Skip to main content

   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก

    ผมจำได้ว่าพอเกิดมาก็ได้ยินเสียงเพลงของอ้ายจรัล มโนเพ็ชรเสียแล้ว ระลึกได้ว่าตอนเด็กๆ อ้ายจรัลแกไปเปิดร้านอาหารเหนือที่น่าจะมีชื่อว่า “เฮือนจรัล”อะไรทำนองนี้ แถวช้างเผือก เชียงใหม่ เยื้องๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอ๋องทิพรส เสียดายเพราะผมยังเด็กมาก กินเผ็ดไม่ได้เลยไม่ได้ไปอุดหนุน  และผมก็มีโอกาสได้เห็นพัฒนาการของวัยแกตั้งแต่แกยังวัยรุ่น (จากรูปเก่าๆ) วัยหนุ่ม (ตามปกเพลงรวมฮิตของนิธิทัศน์ข้างล่าง) วัยกลางคนและรูปตอนร่างกายทรุดโทรม (จากละครโทรทัศน์) ก่อนจะเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรคือ 46 ปี กระนั้น ตามคำพูดที่เค้าว่ากันว่า Art is longer than life (ศิลปะยืนยาวกับชีวิต)  ด้วยความเป็นศิลปินที่คนล้านนารู้จักกันดี เพลงของอ้ายจึงกลายเป็นอมตะไปถึงอ้ายจะสิ้นบุญไปแล้วก็ตาม เพราะนอกจากคนเหนือแล้วคนภาคอื่นก็จะรู้จักแกมากกว่าศิลปินล้านนาคนอื่นๆ เพราะอะไร ?  บทความนี้พูดถึงเฉพาะเพลงรวมฮิตของเขาขณะสังกัดค่ายเพลงนิธิทัศน์เท่านั้น ดังภาพประกอบ

      อ้ายจรัลแตกต่างจากอ้ายวิฑูรย์ ใจพรหม หรือว่าอีลุงบุญศรีรัตนนัง ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของเพลง "ทองอิน กะเทย" หรือ "บ่าวเขิ้น" ซึ่งได้รับความนิยมทางเหนือมากในอดีต  ใยไม่ต้องพูดถึงเพลงอย่าง ไอ้เก๋าอีต่วม คู่ตลกชายหญิงซึ่งโด่งดังจากการเล่นเพลงซอตลกซึ่งเนื้อหาหลายเพลงสะท้อนถึงเรื่องทางเพศอย่างเปิดเผย  เพราะเพลงของอ้ายจรัลมีภาษาที่ค่อนข้างปราณีต ค่อนไปทางเมืองผสมภาคกลาง  กระนั้นเพลงของจรัลก็ไม่อาจถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวได้อย่างถึงระดับรากหญ้าเท่ากับศิลปินดังที่ได้กล่าวมา แม้ว่าตัวผู้บรรยายจะแสดงตนเป็นคนยากไร้ก็ตาม แต่ก็เหมาะกับมุมมองผิวเผินและฝันๆ ของคนภาคอื่นโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ต่อสังคมเหนือ ซึ่งปัจจุบันยังปรากฎตัวออกมาเรื่อยๆ ผ่านภาพยนตร์ที่ใช้เชียงใหม่หรือทางเหนือเป็นฉาก

       อ้ายจรัลยังชื่นชอบดนตรีโฟล์กซองอเมริกันที่เคยโด่งดังในยุคทศวรรษที่ 60 และนำมาใช้กับเพลงของแกอย่างแนบแน่น ชนิดที่ว่าถ้าขึ้นอินโทรเพลงๆ นี้ทุกคน (ที่ชอบเพลงฝรั่งเก่าๆ ) ก็จะร้องอ้อ.....อันเป็นผลให้เพลงติดหูคนไทยที่เป็นชั้นกลางหรือแม้แต่ฝรั่งได้ง่าย อย่างไรก็ดีอ้ายจรัลได้ผสมผสานรูปแบบนั้นเข้ากับซึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ผมเห็นว่าไพเราะที่สุด แต่ที่สำคัญที่สุดเขาได้สะท้อนภาพของสังคมล้านนาในช่วงทศวรรษที่ 10-20 ขณะถูกวัฒนธรรมทางตะวันตกและวัตถุนิยมเข้ามาครอบงำ อย่างเช่นเพลงอีสาวมอเตอร์ไซด์ ที่มีหนุ่มขี่จักรยานมุ่งหมายจะไปจีบสาวแต่ปรากฏว่าอีสาวกลับมีใจให้เจ้าหนุ่มมอเตอร์ไซด์ไปเสียแล้ว ด้วยความแค้น เจ้าหนุ่มคิดจะ “ขายนาซื้อคาวา(ยี่ห้อรถจักรยานยนต์ที่ฮิตในสมัยนั้น) สักกัน  ...... มาเบิ้ลน้ำมัน หื้ออีน้องแก้นควัน (สำลักควัน) ตายจั้งมัน สาวมอเตอร์ไซด์ (คือให้มันตายไปเลย)”  อันเป็นค่านิยมของสังคมเหนือยุคใหม่ในช่วงนั้นที่ยอมขายนาเพื่อวัตถุอำนวยความสะดวกและหน้าตา เพลงนี้ยังสะท้อนได้ว่า รถยนต์ยังเป็นสิ่งที่ไฮโซเกินไปสำหรับเศรษฐีท้องถิ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมสัมผัสได้ตอนเด็กว่าตอนนั้นใครมีรถเก๋งถือว่ามีฐานะดีเป็นพิเศษไม่เหมือนปัจจุบันที่บ้านใครก็มีรถยนต์กันถ้วนหน้า คิดว่าหากจรัลกลับมามีชีวิตอีกครั้งไปและยืนอยู่แถว 4 แยกศาลเด็ก ซึ่งถัดไปคือห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล ตอนเลิกงาน เขาคงจะตะลึงไม่น้อยว่ารถยนต์บนท้องถนนเชียงใหม่นั้นมีมากกว่าตอนปี 2544  ที่เขาเสียชีวิตอย่างมหาศาล จากการขยายของตัวเมืองเชียงใหม่แบบไร้ทิศทางและรวดเร็วมาก 

       เพลงจรัลนั้นมีลักษณะเด่นอีกประการคือย้อนระลึกถึงอดีตอันแสนงดงาม (Nostalgia) บางเพลงก้าวถึงระดับขั้นต่อต้านบริโภคนิยมเช่นเพลงบ้านบนดอย ซึ่งกล่าวถึงสภาพของบ้านบนดอยที่เต็มไปด้วยความสงบสุข ผู้คนต่างนิยมชีวิตเรียบง่ายแบบอดีต ทำให้นึกถึงยูโทเปียหรือสังคมในอุดมคติ ของพวกคอมมิวนิสต์ ดังประโยคที่ว่า

           "สูใคร่อยากกิ๋นปลา สูไปหาในห้วย" หรือการต่อต้านวัฒนธรรมฝรั่งแบบสุดๆ เลยเช่น "สูชอบเพลงฝรั่ง ข้าให้ฟังเสียงซึง" เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นคือ "บ้านบนดอย บ่มีแสงสีบ่มีทีวี บ่มีน้ำปะปา บ่มีโฮงหนัง โฮงนวด คลับบาร์"

       หรือเพลงม่วนขนาด เพลงที่แสดงถึงความแปลกแยกระหว่างคนเหนือที่ทำไปทำงานอยู่ "เมืองกอก" หรือกรุงเทพ ฯ ซึ่งอ้ายจรัลต้องการประณามสังคมกรุงเทพว่าเป็นวัตถุนิยม และสังคมคนเหนือที่มีแต่ความสงบสุข ซึ่งในความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทางภาคเหนือมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงมากจากปัจจัยต่างๆ นาๆ เช่นเดียวกับข่าวอาชญากรรม ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมสารพัดแม้แต่ในทศวรรษที่เพลงๆ นี้ถูกผลิตขึ้นมา ด้วยเพลงอาจจะตั้งใจมองข้างหรือไม่อาจถ่ายทอดออกมาได้เพราะเพลงมุ่งสร้างสังคมแบบฝันๆ หวานๆ ไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิตและสังคม เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผมเคยได้ดูมิวสิควิดีโอของเพลงๆ นี้ของค่ายนิธิทัศน์แล้วอยากจะชมว่า "ห่วยมาก"เพราะเขาสมมติให้ตัวเอกเป็นคนเลี้ยงช้าง (ให้เดาๆ น่าจะอยู่ที่ปางช้างเชียงดาว) แล้วไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ จนทำให้คน"ใต้" (คนกรุงเทพฯ)  คิดว่าคนเหนือทำงานเลี้ยงช้างกันหมด เช่นเดียวกับต้องแต่งชุดหม้อห้อม ท่าทางเชยๆ พูดกลางไม่ชัด แต่ก็ต้องเข้าใจการทำมิวสิควีดิโอของอดีตค่ายเพลงนี้ดีว่าเป็นรูปแบบนี้หมดแหละ ทำให้นึกถึงเพลงของดี 4 ภาษาที่ให้อิ๋ว พิมพ์โพยม เรืองโรจน์มาร้องเพลงเปาบุ้นจิ้นแล้วแต่งชุดซานตาคอสไปด้วย แล้วขนลุก

       นอกจากนี้เพลงของจรัลยังกล่าวถึงสังคมในด้านเบาสมองได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลง สาวเจียงใหม่ที่กล่าวถึงผู้หญิงเหนือที่มีรูปแบบตายตัวคือใสบริสุทธิ์และอนุรักษ์นิยมทั้งที่ปัจจุบัน อัตลักษณ์ของผู้หญิงเชียงใหม่มีความหลากหลายอย่างมาก กระน้ั้นตอนจบก็ทำให้นึกถึงเมฆขาวๆลอยอยู่เหนือดอยปุยและบ้านของ "แม้ว" หรือ ของกิ๋นบ้านเฮา ที่บรรยายถึงอาหารเมืองที่น่ากิน (ไปพร้อมกับเสียงอันไพเราะของคุณสุนทรี เวชานนท์) เพลง ฮานี่บ่าเฮ้ยที่กล่าวถึงการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในยุคหลายสิบปีก่อนที่เข้าทำนองเข้าตามตรอก ออกทางประตู หรือ เพลงผักกาดจอที่รำพึงอย่างไม่ซีเรียสนักถึงความยากไร้ของผู้ร้องที่กินแต่ผักกาดจอ (มีใครบอกได้ไหมว่า สีมอย คือใคร ?) เพลงปี้สาวครับ ซึ่งเป็นเพลงความรักของหนุ่มน้อยกับแม่ญิงที่อายุมากกว่า อย่างไรก็ตามเพลงของจรัลก็มีหลายเพลงที่ซีเรียส สร้างความสะเทือนใจอย่างเช่นเพลงอุ้ยคำซึ่งกล่าวถึงชะตากรรมของหญิงชราที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวเพราะลูกสาวหนี "โตยป่อจาย" (ตามผู้ชาย)  ถึงแม้ในปัจจุบันทางเหนือ คนแก่จะมีชีวิตอย่างอุ้ยคำนี้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชนบทแต่ก็ด้วยปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากในเพลง เช่นการเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ ของคนรุ่นลูก หรือ พวกเขาทั้งผัวและเมียต้องจากไปเพราะเชื้อเอชไอวีแถมยังทิ้งหลานไว้เป็นภาระแก่พ่อแม่ที่แก่เฒ่าอีกต่างหาก เพลงของอ้ายจรัลยังเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่ภาคเหนือถูกทางภาคกลางครอบงำในช่วงรัชกาลที่ 5 คือ เพลงมะเมียะ อันเป็นเพลงเกี่ยวกับความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างเจ้าน้อยสุขเกษม กับมะเมียะ สาวพม่า แต่ทั้งคู่ก็ต้องพบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า อันน่าเป็นเพลงที่ชาวท้องถิ่นนิยมระลึกถึงอยู่เสมอเพราะเป็นการสะท้อนถึงการกดขี่ของ "เมืองกอก" นักวิชาการที่วิเคราะห์ประเด็นนี้ได้อย่างลึกซึ้งคือ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ซึ่งเคยถูกทหารมาเยือนบ้านอยู่บ่อยครั้ง 

         จากทั้งหมดนี้รวมถึงเพลงอื่นๆ ที่ไม่ได้เขียนถึง สามารถกล่าวได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่เพลงของจรัลได้รับความนิยมจนถึงระดับ timeless หรือเป็นอมตะก็เนื่องมาจากความสามารถของอ้ายในการอันสร้างสังคมในจินตภาพที่คนภาคอื่นหรือแม้แต่คนในภาคเหนือเองสามารถเสพได้อย่างมีความสุขปนซึ้งนั้นเองไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ตาม

 

                                         

                                        ขอขอบคุณภาพจาก www.audio-teams.com

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที