Skip to main content
 
Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาและอารมณ์อันหนักหน่วงและดูลงตัวกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาการแต่งกาย (1985) แต่ก็มีใครหลายคน เห็นว่าคุโรซาวาน่าจะได้รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และน่าจะเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
 
 
 
 
                                               
 
                                                       ภาพจาก www.brianformo.com 
 
 
Ran เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าความสับสนวุ่นวาย (Chaos) คุโรซาวารังสรรค์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจ 3 แหล่งคือจากชีวิตของโชกุนท่านหนึ่งในยุคสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 17  รวมไปถึงบทละครซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันของ วิลเลียม เชคสเปียร์ คือ King lear ซึ่งตัวละครเป็นกษัตริย์มีพระธิดา 3  องค์ แต่ในเรื่องของคุโรซาวาเป็นบุตรชาย 3  คนของโชกุนผู้ยิ่งใหญ่หรือ Great Lord  นามว่า ฮิเดโตรา  ที่สำคัญเนื้อเรื่องยังเป็นการจำลองชีวิตของเขาเองในวัยชราซึ่งเปรียบได้กับสุนัขล่าเนื้อที่อ่อนพลังในยามอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นต้องพบการท้าทายจากโทรทัศน์ เพราะหลังจาก Ran แล้วคุโรซาวาไม่ได้สร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่เช่นนี้อีกเลย 
 
เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา โชกุนฮิเดโตราผู้สร้างความยิ่งใหญ่จากการปราบปรามและเข่นฆ่าศัตรูอย่างโหดเหี้ยม ต้องการวางมือโดยการแบ่งอาณาจักร (โดยมีสัญลักษณ์คือปราสาท)  ออกเป็น 3 ส่วนให้กับลูกทั้ง 3 คน และลูกชายคนโตเป็นผู้รับมอบตำแหน่งของเขาอย่างเป็นทางการ กระนั้นลูกชายคนสุดท้องซึ่งรักและจริงใจต่อพ่อกลับถูกขับไล่ไปเพียงเพราะเขาพูดตรงไปตรงมามากจนเกินไป เมื่อเวลาผ่านไป ฮิเดโตราก็พบว่าเขาคิดผิดเสียแล้ว....... ไม่นาน ฮิเดโตราถูกลูกคนโตหักหลัง ซึ่งต่อมาภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ลูกชายกระทำเยี่ยงนี้ต่อบิดาเพราะได้รับการยุยงจากภรรยาที่เคยเป็นลูกศัตรูเก่าและต้องการล้างแค้นฮิเดโตรา อนึ่งภรรยาของลูกชายคนโตของฮิเดโตราช่างมีบุคลิกผู้หญิงที่ชั่วร้ายเหมือนปีศาจตามแบบผู้หญิงในภาพยนตร์หลายเรื่องของคุโรซาวาไม่ว่า Throne of Blood (1958) ที่เขาดัดแปลงมาจากละคร MacBeth ของเช็คสเปียร์ หรือแม้แต่ไอ้เคราแดง อย่าง Red Beard (1965) จนมักถูกโจมตีว่าเป็นการมองผู้หญิงในด้านลบ (แม้ว่าผู้หญิงในภาพยนตร์คุโรซาวาจะมีบุคลิกและบทบาทอันหลากหลายก็ตาม)  เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าฮิเดโตรายังถูกปฏิเสธจากลูกคนกลางไม่ให้พำนักด้วย จนต้องเร่ร่อนไปไม่มีจุดหมาย ต่อมาลูกคนโตพยายามสังหารพ่อตัวเอง แต่ฮิเดโตราสามารถหนีรอดไปได้ ทหารกับข้าทาสบริวารที่ติดตามเขาถูกฆ่าตายหมด เหลือแต่ตัวตลกคนเดียวที่เป็นประจักษ์พยานเห็นเขากำลังกลายเป็นบ้า 
 
ภาพยนตร์สามารถสร้างพัฒนาการของการเป็นบ้าของฮิเดโตราได้ดีมากจากการพบความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นฉากตลกร้ายที่สุดของวงการภาพยนตร์โลก คือตอนที่ตัวตลกสร้างมงกุฎจากดอกไม้สวมหัวให้กับฮิเดโตราซึ่งกำลังดื่มด่ำกับความเป็นบ้าของตัวเอง ราวกับคุโรซาวาต้องการบอกว่า อำนาจและทรัพย์สินอันมีค่าทีฮิเดโตราเคยมีล้วนแต่เป็นอนิจจัง บัดนี้เขายังคงเป็น Great Lord แต่เป็น Great Lord of fools หรือ ยอดโชกุนแห่งตัวตลก !!
 
 
 
                                              
 
                                                         ภาพจาก www.arte.tv
 
 
อย่างไรก็ตามอาการบ้าของเขายังเป็นๆ หายๆ อันเป็นการซ้ำเติมให้เขาเหมือนตกนรกได้หลายๆ ครั้งจากความทรมานทางจิตใจ อย่างเช่นได้พบกับลูกของอดีตศัตรูที่เขาเคยฆ่าและควักลูกตาเด็กชายคนนั้นทิ้งจนตาบอด แต่เด็กชายคนนั้นเองเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในด้านที่พักในยามสิ้นไร้ไม้ตอก ที่ร้ายที่สุด เขายังมีสติดีในการพบลูกชายคนที่ 3 ที่รักเขาจนยอมเสี่ยงชีวิตมาช่วยเขา ถูกยิงตายคาอ้อมกอดของตัวเอง ในที่สุดฮิเดโตราไม่ได้เป็นบ้าอีกต่อไปเพราะเขาหัวใจแตกสลายตายเสียแล้ว
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะและฉากที่เด่นอยู่ 3  จุดคือ จุดแรกคุโรซาวาชอบใช้การถ่ายภาพของเขาไปที่ท้องฟ้าเหมือนกับ Rashomon (1950)  โดยการใช้สีธรรมชาติถ่ายภาพท้องฟ้าในเวลาต่างๆ ทำให้ภาพยนตร์ดูมีพลังและเป็นสัญลักษณ์ราวกับจะบอกว่า พระเจ้าซึ่งอยู่บนท้องฟ้ากำลังประทับอยู่เหนือความสับสนวุ่นวายของมนุษย์ นักวิจารณ์ท่านหนึ่งถือว่าคุโรซาวาเปรียบได้กับพระเจ้าที่กำลังเฝ้ามองมนุษย์ตกลงจากสวรรค์ และสวรรค์อันแสนยิ่งใหญ่นี้กำลังลงทัณฑ์ฮิเดโตราด้วยความโหดเหี้ยมสุดแสนจะพรรณนา 
 
จุดที่ 2  คือ การทำสงครามกันระหว่างลูกชายทั้ง 3  ซึ่งคุโรซาวาประสบความสำเร็จในการสร้างสีของแต่ละกลุ่มเพื่อไม่ให้คนดูสับสน น่าสังเกตว่าหลายต่อหลายครั้ง ภาพยนตร์จะเน้นไปที่ฉากของความตายอันน่าสยดสยองของทหาร (โดยเฉพาะเหล่าทหารของฮิเดโตรา) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของคุโรซาวาก็ว่าได้ที่ต้องการเน้นความไร้สาระ (Absurdity) ของสงคราม และยังมีอีกหลายๆ ฉากคือการตกจากหลังม้าของทหาร ซึ่งอาจตีความเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าคือการตกต่ำของมนุษย์ที่เกิดจากความผิดบาป
 
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่อาจจะเทียบได้กับจุดที่ 3 คือฉากสุดท้ายที่ลูกชายศัตรูเก่าของฮิเดโตราซึ่งตาบอดและแต่งตัวเป็นหญิงได้ออกเดิน ภายหลังทนรอพี่สาวของเขาซึ่งเป็นภรรยาของลูกชายคนที่ 2 ไม่ไหว โดยไม่ทราบว่าพี่สาวของเขาถูกฆ่าเสียแล้ว  เขาได้ทำภาพวาดของพระพุทธองค์หล่นลงในหน้าผาและตัวเองก็หยุดชะงักด้วยความสงสัยว่ามีบางอย่างรออยู่ตรงหน้า เราสามารถตีความสัญลักษณ์จากฉากสุดท้ายนี้ได้ว่าเปรียบดังมนุษย์ที่กำลังตาบอดหรือหลงทาง ไม่รู้ว่าชีวิตอันไร้สาระของตนนี้กำลังพาไปที่ใด แม้แต่พระพุทธองค์ (หรือพระเจ้าตามแบบของพุทธศาสนานิกายมหายาน) ยังไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้
 
Ran จึงน่าจะจัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ซามูไรที่ดีที่สุดของโลกเรื่องหนึ่งเท่าที่สร้างกันมา (หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็น่าจะทศวรรษที่ 80)  แม้ว่าจะไม่ได้มีฉากการฟันกันดุเดือด เลือดสาดเหมือนกับภาพยนตร์ซามูไรที่เราคุ้นชินกันมา 
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถือได้ว่า It's A Wonderful Life เป็นภาพยนตร์ที่อเมริกันชนแสนจะรักใคร่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังชีวิตในยุคหลังมากมายหลายเรื่องแล้ว ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้ยังถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ในช่วงคริสต์มาสของทุกปีในอเมริกา คอหนังอเมริกันมักจะเอยชื่อหนังเรื่อง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผลพวงแห่งความคับแค้นหรือ The Grapes of Wrath เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวโจดส์ที่อาศัยอยู่ใน รัฐโอกลาโอมา พวกเขาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ หมื่นครอบครัวของชนชั้นระดับรากหญ้าของอเมริกาที่ต้องพบกับความยากลำบากของชีวิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ในทศวรรษที่ 30 ซึ่งสหรัฐฯเป็นต้นกำเนิดนั้นเอง &nbsp
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เคยสังเกตไหมว่าพวกที่เป็นเซเลบและพวกที่ไม่ได้เป็นเซเลบแต่อยากจะเป็นเซเลบ  มักจะหันมาใช้อาวุธชนิดหนึ่งในการโฆษณาสร้างภาพตัวเองซึ่งดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อยไปกว่าให้หน้าม้ามาโผล่ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือเสนอหน้าผ่านเกมโชว์หรือรายการทั้งหลายในโทรทัศน์ก็คือหนังสือนั้นเอง หนังสือที่ว่ามักจะเป็นเรื่องเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้แปลมาจากบทความของโรเจอร์ อีเบิร์ต ที่เขียนขึ้นในเวบ Rogerebert.com เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ปี ค.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1."วันข้างหน้า ถ้าไม่มีมาตรา 44  ไม่มีคสช.เราจะอยู่กันอย่างไร"
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
from A to Z , rest of one's life If the officers want to inspect  Dhammakay temple from A to Z , they must spend the rest of their lives.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับของหมอดูที่ผมรวบรวมมาจากการประสบพบเองบ้าง (ในชีวิตนี้ก็ผ่านการดูหมอมาเยอะ) จากการสังเกตการณ์และนำมาครุ่นคิดเองบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความถึงหมอดูทุกคน เพราะคงมีจำนวนไม่น้อยที่มีฝีมือจริงๆ  กระนั้นผมเห็นว่าไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง พวกเขาหรือเธอต้องใช้เคล็ดลับ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเรื่อง Lolita ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนแล้วคำ ๆ แรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือ Paedophilia หรือโรคจิตที่คนไข้หลงรักและต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่อายุน้อย ๆ สาเหตุที่ถูกตีตราว่าโรคจิตแบบนี้เพราะสังคมถือว่ามนุษย์จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อมีอายุที่สมควรเท่านั้น และสำคัญที่มันผิดทั้งกฏหมายและศี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.Blade Runner (1982)  สุดยอดหนังไซไฟที่มองโลกอนาคตแบบ Dystopia นั่นคือเต็มไปด้วยความมืดดำและความเสื่อมโทรม ถึงแม้บางคนอาจจะผิดหวังในตอนจบ(แต่นั่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหนัง) แต่ด้วยฝีมือ Ridley Scott ที่สร้างมาจากงานเขียนของ Philip K.Dick ทำให้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มีการถกเถียงกันทางญาณวิทยาซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญามาเป็นพัน ๆ ปีว่าความจริง (Truth) แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเราจะสามารถรู้หรือเข้าสู่ความจริงได้หรือไม่ แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมสามารถโต้ตอบผู้เขียนได้ว่าความจริงที่เรากำลังสัมผัสอยู่ขณะนี้เช่นหูได้ยินหรือจ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ภาพยนตร์ที่สร้างความเพลิดเพลินและความชื่นอกชื่นใจให้แก่ผมมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือหนังเรื่อง "มนตร์รักลูกทุ่ง" ของสยามประเทศนี่เอง เคยดูเป็นเวอร์ชั่นโรงใหญ่จากโทรทัศน์ก็ตอนเด็ก ๆ ความจำก็เลือนลางไป เมื่อเข้าเรี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาคิระ คุโรซาวาเป็นผู้กำกับญี่ปุ่นชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วยความยิ่งใหญ่จนถึงระดับคลาสสิกของภาพยนตร์ที่เขาสร้างหลายสิบเรื่องทำให้มีผู้ยกย่องเขาว่าเหมือนกับจักรพรรดิหรือแห่งวงการภาพยนตร์ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือแม้แต่ระดับนานาชาติคู่ไปกับสแตนลีย์ คิวบริก อัลเฟรด