Skip to main content
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ไปทำพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่สนามกีฬาโอลิมปิกสเตเดียม กรุงลอนดอน และเพลงคลาสสิกซึ่งถูกบรรเลงคลอไปด้วยอันสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับภาพยนตร์ของแดนนี บอยด์อย่างมากคือเพลง The Arrival of the Queen of Sheba ซึ่งถูกแต่งโดยคีตกวีที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้นั่นคือ George Frideric Handel (จอร์จ ฟรีเดริก แฮนเดิล) ผู้ถือได้ว่าเป็น ยักษ์ใหญ่ตนหนึ่งของดนตรียุคบาร็อค (Baroque)  และเป็นผู้สร้างสรรค์ความอลังการและความหรูหราให้กับราชสำนักของอังกฤษที่ยืมดนตรีของเขามาใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ มาหลายศตวรรษ หรือแม้แต่สื่อไม่ว่าละครหรือภาพยนตร์ในปัจจุบันก็ยืมเพลงของแฮนเดิลมาใช้กับภาพยนตร์ย้อนยุคของอังกฤษหรือประเทศอื่นในยุโรปอันทำให้ผู้ชมได้อารมณ์ของชนชั้นสูงในสมัยนั้นอย่างมาก 
 
แม้ดนตรีของแฮนเดิลยังยิ่งใหญ่ไม่เท่าโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค คีตกวีในยุคเดียวกัน แต่เขาก็มีอิทธิพลต่อคตีกวียุคหลังอย่างเช่นโมซาร์ทและเบโธเฟนอย่างมาก เบโธเฟนถึงกลับกล่าวว่า
 
"แฮนเดิลเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าเคยมีมา ผมจะขอเปิดหมวกและจะคุกเข่าต่อหน้าหลุมฝังศพของเขา"
 
 
                                      
                                                 ภาพโดย  www.hoasm.org
 
 
แฮนเดิลมีพื้นเพเดิมเป็นคนเยอรมัน เขาเกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 1685 ปีเดียวกับบาค ณ เมืองฮัลเล ประเทศเยอรมันในปัจจุบัน บ้านของแฮนเดิลห่างจากบ้านเกิดของบาคเพียง 50 ไมล์ แต่ดูเหมือนคนทั้งคู่จะไม่เคยเจอกันเลยตลอดชีวิต บิดาของแฮนเดิลเป็นนายแพทย์ประจำราชสำนักแซกเซ ไวนเซนเฟลส์  ในวัยเด็กเขาก็เหมือนกับคีตกวีทั่วไปที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีอย่างเปี่ยมล้น แต่บิดาเขาประสงค์จะให้เขาเรียนทางกฏหมายมากกว่า แฮนเดิลก็แสดงความดื้อด้านจนบิดาต้องยอมให้แฮนเดิลไปเรียนดนตรีกับฟรีดริช ซาโชว์นักประพันธ์และนักเล่นออร์แกนประจำเมืองเป็นเวลา 3 ปี 
 
ต่อมาอาจจะนึกเกรงใจบิดาขึ้นมาหรือไม่ค่อยประสบความสำเร็จในอาชีพดนตรีช่วงต้นๆ แฮนเดิลก็เลยเข้ามหาวิทยาลัยฮัลเล เพื่อเรียนวิชากฎหมายในปี 1703 แต่บิดาได้ถึงแก่กรรมในปีถัดมา เขาจึงหันเหมาทางดนตรีที่ตัวเองรักสุดตัว โดยการเป็นนักเล่นออร์แกนในโบสถ์นิกาย คาล์วิน (นิกายย่อยของศาสนาคริสต์นิกายโปร์เตสแตนท์) อีกหนึ่งปีก็ย้ายไปเมืองฮัมบรูกเพื่อรับงานเป็นนักเล่นไวโอลินในโรงอุปรากร ในช่วงต้นของปี 1705 นี้เขาก็ได้เขียนอุปรากรสองเรื่องแรกคือ Almira และ Nero จากนั้นเขาก็ท่องเที่ยวและศึกษาดนตรีที่อิตาลีเป็นเวลา 4 ปี ณ ที่นั้นเขาได้พบกับ นักแต่งอุปรากรชื่อดังคืออาเลสเซอร์โดร สการ์เลตติ  ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขาในเวลาต่อมา และในอิตาลีนี้เองที่เขาเขียนอุปรากรขึ้นมาหลายเรื่อง 
 
ปี 1712 แฮนเดิลเดินทางไปที่เกาะอังกฤษเพื่อตั้งรกรากเป็นการถาวร ต่อมาได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอังกฤษ ดังนั้นชื่อที่เราคุ้นเคยกันจึงเป็นชื่อที่เปลี่ยนมาในภายหลัง จากชื่อเดิมในภาษาเยอรมันของเขาคือ Georg Friedrich Haendel แฮนเดิลมีผู้อุปถัมภ์องค์สำคัญคือพระเจ้าจอร์จที่ 1  ในอีก 3 ปีต่อต่อมาเขาได้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Water Music เพื่อใช้ประกอบกระบวนพยุหยาตราชลมารคของพระองค์ทางแม่น้ำเทมส์ โดยมีนักดนตรี 50 คนบรรเลงเพลงบนเรือ ทำนองเพลงทั้งช้าและเร็วสลับกัน สร้างบรรยากาศอันเปี่ยมมนต์ขลังของราชวงศ์อังกฤษเป็นยิ่งนัก
 
 
                                       
 
                                                     ภาพจาก www.musicweb-international.com   
 
 
ปี 1917 แฮนเดิลได้เป็นหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมอุปรากรที่ชื่อว่า Royal Academy of Music  (คนละคนกับสถาบันทางดนตรีชื่อเดียวกันซึ่งถูกก่อตั้งในปี 1822)  อันประกอบด้วยนักแต่งเพลงชาวอิตาลีเช่นอัตติลิโอ อาริโอสติและโจวานนี บาตติสตา โบนอนซินี วงนี้อยู่ได้ 9 ปีก็ถูกยุบ แต่เเฮนเดิลก็ยังคงเขียนอุปรากรภาษาอิตาลีต่อไปพร้อมๆ กับอุปรากรภาษาอังกฤษ มีอยู่หลายเรื่องที่ดังมากอย่างเช่น  Semele   Giulio Cesare และ Orlando สำหรับ อุปรากรเรื่อง Serse ซึ่งเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เปอร์เซียนั้นไม่ประสบความสำเร็จนักแต่เพิ่งมาโด่งดังในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะเพลงร้องเดี่ยว (aria) ชื่อ Ombra mai fu ที่ร้องโดยนักร้องในยุคนั้นมักเป็นผู้ชายที่ถูกตอน (castrato) เพราะผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ขึ้นเวทีแสดง  
 
นอกจากนี้แฮนเดิลยังโด่งดังในด้านโอราโตริโอทั้ง 32 ชิ้นของเขา สำหรับโอราโตริโอ หรือ Oratorio คือการร้องทั้งเดี่ยวและคู่รวมถึงเป็นหมู่คณะพร้อมกับดนตรีเหมือนอุปรากรแต่แตกต่างจากอุปรากรตรงที่ไม่มีชุดแต่งกายและฉากหรือการแสดง ดังเช่น Samson (1743) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Messiah (1741) ซึ่งถือว่าเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของแฮนเดิล  Messiah  หมายถึง "พระผู้มาโปรดโลก" บทเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นในปี 1741 ที่บ้านของแฮนเดิลเองกลางกรุงลอนดอน ในช่วงที่แฮนเดิลกำลังทุกข์ทรมานใจเพราะชื่อเสียงของตนกำลังตกต่ำ ผลงานของเขาโดยเฉพาะอุปรากรถูกโจมตีจากพระผู้ทรงอิทธิพลในคริสตจักรว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนาเช่นเดียวกับโรงละครโคเวนท์การ์เดนที่เขาเป็นผู้อำนวยการก็ถูกกล่าวหามีแต่ผู้ชมที่ไร้เกียรติในสังคม
 
ผู้เขียนเนื้อร้องของเพลง Messiah คือชาร์ลส์ เจนเนนส์ได้นำเนื้อหามาจากเนื้อพระคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิมและใหม่ งานสามารถแบ่งเป็น 3  ส่วนที่บรรยายชีวิตของพระเยซูคริสต์ ส่วนแรกนั้นเกี่ยวข้องกับตอนที่พระองค์ประสูติ ส่วนที่ 2 บรรยายถึงความทุกข์ทรมาณของพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขน การฟื้นกลับมาและการกลับสู่สวรรค์ และการเผยแพร่คำสอนของพระองค์ ส่วนที่ 3 นั้นบรรยายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระวิวรณ์ที่มีต่อเซนต์จอห์น บทเพลงย่อยในออราโตริโอบทนี้ที่ได้รับความนิยมได้แก่ 
 
 
For Unto Us a Child Is Born
 
Rejoice Greatly, O Daughter of Zion
 
I Know That My Redeemer Liveth 
 
Behold the Lamb of God
 
The Trumpet Shall Sound
 
All we like sheep 
 
Hallelujah
 
ฯลฯ
 
Messiah ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิตปี 1742 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตการกุศลในนิวส์มิวสิกฮอลล์ กรุงดับบลิน ไอร์แลนด์จนประสบความสำเร็จอย่างสูง ออราโตริโอชิ้นนี้จึงเป็นงานที่ช่วยให้ชื่อเสียงและฐานะการเงินของแฮนเดิลกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง Messiah มักจะถูกแสดงในช่วงอาทิตย์ก่อนวันคริสตมาส และกลายเป็นเพลงร้องประสานเสียงได้ที่นิยมมากที่สุดของโลกตะวันตกจนถึงทุกวันนี้ ผลงานที่พอจะเทียบเคียงได้ก็มี Christmas Oratorio ของบาค  
 
เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ขณะดนตรีแสดงตอน Hallelujah  พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็ทรงยืนขึ้นเพราะความซาบซึ้งพระทัย ทำให้คนอื่นในโรงละครที่กำลังแสดงคอนเสิร์ตก็ต้องลุกตามจนกลายเป็นประเพณีสืบมาว่าเมื่อดนตรีเล่นถึงตอนนี้แล้วคนดูจะต้องลุกขึ้นยืน แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอีกว่าจริงๆ แล้วการที่พระเจ้าจอร์จทรงลุกขึ้นเพราะความซาบซึ้งพระทัยหรือว่ายืนเพราะเสด็จมาสายหรือว่าพระองค์เพียงต้องการถวายความเคารพต่อพระเจ้าหรือพระองค์ทรงเป็นโรคเก๊าท์จึงต้องลุกเพื่อให้อาการเจ็บทุเลาลง อันนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่การยืนเช่นนี้ก็กลายเป็นประเพณีสืบมาหลายร้อยปี สำหรับแฮนเดิลมักจะเล่นเพลงนี้อยู่เสมอในช่วงบั้นปลายของชีวิตเพราะสามารถใช้หากินได้ตลอด
 
 
                                            
 
                                                       ภาพจาก  www.amazon.com
 
ก่อนหน้านี้ แฮนเดิลยังผลิตงานอันยิ่งใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอังกฤษคือ Zadok the Priest (1727)  ซึ่งเขาแต่งถวายให้งานพิธีราชาภิเศกของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ซึ่งจะกลายเป็นเพลงประกอบพิธีเช่นนี้ของราชสำนักอังกฤษจนถึงปัจจุบัน  กระนั้นเราจะมองข้ามผลงานชื่อดังอีกชิ้นของเฮนเดิลไปไม่ได้เป็นอันขาดนั้นคือเพลง Fireworks Music (1749) ที่พระเจ้าจอร์จทรงรับสั่งให้เขาเขียนประกอบการเล่นดอกไม้ไฟที่กรีนปาร์คในกรุงลอนดอนเพื่อเป็นการฉลองการสิ้นสุดของสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (Austrian Succession)  และการลงนามในสัญญาแอกซ์ ลา ชาแปล ( Aix-la-Chapelle) กระนั้นการซ้อมและการแสดงไม่ค่อยราบรื่นนักเพราะมีอุบัติเหตุและความคับคั่งของการจราจรด้วยผู้คนแห่กันมาดูเป็นจำนวนมาก
 
แฮนเดิลก็เหมือนเบโธเฟนและบาร์มส์ที่ไม่เคยแต่งงานจนตลอดชีวิต (ตรงกันข้ามกับบาคที่มีลูกถึง 13 คน) ช่วงท้ายๆ ของชีวิตเขาผกผันคือมีทั้งขาดทุนและประสบความสำเร็จ แต่แล้วตัวเองก็พบกับปัญหาสุขภาพตาเริ่มพล่ามัวจนบอดเพราะโรคต้อกระจก เขาเสียชีวิตในวันที่ 14 เมษายน ปี 1759 ศพถูกฝังที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ มีผู้เข้าร่วมงานศพมากกว่า 3,000 คน อันสะท้อนถึงความนิยมของคนอังกฤษที่มีต่อแฮนเดิลอย่างไม่เสื่อมคลาย
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที