยการเล่าประวัติของปราสาททรงโกทิคขนาดมหึมาหลังหนึ่งชื่อฮิลล์ เฮ้าส์ ซึ่งถูกสร้าง โดยเศรษฐีนามว่าฮิวจ์ เคน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19  ในสหรัฐอเมริกา เรื่องประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อม้าลากรถที่ลูกสาวและภรรยาของเขาโดยสารมาเกิดพยศขณะกำลังอยู่บนทางไปสู่ตัวปราสาท ทำให้รถพลิกคว่ำเข้าชนกับต้นไม้ใหญ่ ภรรยาของเคนเสียชีวิตคาที่ก่อนจะเห็นตัวบ้านเสียอีก นายเคนเสียใจมากจึงพยายามเลี้ยงลูกสาวอย่างดีที่สุดพร้อมกับหาแม่ใหม่ให้ แต่ภรรยาคนที่ 2  ของเขาก็เสียชีวิตโดยการตกจากบันไดในปราสาทอย่างลึกลับ ต่อมานายเคนนั้นก็จากโลกนี้ไปอีกคนเพราะจมน้ำขณะเดินทางในประเทศอังกฤษ ทิ้งบ้านและมรดกให้กับลูกสาว ซึ่งภาพยนตร์บอกไม่ชัดเจนแต่พอจะเดาได้ว่าเธอเหมือนกับเป็นเด็กปัญญาอ่อนที่วันๆ เอาแต่นอนอยู่บนเตียงรอการเลี้ยงดูจากพี่เลี้ยงไปจนแก่เฒ่า และเธอก็ได้จ้างผู้หญิงคนหนึ่งมาเป็นคนดูแล

       คืนหนึ่งหญิงชราเกิดสิ้นใจกระทันหันโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากคนดูแลเพราะหญิงสาวมัวแต่ไปพลอดรักกับผู้ชาย ทว่าคนดูแลคนนั้นก็ได้รับบ้านเป็นมรดก ฉากน่ากลัวที่สุดของหนังก็คือตอนที่ผู้หญิงคนนั้นอยู่ในบ้านเพียงลำพังพร้อมกับสภาพจิตที่ย่ำแย่ เธอได้ปีนบันไดในห้องสมุดขึ้นไปแขวนคอตัวเอง ภาพยนตร์ไม่ได้บอกชัดเจนว่าการกระทำของเธอเกิดจากความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยหญิงชราผู้เป็นนายจ้างได้ทันเวลาหรือว่าถูกผีในปราสาทดลใจเอา ก่อนที่ปราสาทอันแสนน่ากลัวนี้จะตกไปอยู่ในมือของญาติๆ ของนายเคนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครกล้าพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ได้นานเกินวันสองวัน แม้แต่คนดูแลบ้านพร้อมกับภรรยาก็อาศัยอยู่ห่างจากฮิลล์ เฮ้าส์ไปหลายไมล์ และคนทั้งคู่จะไม่ยอมอยู่ในบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดินเป็นอันขาด

        ดร.จอห์น มาร์กเวย์ (ริชาร์ด จอห์นสัน) ต้องการทำการทดลองปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติในฮิลล์ เฮ้าส์จึงไปพักอยู่ในปราสาทอย่างไม่มีกำหนดเวลาพร้อมเชิญผู้ร่วมทดลองซึ่งเป็นผู้หญิง 2 คนที่มีประสาทสัมผัสพิเศษคือเอลีนอร์ ลานซ์ (จูลีย์ แฮร์ริส) ที่วัยเยาว์เคยพบกับปรากฏการณ์โพล์เตอร์ไกสท์ หรือการพบกับผีที่ชอบทำเสียงดังหรือเคลื่อนย้ายของในบ้านและ ธีโอดอรา ธีโอ (แคร์ บลูม) ซึ่งมีพลังจิตสามารถทายไพ่ที่ซ่อนในมือได้ ดร.มาร์กเวย์ยังต้องรับเอาเด็กหนุ่มนามว่า ลุค แซนเดอร์สัน (รัสส์ แทมบิล์น) หลานของเจ้าของบ้านคนปัจจุบันมาร่วมทดลองด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นมากที่สุดคือเอลีนอร์ซึ่งมีสภาพจิตใจไม่ปรกตินัก เธอมักจะโทษตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ของตัวเองเสียชีวิตเพราะไม่ยอมมาช่วยเหลือแม่หลังจากได้ยินเสียงแม่ตบกำแพงก่อนจะสิ้นลมบนเตียงที่นอนป่วยมานาน

                   

                                                  

                                                             

                                                                        ภาพจาก www.finalgirlsupportgroup.com

 

    เอลีนอร์ต้องอาศัยอยู่ในบ้านพี่สาวโดยมีที่นอนคือห้องนั่งเล่นและมีปัญหากับครอบครัวของพี่สาวอยู่เนืองๆ ในที่สุดเมื่อได้รับคำเชิญจาก ดร.มาร์กเวย์ เอลีนอร์ก็เก็บข้าวของแอบเอารถพี่สาวมุ่งหน้าจะมาตายดาบหน้า ณ ฮิลล์ เฮ้าส์ เธอสามารถสัมผัสได้ถึงความไม่ปกติของปราสาทหลังนี้เช่นเมื่อเธอก้าวเข้าใกล้ตัวปราสาท เธอบอกกับคนดูว่า ตัวปราสาทกำลัง "จ้องมอง"เธออย่างไม่วางตา และหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็ถ่ายทอดความผิดปรกติและการหลอกหลอน (แบบมีศิลปะ)  ของปราสาทโดยผ่านสายตาของเอลีนอร์ตลอดจนจบ และคนดูก็ได้รู้ว่าฮิลล์ เฮ้าส์นี่เองเป็นตัวละครเอกตัวที่ 5 ของเรื่องที่บทบาทไม่ด้อยกว่าใครในเรื่องเลย

    The Haunting ถูกนำมาสร้างใหม่ในปี 1999 โดยแจน เดอบองท์ซึ่งนำสเปเชียลเอฟเฟ็คมาเสริมสร้างความน่ากลัวแต่กลับช่วยอะไรไม่ได้เลย ด้วยนักวิจารณ์มักจะโจมตีภาพยนตร์ในเรื่องการแสดงอันไม่ได้เรื่องของตัวละครพร้อมกับบทที่ย่ำแย่ขาดมิติทางจิตวิทยาที่เคยมีเต็มเปี่ยมในภาพยนตร์ต้นแบบ  และหากใครได้ดูเรื่อง Psycho ของอัลเฟรด ฮิชต์ค็อคมาก่อนก็จะรู้ได้เลยว่า The Haunting ต้นแบบดูจะได้รับอิทธิพลมาอย่างมากมายในเรื่องของการสร้างบรรยากาศที่ดูลึกลับ ไม่น่าไว้วางใจ สลับกับการนำเสนอปมซ่อนเร้นทางจิตวิทยาของตัวละครที่ภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันมักจะนำมาใช้ พร้อมกับการทิ้งปมให้คนดูตีความเอาเองว่ามันเกิดจาก "ปราสาท" ที่เต็มไปด้วยวิญญาณที่ขมขื่นใจหรือว่าแท้ที่จริงมันเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของ "ประสาท" ตัวละครเองอย่างในเรื่องนี้ความรู้สึกผิดบาปของเอลีนอร์ช่างเหมือนกับ "คนดูแล"ที่ปล่อยให้คนแก่เสียชีวิตบนเตียงเสียนี่กระไร จึงไม่ต้องสงสัยว่าเอลีนอร์จะต้องพบกับฉากสุดท้ายเช่นเดียวกับ"คนดูแล"หรือแม้แต่นายหญิงคนแรกของปราสาท...

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที