Skip to main content

เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม เกาหลีเหนือได้จัดพิธีเดินสวนสนามของกองทัพเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งพรรคแรงงานหรือ Worker's Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ (ความจริงยังมีพรรคอื่นอีก 2 พรรคแต่เหมือนเป็นไม้ประดับเพื่อให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยตอนเลือกตั้งเฉยๆ ) ประธานของพรรคคือคิม จองอุนซึ่งแต่งชุดสูทสากลทำให้ชาวโลกตกตะลึงเมื่อเขาร่ำไห้ขณะกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับว่าตัวเองไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอันเกิดจากเรื่องเศรษฐกิจของประเทศได้ แม้ว่าจะได้รับความไว้วางใจให้สืบต่อมรดกของปู่และพ่อผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งการร้องไห้ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ปู่และพ่อของนายคิมเองไม่เคยทำมาก่อน ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ แถมยังเน้นการเชิดชูกองทัพอีกด้วย

 

ผมเห็นผู้วิเคราะห์ข่าว 2 คนที่นั่งใกล้กันวิเคราะห์สถานการณ์การร้องไห้ของคิมต่างกันนั้นคือท่านหนึ่งบอกว่าเพราะคิมเชื่อมั่นว่าอำนาจของตัวเองนั้นมีเสถียรภาพจึงกล้าร้องไห้ได้อันเป็นการแสดงเสน่ห์อีกแบบ อีกท่านหนึ่งบอกว่าเพราะระบอบของคิมเริ่มสั่นคลอน จึงหันมางัดเอาการร้องไห้เป็นไม้เด็ด ซึ่งก็เหมือนสำนักข่าวทั่วโลกที่เห็นต่างกัน 2 ขั้วเช่นนี้ ตามความจริง ก็ไม่ค่อยมีใครรู้ความจริงนัก เพราะในทางรัฐศาสตร์ การจะบอกว่าระบอบการปกครองของประเทศนี้มั่นคงหรือสั่นคลอนหรือกำลังล่มสลาย นั้นเราต้องหาข้อมูลให้ได้พอสมควรเกี่ยวกับรัฐนั้นและนำมาคำนวนตามสูตร กระนั้นเกาหลีเหนือนอกจากจะเป็นอาณาจักรฤาษี หรือ Hermit Kingdom (1) แล้วยังเป็นรัฐลึกลับ แต่คำว่าลึกลับในที่นี้ไม่มีความหมายว่าไม่รู้อะไรเลย แต่ข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะการบริหารงานภาครัฐของเกาหลีเหนือล้วนขาดความโปร่งใส ถูกบิดเบือนโดยรัฐตามแบบรัฐสตาลินคือเน้นการเชิดชูผู้นำ และการโฆษณาชวนเชื่อ

 

นอกจากนี้สื่อตะวันตกซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับเกาหลีแบบผิวเผินคือโดยมากไม่รู้จักภาษาเกาหลี ก็ต้องอาศัยแหล่งข่าวจากเกาหลีใต้ซึ่งจำนวนมากได้มาผ่านสายลับที่แฝงตัวในรัฐบาลอีกที เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเกาหลีเหนือจึงเกิดจากการคาดคะเนหรือ speculation ของสื่อเองเสียมาก อย่างเช่นเมื่อหลายเดือนก่อน นายคิมได้หายไปจากเวทีการเมืองเอาดื้อๆ คนก็คาดกันใหญ่ว่านายคิมมีปัญหาร้ายแรงหรือว่าบางทีอาจตายแล้วก็ได้ กระนั้นนายคิมก็กลับมาอีกรอบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ก็มีการคาดว่าน้องสาวของนายคิมคือคิม โยจองก็น่าจะเป็นทายาทผู้สืบต่ออำนาจเพราะบุตรชายของนายคิมซึ่งลึกลับมากๆ ยังเล็กอยู่ หากนายคิมเป็นอะไรไปจริงๆ ซึ่งก็ชวนให้สงสัยอีกเช่นกันว่าสังคมที่ยังมีกลิ่นอายของลัทธิขงจื้อซึ่งเหยียดเพศจะยอมให้นางคิมดำรงตำแหน่งสูงสุดนี้ไปตลอดหรือไม่ อำนาจของผู้นำเพศชายอายุมากซึ่งมีอำนาจและตำแหน่งรองลงมาจากนายคิมนั้นเป็นอย่างไร และความสัมพันธ์กับท่านผู้นำและพวกเดียวกันอย่างไร ตรงนี้ก็ต้องศึกษาให้ละเอียด แต่ข้อมูลที่ปรากฏมาสู่การรับรู้ชาวโลกก็ยังไม่พอนัก เราจึงไม่สามารถปักใจในการเมืองของเกาหลีเหนือได้ ทุกอย่างจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในเกาหลีเหนือเสมอ

 

อย่างไรก็ตามจากการสังเกตง่ายๆ ก็น่าจะพอบอกได้ว่าน้ำตาของนายคิมนั้นเหมือนน้ำตาจระเข้เพราะบรรดาทหารที่เดินสวนสนามนั้นมีหัวรบนิวเคลียร์อันทันสมัยพร้อมจะส่งตรงไปถึงสหรัฐ ฯ อยู่ด้วยสมกับนโยบายซอนกุนที่ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่กองทัพ ดังนั้นงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากของเกาหลีเหนือจึงมุ่งไปที่กองทัพ ตามสำนักข่าวต่างประเทศเกาหลีเหนือยังใช้เทคนิคหลายอย่างในการเลี่ยงการคว่ำบาตรของนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนเช่นการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ การส่งออกแรงงานไปทั่วโลกในการสร้างและพัฒนาอาวุธอาวุธนิวเคลียร์ อันจะเสริมสร้างกองทัพและตัวระบอบคิม เสียยิ่งกว่าปากท้องประชาชน (2) ดังนั้นการร้องไห้ของนายคิมจึงเป็นการเสแสร้ง หรืออาจจะเกิดจากมุมมองของตัวเขาจริงๆ ในฐานะชนชั้นนำ เลยว่าประชาชนควรจะได้ส่วนแบ่งสำหรับชีวิตแค่นี้ก็เป็นได้ และแน่นอนว่าภาพที่เราเห็นก็คือจากการถ่ายทอดของโทรทัศน์ที่ถนัดในการสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อนั่นคือเวลาเขาพูด ภาพก็มักสลับกับประชาชนหรือทหารในงานที่น้ำตาเล็ดด้วยความซาบซึ้งไปด้วย ราวกับเป็นการสร้างภาพปรากฎหรือ representation แทนความรู้สึกของคนเกาหลีเหนือทั้งมวล

 

ถึงแม้ความรู้ของเราเกี่ยวกับเกาหลีเหนือจะน้อย เราก็อาจเสี่ยงวิเคราะห์ได้อีกว่าน้ำตาจระเข้ของนายคิมก็คือส่วนหนึ่งของการเป็นรัฐนาฏกรรมหรือ Theater State ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักมานุษยวิทยาชื่อดังอย่างคลิฟฟอร์ด กีแอซประดิษฐ์ขึ้นมา โดยตามความเข้าใจของผมนั้นก็คือรัฐเกาหลีเหนือมักเน้นการแสดงฉากและการแสดงเพื่อเป็นการตอกย้ำอำนาจของรัฐผ่านพิธีกรรมซึ่งมีอยู่บ่อยมากในแต่ละปี มากกว่าการกระทำอย่างจริงจังเช่นการบริการประชาชนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสวัสดิการซึ่งรัฐบาลบกพร่องอย่างร้ายแรงดังเช่นมีคนเกาหลีเหนือตายเพราะทุพภิขภัยในทศวรรษที่ 90 เป็นล้านๆ หรือแม้แต่สงครามซึ่งเกาหลีเหนือจึงมักเน้นการแสดงอย่างท่าทีเช่นข่มขู่ประเทศอื่นหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์และสั่งสอนให้ประชาชนจงเกลียดจงชังสหรัฐฯ มากกว่าการทำสงครามจริงๆ เพราะตั้งแต่สงครามเกาหลีมีการสงบศึกชั่วคราวในปี 1953 เกาหลีเหนือไม่เคยมีปฏิบัติการทหารครั้งใหญ่เลย นอกจากความขัดแย้งในพรมแดนกับเกาหลีใต้ หรือปฏิบัติการสายลับไปก่อวินาศกรรมเช่นลอบสังหารและการลักพาตัวชาวต่างชาติในประเทศอื่นๆ อย่างพม่าในทศวรรษที่ 80

 

พิธีกรรมพวกนี้ซึ่งมาพร้อมกับวันหยุดประจำปีและหลายครั้งมักมีการจัดงานแสงสีเสียงจึงมักอาศัยทุกปรากฎการณ์ทางการเมืองในการจัดและอ้างความสำคัญเสียมากกว่าจะนึกถึงคุณประโยชน์ของปรากฏการณ์นั้นๆ แถมยังใช้งบประมาณ เงินทองมหาศาลอย่างไร้สาระ เช่นงานฉลองครบรอบวันเกิดของทั้ง 3 คิม วันทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับชัยชนะของเกาหลีเหนือในสงครามโลกครั้งที่ 2 วันฉลองครบรอบการเริ่มต้นการทำงานของคิม จองอิลในคณะกรรมาธิการกลางของพรรคแรงงาน วันฉลองครบรอบวันเกิดของมารดาของนายคิม อิลซุง วันฉลองครอบรอบวันที่นายคิม จองอิลได้เป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพ ฯลฯ กระนั้นเกาหลีเหนือก็มีวันระลึกถึงคุณค่าทางสังคมโดยรวมเหมือนประเทศทั่วโลกอย่างเช่นวันสตรีสากล วันแรงงาน วันปลูกต้นไม้ ฯลฯ (3) ซึ่งก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร เพราะรัฐบาลเกาหลีไม่ได้คำนึงถึงสารัตถะของสิ่งเหล่านั้นเช่นสิทธิสตรีที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องใช้แรงงานหนักจนหลายคนเสียชีวิตขณะอยู่ในค่ายกักกัน แต่การใส่วันเหล่านั้นเข้าไปเป็นการอำพรางเพื่อให้ดูปกติเหมือนประเทศทั่วไปที่มีอุดมการณ์และใส่ใจประชาชนตัวเอง

 

ตัวผู้นำของเกาหลีเหนือเองก็มักปรากฎตัวและมีกิจวัตรเหมือนเหมาและสตาลินผ่านสื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐอันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐนาฏกรรมนอกจากพิธีกรรมเช่นตัวคิม จองอุนก็ถ่ายรูปกับเด็กเพื่อแสดงตนว่าเป็นบิดาผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา แต่ก็ไม่ได้คำนึงว่าเด็กเหล่านั้นจะได้รับสารอาหารพอเพียงจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงหรือไม่ เพราะคนเกาหลีเหนือมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยถือว่าเตี้ยและหาคนอ้วนได้ยากเต็มทีเพราะขาดสารอาหาร หรือภาพแสดงนายคิมขี่ม้าสีขาวผู้น่าสงสารก็แสดงว่าเขาเหมือนจอมทัพในโบราณทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยออกรบจริงๆ นอกจากการใช้กล้องส่องดูกองทัพซ้อมรถ หรือภาพนายคิมไปดูงานในพื้นที่ซึ่งพบกับภัยพิบัติก็แสดงว่าตนเอาใจใส่ประชาชน ทั้งที่ก็บอกอะไรไม่ได้นัก มันอาจเป็นแค่ไปรับฟังข้อมูลแบบผิวเผินจากข้าราชการซึ่งพร้อมจะตกแต่งทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเอาตัวรอดหรือได้รับความชอบ (ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดบ่อยครั้งมากในสหภาพโซเวียตและจีนยุคเหมา) หรือว่าในหลายครั้งนายคิมก็ประกาศไล่ข้าราชการบางคนออกทั้งที่ความผิดของคนนั้นอาจไม่ได้ถึงขนาดนั้นแต่เป็นการอวดความจริงจังของท่านผู้นำ

 

ส่วนการที่ประชาชนเกาหลีเหนือทุกคนจะซาบซึ้งกับนาฏกรรมเหล่านั้นหรือไม่ก็เป็นเรื่องลึกลับอีกเช่นกัน ตราบใดที่ไม่มีการสำรวจความเห็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับความนิยมต่อตัวผู้นำโดยที่พวกเขาสามารถแสดงความเห็นอย่างเสรีโดยปราศจากความกลัว และผมสงสัยเหมือนกันว่าจะมีความเป็นไปได้หรือประโยชน์อันใดที่จะทราบว่าคนเหล่านั้นรักหรือเกลียดนายคิมเพราะโครงสร้างของรัฐถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะกดคนเกาหลีเหนือให้นิ่งสนิทไม่ว่าการโฆษณาชวนเชื่อ การล้างสมองในบ้านจนไปถึงสถานศึกษา การจำกัดการเข้าถึงข้อมูล (คนเกาหลีเหนือส่วนใหญ่เข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้เฉพาะผ่านระบบภายในประเทศ) การปลูกฝังให้คนเกาหลีเหนือสอดส่องกันเอง ค่ายกักกันกับตำรวจลับที่พร้อมจะกำจัดปรปักษ์ของรัฐซึ่งในประเทศไม่มีแล้วและโดยมากคือประชาชนตาดำๆ ที่ถูกใส่ร้าย ดังนั้นการที่คนเกาหลีเหนือร้องไห้กันดุจดังจะเสียสติหลังจากคิม อิงซุงและคิม จองอิลถึงแก่อสัญกรรม ก็บอกไม่ได้ว่าเกิดจากน้ำใสใจจริงของทุกคนเพราะอาจเกิดจากความหวาดกลัวว่าตนจะถูกกล่าวหาว่าไม่ภักดีต่อท่านผู้นำและรัฐ และจุดจบของพวกเขาก็จะไปอยู่ที่ค่ายกักกันซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างจากขุมนรกเท่าไร (ตรงนี้ผู้ที่เคยถูกคุมขังในค่ายและหลบหนีจากเกาหลีเหนือเป็นพยาน) แต่ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าพวกเขาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นรัฐนาฎกรรมของเกาหลีเหนืออีกเช่นกัน ดังนั้นอย่าว่าแต่นายคิมจะแค่ร้องไห้เลย ต่อให้คร่ำครวญ กลิ้งตัวบนพื้นเหมือนเด็กหรือไม่ว่าประชาชนจะพบกับความทุกข์ยากและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้ชาวเกาหลีเหนือรวมพลังในการโค่นล้มนายคิมได้ ด้วยกลไกของรัฐดังข้างบน ไม่เช่นนั้นนายคิม จองอิลก็คงโดนโค่นล้มตัั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ไปแแล้ว

กระนั้น บุคคลที่นายคิมน่าจะใส่ใจที่สุดคือสมาชิกคนอื่นในชนชั้นนำอย่างข้าราชการระดับสูงซึ่งคนเหล่านี้น่าจะรู้จักธาตุแท้ของนายคิมดีกว่าชาวบ้าน บางคนอาจเป็นกุนซือเรื่องร้องไห้และดราม่าอื่นๆ ของนายคิมเสียด้วยซ้ำไป สำหรับชาวโลกไม่ค่อยมีใครรู้ว่านายคิมได้วางกลไกในการล็อกอำนาจคนเหล่านั้นไม่ให้โค่นตัวเองได้สำเร็จอย่างไรนอกจากการกำจัด (purge) ลูกน้องด้วยวิธีเหี้ยมโหดเป็นครั้งๆ ไป สำหรับความชื่นชมและการประจบประแจงของพวกชนชั้นนำที่ปรากฎในสื่อก็ไม่รู้ว่าเป็นการแสดงความจริงใจหรือแสดงเพื่อผลประโยชน์และอำนาจของตัวเองกันแน่ (เช่นพวกที่ทำท่าพินอบพิเทา จดทุกอย่างที่คิมพูดขณะสั่งงาน เข้าไปดูใกล้ๆ อาจเป็นกำลังเขียนว่า "พูดได้โง่มาก ไอ้หมูอ้วน") และผมคิดว่าสำหรับตัวคิมเองก็ไม่มั่นใจเหมือนกันต่อความคิดของคนรอบข้างหรือแม้แต่อำนาจว่าเขาจะมีอยู่เหนือคนเหล่านั้นสักเท่าไร ตัวเองจึงอยู่ในความหวาดระแวงกลัวว่าจะมีคนยึดอำนาจโดยการลอบสังหาร จึงชดเชยโดยการกินและเสพสุราจนน้ำหนักขึ้นไปหลายสิบกิโลกรัม หากเป็นเช่นนี้การร้องไห้ของนายคิมก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อความรู้สึกของชนชั้นนำ หรือว่าพวกนั้นจะเป็นผู้กดดันให้เขาต้องแสดงบทละครเป็นผู้นำเจ้าน้ำตาก็เป็นได้ แต่นี่ก็เป็นการคาดเดาของสื่อมวลชนนอกเกาหลีเหนือเพราะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีนายพลคนไหนแอบขู่นายคิม

 

ผมก็ขอเดาเอามั่วๆ ว่าการร้องไห้ของนายคิมเป็นการแสดงเพื่อปรับปรุงภาพพจน์ในสายตาชาวโลกว่าเขานั้นอ่อนไหวและรับรู้ความทุกข์ของชาวเกาหลีเหนือ เพราะคิมเป็นหนึ่งเพียงชนชั้นนำเสี้ยวเล็กๆ ในประเทศที่รับรู้ความเป็นไปและทัศนคติของชาวโลกที่มีต่อเขาและเกาหลีเหนือ (ถ้าไม่นับหน่วยราชการเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ) ผ่านสื่ออย่างอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมกับระบบภายนอกประเทศได้ นอกจากนี้การแสดงอารมณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ร้องไห้อย่างเดียวอย่างเปิดเผยเป็นการบ่งบอกความเป็นมนุษย์ธรรมดาของชนชั้นนำซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองโลกเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างตัวผู้นำกับประชาชนซึ่งนายคิมคิดว่าน่าจะมีอย่างมากต่อคนเกาหลีเหนือ ถึงแม้ผู้นำก็ยังคิดว่าตัวเองวิเศษกว่าใครและควรได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากคนอื่นอยู่ดี และการร้องไห้ยังอิงอยู่บนกระแสของโลกที่ยอมรับบทบาทที่หลากหลายของความเป็นชาย (manhood) กว่าผู้นำยุคก่อนดังบิดาของเขา เป็นที่น่าสนใจว่าก่อนหน้านี้นายคิมก็ได้ร้องไห้หลายครั้งเช่นตอนไปคำนับศพของลูกน้องคนโปรด กระนั้นนายคิมก็มักอ้างว่าต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเกิดจาการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จึงทำให้เขาคิดว่าตัวเองดูไม่อ่อนแอเกินไปในสายตาของคนเกาหลีเหนือเพราะสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่คุมไม่ได้ แม้นายคิมจะไปจับมือกับนายทรัมป์หลายครั้งก็ตาม แต่การเดาแบบนี้ของผมก็อาจไม่จริงก็ได้

ถ้ากิดไปเจอนักข่าวทั้ง 2 ท่านที่วิเคราะห์ขัดกันเองดังข้างบน ผมคงจะแย้งว่าทุกอย่างเป็นเรื่องลึกลับทั้งสิ้นในเกาหลีเหนือ จึงบอกไม่ได้ว่าน้ำตาของนายคิมเกิดจากอะไรกันแน่

..............................................................

(1) น่าสนใจอีกว่าปกติ kingdom ใช้กับราชอาณาจักรหรือที่มีผู้ปกครองเป็นกษัตริย์ แต่ถ้าใช้กับเกาหลีเหนือก็หมายความว่าเป็นการปกครองโดยราชวงศ์คิมคือเหมือนกับระบอบกษัตริย์ที่สืบตำแหน่งทางสายเลือดนั้นเอง ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งในอดีตและปัจจุบันเน้นการสืบตำแหน่งผ่านทางตำแหน่งในพรรคการเมือง ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงเป็นคอมมิวนิสต์ในแง่มุมที่ว่ารัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ไม่ได้มีความหมายในแง่ว่ามนุษย์ต้องเท่ากันตามแนวคิดมาร์กซ์ แต่เป็นแบบลัทธิจูเช่

(2)https://www.cnbc.com/…/how-does-north-korea-get-money-to-bu…

(3)https://en.wikipedia.org/wiki/Public_holidays_in_North_Korea

 

 

ภาพข้างล่างจาก metro.co.uk

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, แว่นกันแดด

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
f n
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
n the future of disruptive world,if I am able to make the documentary film about Sergeant Major Chakaphan Thomma who committed the worst Mass shooting in Thai history , what will the t
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Puzzling that it may seem when Thai authority chose the day king Naresuan reputedly fought with Hongsawadee's viceroy on the elephants as the Army Day.This is because, on that glorious
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เห็นกระแสแปนิคเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นึกได้ว่าชาวโลกมีการคาดหมายหรือหวาดกลัวมานานแล้วว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มได้ตั้งแต่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ นั่นคือการกลายเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันแบบหลวมๆ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ การสิ้นสุดของสงครามได้ทำให้ฝ่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นตำราเรียนมักบอกว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 มีประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เพียง 5 ประเทศคือจีน เวียดนาม ลาว คิวบาว และเกาหลีเหนือ (ตลกดีมีคนที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาป็นวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีนไปพร้อมกับการประท้วงของชาวฮ่องกงซึ่งมุ่งมั่นท้าทายรัฐบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Throne of Blood (1957) หรือ"บัลลังก์เลือด" เป็นภาพยนตร์ขาวดำของยอดผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นคืออาคิระ คุโรซาวา ที่ทางตะวันตกยกย่องมาก เกือบจะไม่แพ้ Seven Samurai หรือ Rashomon เลยก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของมันก็คือการดัดแปลงมาจาก Macbeth
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เข้าใจว่าผลงานของ William Shakespeare ที่คนไทยรู้จักกันดีรองจากเรื่อง Romeo and Julius ก็คือวานิชเวนิส หรือ Merchant of Venice ด้วยเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกทรงแปลออกมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนักเรียนได้อ่านกัน และประโยค ๆ หนึ่งกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ยกย่องดนตรีว่า &nbsp