Skip to main content
 
อย่างไงก็ไม่ทราบเมื่อสตรีวัยกลางคนเห็นเด็กนักเรียนไม่ยอมลุกขึ้นยืนเพื่อเคารพเพลงชาติ ทำให้เธอปรี่เข้าไปหาเรื่องและตบกับจิกผมเด็กคนนั้นด้วยอารมณ์รุนแรง ผมเดาว่าถ้าเป็นสักหลายเดือนก่อน คุณป้าคงได้แค่ด่าหรือตำหนิในใจ แต่ด้วยความเกลียดชังกับภาพข่าวรายวันของพวกเยาวชนทั้งหลายที่ชูสามนิ้วในโรงเรียนและที่สำคัญคือเดินขบวนประท้วงทั้งเพื่อประชาธิปไตยและวิพากษ์สถาบันก็เลยทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายดังกล่าว
 
ผมมาสงสัยว่าสมมติเพลงชาติบรรเลงตอนคุณป้าอยู่ในที่ส่วนตัวเช่นห้องน้ำหรือกำลังกินข้าวในบ้าน เธอจะลุกขึ้นยืนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้โดยสามัญสำนึกย่อมไม่มีใครทำอยู่แล้ว (หรือว่ามี ?) แสดงว่าการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นพฤติกรรมในสถานที่สาธารณะ (public space) ที่เป็นตัวบ่งบอกต่อสาธารณชนว่าเราเป็นพลเมืองดีที่เปี่ยมด้วยการรักชาติ อันเป็นอัตลักษณ์ร่วมหมู่ที่รัฐปรารถนา กระนั้นผมคิดว่ามันควรมีความซับซ้อนกว่านี้เพราะนิยามอันไม่ชัดเจนของคำว่าชาตินั้นเอง ชาติโดยความหมายหมายถึงการดำรงอยู่ของคนจำนวนมากที่มีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน นักวิชาการบางคนอย่างเบนเนดิก แอนเดอร์สันเห็นว่า ชาติก็เป็นเพียงชุมชนในจินตนาการ (Imagined community) ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังสืออันโด่งดังของท่านมาแล้ว แต่ผมก็ขอจำขี้ปากท่านมาอธิบายตามความเข้าใจของผมเองนั้นก็คือชาติเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนสร้างขึ้นมาในความคิดของตัวเองนั้นเองผ่านระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ในชีวิตของเรา ด้วยคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพบกับคนไทยด้วยกันทุกคนในประเทศหรือเดินทางไปยังทุกจุดของประเทศ แต่เราก็ระลึกได้ว่าเป็นเราเป็นคนชาติเดียวกับคนอีกร่วมเกือบ 70 ล้านผ่านระบบสัญลักษณ์เช่นแผนที่ การศึกษาเช่นหนังสือเรียนวิชาสังคมและภาษาไทย ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของสถานที่ต่างๆ และบุคคล รวมไปถึงการเน้นให้ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ และสัญลักษณ์ที่จะกล่าวในที่นี้คือธงชาติ เพลงชาติและการยืนเคารพทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน
จะว่าไปแล้วธงชาติ เพลงชาติและการยืนเคารพทั้ง 2 อย่างพร้อมกันของไทยมีพัฒนาการมาแค่ร้อยกว่าปีนี้เอง เริ่มต้นจากธงชาติ คือช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเป็นบิดาแห่งลัทธิชาตินิยมไทยและผู้ประดิษฐ์ธงชาติไทยที่เป็นไตรรงค์คือมี 3 สี (คล้ายกับธงของประเทศคอสตาริกาแต่สลับตำแน่งของแถบสี) ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกับสถาบันสำคัญคือชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งบางแห่งบอกว่าพระองค์ได้แรงบรรดาลใจมาจากสถาบันหลักของอังกฤษคือ God King and Country จนมาถึงสมัยคณะราษฎรที่ต้องการให้มีเพลงชาติทั้งเนื้อร้องและทำนองอันสื่อถึงรัฐไทยใหม่ เพราะเพลงชาติแต่เดิมก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ยังติดอยู่กับระบอบเดิม เพลงชาติไทยมีทำนองที่แต่งโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แม้เป็นเพลงมาร์ชแต่ว่ากันว่าท่านได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงรถรางขณะท่านนั่งเดินทางไปทำงาน ส่วนเนื้อร้องนั้นมี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกแต่งโดยฉันท์ ขำวิไล และเวอร์ชั่นที่ 2 แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ซึ่งชนะเลิศการประกวดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามผู้มีโยบายรัฐนิยมให้มีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลาแปดโมงเช้าและให้ประชาชนทุกคนยืนเคารพ จนกลายเป็นกฎหมายก่อนจะถูกยกเลิกในเวลาต่อมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าเพลงชาติและการยืนเคารพเพลงชาติคือผลผลิตของคณะราษฎรและสมาชิกอย่างจอมพล ป.โดยการยืมธงไตรรงค์ของรัชกาลที่ 6 นั้นเอง การยืนเคารพธงชาติจึงก็ถือว่าเป็นนาฏกรรมหนึ่งของรัฐ (เหมือนบทความเกาหลีเหนือของผม) นั่นคือจอมพล ป.ต้องการให้เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในการเสริมสร้างอำนาจให้กับตัวเองหรือเป็นการสลัดรัฐไทยออกจากการเป็นสยามเก่า แต่ก็คงไว้ให้คนยืนตรงต่อเพลงสรรเสริญพระบารมีในบางวาระเช่นการปรากฎพระองค์ของพระมหากษัตริย์หรือในโรงภาพยนตร์ นโยบายเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งถึงขนาดผู้ปกครองรัฐกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับจอมพลป.ยังไม่สามารถยกเลิกนาฏกรรมเช่นนี้ได้ จึงได้แต่ใช้ประโยชน์จากมันจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเนื้อหาเพลงชาติไทยหากมองแบบไม่มีอคติถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงหลายอย่างในอดีต (หรือกล่าวอีกง่ายคือเสนอวาทกรรมเกี่ยวกับอดีตอีกแบบที่มีความเป็นไปน้อย) เพราะหลวงสารานุประพันธ์คนแต่งเนื้อก็เกิดในยุคปลายรัชกาลที่ 5 นี้เองมาแต่งเนื้อร้องก็ประมาณปี พ.ศ. 2482 ทั้งท่านและคนอนุมัติคือจอมพล ป.ก็ใช้มุมมองสำเร็จรูปของความเป็นรัฐชาติไปแล้ว อย่างเช่นประโยค "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" ซึ่งตามความจริงในอดีต คนไทยล้วนมีบรรพบุรุษหลากหลายแห่ง จีน มอญ แขก ฝรั่ง ญวนฯลฯ ที่อยู่ในหลากหลายอาณาจักร แต่ก็ถูกเรียกว่าเป็นสยามหรือไทยในภายหลังทั้ง ที่ในยุคนั้น พวกเขาไม่ได้จัดว่าตัวเองเป็นคนไทยแต่ประการใด แต่เพลงก็ทำให้เราเชื่อว่ามีความเป็นชาติไทยมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง หรือที่ว่า "ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด" ซึ่งเป็นการสร้างภาพแบบ nostalgia หรือภาพในอดีตแบบฝันๆ เพราะในอดีตบรรพบุรุษของคนไทยก็ไม่ได้รักสงบอะไร ก็มีการไปตี ปล้นสะดม ยึดเอาอาณาจักรเพื่อนบ้าน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากของอาณาจักรในสมัยนั้น แต่ด้วยลัทธิชาตินิยมในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องทางจริยธรรมไปเสียนั่นคือเชื่อว่าคนไทยเป็นชาวพุทธจึงไม่เคยชั่วร้ายขนาดนั้นและมักเป็นเหยื่อเสียมากกว่า ภาพการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้งจึงถูกนำมาขยายเสียใหญ่โตจนเราไม่ค่อยสนใจเรื่องการที่กรุงศรีอยุธยาไปตีเชียงใหม่ ลาวหรือเขมร หรือประโยคที่ว่า "แต่ถึงรบไม่ขลาด"ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอดีต ก็มีคนหนีทหารหรือแม้แต่หนีภาษีอากรการรีดนาทาเร้นจากรัฐบาลกลางไปตั้งรกรากอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีความภักดีเหรือพันธะผูกพันอะไรดังที่รัฐชาติยุคใหม่ต้องการ แต่ภาพของวีรกรรมของหมู่บ้านบางระจัน หรือท้าวสุรนารีก็ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพตัวแทนของคนที่ถูกจัดว่าเป็นคนไทยทั้งมวลไปเสีย
ดังนั้นเนื้อเพลงจึงไม่ใช่การบอกเล่าเรื่องอดีตแต่ประการใดแต่เป็นการสร้างภาพตามอุดมคติของประชาชนที่ภักดีต่อรัฐตามความฝันของคณะราษฎรได้รับอิทธิพลและผลิตซ้ำจากลัทธิชาตินิยมจากรัชกาลที่ 6 ที่ทรงรับมาจากต่างประเทศอีกที และในยุคจอมพล ป.ก็ได้รับอิทธิพลจากเรื่องเชื้อชาตินิยม เหมือนกับรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ทั้งหลายซึ่งแพร่หลายในยุคหลังรัชกาลที่ 5 จำนวนมากก็คือผลผลิตของศิลปะยุคเรเนสซองค์ผ่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี กระนั้นด้วยกระบวนการทำให้ไทย (Thai-ization) มาหลายทศวรรษทำให้เราคิดว่ามันคือความเป็นไทย ธงชาติ เพลงชาติจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดไม่ได้ และต้องทุกคนต้องยืนเคารพการชักธงชาติและเพลงชาติ ทั้งที่คนยืนอาจไม่ได้เข้าใจสารัตถะอะไรในเนื้อเพลงก็ได้จนไปตลอดชีวิต นอกจากแค่รู้ว่าปลุกใจให้รักชาติ และการที่ไม่มีใครบ้ายืนเคารพเพลงชาติในที่ส่วนตัวจึงสะท้อนว่าการยืนเป็นการแสดงให้คนแปลกหน้าเห็นว่าเราเป็นพลเมืองดีที่รักชาติเสียมากกว่า หรือตามหลักจิตวิทยาคือการกระทำตัวให้กลมกลืนกับคนรอบข้างเพื่อไม่ให้เกิดการถูกเหยียดหยาม
ลัทธิชาตินิยมนี้แตกต่างจากประชาธิปไตยและคุณค่าเช่นสิทธิเสรีภาพซึ่งความจริงชนชั้นนำของไทยรู้จักมาพอๆ หรือก่อนลัทธิชาตินิยมเสียอีก (บ้างว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หรือ 4) แต่ก็ถูกกีดกันให้เป็นฝรั่งตลอดไป เพราะมันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทำลายระเบียบทางอำนาจแบบจารีตนิยมแบบไทยๆ ผ่านคำอ้างของชนชั้นนำเช่นบอกว่าคนไทยยังโง่เขลาจึงไม่พร้อมต่อระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยจึงกลายเป็นระบบ 2 ซิมคือซิมแรกที่เป็นเปลือกหน้าคือประชาธิปไตยที่คนไทยจำนวนมากเสื่อมศรัทธา และซิมที่สองคือเปลือกในที่เป็นเผด็จการซึ่งใช้ประโยชน์จากชาตินิยมและราชานิยมที่คนไทยจำนวนมากศรัทธา ดังนั้นการที่คุณป้าบอกว่าที่ไปตบเด็กนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพียงเพราะเด็กบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นการโกหกชัด ๆ
กระนั้นในขณะที่สังคมไทยและคนรุ่นใหม่กำลังพบกับการเปลี่ยนโลกทัศน์ครั้งใหญ่อันได้รับจากอิทธิพลของการเมืองโลกอย่างเช่นการเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ หรือความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ ซึ่งเพลงชาติไทยไม่อาจตอบสนองตรงนี้ได้ รัฐไทยยังพร่ำเน้นวาทกรรมความภักดีและความสามัคคีแก่คนไทยนอกเหนือจากเพลงชาติอย่างคุณธรรม 12 ประการ เพลงวันเด็ก หรือหนังสือเรียนซึ่งในรุ่นผมก็คือปิติ มานะ วีระ แต่ในขณะเดียวกันตัวรัฐได้กลายร่างเป็นภาพของกลุ่มคนแก่ที่ฉ้อฉล โลภโมโทสัน พร้อมจะทำทุกอย่างในการคงไว้ซึ่งอำนาจแม้แต่การสังหารหมู่ สิ่งนี้ได้ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อวาทกรรมเหล่านั้น เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าชาติคือชุมชนในจินตนาการ ความรักชาติจึงมีความหมายที่เปลี่ยนแปลง เลื่อนไหลไปได้เรื่อยๆ ไม่มีใครสามารถยึดกุมได้อีกต่อไป มีคนมากมายที่ยืนตรงเคารพธงชาติด้วยความซาบซึ้งหรือแม้แต่พร่ำบอกให้รักชาติ แต่โกงกินประเทศชาติบรรลัย ซึ่งความจริงเหล่านี้ถูกเผยแพร่และผลิตซ้ำผ่านโซเชียลมีเดียอันทรงพลัง ทำให้คนจำนวนมากตาสว่างและไม่คิดว่าการยืนตรงเคารพธงชาติจะเป็นตัวบ่งบอกความรักชาติเสมอไปและหันมานิยามความรักชาติเสียใหม่โดยตั้งอยู่บนประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมดังข้างบน
คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงแสดงลัทธิชาตินิยมตามแบบของตัวเองผ่านสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านนั่นคือหันมาประท้วงและแสดงสัญลักษณ์บางอย่างเช่นการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์และการชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติขณะอยู่ในแถวของโรงเรียน (ตรงนี้ก็ทำให้ผมอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ให้นักศึกษายืนตรงเคารพธงชาติเหมือนโรงเรียน หรือว่าเยาวชนอายุมากกว่าเดิมนิดหน่อยก็บรรลุแห่งการรักชาติแล้วหรือ? แสดงว่าการรักชาติจึงเลื่อนไหลไปตามพื้นที่และอาณาเขต) สาเหตุที่นักเรียนผู้หญิงคนนั้นไม่ยืนเพราะอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่หรือว่าเพราะปวดประจำเดือนอย่างไรนั้นไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือหญิงวัยกลางคนซึ่งแม้อ้างว่าไม่ได้ฝักใฝ่กลุ่มการเมืองใด แต่พฤติกรรมกักขฬะและการใช้ความรุนแรงของเธอนั้นบอกอย่างชัดเจนว่าเธอยึดมั่นตามอุดมการณ์ชาตินิยมที่กำหนดอัตลักษณ์ของการเป็นพลเมืองดีที่รักชาติด้วยการยืนเคารพเพลงชาติ เมื่อเธอเห็นเด็กผู้หญิงไม่กระทำตามจึงไม่อาจรับได้ ด้วยเห็นว่าเป็นแค่เยาวชนแต่กลับหาญกล้าในการฝ่าฝืนนาฏกรรมอันสะท้อนถึงระเบียบทางอำนาจที่เธอคุ้นเคยมาทั้งชีวิต เหมือนกับความรู้สึกของชาวเสื้อเหลืองทั้งหลายที่ออกมาร่วมกันปกป้องสถาบันต่อกลุ่มคณะราษฏร 2563
ดังนั้นไม่ต้องประหลาดใจว่าจะมีคนคิดแบบคุณป้านักตบเป็นจำนวนมากรวมไปถึงดารานักบุญอย่างบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ จึงได้มีการเรี่ยไรเงินกันระหว่างคนเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และเหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกขวาอนุรักษ์นิยมไม่ได้รู้สึกผิดอะไรที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนที่กล้าขบถต่อกฎจารีตประเพณีของสังคมไทยที่ตนเห็นว่าดีงามและมีความจริงแท้ดุจดังสัจธรรมของโลก
 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
My Moment with the Romanov It is based on some historical facts and persons , but it is still fictitious anyways.   Chapter 1 St.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This is the second play I have written in my entire life. Now I hope some of my styles of language , cheekily imitating the Elizabethan writer I didn't mention the name here before : William Shakespeare, won't disturb you much.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนประมาณ ปี 2005 หรือ 2006  ผู้เขียนเองก็จำไม่ค่อยได้ ตัวเอกหรือผู้บรรยายเป็นคนไทยแต่ไปสอนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินในเยอรมันช่วงที่นาซีกำลังเรืองอำนาจ อนึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบภาษาไทยเท่าไรนัก จึงต้อขออภัยหากมีความผิดพลาดทางภาษาเกิดขึ้น&nbs
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(newly compiled and edited)  This is the first play I have ever written in my entire life.It is a sublime story about ghost, inspired by The Shock , the popular radio program of horror story telling from fan clubs via telephone.  I am also truly impressed wi
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม เกาหลีเหนือได้จัดพิธีเดินสวนสนามของกองทัพเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งพรรคแรงงานหรือ Worker's Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ (ความจริงยัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยเพราะเผลอไปเรียก Thailand เป็น Thighland หรือดินแดนแห่ง "ต้นขา" โดยคนไทยทั่วไปไม่ซีเรียส เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานไป เพราะรู้มานาน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p