Skip to main content

             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในปัจจุบันผมจะฟังแต่ดนตรีคลาสสิกเพียงอย่างเดียว เพราะผมก็ฟังเพลงอื่นไปด้วยอย่างเพลงป็อบหรือเพลงบรรเลงอื่นๆ  ตามแต่อารมณ์จะอำนวยให้)  จำได้ว่าวงดนตรีแจ๊สวงแรกที่ผมฟังคือตอนใกล้เรียนจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (ไม่ทราบว่าจะแก่ขนาดไหน จำได้ว่าปีที่ผมใกล้จบเป็นปีที่เพลง "ประวัติศาสตร์" ของคริสตินา อากีลาร์ในคราบของนินจาสาวกำลังโด่งดังสุดๆ และชื่อเพลงยังอุตสาห์นำไปสู่การติเตียนว่าควรร้องว่าประหวัด-ติ-สาด ไม่ใช่ ประหวัด-สาด) นั่นคือวง Square เป็นวงฟิวชั่นของญี่ปุ่นซึ่งต่อมาเมื่อได้ฟังเพลงฟิวชั่นแจ๊สของฝรั่งก็สัมผัสได้ถึงความแตกต่างกันของตะวันออกและตะวันตก วงฟิวชั่นของชาติเดียวกันซึ่งผมก็ได้ฟังในเวลาต่อมาก็คือวง Casiopea เท่านั้นเอง อาจเพราะรู้สึกว่าดนตรีแจ๊สของญี่ปุ่นเปี่ยมด้วยอารมณ์มากไป

      เมื่อผมก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก็รู้จักดนตรีแจ๊สมากขึ้นผ่านเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งอยู่หอพักเดียวกันคือไอ้อาร์ท  หมอนี่เป็นหนุ่มกรุงเทพฯ มาดสำอาง ฐานะทางบ้านก็ดีไม่น้อย แต่จะด้วยท่าทางโก๊ะ ๆ อย่างไรไม่ทราบ มันก็ไม่สามารถจีบสาวสำเร็จได้สักที และบังเอิญมันก็ชอบเล่าเรื่องนี้ให้กับผมซึ่งก็จีบสาวไม่ติดเหมือนกันและชอบติดตามเรื่องราวของมันในการเข้าหาสาวอย่างไม่หวั่นเกรงต่อการอกหัก ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จบ้าง แห้วบ้าง แต่ความพยายามของมันยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมจนถึงปัจจุบัน เราจึงสามารถเข้ากันได้อย่างน่าอัศจรรย์อันเป็นผลให้ผมซึมซับเอารูปแบบการฟังเพลงของมันมาด้วย 

       นอกจากนี้ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมฟังแจ๊สได้หลากหลายยิ่งขึ้นคือเทปผี (ใช่แล้วตอนนั้นยังไม่มีซีดีเลย ใยไม่ต้องกล่าวถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งช่วยในการโหลดเพลงมาฟังหรือแม้แต่ยูทูป) ซึ่งมีหลากหลายคุณภาพ ยี่ห้อห่วยที่สุดมีหลายชนิดจำชื่อไม่ได้ แต่ตัวเทปทึบดำ ส่วนยี่ห้อที่ดีที่สุดคือเทปพีค็อกใส ซึ่งมีคุณภาพจนเทปตัวจริงอายไปเลย สนนราคาในสมัยนั้นก็คือ 30 -40 บาท แหล่งขายนอกจากร้านแมงป่องหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็คือใต้ดินของไนท์บาร์ซาร์ เชียงใหม่ซึ่งเรามักแวะเวียนไปซื้อกันเป็นประจำ เจ๊เจ้าของร้านไว้ผมสั้น ธรรมะธัมโมนับถือธรรมกาย  เช่นเดียวกับวิทยุของเชียงใหม่ซึ่งมีไม่กี่คลื่นที่เล่นเพลงฝรั่ง ที่สำคัญเป็นเพลงแจ๊สอย่างเช่นคลื่นเอฟเอ็ม 100 ของมช. คลื่น 100.75 ของ อสมท. แต่รายการแบบนี้ มีเวลาจำกัด เพราะกลุ่มผู้ฟังน้อย   ต้องขออภัยว่าจำชื่อรายการกับดีเจไม่ได้ จำได้ว่าหนึ่งในนั้นเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อสารมวลชน (ผมดูแก่ไหม ตอนนั้นสาขานี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์อยู่เลย)  อนึ่งเพื่อเป็นการไม่ตอแหลจนเกินไป ผมไม่ได้ฟังเพลงของนักดนตรีที่ว่าทั้งหมด แต่เลือกฟังบางเพลงหรือบางอัลบั้ม หรือสำหรับศิลปินบางคนที่ชอบมากๆ ก็จะตามฟังอยู่ตลอด

      ไอ้อาร์ท เทปผีและสถานีวิทยุ ได้นำผมดื่มด่ำเข้าสู่โลกดนตรีฝรั่งลึกลงไปอีกไม่ว่า Pop Soul   Rhythm and Blue ฯลฯ ที่สำคัญคือดนตรีแจ๊สนั่นเอง ดนตรีแจ๊สที่ผมรับอิทธิพลมาในช่วงแรกก็เป็นดนตรีแจ๊สแบบพื้นๆ ที่ว่าพื้นๆ ไม่ใช่ต่ำ แต่เป็นดนตรีแจ๊สผสมป็อบ (ถ้าเป็นเชิงกระแนะกระแหนก็คือดนตรีป็อบที่ใช้แซ็กโซโฟนเล่น) อย่างเช่น Kenny G ซึ่งถูกวงการดนตรีแจ๊สโจมตีว่าเป็น Elevator music หรือดนตรีที่ใช้เปิดในลิฟต์ หรือไว้ฟังตอนเม็คเลิฟหรือก่อนนอน เพลงอย่าง Songbird หรือ Coming Home ไม่ว่าเครียดขนาดไหน ฟังแล้วก็ต้องนอนหลับ และเป็น Kenny G  เองที่ผมดั้งด้นไปฟังคอนเสิร์ตของเขาถึงกรุงเทพฯ   ช่วงที่น่าประทับใจที่สุดคือเขาจะเป่าแซ็กโซโฟนไปพร้อมๆ กับเดินไปตามแถวที่นั่งของคนดูเช่นเดียวกับเป่าลากเสียงยาวๆ  ผมได้สบโอกาสเอื้อมไปแตะไหล่ของเขา นัยว่าเป็นครั้งแรก และอาจจะครั้งเดียวที่ได้สัมผัสตัวเซเลประดับโลก เคนนี จีมาดังในช่วงปฏิวัติร่มของฮ่องกงเมื่อปีสองปีก่อนเพราะเฮียดันไป “แจม” กับเขาจนทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ เคนนีเลยต้องมาชี้แจงเสียวุ่นไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเสียลูกค้าจำนวนมหาศาลในจีนไปจากการโดนรัฐบาลแบน

     ต่อมาการฟังของผมจึงยกระดับขึ้นมาเป็นดนตรีของค่ายเพลงที่ดังที่สุดค่ายหนึ่งคือ GRP ที่ก่อตั้งโดยนักเปียโนแจ๊สชื่อดังคือ Dave Grusin สำหรับคนชอบหนังก็จะเคยฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ของเขาอย่างเช่น Tootsie ซึ่งดัสติน ฮอฟแมนแสดงนักแสดงชายที่ตกอับจนต้องปลอมตัวเป็นนักดนตรีหญิง หรือ  The Firm ซึ่งทอม ครูซแสดงเป็นนักกฎหมายหนุ่มซึ่งเข้าไปทำงานในบริษัทที่เต็มไปด้วยลับลมคมนัย  ในเรื่องหลังนี้เพลงประกอบโดดเด่นมากจนดูยิ่งกว่าภาพยนตร์เสียอีก (ทำให้ผมนึกถึง Soundtrack ของแวงเจลลิสประกอบภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner ซึ่งเพลงมีอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับภาพยนตร์อย่างมาก) ค่ายจีอาร์พีมีนักดนตรีแจ๊สอยู่ในสังกัดมากมาย   นักดนตรีที่ผมชื่นชอบได้แก่ Gary Burton นักเล่นไวบราโฟน (ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมคอนเสิร์ตของเขาที่ห้างสรรพสินค้ากาดสวนแก้ว เชียงใหม่ด้วย)  David Benoit  กับ Chick Corea ทั้งคู่เป็นนักเล่นเปียโน  Rippingston วงฟิวชั่นที่ผสมผสานกับ Pop และ Soul   Dianne Schuur นักร้องหญิงตามบอดที่ทรงพลัง  Lee Ritenour  นักเล่นกีตาร์แนวฟิวชั่นที่ดังที่สุดคนหนึ่งของโลก David Sanborn นักเป่าแซ็กโซโฟนที่ผมรู้สึกว่ายอดเยี่ยมกว่า Kenny G เสียอีก ฯลฯ จากนั้นผมก็เริ่มฉีกแนวหันมาฟังวงฟิวชั่นที่หนักหรือเป็นแจ๊สมากขึ้นอย่างเช่นวง  Spyro Gyra   Yellow Jacket , Acoustic Alchemist หรือ The Crusaders 

 

 

                                           

                                                    ภาพจาก www.discogs.com  

 

          ผมยังชื่นชอบวงดนตรีฟิวชั่นที่ดังสุดๆ วงหนึ่งก็คือวง Four play อันประกอบด้วยนักดนตรีแจ๊สชื่อดังอย่างเช่น Lee Ritenour  Bob James (คีย์บอร์ด)  Nathan East (เบส) Harvey Mason (กลอง) อัลบั้มที่อยู่ในความทรงจำของผมก็คืออัลบั้มแรกอันมีชื่อเหมือนวงนั้นเอง ทุกเพลงล้วนแต่ฟังนุ่มๆ สบายๆ  จำได้ว่าเทปที่ซื้อเป็นเทปลิขสิทธิ์ของค่ายวอร์นเนอร์ มิวสิก แต่อย่างไรไม่ได้ทราบ ผมก็ไม่ได้ติดตามวงนี้ในยุคหลังๆ อีก รู้แต่ว่าต่อมา เฮียลีได้ออกไปและให้นักกีตาร์แจ๊สมือฉมังอีกคนคือ Larry Carlton มาเสียบแทน  สำหรับคาร์ลตันนั้นผมชอบอัลบั้มรวมของเขาคือ Collection ซึ่งมีเพลงโปรดอย่างเช่น Minute by Minute  และ Sleep Walk ซึ่งเป็นการนำเอาเพลงเก่าในทศวรรษที่ 60 มาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงฟิวชั่นได้ถึงอารมณ์แบบเหงาๆ ยิ่งนัก

 

                                 

 

      กระนั้นผมก็ยังชอบเพลงแจ๊สผสมป็อบจนหวานปานน้ำตาลเรียกพี่เหมือน Kenny G อย่างเช่น Najee , Dave Koz (เพลงที่แกเรียบเรียงเพลงของริชาร์ด มาร์กซ์คือ Endless Summer Nights เพราะมาก ผมฟังในคืนของเดือนเมษายนนี่อินสุดๆ)  Sadao Watanabe  (เรียกกันเล่นๆ ว่าลุงสะเดา) นักเล่นแซ็กโซโฟนชาวอาทิตย์อุทัยซึ่งผสมผสานแจ๊ส ฟิวชั่นเข้ากับ ป็อบได้อย่างงดงาม เพลงร้องของแกจัดได้ว่าเป็นเพลงป็อปที่ไพเราะ และได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยในเมืองไทย จากการเป็นเพลงประกอบโฆษณาในยุคหนึ่งอย่างเช่นเพลง  When We Make a Home  หรือ George Benson ซึ่งเพลงดังๆ มักเป็นเพลงป็อบอย่าง Nothing's Gonna Change My Love for You หรือ Here There and Everywhere (เอามาจากเพลงของวง The Beatles) แต่มีหลายเพลงที่ออกไปทางแจ๊สอย่าง This Masquerade หรือเพลงบรรเลงที่มีกีตาร์โดดเด่นอย่าง Breezing

       ในขณะเดียวกันนักเล่นกีตาร์ชนิด cross over หรือผสมผสานหลายสายอย่างเช่น Pat Metheny ถือได้ว่าสร้างความประทับใจให้กับผมมากจากเสียงกีตาร์ที่ทรงพลังไม่เหมือนใคร ในหลายอัลบั้มของเขาได้ผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองของประเทศล้วนงดงาม เพลงของเขาที่ผมฟังเป็นอัลบั้มแรกได้แก่ Last Train Home รวมไปถึง การเล่นกีตาร์ร่วมกับเครื่องเล่นอีก 2 ชิ้นคือเปียโนและเบส หรือ Trio  อันมีลักษณะเป็นดนตรีแบบ Mainstream  หรืออย่างเพลงบรรเลงกีตาร์อันไพเราะอย่าง Chet Atkins  ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ผสมผสานรูปแบบดนตรีหลายอย่างไม่ว่า Pop Blue Jazz หรือ Easy listening (ฟังง่ายๆ) อัลบั้มของคุณปู่ที่อยู่ในดวงใจของผมคือ Sails หน้าปกสีขาวมีรูปฝูงนกบินเหนือต้นมะพร้าวซึ่งมีเพลงน่ารักอย่างเช่นเพลง Sails หรือเพลง Why Worry ซึ่งนำเอาเพลงเก่าของ Dire Straits มาเรียบเรียงใหม่  หรือ Earl Klugh ซึ่งเล่นกีตาร์แบบ fusion ผสมป็อบ และ Easy Listening หรือดัดแปลงมาจากเพลง pop ดังๆ  ซึ่งผมฟังจากอัลบั้มที่รวมเพลงดังจากอัลบั้มอื่นอย่างเช่น Living inside Your Love ,  Wishful Thinking และ  Midnight in San Juan เพลงของเอิร์ลหลายเพลงทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นและสัมผัสได้ถึงความงดงามของชนบทยามบ่าย 

 

                                      

                                                ภาพจาก www.amazon.com 

     การฟังดนตรีแจ๊สของผมก็เริ่มทวีความหลากหลายมากขึ้น Trio ของ Pat ปูทางให้หูยกระดับถึง Mainstream Jazz หรือแจ๊สยุคโบราณนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 50  เป็นต้นมา อันส่งผลให้ความปรารถนาของผมต่อชีวิตยามค่ำคืนก็คือการดื่มด่ำดนตรีเช่นนี้ในผับสักแห่งในนครนิวยอร์กหรือกรุงปารีส ในทศวรรษที่ 50 หรือ 60  เหมือนภาพยนตร์ ประมาณ นั่งจิบมาร์ตินีรมควันบุหรี่ ฟังเพลงของ John Coltrane ,  Dexter Gordon , Charlie Parker โดยทั้งหมดเป็นนักเล่นแซ็กโซโฟน เช่นเดียวกับ Miles Davis นักเล่นทรัมเปต ซึ่งผมดันไปฟังเพลงของแกยุคทศวรรษที่ 80 และ 90 ที่ไปผสมกับดนตรีแบบบีบ็อบหรือฮิบฮอบ (จำได้ว่าตอนนั้นฟังไม่จบ) ทั้งที่ความจริงดนตรีของแกในทศวรรษที่ 50-60 ซึ่งเป็น Mainstream ถือได้ว่าไพเราะมากอย่างเช่น Someday My Prince Will Come ลองจินตนาการว่าเราฟังเพลงนี้จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงในอพาร์ตเมนท์ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาปรอยๆ ในยามบ่ายของกรุงนิวยอร์ก ปี 1975 (Yes, it's always raining in New York.) อากาศกำลังครึ้ม ดูเศร้าๆ เหงาๆ แต่ทำนองเพลงของไมล์ส เดวิส กลับทำให้รู้สึกตรงกันข้าม ทำไมผมถึงชอบจินตนาการเช่นนี้ อาจเพราะเป็นอารมณ์จากการดูหนังเก่า ๆของวูดดี อัลเลนก็เป็นได้

 

                           

                                      ภาพจาก www.amazon.com

           หรืออย่าง  Dave Brubeck และ Duke Ellington (2 คนนี้เป็นนักเล่นเปียโน)  Wes Montgomery (กีตาร์) เคล้าไปกับเสียงอันไพเราะของ Ella Fitzgerald นักร้องเพลงแจ๊สที่ทรงพลังที่สุดคนหนึ่งของโลก อัลบั้มที่เธอร้องคู่กับ Louis Armstrong พร้อมเพลงโบราณอย่างเช่น Dream a Little Dream of Me หรือ The Nearness of You ถือได้ว่าน่าซาบซึ้งอย่างยิ่ง กระนั้นเพลงของฟิตซ์เจอรัลด์ที่ผมชอบที่สุดโดยการฟังน่าจะ 50 ครั้งขึ้นไปคือเพลงที่เธอเอามาร้องใหม่ (เพลงไหนที่เธอเอามาร้องใหม่ถือว่าคุณภาพทำให้ต้นแบบอายม้วน) คือ  All the Things You Are

 

                                  You are the promised kiss of springtime

                                That makes the lonely winter seem long.

                                You are the breathless hush of evening

                                That trembles on the brink of a lovely song.

                                 You are the angel glow that lights a star,

                                 The dearest things I know are what you are.

                                 Someday my happy arms will hold you,

                                And someday I'll know that moment divine,

                                When all the things you are, are mine!

  

           เช่นเดียวกับ Billie Holliday (นักร้องหญิงเสียงแหบที่ดังสุดๆ ในทศวรรษที่ 40)  Sarah Vaughan   หรือ Dinah Washington (เจ้าของเพลง What a Difference a Day Makes)   ในปัจจุบันเมื่ออายุเยอะแล้ว ผมก็หันมาชอบนักร้องเพลงผสมอย่างเช่น Jo Stafford นักร้องหญิงขวัญใจจีไอซึ่งไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2   เพลงของเธอที่เอามาร้องใหม่ซึ่งประทับใจผมจนต้องฟังมากกว่า 50 รอบคือเพลง  Stardust  ซึ่งมีเนื้อร้องที่สวยงามมาก

 

                               Sometimes I wonder why I spend             

                               The lonely nights dreaming of a song

                               The melody haunts my reverie

                               And I am once again with you

                               When our love was new

                               And each kiss an inspiration

                               But that was long ago

                               And now my consolation

                             Is in the stardust of a song 

                            Beside the garden wall

                            When stars are bright

                           You are in my arms

                           The nightingale tells his fairy tale

                           Of paradise where roses grew

                          Though I dream in vain

                          In my heart it will remain

                          My stardust melody

                         The memory of love's refrain

 

        กระนั้นการหันมาฟังเพลงเก่าๆ ที่มีเนื้อร้องของผมนั้นต้องขอขอบคุณ Natalie Cole ผู้ล่วงลับไปแล้ว เธอเป็นลูกสาวของนักร้องชื่อดังในทศวรรษที่ 50 อย่าง Nat King Cole  อัลบั้มของนาตาลีก็คือการหยิบเอาเพลงเก่าๆ ของคุณพ่อมาร้องใหม่ แต่ก็มีลักษณะเป็นแจ๊สดั้งเดิม และเพลงซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับทั่วโลกแม้แต่เมืองไทยก็คือเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มคือ Unforgettable ที่เอาเสียงร้องของนาตาลีกับพ่อมาอยู่ในเพลงเดียวกัน ประดุจดังว่าทั้งคู่ร้องร่วมกันทั้งที่พ่อเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว สำหรับนักร้องฝ่ายชาย ผมชอบฟังแต่เพลงของ Frank Sinatra ผู้ซึ่งหากไม่ถึงแก่กรรมเสียก่อนก็จะอายุ 101 ปีพอดีในปี 2016 สำหรับปู่แฟรงค์ คนไทยอาจจะรู้ประวัติของแกมากกว่าฟังดนตรีของแก (อย่างเช่นการพัวพันของแกกับตระกูลเคนนาดีและพวกมาเฟีย) สำหรับฝรั่ง เพลงของแกก็กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นไปแล้วอย่างเช่นเพลง New York New York หรือ  My Kind of Town หรือเพลงสำหรับคนแก่รวยๆ ไว้ครวญอย่างเช่น My Way   ทั้งที่ความจริงมีเพลงอื่นๆ ของแกที่เพราะกว่าอย่างเช่น Strangers in The Night , Summer Wind ,Lady is A Tramp หรือ Witchcraft

          สำหรับเพลงแจ๊สที่คนไทยชอบฟังคือรูปแบบ bossa Nova นั้น ผมมาฟังตอนอายุเยอะแล้วและฟังตามขั้นตอนทุกอย่างเช่นเพลงชาติของดนตรีชนิดนี้อย่าง Girl from Ipanema ของ Antônio Carlos Jobim ซึ่งมีคู่บุญคือนักร้องหญิงแสนสวย Astrud Gilberto จนไปถึงเพลงอื่นๆ ของแกที่เพราะไม่แพ้กันอย่างเช่น Desafinado  , Insensatez  , One Note Samba  หรือ Meditation ซึ่งผมชอบเวอร์ชั่นที่เดกซ์เตอร์ กอร์ดอน เอามาเรียบเรียงใหม่ (จำได้ว่าเคยฟังตอนขับรถถึง 3 รอบติดต่อกัน)   สำหรับเนื้อร้องนั้นเป็นทั้งภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษ

 

             In my loneliness

             When you're gone and I'm all by myself

             And I need your caress

           I just think of you

          And the thought of you holding me near

          Makes my loneliness soon disappear

 

        Though you're far away

        I have only to close my eyes

       And you are back to stay

       I just close my eyes

       And the sadness that missing you brings

       Soon is gone and this heart of mine sings

       Yes I love you so

       And that for me is all I need to know

 

     I will wait for you

    Til the sun falls from out of the sky

    For what else can I do

    I will wait for you meditating

    How sweet life will be

    When you come back to me

 

         ผมยังประทับใจกับมิวสิกวีดีโอประกอบภาพยนตร์ในทศวรรษที่ 80  อย่างเช่น Round Midnight ถือได้ว่ายอดเยี่ยมยิ่งกว่าตัวภาพยนตร์เสียอีก ซึ่งประกอบด้วยนักเล่นแซ็กโซโฟนชื่อดังเช่น Dexter Gordon (แสดงเป็นพระเอก) หรือนักเปียโนตัวกลั่นอย่างเช่น Herbie Hancock  ซึ่งเพลงดังก็คือเพลงตามชื่อหนังซึ่งเอามาจากเพลงแจ๊ซในทศวรรษที่ 40 คือ Round Midnight  นั่นเอง เช่นเดียวกับเพลง Body and Soul ซึ่งการนำไปบรรเลงและร้องอย่างหลากหลายและ How Long Has It Been Going on ? ของ George Gershwin 

 

                                     

                                         ภาพจาก rogerebert.com

 

                         What were you doing in the mid summer’s night of 1997 ?

                    ผมยังจำได้ถึงบุญคุณไอ้อาร์ทที่มันชวนผมกระแตงไปเที่ยวผับแจ๊สซึ่งน่าจะเป็นแห่งเดียว (หรือเปล่า) ในเชียงใหม่ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กาดต้นลำไย ชื่อก็ออกไปทางแจ๊สมากๆ ก็คือ Baritone pub เจ้าของคืออาจารย์เต๊ะ หรืออาจารย์อิทธินันท์ อินทรนันท์ ซึ่งจบด้านดนตรี (น่าจะเป็นกีตาร์) จากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา นัยว่าเป็นใจรักหรือความกล้าหาญของแกและภรรยาเป็นอย่างมาก เพราะสัดส่วนคนฟังดนตรีแจ๊สของเชียงใหม่เมื่อ 20 ปีก่อนยังไม่มากเท่าไร (ในปัจจุบันนี้คือปี 2559  ก็ยังไม่น่าจะเยอะอยู่ดี สังเกตได้จากรายการวิทยุซึ่งไม่มีดนตรีแจ๊สเลยยกเว้น สถานีวิทยุ FM 100 ซึ่งผู้ดำเนินรายการก็คือเพื่อนโรงเรียนในวัยเด็กของผมเอง หรือว่าคนเชียงใหม่จำนวนหนึ่งอาจหันไปฟังเพลงแจ๊สออนไลน์หรือจากยูทูบก็เป็นได้)  ดนตรีที่อาจารย์เต๊ะเล่นก็เป็นแบบฟิวชั่น ฟังสบาย ๆ อย่างเช่น Lee Litenour, Lary Carlton หรือ Acoustic Alchemy นานๆ ก็จะเป็นแบบ mainstream สักดี เพลงที่ฟังแล้วนึกถึงผับนี้คือเพลง Take Five ของ Dave Brubeck  ส่วนเพลงร้องที่ภรรยาแกมาร้อง ก็จะเป็นป็อบแจ๊ส อย่างเช่น Al Jarreau อย่าง We're in This Love Together  ผับนี้ยังทำให้ผมได้ซาบซึ้งไปกับเพลงของนักร้องเสียงนุ่มอย่างเช่น Michael Frank  เจ้าของเพลง Tiger in The Rain  Lady Wants to Know , Down in Brazil  กระนั้นผมสังเกตว่าคนที่มาฟังก็เป็นผู้ใหญ่มากกว่าพวกเรา เป็นวัยทำงานที่ชอบเพลงป็อบฝรั่งหวานๆ มากกว่าเพลงแจ๊สซึ่งแกก็ต้องเล่นให้ ต่อมาเมื่อเรียนจบและไม่ได้เจอไอ้อาร์ทอีกก็ไม่ได้ไปเที่ยวผับแห่งนั้นอีกเลย ซึ่งต่อมาก็รู้ว่าบาริโทนผับปิดกิจการไปแล้ว (ซึ่งก็น่าจะคอนเฟิร์มจำนวนคนชอบเพลงแจ๊สในเชียงใหม่ได้ระดับหนึ่ง) และอาจารย์เต๊ะแกก็ไปผ่าตัดสมองซึ่งก็น่าจะปลอดภัยดีเพราะลองไปค้นหาข้อมูลเจอว่าแกไปเปิดโรงเรียนสอนดนตรี  ดูแกแก่กว่าเดิมเยอะเลย

           ในการไปเที่ยวกับไอ้อาร์ทที่บาริโทนผับครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเรียนซัมเมอร์ มันเป็นกลางฤดูร้อนของปี 1997 (ถ้าจะจำไม่ผิด)   ท้องฟ้ายามค่ำคืนเต็มไปด้วยดาว ถ้าจะขับขานเป็นเพลงป็อบคันทรีก็คือเพลง Vincent ของดอน แม็คลีนที่บรรยายภาพวาด The Starry Night ของวินเซนต์ แวนโก๊ะ  มันเป็นคืนที่ดีคืนหนึ่ง  ... ถ้าหากผมย้อนเวลากลับไปได้และสามารถเขียนเรื่องราวชีวิตของตัวเองเสียใหม่ในวันนั้นผมก็จะเขียนเป็นว่า... ผมพาแฟนของผมไปนั่งฟังเพลงที่บาริโทนผับด้วยสายตาหวานเชื่อม พร้อมเพลง It Might Be You ตามเวอร์ชั่นของเดฟ ครูซินและผมก็ขอเธอแต่งงาน เธอก็ตอบตกลง แต่แค่ซ้อมไว้ก่อนเพราะเราทั้งคู่ยังเป็นเด็กอยู่ กระนั้นในหลายปีอีกต่อมาเราก็ได้ตกล่องปล่องชิ้นกันพร้อมเพลงเดิมแต่ในเวอร์ชั่นของสตีเฟน บิชอฟในงานแต่งงาน ปัจจุบันเธอเป็นแม่ของลูกทั้ง  2 ของผม

......  แต่ว่าในความเป็นจริงมันเป็นเพื่อนผู้ชาย เรื่องก็เลยจบเพียงเท่านั้นครับ LOL  (Laugh out Loud)

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ  Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913  และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 "Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois  ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3  ของเยอรมัน นั่นคือ Bach  Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก