Skip to main content
 
"Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers."
 
Blanche Dubois 
 
ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพิงความเมตตาจากคนแปลกหน้าเสมอ
 
บลังช์ ดูบัวส์
 
 
(ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาทั้งหมด)
 
ก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 1951 รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา หรือ A Streetcar Named Desire เคยเป็นละครบรอดเวย์มาหลายปีดีดัก ละครเรื่องนี้เปิดการแสดงครั้งแรกในปี 1947 ที่โรงละครอีเทล แบร์รีมอร์ มหานครนิวยอร์ก เป็นผลงานของนักเขียนบทละครชื่อดังนามว่าเทนเนสซี วิลเลียมส์ซึ่งก็ได้รับรางวัลพูลิเซอร์จากละครเรื่องนี้   ส่วนในเมืองไทยนั้น ตอนผมยังเด็กจำได้ว่าละครหรือภาพยนตร์เรื่องนี้เคยถูกนำมาสร้างเป็นแบบไทยๆ ด้วยแต่เนื้อหาจะถูกเปลี่ยนอย่างไรก็จำไม่ได้แต่แน่ใจว่าโทรทัศน์สมัยนั้นยังขาวดำอยู่เลย สำหรับผู้ที่นำละครเวทีเรื่องนี้มาโลดแล่นสู่โลกเซลลูลอยด์นั้นคืออีเลีย คาร์ซานที่เคยสร้างชื่อมาแล้วกับหนังระดับรางวัลออสการ์คือ Gentleman's Agreement (1947) รวมไปถึงหนังหลังจากนั้นคือ On the Waterfront (1954) จะว่าด้วยโชคชะตาหรือเนื้อหาในหนังของเขาก็เลยแต่ ไม่นานนักเขาก็โดนมรสุมชีวิตคือถูกคณะกรรมการสืบสวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน (HUAC) ในยุคล่าคอมมิวนิสต์เล่นงานจนแทบเอาตัวไม่รอด 
 
 
 
                          
 
                       ภาพจาก  www.filmsite.org
 
รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา (ขอเขียนเป็นชื่อสั้้นๆ ว่า "รถรางฯ") เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวนามว่าบลังช์ ดูบัวส์  สาวผู้ดีตกยากที่เคยมีนิวาสสถานที่เมืองลอเรล รัฐมิสซิปซิปี  เธอเดินทางมาเยี่ยมและพักอาศัยอยู่กับน้องสาวคือสเตลลา โควัลสกีที่มาตั้งครอบครัวใหม่ในเมือง นิวออร์ลีนส์ ณ ที่นั่นเธอก็ได้ตกใจ ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้น้องเขยจากชนชั้นล่างที่สุดแสนจะเถื่อนและกักขฬะอย่างเช่นชายหนุ่มเชื้อสายโปแลนด์นามว่าสแตนลีย์ โควัลสกี โชคร้ายสำหรับสเเตลลาที่ทั้งคู่ไม่ชอบขี้หน้ากัน และเป็นสแตนลีย์นั่นเองที่ไปสืบค้นหาความลับของบลองช์ที่พยายามซ่อนไว้ภายใต้ลักษณะท่าทางผู้ดีเก่า เป็นสาวบริสุทธิ์ใสซื่อ อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมของบลองช์ในที่สุด 
 
คนที่มารับบทเป็นบลองช์นั้นแต่เดิมในบรอดเวย์คือเจสซิกา แทนดี  แต่เมื่อกลายเป็นหนัง ผู้มารับบทกลับเป็นวิเวียน ลีห์  ผู้ที่ทำให้เราทั้งรักปนหมั่นไส้กับสการ์เลตต์ โอ ฮาราในหนังมหากาพย์ "วิมานลอย"หรือ Gone With The Wind ในฉากสุดท้าย ความมุ่งมั่นของเธอที่จะผลิกฟื้นแผ่นดินบ้านเกิดและนำคนรัก (แสดงโดยคลาก เกเบิล) กลับมาสู่อ้อมกอดของเธออีกครั้ง ทำให้คนดูรู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่น่าซบตักที่สุดในโลกเลยทีเดียว แต่ถ้าเห็นเธอในหนังเรื่องรถราง ฯ แล้วจะตกใจ เพราะในวิมานลอย เธออายุ 27แต่ถูกจับแต่งตัวให้อายุเพียง16  แต่ในรถรางฯ นี้เราต้องบวกอายุเข้าไปอีก 10 ปี แม้จะมีเค้าความสวยหลงเหลืออยู่บ้างแต่เครื่องสำอางซึ่งแต่หน้าทำให้ลีห์ดูแก่และโทรมกว่าอายุจริงไม่น้อยพร้อมกับท่าทางอะไรบางอย่างที่ทำให้คนดูรู้ว่าเธอไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป ส่วนสแตนลีย์ มีคนมารับบทบาทนี้มากหน้าหลายตา แต่ที่โดดเด่นที่สุดทั้งในละครเวทีและภาพยนตร์คือ มาร์ลอน แบรนด์โด ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักนัก ผู้ชมยุคใหม่จะคุ้นเคยและรู้จักกับแบรนโดตอนแก่โดยเฉพาะบทบาทดอน คารีโอเนใน The Godfather แต่ในรถรางฯ ดูตั้งใจจะให้เป็นหนุ่มโฉดหรือ Bad Guy ที่มีเสน่ห์ทางเพศต่อผู้หญิง ความเถื่อนถ่อยของเขาจะเป็นตัวผลักดันเรื่องให้มีพลังเช่นเดียวกับโศกนาฎกรรมของบลองช์ ส่วนผู้แสดงเด่นรองลงมาอีก 2 คนคือคิม ฮันเตอร์  ผู้แสดงเป็นสแตลลาซึ่งสามารถแสดงความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่ต้องพบกับความขัดแย้งระหว่างความเป็นน้องสาวและภรรยาได้มีพลังเช่นเดียวกับคาร์ล มาเดน ที่รับบทมิทช์เพื่อนของสแตนลีย์ผู้แสนซื่อที่แตกหลุมรักและพยายามจีบบลองช์ได้อย่างดี
 
รถราง ฯ ได้รางวัลออสการ์แค่ 4 สาขาจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 12 สาขา 3 รางวัลแรกเป็นดารานำ 3  คน สำหรับแบรนโดน่าจะได้เหมือนกันเพียงแต่ว่าในปีนั้นดาราชายอีกคนที่มีบารมีเหนือเขาอย่างเทียบไม่ติดคือฮัมฟรี โบการ์ด สามารถแสดงบทนักเดินเรือในหนังเรื่อง African Queen ได้อย่างสุดยอดคู่กับคาธอรีน แฮปเบิร์น  ซึ่งเข้าถูกเสนอชื่อเข้าชิงเหมือนกันแต่แพ้วิเวียน ลีห์ไปอย่างน่าเสียดาย รถราง ฯถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ100 ปีของสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน
 
เป็นที่น่าสนใจว่ากฏหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของอเมริกาในทศวรรษที่ 50 อิงอยู่บนแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเข้มงวดอย่างยิ่งโดยเฉพาะฉากโป๊เปลือย จึงไม่มีวันให้ผู้แสดงหญิงโชว์เนื้อหนังภายใต้ร่มผ้าจนเกินไป (ยกเว้นตอนใส่ชุดว่ายน้ำ) ผู้แสดงทั้งชายและหญิงต้องจูบแบบแค่เอาปากมาแตะกัน ห้ามท่า French Kiss หรือเอาลิ้นมาพัวพันกันเป็นอันขาด จากนั้นก็เป็นท่าบังคับคือพระเอกกับนางเอกต้องเอาแก้มแนบกัน หากยังจูบกันอยู่และภาพตัดไปก็ให้คนดูคิดเอาเองว่าทั้งคู่ได้กันไปแล้ว น่าสนใจว่าแนวโน้มเช่นนี้ได้รับการเสริมแรงจากองค์กรทางศาสนาโดยเฉพาะของนิกายคาทอลิก และละครไทยก็ดูราวกับลอกกลยุทธ์เช่นนี้มาใช้ไม่ผิดเพี้ยนเพราะหน่วยงานที่ดูและเนื้อหาละครและภาพยนตร์ของไทยก็เป็นอวตารของหน่วยงานในสหรัฐฯ เมื่อเกินครึ่งศตวรรษก่อนมาเป็นแน่  
 
รถราง ฯ นี้จึงได้รับการจงใจสร้างให้เป็นหนังคลุมเครือเพื่อแสดงเรื่องทางเพศไม่ชัดเจนหนักเป็นเชิงท้าทายกรรไกรของแผนกเซนเซอร์ อย่างเช่นหนังทั่วไปอาจจะแค่เน้นทรวดทรงของฝ่ายหญิงภายใต้ร่มผ้าแต่รถรางฯ กลับเน้นมุมมองจากฝ่ายหญิงคือให้บลองช์รู้สึกหวั่นไหวไปกับรูปร่างบึกบึนของสแตนลีย์ในช่วงแรกที่ทั้งคู่พบกัน เข้าใจว่ากฏหมายเซ็นเซอร์คงไม่ได้ใส่ใจกับเรือนร่างของผู้ชายนัก ตามแบบของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เช่นเดียวกับสเเตลลาถึงแม้จะเกลียดชังสามีในเรื่องความก้าวร้าวของเขาและการปฏิบัติไม่ดีต่อพี่สาวของเธอแต่ดูเหมือนจะถูกพันธนาการโดยเสน่ห์ทางเพศของสามี ส่วนที่ทำให้คนดูในอเมริกายุคนั้นน่าจะตกใจคือพฤติกรรมในอดีตของบลองช์ที่ค่อย ๆ โผล่ออกมา เช่นการสารภาพของเธอต่อมิทช์ ในงานเต้นรำ เธอบอกเขาว่าเธอเคยแต่งงานกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งแต่แล้วก็ต่อว่าเขาหลังจากล้มเหลวเรื่องบนเตียงทำให้สามีไปฆ่าตัวตาย หนังไม่ได้บอกชัดเจนว่าทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย แต่ในละครบอกชัดเจนว่า เพราะความกดดันที่ตัวเองเป็นพวกแอบจิต หากเป็นปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมเมื่อ 60 ปีที่แล้วของอเมริกาน่าจะมองพวกรักร่วมเพศเป็นพวกาลีบ้านกาลีเมืองอะไรทำนองนั้น
 
แต่ที่ทำให้คนดูตกใจยิ่งกว่าคือการไปเสาะแสวงหาข้อมูลของสแตนลีย์ว่าที่จริงแล้วที่บลองช์ถูกไล่ออกจากอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเพราะไปมีความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหนุ่มและเธอก็ผันอาชีพไปเป็นโสเภณีโดยมีนิวาสสถานอยู่ในโรงแรมชั้นสอง ส่วนบ้านถูกธนาคารยึด แต่ในหนังตอนที่เธอยอมรับอดีตของตัวเองกับมิทช์ก็ไม่ได้บอกแบบตรงๆ เพียงแต่เป็นเชิงเปรียบเปรยอย่างเช่น
 
Blanche DuBois: Tarantula was the name of it. I stayed at a hotel called the Tarantula Arms. 
 
บลังช์ :ทารันทูลาเป็นชื่อของมัน ฉันอาศัยอยู่ที่โรงแรมชื่อว่า ทารันทูราอาร์มส์
 
Mitch: Tarantula Arms? 
 
มิทช์ : ทารันทูราอาร์มส์ ?
 
Blanche DuBois: Yes, a big spider. That's where I brought my victims. Yes, I've had many meetings with strangers. 
 
บลังช์: ใช่ แมงมุมยักษ์ มันเป็นที่ฉันพาเหยื่อมา ใช่แล้วฉันได้พบกับคนแปลกหน้าหลายต่อหลายครั้ง
 
 
ประโยคสุดท้ายนี้คือตัวอย่างของความยอดเยี่ยมของคาซานผู้กำกับในการนำเอาสัญลักษณ์มาใช้ในหนังมากกว่าจะพูดถึงแบบตรงๆ อันนอกจากจะทำให้หนังสวยงามแล้วยังหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อีกมากมายที่หนังนำเสนอเพื่อสื่อแบบตรงไปตรงมาหรือขัดแย้งกันเองเช่นชื่อของบลองช์ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสีขาว ดูจะขัดแย้งกับปมอดีตที่ดำข้นของเธอ และเธอมักจะชอบอยู่ในความมืด อันส่อให้เห็นว่าเธอชอบซ่อนเร้นตัวจากภาพลักษณ์อันเลวร้ายที่เมือง อีกด้วย เช่นเดียวกับชื่อเรื่องที่ว่า A Streetcar Named Desire ซึ่งปกติแล้วเป็นชื่อของรถรางในเมืองนิวออร์ลีนที่บลองช์ในโดยสารไปบ้านน้องสาว แต่ความปรารถนาในที่นี้น่าจะหมายถึงของความรู้สึกของบลองช์เอง จะว่าการที่เธอเป็นโสเภณีก็หาใช่เพราะความยากแค้นเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากความปรารถนาของตัวเองที่เกิดจากความเหงาลึกๆ แต่ทางวงการจิตวิทยากลับเรียกว่า Nymphomania (ไม่ใช่ Hysteria อย่างที่คุ้นเคย เพราะโรคนั้นหมายถึงการชักกระตุก หรือตัวสั่นเหมือนกับผีเข้าสิง) พร้อม ๆ กับอาการโรคประสาทที่ลีห์สามารถแสดงได้อย่างดีเยี่ยมนับตั้งแต่ในระดับที่คนทั่วไปสังเกตไม่ชัดเจน แม้แต่สเเตลลาผู้เป็นน้องสาว ซึ่งอาการโรคประสาทนี้จะเป็นเหมือนกับเกราะที่สร้างโลกส่วนตัวให้กับบลองช์หลงละเมอว่าเธอยังเป็นสาวผู้ดีและมีหนุ่มไฮโซมาพัวพันเธออยู่เหมือนเดิม 
 
 
                                 
 
                                          ภาพจาก www.asset1.net
 
 
ต่อมาสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อเธอพบว่าทั้งสแตนลีย์และมิทช์ต่างรู้อดีตของตน โดยเฉพาะมิทช์ถึงกลับปฏิเสธไม่ยอมขอเธอแต่งงานดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก และเป็นฟางเส้นสุดท้ายในคืนวันที่สเเตลลาไปคลอดลูก เธอถูกสแตนลีย์ข่มขืน หากเป็นสมัยนี้คงจะมีฉากที่เร้าใจน่าดู (แต่ก็มีม่านหมอกแห่งคุณธรรมบังก้นพระเอกหรือนมนางเอกไว้)แต่ในสมัยนั้น หนังได้ฉลาดในการตัดภาพจากสแตนลีย์กำลังฉุดไม้ฉุดมือเธอไปยังรูปของเธอในกระจกข้างผนังและกระจกที่แตกร้าวอย่างรวดเร็วเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า โลกมายาที่เธอเฝ้าทะนุทะนอมได้แตกสลายลงจากน้ำมือของผู้ชายที่เธอเห็นว่าชั้นต่ำ บลองช์จึงเข้าไปสู่โลกแห่งความบ้าอย่างสมบูรณ์เหมือนกับนอร์มา เดสมอนด์ นางเอกในหนังเรื่อง Sunset Boulevard เรื่องจึงจบลงที่สแตนลีย์ให้เจ้าหน้าที่ 2 คนจากโรงพยาบาลบ้ามารับบลองช์ไปรักษา ซึ่งเธอก็ยินยอมโดยดีพร้อมกับพูดประโยคที่แสนจะโด่งดังและบทความได้ยกมาข้างบนสุด นั่นคือเธอจะพึ่งได้กับคนแปลกหน้าเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้าก็ เธอก็ใช้ผู้ชายแปลกหน้าในการบรรเทาความเหงาและตอนจบ คนแปลกหน้าก็มาช่วยพาเธออกไปจากกลุ่มคนที่เธอรู้จักแต่ทำให้ร้าวรานใจ ราวกับจะเป็นการพลิกสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่เห็นว่าคนรู้จักดีกว่าคนแปลกหน้า 
 
และทุกคนราวกับจะรู้ว่าสแตลีย์ได้ทำอะไรลงไปกับบลองช์ (แม้ในหนัง บลองช์จะไม่ได้บอกก็ตาม)สแตลลาถึงกลับอุ้มลูกหนีขึ้นไปอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการลงโทษสแตนลีย์ โดยไม่สนใจคำอ้อนวอนของเขาอีกต่อไป จุดนี้จะต้องตรงกันข้ามกับในละครที่สุดท้ายเธอก็กลับมาหาเขาเหมือนเดิมเพราะไม่สามารถขัดขืนความรัก (หรือว่าเซ็กส์ ?) ที่มีต่อสามีไม่ไหว ดังนั้นคำว่า ความปรารถนาจึงรวมไปถึงความต้องการกันและกันของสแตลลาและแสตนลีย์อีกด้วย สามีและภรรยาคู่นี้มักจะมีความสัมพันธ์กันแบบที่เราเห็นกับหลายคู่ คือทั้งสามีจะรุนแรงกับภรรยาสลับกันไปจนโกรธกัน แต่ต่อมาทั้งคู่ก็จะคืนดีกันแบบเหมือนไม่มีอะไรอันเป็นคำตอบว่าทำไมผู้หญิงถึงชอบผู้ชายเลว ๆ อาจเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความสุขในฐานะถูกกระทำหรือ Masochism มากกว่าผู้ชายก็เป็นได้ แต่เพราะกองเซนเซอร์ของอเมริกาซึ่งเคร่งครัดศีลธรรมต้องการให้หนังลงโทษผู้กระทำผิด หนังจึงดูอ่อนลงในเรื่องการสื่อความปรารถนาสุดท้ายที่ละครมี จนรถรางสายปรารถนาจะกลายเป็นรถรางสายคุณธรรมไป
 
ลืมบอกไปว่ารางวัลออสการ์ตัวที่ 4 ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับคือสาขาการสร้างฉากซึ่งหนังทั้งเรื่องใช้ฉากในสตูดิโอทั้งหมด สิ่งที่พิสูจน์รางวัลนี้ได้อย่างดีคือตอนที่บลองช์เดินทางมาถึงเมืองนิวออร์ลินใหม่ ๆ หนังซึ่งเป็นขาวดำใช้แสงเงาทำให้คนดูรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ชั่วร้ายแต่ยั่วยวนใจกำลังแฝงเร้นอยู่ในเมืองๆ นี้ สิ่งนี้มีพลังยิ่งขึ้นจากดนตรีของอาเล็กซ์ นอร์ท  (ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเหมือนกัน) แต่จะว่าจริงๆ แล้วถ้าเทียบหนังเรื่องนี้ก็หนังที่ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)ในปีเดียวกันคือ หนังเพลง An American in Paris ของ จีน เคลลี ก็ถือว่ากรรมการมีอคติไม่น้อย เพราะจากการได้ดูหนังทั้งสองเรื่องผมรู้สึกว่า รถราง ฯ ยอดเยี่ยมกว่ามาก เพียงแต่ท้ายทายต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมในยุคนั้น คงเหมือนกับใครหลายคนที่ร้องยี้เพราะ Crashแย่งรางวัลสาขานี้ไปจาก Brokeback Mountain ในปี 2005 กระนั้นเราต้องขอบคุณตัวเองที่เกิดมาในยุคดีวีดี ราคาแค่ไม่กี่ร้อย (แต่ต้นทุนไม่เกินสิบบาท) หรือสามารถไปหาจากดูจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ใช่ยุคทศวรรษที่ 50  เพราะนอกจากจะมีการบูรณะฟิล์มเสียใหม่ แล้วผู้ทำดีวีดีได้นำหลายฉากที่เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ผู้แสนดีในยุคโน้นได้ตัดออกไปกลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้ง
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที