Skip to main content
ทศวรรษที่ 80 ของฝรั่งคือปี 1980-1989  หรือว่าช่วง พ.ศ. 2523  ถึง พ.ศ. 2532 เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผมดังที่เรียกว่า coming -of- age  คือจากเด็กที่ไม่รู้ความอะไรมาเป็นวัยรุ่น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบพบในช่วงเหล่านั้น 
 
1.รู้จักนายกรัฐมนตรีของไทยคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี แต่ฝ่ายหลังจะฉลาดและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่ามาก ที่สำคัญคือมาจากครรลองของประชาธิปไตย
 
 
2.หวาดกลัวจนหัวหดต่อภัยจากระเบิดนิวเคลียร์ ยิ่งเมื่อได้ดูหนังเรื่อง The Day After ซึ่งมีการดำเนินเรื่องและเทคนิคที่น่าตื่นตาตื่นใจมากในยุคนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเคยโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่ผู้นำของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในยุคนั้น 
 
 
3.เพิ่งได้ข่าวว่ามีโรคประหลาดที่ระบาดเฉพาะในกลุ่มพวกเกย์ในเมืองซานฟรานซิสโกที่ทำให้คนเหล่านั้นภูมิคุ้มกันบกพร่อง ป่วยหนักและจะตายในที่สุด (ผมอ่านเจอจากต่วยตูนและยังไม่มีคำว่า"เอดส์"ในสมองเลย เพราะผู้เขียนใช้ชื่อเต็ม)  คิดว่าโรคนี้ไม่นานก็คงจะหายารักษาได้  และคนไทยตื่นตัวกับโรคเอดส์จากความตายของเซเลบของฮอลลีวู้ดคือร็อค ฮัดสัน ที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวีเป็นคนแรกในปี 1985  กระนั้นด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเฉพาะพวกรักร่วมเพศ พวกรักต่างเพศก็ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
 
 
4.ชอบดูหนังบู๊ที่สรพงษ์ ชาตรี  สมบัติ เมทะนี  กรุง  ศรีวิไล เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ แสดงทุกสายวันเสาร์ทางช่อง 7 สี พร้อมเสียงพากย์ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว  แต่แอบติดใจคุณพิภพ ภู่ภิญโญ  ดาวร้ายหัวล้านที่ชอบตบหัวตัวเองพร้อมกับหัวเราะเหมือนคนบ้า ไม่นึกว่านอกจอแกจะเป็นคนเรียบร้อยนิสัยดี (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว)
 
 
5.คิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องได้ออกไปรบกับพวกคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ยิ่งได้เรียนวิชารักษาดินแดนที่ต้องท่องจำลัทธิมาร์กซ์ด้วยแล้ว ดังจากตำราเรียนหนาปึก
 
 
6.เข้าใจว่านักร้องหน้าใหม่ที่ชื่อธงไชย แม็คอินไตยน่าจะดังไม่เกิน 2 อัลบั้ม กระนั้นก็สามารถสัมผัสกลิ่น LGBT ของแกได้ตั้งแต่เปิดตัว
 
 
7. ไปกับพี่ชายเพื่อดูภาพยนตร์เรื่อง Commando ที่อาร์โนลด์ ชวาซเน็กเกอร์แสดงที่โรงภาพยนตร์ด้วยตั๋วหนังที่ราคาแพงที่สุดคือ 25 บาท พร้อมกับเพลงดิสโกฝรั่งซึ่งดังในทศวรรษที่ 70 -80 เปิดรอเวลาฉาย
 
 
8.อยู่ในโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต  ไม่มีโทรศัพท์มือถือ  ไม่มีเอทีเอ็ม (จนมาช่วงปลายของทศวรรษ) ขนาดโทรทัศน์ยังเป็นจอขาวดำในช่วงต้นทศวรรษ  จำได้ว่าเห็นโทรทัศน์จอสีครั้งแรกแล้วตกตะลึง
 
 
9.มีข่าวว่าดาวเทียมของสหรัฐฯ คือสกายแล็ปจะตกและสามารถตกลงจุดไหนของโลกก็ได้ ชาวโลกต่างก็กลัวว่าเศษของดาวเทียมมหาภัยจะตกลงมาบนหลังคาบ้านตัวเอง สุดท้ายดันไปตกในทะเล
 
 
10.มีคุณแอ็ด คาราบาวเป็นไอดอล เป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์สุดยอด  เป็นพวกหัวเอียงซ้ายด่านักการเมืองและนายทุนทุกคน (กระนั้นมาเฉลียวใจก็เมื่อคุณแอ็ดแต่งเพลงเชียร์โครงการอีสานเขียวของบิ๊กจิ๋ว) 
 
 
11.ได้เห็นพลเอกเปรมถูกคนบ้าต่อยหน้าจะๆ ขณะไปเปิดงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขาวดำ (ราคาของหนังสือพิมพ์สมัยนั้นถ้าจำไม่ผิด ไม่เกิน 3 บาท)
 
 
12.หลงรักบทเรียนภาษาไทยคือปิติ มานะ วีระ ชูใจอย่างมาก เป็นสังคมชนบทในจินตนาการที่เปี่ยมด้วยความสงบสุขตามที่รัฐไทยจารีตนิยมฝันไว้ แม้ตอนท้ายๆ จะดรามาจนน้ำตาไหล 
 
 
13.ตอนจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 เพลงที่ดังและกินใจที่สุดคือเพลง "โชคดีนะเพื่อน" ของวงไมโครจากอัมบั้ม "หมื่นฟาเรนไฮต์" ซึ่งวงนี้เคยดังมาก่อนกับเพลง "รักปอนๆ " หรือ "อย่าดีกว่า" ในอัมบั้มแรก
 
 
14.สังคมไทยเริ่มรู้จักรูปแบบทางเพศใหม่ๆ ของวัยรุ่น  หนังสือคู่สร้างคู่สมถึงกลับตั้งหัวข้อว่า "เกย์กอมทอมดี้ ดีหรือเลว" เช่นเดียวกับคำว่า "ตุ๊ด" ซึ่งไลฟ์สไตล์ของพวกเขากลายเป็น subculture หรือวัฒนธรรมกระแสรองที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรู้สึกเป็นห่วงเป็นใหญ่
 
15.เยาวชนไทยติดการ์ตูนรวมซีรีย์เกี่ยวกับฟุตบอลของอังกฤษที่ชื่อ "กีฬากับการ์ตูน" เช่นฮามิชตีนระเบิดอย่างงอมแงม
 
16.พี่แจ้  ดนุพล แก้วกาญจน์คือสุดยอดแห่งนักร้องเมืองไทย พร้อมเสียงที่นุ่มนวลชวนฝันไม่เหมือนใคร  และงานคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดคือ "โลกดนตรี"ที่จัดโดยคุณเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เช่นเดียวกับค่ายนิธิทัศน์ซึ่งดังเปรี้ยงปร้างในทศวรรษที่ 80  จนเจ้าของออกมาอวดว่าเคยไปซื้อเสื้อสูทหมดไปหลายล้านที่่ต่างประเทศ
 
17.ทอม ครุยส์ เป็นรูปลักษณ์ของหนุ่มอเมริกันสุดเท่ห์ อย่างในเรื่อง Top Gun (พร้อมกับเพลงประกอบของวง Berlin คือ Take My Breath Away)  ตอนนั้นวัยรุ่นชายนิยมเสื้อหนาวทหารสีเขียวหนาๆ ใส่แว่นตาดำ  ขี่มอเตอร์ไซด์แบบผู้ชาย เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้คงจะทำให้เด็กหนุ่มคลั่งอยากเป็นนักบินกันมาก 
 
 
18.ได้เห็นภาพข่าวงานศพของคอนสแตนติน เชเนโก ผู้นำของสหภาพโซเวียตแล้วรู้สึกว่าเท่ห์มาก มีโลงศพ แล้วมีคนสีไวโอลินเป็นเพลงเศร้าๆ อยู่ใกล้ๆ เมื่อได้เห็นใบหน้าผู้สืบต่อคือมิกเคล  กอร์บาชอฟแล้วรู้สึกว่าโลกมีความปลอดภัยขึ้นจมเพราะดูเป็นคนดีศรีสังคม
 
 
19.เพลงดิสโกในทศวรรษที่ 70 กับ  80 ดังมากในสังคมไทย  เพลง Lady Bump ทำให้เกิดแฟชั่นท่าเต้นแล้วเอาตะโพกของคนสองคนมาชนกันที่เรียกว่า "บัมพ์"  มีคนเอาไปแปลงเป็นเพลงไทย มีเนื้อท่อนหนึ่งที่ผมจำได้ว่า "อาตมาก็บัมพ์เป็น สามเถรก็บัมพ์ได้"  ส่วนเพลงอื่นๆ ของบอนนีเอ็มเช่นเพลง Genghis Khan  กับ Rasputin จนมีคนเอาทำนองไปดัดแปลงเป็นเพลงไทยเหมือนกัน
 
 
20.ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีแค่โควต้าสำหรับจังหวัดในภาคต่างๆ  ถ้าสอบไม่ได้ก็ไปสอบเอนทรานซ์ทั่วประเทศ จบ ไม่มีโอเน็ต เอเน็ตที่น่าเวียนหัวเหมือนปัจจุบัน
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื