Skip to main content

เห็นกระแสแปนิคเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นึกได้ว่าชาวโลกมีการคาดหมายหรือหวาดกลัวมานานแล้วว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มได้ตั้งแต่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ นั่นคือการกลายเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันแบบหลวมๆ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ การสิ้นสุดของสงครามได้ทำให้ฝ่ายตะวันตกหวาดหวั่นถึงการขยายวงอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงบางประเทศในซีกตะวันตกเช่นกรีซและอิตาลีผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนโซเวียตก็ไม่ไว้ใจสหรัฐฯ จากการทิ้งปรมาณูที่ญี่ปุ่นถึง 2 ลูก (ถึงแม้แฮร์รี ทรูแมนประธานาธิบดีสหรัฐฯเคยแจ้งให้ผู้นำสูงสุดทราบล่วงหน้าแล้ว แต่สตาลินก็ถือว่าสหรัฐฯ ใช้อาวุธร้ายแรงดังกล่าวในการข่มขู่โซเวียตให้กลัว) โลกจึงก้าวเท้าสู่สงครามเย็น และเข้าสู่จุดสูงสุดของการเป็นปรปักษ์กันเมื่อปี 1948 เกิดวิกฤตการณ์กรุงเบอร์ลิน (Berlin crisis) ที่กองทัพแดงทำการปิดล้อมไม่ให้สหรัฐฯ และตะวันตก ส่งเสบียงไปยังกรุงเบอร์ลินตะวันตกซึ่งตั้งอยู่ภายในเยอรมันตะวันออกอันเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียต แต่สหรัฐฯ และอังกฤษก็ยังส่งเครื่องบินไปยังเบอร์ลินตะวันตกหลายแสนเที่ยว แน่นอนว่าถ้าทางโซเวียตยิงเครื่องบินอเมริกันหรือพันธมิตรตกสักลำก็สามารถนำไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่ แต่ด้วยความกลัวของสตาลินจึงสั่งให้กองทัพแดงล่าถอยไปในปี 1949 กระนั้นในปีเดียวกันโซเวียตก็สามารถทดลองอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จหลังจากนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกหลายคนแปรพักตร์แอบส่งสูตรการสร้างอาวุธร้ายแรงดังกล่าวมาให้เป็นเวลานาน โลกจึงเข้าสู่ยุคการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีการพัฒนาให้ซับซ้อนและสร้างความหายนะให้อีกฝ่ายได้มากขึ้น อันนำไปสู่การประท้วงของประชาชนในค่ายโลกที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เสมอมาเพื่อให้ยุติการทดลองหรือแม้กระทั่งการครอบครองอาวุธร้ายแรงดังกล่าว การก่อตั้งองค์การนาโตที่ผลักดันโดยสหรัฐฯ ให้ยุโรปตะวันตกกลายเป็นกันชนกับโซเวียตในปี 1949 และการที่โซเวียตวิ่งเต้นให้การมีจัดตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอว์ในปี 1955 ที่รวมกลุ่มของยุโรปตะวันออก บนแนวคิดการปกป้องซึ่งกันและกัน น่าจะทำให้สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นสูงเพราะสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาเกิดจากการจัดรวมกลุ่มพันธมิตรของทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน กระนั้นการมีอาวุธนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ประเทศ (ต่อมาขยายเป็นหลายประเทศเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน) อาจทำให้ไม่จำเป็นต้องขยายวงกว้างไปทั่วโลก เพราะแค่2 มหาอำนาจยิงหัวรบนิวเคลียร์เข้าหากันก็กลายเป็นสงครามโลกได้ และสงครามเย็นมีลักษณะพิเศษคือนอกจาการจัดตั้งองค์กรดังกล่าว สหรัฐฯกับโซเวียตยังแข่งกันแย่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกันและสนับสนุนตัวเองในประเทศโลกที่ 3 ดังที่เรียกว่า proxy war ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในแอฟริกา อเมริกากลาง เอเชีย สงครามเย็นจึงเป็นสงครามโลกแบบพิเศษคือเป็น limited world war ที่รัฐเจ้าพ่ออย่างสหรัฐฯ และโซเวียตไม่เคยปะทะกันทางทหารจริงๆ นอกจากหนุนให้กลุ่มทางการเมืองภายในรัฐบริวารทำสงครามแย่งอำนาจกันเอง

นอกจากนี้สงครามเย็นมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสงครามร้อนคือสงครามโลกที่รบกันอย่างเต็มรูแบบ ได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิงใส่กัน แต่ด้วยผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายกลัวว่าจะทำให้ชาวโลกล้มตายกันและการพังทลายของโลกเอง ดังที่เรียกว่าเกมที่แพ้ทั้ง 2 ฝ่ายหรือ Zero sum game หรืออีกคำคือ MAD หรือ Mutually Assured Destruction ทั้ง 2 ฝ่ายจึงหลีกเลี่ยงในการขยายวง แต่เน้นนโยบายการโอบล้อม ป้องกันการแพร่อิทธิพลของกันและกันตามทฤษฏีของจอร์จ เอฟ เคนเนน นักการทูตผู้โด่งดัง ตัวอย่างที่สะท้อนว่าผู้นำพยายามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนสงครามเย็นเป็นสงครามโลกคือสงครามเกาหลี (ปี 1950 ถึง 1953) โซเวียตและจีนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือรบกับเกาหลีใต้ซึ่งสนับสนุนโดยสหรัฐฯ กับสหประชาชาติ และสหรัฐฯ ได้ปะทะโดนตรงกับกองทัพอาสาของจีนซึ่งถูกส่งเข้ามาในเกาหลีเหนือหลายแสนนาย ผบ.สส.ของกองทัพสหประชาชาติคือนายพลดักกลัส แม็คอาร์เธอร์เสนอให้รัฐบาลทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ที่จีน แต่แฮร์รี ทรูแมนปฏิเสธเพราะกลัวจะขยายวงเป็นสงครามโลกและปลดแม็คอาร์เธอร์ออกจากตำแหน่ง หรืออีกครั้งหนึ่งที่น่าจะทำให้โลกเข้าสู่สงครามอีกรอบคือวิกฤตการณ์คิวบาในปี 1962 ที่โซเวียตส่งเรือขนอาวุธนิวเคลียร์ไปยังเกาะคิวบาซึ่งอยู่ห่างจากรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ไม่กี่ร้อยไมล์ ทำให้เกิความตึงเครียดถึงสงครามนิวเคลียร์ แต่ด้วยการเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐบาลของจอห์น เอฟ เคนนาดี และนิกิตา ครุชชอฟ ทำให้วิกฤตการณ์คลี่คลายไป ในทศวรรษที่ 80 การบุกรุกอัฟกานิสถานของโซเวียตเมื่อหนึ่งปีก่อน รวมไปถึงการขึ้นมีอำนาจของสายเหยี่ยวของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนแห่งสหรัฐฯ ทำให้การผ่อนคลายการเป็นปรปักษ์หรือ detente ที่มีตั้งแต่ยุคของนิกสันและเบรซเนฟสิ้นสุดลง สงครามเย็นร้อนขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะในปี 1983 ตอนเรแกนประกาศยุทธศาสตร์ Strategic Defence Initiative ที่สหรัฐฯ จะสร้างเครือข่ายในการต่อต้านขีปนาวุธจากโซเวียตแม้แต่จากในอวกาศ จนมีชื่อเล่นว่า Star Wars อันประจวบกับเหตุการณ์ในปีเดียวกันที่องค์การนาโตทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ ภายใต้รหัส Able Archer 83 ทำให้โซเวียตเตรียมหัวรบนิวเคลียร์ไว้ให้มั่นเพราะระแวงว่าจะโดนตะวันตกบุก ช่วงนั้นเป็นตอนผมเรียนหนังสือพอดี ฮอลีวูดก็สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 3 อันยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ชาวโลกอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Days After ที่บรรยายถึงเหตุการณ์ที่โซเวียตโจมตีสหรัฐฯ ด้วยนิวเคลียร์ซึ่งมีความสมจริงมาก หรือตอนที่ทั่วโลกกำลังเห่อนอสตราดามุสนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสในยุคกลางที่เชื่อว่าสามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ โรงเรียนผมถึงกลับเกณฑ์นักเรียนไปดูหนังเรื่องนอสตราดามุสที่โรงหนังแสงตะวัน จำได้ว่ามีฉากจากคำทำนายว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดที่ตะวันออกกลาง ด้วยผู้นำซึ่งน่าจะเป็นกัดดาฟีแห่งลิเบียได้ร่วมกับผู้โซเวียตยิงหัวรบนิวเคลียร์มายังนิวยอร์คจนหมอดไหม้ ปัจจุบันนอสตราดามุสเป็นแค่โจ๊กตลกๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อเพราะแกเขียนเป็นบทกวีสั้นๆ คลุมเครือ แต่คนยุคใหม่มาตีความให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน

แต่แล้วสงครามเย็นก็สิ้นสุดลงไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ทั้งที่มีการแฉทีหลังว่ามีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจนำไปสู่สงครามได้เช่นเรดาร์ของโซเวียตทำงานผิดพลาด) รัสเซียซึ่งเป็นรัฐทายาทของโซเวียตรวมทั้งหัวรบนิวเคลียร์มีประธานาธิบดีคือบอริส เยลต์ซินซึ่งนิยมตะวันตก ทำให้ชาวโลกโล่งอกโล่งใจคิดว่าสิ้นสุดภัยจากนิวเคลียร์แล้ว กระนั้นก็มีความหวาดระแวงอยู่ไม่น้อยว่าด้วยความวุ่นวายของเศรษฐกิจและสังคมรัสเซียในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจทำให้ผู้ก่อการร้ายขโมยหรือซื้อหรือจ้างนักวิทยาศาสตร์รัสเซียให้ผลิตนิวเคลียร์มาก่อการร้ายก็ได้อันส่งผลให้โลกพังพินาศไม่แพ้สงคราม ดังที่นวนิยายและหนังฮอลลีวู้ดทำ แต่ทั่วโลกอาจมองข้ามเหตุผลที่นาโตและรัสเซียเกือบปะทะกันในปี1999 กรณีของความขัดแย้งในโคโซโวที่กองทัพทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามายึดครองกรุงพริสตินในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (สรุปเหตุการณ์สั้น ๆ คือเซอร์เบียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียทำการสังหารหมู่ชาวมุสลิมในโคโซโวซึ่งต้องการแยกต้วจากเซอร์เบียและนาโตเข้าไปควบคุมสถานการณ์) ซึ่งเชื่อกันว่าอาจนำไปสู่สงครามโลก กระนั้นก็อาจมีคนพอทำนายได้ว่าความไร้ประสิทธิภาพของบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีขี้เมาจอมเฮฮาในทศวรรษที่ 90 ก็ได้ก่อให้เกิดผู้นำเงียบขรึม ร้ายลึกแบบวลาดิมีร์ ปูตินขึ้นมาในต้นสหัสวรรษ จากนั้นรัสเซียก็มีนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้น ด้วยชนชั้นนำของรัสเซียเห็นว่านาโตขยายอิทธิพลมายังยุโรปตะวันออก อันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ยูเครนในปี 2013 การกลายเป็นศัตรูกันอีกรอบระหว่างนาโตกับรัสเซียน่าจะมีโอกาสทำให้เกิดสงครามโลกมากกว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านเสียด้วยซ้ำ แต่เอาเข้าจริงก็อาจเป็นแบบจำกัดนั่นคืออยู่เฉพาะแค่ในยุโรป ด้วยทวีปอื่นคงไม่ยอมเข้าไปเกี่ยวข้องแม้แต่จีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียใน Shanghai Coopration Organization เพราะจีนเน้นนโยบายแพร่อิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกมากกว่า และทวีปอื่นก็คงไม่เข้าร่วมด้วย กรณีที่เมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจำกัดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือ INF ซึ่งลงนามในสมัยกอร์บาชอฟและเรแกนอันอาจทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนานิวเคลียร์ (อย่างเป็นทางการ) อีกรอบยังน่ากลัวกว่ากรณีอิหร่านเสียด้วยซ้ำ แต่ไม่ดังเท่าอิหร่านเพราะตะวันออกกลางมีหลายประเทศที่จ้องจะเล่นงานกัน อันมีสีสันอย่างมากสำหรับการเสนอข่าวและการเร้าอารมณ์ของนักวิเคราะห์ที่นิยมตะวันออกและเกลียดสหรัฐฯ แต่ถ้าจะเกิด ก็ยังเป็นสงครามแบบจำกัดภูมิภาคอยู่ดี ตราบใดที่สหรัฐฯ นาโต รัสเซียและจีนไม่เข้าร่วมเต็มตัว ซึ่งมีโอกาสน้อยเพราะต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองซึ่งอาจเสียหายจากสงครามมากกว่าพันธมิตรซึ่งไม่มีพันธะหรืออุดมการณ์ยึดโยงแข็งแรงเท่ากับช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสงครามเย็น ทุกอย่างถูกคิดคำนวนตามแบบสัจนิยมคือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองและที่สำคัญคือการเมืองภายในประเทศที่รัฐให้ความสำคัญต่อความคิดและความรู้สึกของประชาชนแม้ว่าประเทศนั้นจะเป็นเผด็จการก็ตาม กระนั้นทุกอย่างก็เป็นไปได้เสมอในโลกแห่ง disruption แห่งนี้ # สวัสดี

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ