Skip to main content

    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็คงจะเดาได้ว่าข้อสันนิฐานข้างบนล้วนแต่เป็นความจริงทั้งนั้น

 

                                                     

                                                       ภาพจาก  chopinwithcherries.blogspot.com

        โชแปง คีตกวีผู้เป็นเอตทัคคะด้านเปียโนมีชื่อเต็มๆ เป็นภาษาโปแลนด์ว่า Fryderyk Franciszek Chopin (แต่ต่อมาเมื่อย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศสก็เปลี่ยนเป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสคือ Frédéric-François Chopin แต่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Frederic Chopinหรือ ฟริเดริก โชแปง) เขาเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 1810 ณเมือง เซลาโซวา โวลา ซึ่งอยู่ตอนกลางของโปแลนด์ บิดาเป็นคนฝรั่งเศสที่เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนโปแลนด์ ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่วอร์ซอว์ ลีเซอุม ส่วนแม่เคยเป็นสาวใช้มาก่อน

       เขามีลักษณะเหมือนกับโมซาร์ทนั่นคือมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์ อายุเพียง 7 ขวบก็สามารถแต่งเพลงแบบ Polonaise        (คล้ายกับเพลงเต้นรำของโปแลนด์แต่จังหวะช้ากว่าเพียงเล็กน้อย) ได้ถึง 2 เพลง จนได้รับความสนใจจากสังคมชั้นสูงของโปแลนด์เป็นอย่างมาก (แต่กว่าผลงานจะถูกตีพิมพ์จริงๆ เขาก็อายุปาไป 15 ปี) บุคคลที่มีผลต่อชีวิตของโชแปงคือ ศาสตราจารย์และนักไวโอลินนามกระเดื่องคือ วิลเฮล์ม วูร์เฟล ซึ่งให้บทเรียนในการเล่นออร์แกนและเปียโนอันจะส่งผลต่อฝีมือของโชแปงในอนาคตอย่างมหาศาล ต่อมาโชแปงก็เข้าเรียนที่โรงเรียนวอร์ซอว์ลีเซอุม ที่บิดาเขาสอนอยู่ ณ ที่นั่นเขามักจะใช้เวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนไปพักผ่อนที่บ้านตากอากาศซึ่งเป็นของบิดาและมารดาเพื่อนตามชนบท และได้มีโอกาสซาบซึ้งกับดนตรีพื้นบ้านของโปแลนด์ ซึ่งเขาได้ประยุกต์กับดนตรีของเขาในภายหลัง

       โชแปงเดินทางไปกรุงเวียนนาในปี 1829 เพื่อแสดงดนตรีและได้เสียงตอบรับอย่างดี เป็นเรื่องที่ควรรู้ว่าในช่วงเวลานั้น เกิดการจลาจลของชาวโปแลนด์เพื่อยุติการตกเป็นเบี้ยล่างของรัสเซียอันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซียกับโปแลนด์ที่กินเวลาหลายๆ เดือน ซึ่งสุดท้ายลงเอยโดยกองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดกรุงวอร์ซอร์ เพื่อนๆ เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อร่วมกับกองทัพ ส่วนโชแปงได้รับการรบเร้าให้อยู่ต่อไปเพื่อศึกษาและแสดงดนตรี ถึงแม้เขาจะวิตกกังวลต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนอย่างมาก

       8  เดือนต่อมาเขาได้กลับไปเปิดการแสดงที่กรุงวอร์ซอร์ บ้านเกิดด้วยเพลง piano Concerto in F Minor ในปี 1831  อาจเพราะทนความเย้ายวนของเมืองหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสีและดนตรีไม่ไหว โชแปงเดินทางไปตั้งรกรากอย่างถาวรอยู่ที่ปารีส (หนังสือบางเล่มบอกว่าเขาคิดจะเดินทางต่อไปอิตาลี แต่เห็นว่าอิตาลีไม่ถูกกับออสเตรีย เลยเปลี่ยนการเดินทางไปฝรั่งเศสแทน) คีตกวีหนุ่มหาเลี้ยงชีพโดยการสอนดนตรี เล่นดนตรีตามบ้านของผู้มีอันจะกิน ถึงแม้เขาจะชอบการแสดงดนตรีเพียงอย่างเดียว

     ณ ที่นั่นเขากลายเป็นนักดนตรีมีชื่อเสียงและมีเพื่อนที่มีชื่อเสียงเหมือนกันหลายคนไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลงอุปรากรคือวิเซนโซ เบลลินีเจ้าของอุปรากรเรื่อง Norma  โรเบิร์ต ชูมานน์และฟรานซ์ ลิซต์ ซึ่งก็เก่งกาจในด้านเปียโนเหมือนกับโชแปง รวมไปถึงจิตรกรนามอุโฆษคือยูจีน เดลาครัวซ์ ชีวิตของเขาช่วงนี้ดูเหมือนจะเหมือนทางที่โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ แต่ความจริงแล้วเขาพบว่าตัวเองป่วยเป็นวัณโรค (สำหรับยุคนั้นร้ายแรงมาก เรื้อรังและไม่หายและเสี่ยงต่อความตาย) ซึ่งเขาต้องต่อสู้กับมันจนวันสุดท้ายของชีวิต

     ปี 1836 โชแปง หมั้นลับๆ กับสาวน้อยอายุเพียง 17 ปีนามว่ามาเรีย วอดซินสกี แต่แล้วก็ต้องเลิกลากันไป วันหนึ่งในงานเลี้ยงที่จัดโดยภรรยาน้อยของลิซท์ โชแปงได้รู้จักกับจอร์จ แซนด์ นักเขียนสตรีที่นอกจากงานเขียนของเธอที่สร้างความฮือฮาแล้วยังเป็นรสนิยมที่ชอบแต่งชุดผู้ชาย แต่เธอหาใช่พวกรักร่วมเพศไม่เพราะก่อนหน้านี้มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับนักเขียนชายชื่อดังหลายคนของฝรั่งเศส

    โชแปงและแซนด์มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งถึง 11 ปีก่อนจะเลิกรากันไป เพราะแซนด์อ้างว่าโชแปงตกหลุมรักกับลูกสาวของเธอ หรืออาจเป็นไปได้ว่าเขาทนกับการปฏิบัติอันเลวร้ายที่เธอมีต่อลูกสาวไม่ได้ กระนั้นในจดหมายของแซนด์ เธอกล่าวเป็นนัยๆว่าโชแปงเป็นพวกกามตายด้าน คือไม่ได้คิดจะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงเลย เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนทั้งคู่คือการเดินทางไปพำนักที่มาฮอร์กา เกาะของสเปนแถวทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในสภาวะที่กันดาร ไร้เครื่องอำนวยความสะดวกที่พวกเขาเคยมีอยู่ในปารีส ทั้งหนาวและสกปรกอันส่งผลให้สุขภาพของโชแปงย่ำแย่ลงถนัดตา ในที่สุดเขาก็ต้องถูกส่งกลับไปกรุงปารีส กระนั้นสุขภาพของเขาก็ไม่เคยฟื้นตัวอีกเลย

        โชแปงเสียชีวิตลงในปี 1849  สิริอายุเพียง 39 ปี ศพของเขาถูกฝังในสุสานแปร์ ลาเชสในกรุงปารีส ในงานมีการบรรเลงเพลงสวดศพหรือ Requiemของโมซาร์ทและมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน แต่ก่อนตาย คีตกวีหนุ่มได้เขียนพินัยกรรมให้น้องสาวของเขานำเอาหัวใจจริง ๆ ของตนไปฝังไว้ที่กรุงวอร์ซอร์บ้านเกิดของตน

          ผลงานของโชแปงเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนไทยเพราะว่าเวลาซ้อมเปียโน มักจะใช้เพลงของเขาประเภทต่างๆเช่น Impromtu, Mazurka , Nocturnes Waltzes, Polonaise นอกจากนี้ยังมี Preludes Opus. 28 ทั้ง 24 ตอน (หนึ่งในนั้นมีตอนที่แสนไพเราะคือ หยาดฝนหรือ Raindrop) และ Etudes ที่ขาดเสียไม่ได้คือ Piano Concerto สองบท กับ Piano Trio และอื่นๆ อีกมากมาย

 

                                                                

                                                                           ภาพจาก devxstudiv.org

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื