Skip to main content
The Crown season 4 ถือว่าเติมเต็มความรู้สึกผมมากในฐานะเด็กที่โตมาในทศวรรษที่ 80 ถึงจะอยู่คนละประเทศก็ตามเพราะละครของ Netflix อันแสนโด่งดังของอังกฤษเรื่องนี้ได้เดินทางมาถึงทศวรรษนี้ และผู้สร้างคือปีเตอร์ มอร์แกนซึ่งมีผลงานคือภาพยนตร์เกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษโดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ได้รับคำชมมากคือ The Queen ได้ถ่ายทอดอังกฤษในทศวรรษที่ 80 อย่างเปี่ยมด้วยอารมณ์มาก ด้วยเพลง เพราะปีเตอร์มีวัยหนุ่มในยุคนั้นพอดี อังกฤษในทศวรรษดังกล่าวเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนมาก น่าจะมากที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ตัวละครที่มีสีสันไม่แพ้กับสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษคือนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกคือมาร์การ์เร็ต แท็ชเชอร์ ซึ่งได้สมญาว่าเป็น หญิงเหล็กหรือ Iron Lady(แต่สื่อไทยในยุคนั้นเรียกเธอว่านางสิงห์เหล็ก) และสามัญชนผู้แต่งงานกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลคือเลดี้ไดอานาซึ่งเคยสร้างในสิ่งที่สื่อเรียกว่าเป็นเทพนิยายยุคใหม่ ผู้หญิง 3 คนคือพระราชินีอาลิซาเบธ แท็ชเชอร์ และไดอานา (น่าเสียดายเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตดูเหมือนบทบาทจะน้อยลงมากในซีซั่นนี้) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษในทศวรรษนั้นอย่างแท้จริง และพระราชินีนัั้นทรงถือว่าทั้งแท็ชเชอร์และไดอานาในฐานะลูกสะไภ้ได้กลายเป็นคู่แข่งหรืออาจจะถึงระดับภัยคุกคามในเรื่องอำนาจ (แท็ชเชอร์) และเรื่องความโด่งดังและบารมี (แท็ชเชอร์และไดอาน่า)
ทั้งไดอาน่าและแท็ชเชอร์ไต่ชนชั้นมาจากครอบครัวสามัญชน แม้บิดาของไดอานา สเปนเซอร์จะมาจากตระกูลขุนนางแต่ทั้งเขาและมารดาของไดอานาได้หย่าร้างกัน ไดอาน่ามีการศึกษาไม่สูงและฐานะไม่ดีนัก เธอต้องทำงานรายได้ต่ำและอาศัยอยู่กับเพื่อนสาวหลายคนในแฟล็ตที่กรุงลอนดอน จำได้ว่าตอนผมเป็นเด็กคือปี 1981 ได้ดูข่าวเกี่ยวกับงานอภิเษกสมรสระหว่างชาร์ลส์กับไดอาน่าอันเป็นหตุการณ์ดังที่สุดของโลก ชาวเซเลบทั้งหลายไม่ว่าเป็นราชวงศ์ทั่วโลกหรือประมุขของรัฐได้เข้าร่วม มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และภาพของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับไดอานาซึ่งปรากฎอยู่บนระเบียงของพระราชวังปักกิ่งแฮมเพื่อโชว์ตัวให้กับฝูงชนพร้อมกับเสียงผู้บรรยายในโทรทัศน์เป็นภาษาอังกฤษคือ wedding of the century! หรือ'งานแต่งแห่งศตวรรษ' ก็อย่ในห้วคำนึงผมเสมอ แต่ตัดภาพมาในปี 1997 ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาโทพอดี และทางหอพักก็มีช่องโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้ถ่ายทอดตอนที่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ที่อุโมงค์ในฝรั่งเศสเพราะรถคว่ำจากการหนีนักข่าวปาปารัสซี แต่ตอนนั้นเธอเป็นสามัญชนเพราะหย่าขาดกับชาร์ลส์ไปแล้วเป็นปี และคนที่เสียชีวีตพร้อมกับเธอนอกจากคนขับรถคือนายโดดี อาฟาเย็ตคู่หมั้นที่เป็นลูกชายเจ้าของห้างแฮร์ร็อต
ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 16 ปี ชีวิตของไดอาน่าก็ได้ผกผันไปอย่างมากทั้งด้านร้ายและด้านดี จากปัญหาชีวิตคู่กับชาร์ลจนต้องหย่าร้างกัน แต่เธอก็สามารถใช้ทั้งความสวยและเสน่ห์เอาชนะใจชาวโลกจนกลายเป็นคนดังระดับโลก แต่ที่สำคัญคือกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้ไดอานาเป็นแม่พระเหมือนแม่ชีเทเราซ่าไปเช่นการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ ที่เธอสวมกอดผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยง เพราะชาวโลกยังขาดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ (และคนที่ทำให้โรคเอดส์ดังขึ้นอีกคือนักร้องอังกฤษวงควีนนัันคือเฟรดดี เมอร์คิวรี) หรือการเดินไปท่ามกลางกับระเบิดเพื่อรณรงค์การกู้กับระเบิดในแอฟริการวมถึงการกุศลเกี่ยวกับเด็ก และความดังของเธอทั้งช่วงแต่งและหลังจากหย่าร้างก็ได้ทำให้ทางราชวังถูกชาวโลกโดยเฉพาะคนอังกฤษมองในด้านลบคือมองว่าเป็นครอบครัวตัวร้ายที่รังแกไดอานาโดยเฉพาะอดีตแม่สามีอย่างพระราชินี แม้ไดอาน่าจะมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้ชายคนอื่นทั้งตอนแต่งงาน และหลังหย่าก็ตาม (อันสะท้อนว่าในช่วงตอนแต่ง ทั้งคู่ต่างก็นอกใจกันและกัน สำหรับชาร์ลส์นั้นก็มีความสัมพันธ์อันอื้อฉาวกับนางคาเมลลา พาร์คเกอร์โบวส์ซึ่งก็เป็นภรรยาของคนอื่นอีก แต่ต่อมาทั้งชาร์ลและคาเมลลาก็ได้แต่งงานกัน) อย่างไรก็ตามภายหลังการตายของไดอาน่า พระราชินีก็ทรงพยายามกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาจนได้รับความนิยมจากชาวอังกฤษอีกครั้ง
สำหรับแท็ชเชอร์ลูกสาวของพ่อค้าร้านของชำได้เรียนจบเคมีและกฎหมายก่อนจะหันมาเป็นสส.และรัฐมนตรี ต่อมาเธอก็ได้เล่นงานนายกรัฐมนตรีคนเก่าและเจ้านายของเธอคือนายเอ็ดเวิร์ด ฮีธจนได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมแทนในปี 1975 และเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1979 อังกฤษในทศวรรษที่ 80 มีภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อัตราคนว่างงานสูงมาก และรัฐมีความอุ้ยอ้าย ต้องอุ้มกิจการต่างๆ อย่างเช่นอุตสาหกรรมถ่านหิน อันเป็นนโยบายมาจากพรรคแรงงาน ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน แท็ชเชอร์นั้นมีความศรัทธาในแนวคิดเสรีนิยมใหม่หรือ Neo-liberalism คือการแปรองค์กรรัฐให้เป็นเอกชน (privatization) นโยบายรัดเข็มขัดที่ต้องตัดสวัสดิการ อันส่งผลกระทบถึงระบบสุขภาพแห่งชาติ และที่โด่งดังคือยุติโครงการนมฟรีแก่เด็กที่โรงเรียนซึ่งทำให้เธอถูกโจมตีอย่างมาก และการปิดเหมืองถ่านหินซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในอังกฤษ ทำให้คนงานและสหภาพโรงงานซึ่งถูกแท็ชเชอร์พยายามจัดการให้อยู่หมัดก่อการประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นสัญลักษณ์ของความวุ่นวายของอังกฤษในทศวรรษนี้
และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือสงครามฟล็อคแลนด์หรือสงครามระหว่างอังกฤษกับอาเจนตินาเพื่อแย่งชิงเกาะเล็กๆ ที่อยู่ใกล้อาเจนตินา ในปี 1982 ซึ่งโด่งดังมาก เพราะในช่วงนั้นสงครามใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีในช่วงที่สงครามเย็นกำลังแผ่ว ทางไทยก็ตื่นเต้นไปกับเค้าด้วยเพราะรับสื่อของอังกฤษมาก ทั้งวัฒนธรรมเช่นภาพยนตร์ ดนตรี รวมไปถึงการ์ตูน เป็นเด็ก ผมชอบอ่านการ์ตูนอังกฤษเกี่ยวกับฟุตบอล (ชื่อนิตยสารคือกีฬากับการ์ตูน) และยังมีการ์ตูนเกี่ยวกับสงคราม (ชื่อสงครามกับการ์ตูน) และการ์ตูนของอังกฤษก็ตีพิมพ์เชียร์ตัวเองเสียใหญ่โตในการสู้รบ ดังจะเรียกว่าเป็น nostalgia หรือการหวนหาอดีตอันแสนเกรียงไกรของจักรวรรดิอังกฤษก็ว่าได้ และสงครามนี้เป็นการเดิมพันของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแท็ชเชอร์โดยเฉพาะตอนก่อนตัดสินใจจมเรือรบของกองทัพอาเจนตินา การปะทะกันทางทหารได้ดำเนินไปไม่กี่เดือน ก่อนที่อังกฤษจะชนะ และนำไปสู่ความหายนะของเผด็จการทหารอาเจนตินาซึ่งพยายามก่อสงครามเพื่อหันเหความสนใจของชาวอาเจนไตน์จากปัญหาเศรษฐกิจ แต่แท็ชเชอร์ได้รับความนิยมอย่างสูง ถึงแม้จำนวนคนตกงานจะมากกว่าเดิม และปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ดังใน episode ที่กล่าวถึงไมเคิล ฟาแกน ชายชาวรากหญ้าผู้ตกงานและหย่าร้างกับภรรยาที่แอบเข้ามานั่งปลายเตียงของพระราชินีในพระราชวังบักกิ่งแฮมและด่าแท็ชเชอร์ให้พระราชินีซึ่งทรงตกพระทัยฟังว่าแท็ชเชอร์แทนที่จะช่วยคนในประเทศแต่กลับเอาภาษีประชาชนไปรบแย่งเกาะเล็กๆ ที่ห่างออกไป
นอกจากนี้ยังเหตุการณ์อันโด่งดังคือวีรกรรมของกลุ่มการก่อการร้ายไออาร์เอซึ่งต้องการแบ่งแยกไอร์แลนด์เหนือให้เป็นเอกราช ดังใน episode หนึ่งก่อนชาร์ลกับไดอานาจะเข้าพิธีอภิเษกสมรส ไออาร์เอได้สังหารหลุยส์ เมาแบตเตน พระญาติคนสนิทของพระราชินี และเป็นเหมือนกับพ่อหรือ father figure ของทั้งเจ้าชายฟิลิปส์และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จากการวางระเบิดในเรือตกกุ้งที่หลุยส์นั่งอยู่พร้อมกับลูกและหลานในปี 1979 ทำให้แท็ชเชอร์สั่งการโต้ตอบอย่างแข็งกร้าว แต่แล้วไออาร์เอยังพยายามลอบสังหารแท็ชเชอร์จากการวางระเบิดโรงแรมที่เธอกับสามีอาศัยอยู่ในอีก 5 ปีต่อมา
สาเหตุที่แท็ชเชอร์ได้รับสมญาว่าเป็นสตรีเหล็กหรือนางสิงห์เหล็กเพราะบุคลิกอันเด็ดขาดของเธอและรูปแบบการบริหารประเทศอย่างเฉียบขาด ไม่ค่อยยอมประนีประนอม และมักเป็นภาพของเธอในฐานะผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวซึ่งกำลังบัญชาการคณะรัฐมนตรีซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย และด้วยเกิดปีเดียวกับพระราชินีพอดี จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อนข้างซับซ้อนคือเป็นเหมือนเพื่อนและคู่แข่ง ตรงนี้สามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกษัตริย์ (หรือพระราชินี) ตามรูปแบบกษัตริย์ใต้รัฐสภาของอังกฤษได้อย่างดี จากการที่ทั้งคู่ต้องพบกันทุกอาทิตย์เพื่อพูดคุยกันเรื่องบ้านเมือง นายฟาแกนที่แอบมาเข้าในห้องบรรทมพระราชินียังเตือนพระองค์ว่าแท็ชเชอร์นอกจากจะแย่งงานของคนอังกฤษแล้วอาจจะแย่งงานจากพระองค์ด้วย นั้นคืออาจเปลี่ยนอังกฤษเป็นระบอบประธานาธิบดี (ในชีวิตจริงนายฟาแกนไม่ได้กล่าวเช่นนั้น แต่น่าจะเป็นไอเดียของคนเขียนบทซึ่งใส่ความเป็นนิยายปนมากับเรื่องจริงมาตั้งแต่ season 1 แล้ว)
แต่ในช่วงหลังของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แท็ชเชอร์ได้รับคะแนนความนิยมต่ำมาก จนในที่สุดก็ถูกลูกพรรคท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสุดท้ายก็ต้องพ้นจากตำแหน่งในปี 1990 ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รองลงมาก็คงเป็นนายโทนี แบลร์แห่งพรรคแรงงาน ส่วนนายกรัฐมนตรี ผู้หญิงก็มีอีกคนคือนางเทเรซา เมย์ซึ่งสุดท้ายก็ถูกแทนที่โดยนายบอริส จอห์นสันเพื่อนร่วมโรงเรียนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งทั้งคู่ก็มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม และแน่นอนว่ามรดกทางการเมืองและสังคมของแท็ชเชอร์ยังคงมีมาอยู่ถึงทุกวันนี้ ตอนแท็ชเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2013 คนอังกฤษจำนวนมากโดยเฉพาะพวกสังคมนิยมซึ่งจงเกลียดจงชังแท็ชเชอร์มากถึงกลับจัดงานฉลองพร้อมกับร้องเพลง Ding Dong! The Witch Is Dead (แม่มดตายแล้ว) ซึ่งเอามาจากภาพยนตร์เพลง Wizard of Oz
 
ติติดตาม facebook ผมได้ที่ https://www.facebook.com/atthasit.muangin มีบทความอีกมากมายที่ไม่ได้ลงในประชาไท

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื