Skip to main content
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ผมคิดว่าปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์การสังหารผู้บริสุทธิ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ในอนาคตมีหลายปัจจัย แม้ว่าจะมีงานรำลึกถึงอยู่ทุกปีในสถานที่ศึกษาต่างๆ
 
ปัจจัยแรกคือวัฒนธรรมแบบไทยๆ (รวมไปถึงประเทศโลกที่ 3) ที่ไม่มีใครต้องรับผิด (Culture of Impunity) คือรัฐสามารถเข่นฆ่าประชาชนได้เรื่อยๆ หากประชาชนกลุ่มนั้นถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูแห่งรัฐอย่างเช่นเป็นคอมมิวนิสต์ โดยที่ผู้ฆ่าหรือใช้ความรุนแรงมีความภูมิใจว่าสามารถรักษาชาติบ้านเมืองได้โดยไม่ต้องพบกับการถูกลงโทษ ในยุคหลังมีงานวิจัยพบว่าผู้สังหารนักศึกษาในวันที่ 6 กลับรู้สึกอับอายและปิดบังบทบาทของตนเพื่อรอเวลาให้เหตุการณ์นี้ต้องจางหายไปจากความทรงจำรวมหมู่ของสังคมไทยหรืออย่างน้อยจนกว่าตัวเองจะตาย แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับผู้ที่จะเป็นนักสังหารในอนาคตตราบใดที่พวกเขาทราบว่าหากมี "แบ็คดี" ตนก็ไม่ต้องถูกจับดำเนินคดี หรืออีกอย่างหนึ่งคือผู้เขาจะต้องถูกรัฐปลูกฝังให้สังหารศัตรูโดยปราศจากการลังเลสงสัยแม้แต่เสี้ยวเดียวอันเกิดจากปัจจัยที่ 2 
 
ปัจจัยที่ 2 คืออุดมการณ์อันเกิดจากความรู้สึกแบบแบ่งขาวกับดำ หรือ ธรรมะกับอธรรม โดยที่รัฐจารีตนิยมกษัตริย์นิยมจะเป็นฝ่ายธรรมะที่ต้องกำจัดอธรรมโดยใช้ความรุนแรงที่ศาสนาพุทธซึ่งที่จริงแล้วต่อต้านความรุนแรงแต่สามารถอะลุ่มอล่วยได้บางกรณี (หรือว่าตามจริงศาสนาพุทธแบบไทยๆ คือการเลือกเอาหลักคำสอนบางอย่างของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับตัวเองเสียมากกว่า) ดังคำพูดของพระกิตติวุฑโฒที่ว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ในขณะที่ความรู้สึกร่วมกันของคนไทยจำนวนมากในยุคนั้น มองเหมือนกับที่พวกขวาจัดปลุกระดมไปว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นสายลับเวียดนามปลอมตัวมาหรืออย่างน้อยที่สุดก็เหมือนกับเป็นเด็กเว้นที่ซุกซนได้ใจตั้งแต่ได้รับชัยชนะเมื่อ 14 ตุลาคม ต้องใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ โดยความคิดดังกล่าวยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
 
 
ปัจจัยที่ 3 คือความพยายามของรัฐที่พยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เช่นไม่ยอมกำหนดให้เป็นวันสำคัญหรือวันหยุดแห่งชาติ อันมีชะตากรรมเดียวกับเหตุการณ์อื่นเช่น 24 มิถุนายน 2475 หรือ 14 ตุลาคม 2516 นอกจากนี้เหตุการณ์ 6 ตุลายังปราศจากอนุสาวรีย์ ซึ่งแย่ยิ่งกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ยังมีอนุสาวรีย์แถว 4 แยกคอกวัว (กระนั้นอนุสาวรีย์ดังกล่าวก็ไม่ค่อยมีความศักดิ์สิทธิ์เท่าไรนัก เพราะขาดการสนับสนุนของรัฐและไม่สอดคล้องกับความเชื่อแบบพุทธพราหมณ์ไสยแบบไทยๆ) งานรำลึกถึงถูกจัดโดยกลุ่มคนเล็กๆ หรือในแวดวงปัญญาชน และมักถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักอย่างจำกัด ยกเว้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งปีนี้นำเสนออย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องตลกร้ายว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับนี้ก็ถูกกล่าวหามีส่วนในการป้ายสีบรรดานักศึกษาด้วย
 
ปัจจัยที่ 4  ถึงแม้นักศึกษาที่ทั้งเสียชีวิตและรอดชีวิตมาได้จะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ได้เป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ (สมมติว่าถ้าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ รัฐบาลจะสามารถหลีกเลี่ยงโดยการเพียงแค่จับกุมและดำเนินคดีทางกฎหมายได้หรือไม่) หากเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับจอมพลถนอม กิตติขจร แต่พวกเขาก็ไม่สามารถถูกผนวกเข้ากับโครงเรื่องของการเป็นวีรบุรุษแห่งชาติดังที่ลัทธิชาตินิยมของไทยได้เพียรผลิตซ้ำให้กับประชาชน เพราะวีรบุรุษแห่งชาติไม่ว่ากษัตริย์หรือสามัญชนคือนักสู้เพื่อชาติ แต่สิ่งที่นักศึกษาเรียกร้องก็คือประชาธิปไตยกับความยุติธรรม ซึ่งมักถูกรัฐไทยจัดให้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยตะวันตก (ถึงแม้"ชาติ"ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ของตะวันตกเหมือนกัน) ดังนั้นโครงเรื่อง 6 ตุลาคมจึงไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนในวงกว้างได้เหมือนกับโครงเรื่องปลุกใจชาตินิยมตามสื่อต่างๆ เสมอมา อันทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคมถูกละเลยและไม่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้มากเท่าที่ควร
 
ปัจจัยที่ 5 คือการศึกษาซึ่งหนังสือเรียนสังคมไม่ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์อย่างชัดเจนนัก ด้วยปัจจัยที่ 4 เพราะโครงเรื่อง 6 ตุลาคมไม่สามารถถูกผนวกเข้ากับลัทธิชาตินิยมได้อย่างที่หนังสือเรียนมีความถนัดในการเผยแพร่นัก อีกทั้งหนังสือพยายามบิดเบือนไปว่าเป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแทนที่จะชี้แจงให้เห็นถึงสาเหตุอันแท้จริง รวมถึงพยายามปกปิดตัวตนของผู้อยู่เบื้องหลังการเข่นฆ่านักศึกษา (แต่ลองมานึกถึงความเป็นไปได้ว่าผู้จัดทำตำราเรียนถึงแม้จะทราบแต่ก็ทำไม่ได้เพราะนั้นหมายถึงอนาคตของพวกเขา) แม้แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยโดยมากดูเหมือนจะไม่ใส่ใจเหตุการณ์นี้เท่าไรนัก สาเหตุเพราะสื่อจำนวนมากที่พวกเขาเสพอยู่ทุกวันก็ได้นำเสนอการสังหารหมู่กันในประวัติศาสตร์ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน (อย่างเช่นกรณีซีเรีย)  อันทำให้เกิดการด้านชาทางความรู้สึก กระนั้นคนไทยก็ยังไม่อาจเข้าใจอะไรเกี่ยวกับสังหารหมู่ซึ่งอาจจะเกิดอีกในอนาคตก็ได้
 
และปัจจัยที่ 6 คือเหตุการณ์เช่นความวุ่นวายทางการเมืองในแต่ละยุคสามารถเกิดขึ้นได้โดยมีลักษณะเฉพาะตนอันทำให้พยากรณ์ได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และอย่างไร จะป้องกันอย่างไร ดังเช่นการประท้วงของเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ซึ่งไม่อาจมีคนทำนายได้ว่าจะนำไปสู่การสังหารหมู่แบบ 6 ตุลาคม เช่นเดียวกับรูปแบบการฆ่าและโฉมหน้าของผู้ฆ่าก็แตกต่างกัน กระนั้นเป็นที่น่าสนใจว่าสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการแบบซ่อนเร้น ซึ่งรัฐและประชาชนส่วนใหญ่มักมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการยอมรับความคิดของผู้เห็นต่าง สามารถก่อให้เกิดการสังหารหมู่เช่นนี้ได้ง่ายกว่าสังคมที่เป็นประชาธิปไตยดังเช่นเหตุการณ์การสังหารหมู่ประชาชนกลางกรุงเทพฯ ดังที่ว่านี้และในอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื