บารมี ชอบมีปัญหา
1.......
..........ชาวบ้านที่โป่งขุนเพชรไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีการสร้างเขื่อน ไม่เคยรู้เลยว่ามีการสำรวจโดยชาวต่างชาติตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แต่พวกเขาอยู่ที่นั่นมาแสนนานแล้ว พวกเขาส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า "คนดง" เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่คนแถวนั้นเรียกพวกเขาว่า "ชะบน" มีอาชีพเก็บหาของป่าเป็นหลัก ไม่มีข้าวกินเขาก็ขุดเผือก มัน กลอยกินได้ เขามีหน่อไม้ กระบุก เห็ด อึ่ง กบ เขียดเป็นอาหารหลัก เมื่อเขาต้องการเงินใช้เขาก็เก็บของพวกนี้ขาย และต่อมาเมื่อใบลานในป่าอื่น ๆ ถูกตัดกันจนหมดหรือถูกห้ามตัดเพราะประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ไปแล้ว พวกเขาก็ตัดใบลานขาย หมวกใบลาน ปลาตะเพียนใบลาน ใบลานมัดข้าว ล้วนมาจากป่านี้ ป่าที่คนดงเป็นเจ้าของและมีคนจากที่อื่นทะยอยเข้ามาอยู่อาศัยเป็นระยะ ในที่สุดคนดงก็กลายเป็นคนกลุ่มน้อยไป
ประมาณปี ๒๕๓๒ มีคนที่เรียกตัวเองว่าปลัดอำเภอหนองบัวระเหวมาเรียกประชุมบอกว่าจะมีการสร้างเขื่อน ขอให้อพยพออกเพราะน้ำจะท่วม ถ้าใครไม่อพยพออกจะถูกจับเพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แล้วเขาก็กลับไป ชาวบ้านก็อยู่กันต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเขื่อนจะสร้างจริงหรือไม่ แม้มีคนสนใจแต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หลายคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่เคยไปแม้ตัวอำเภอหนองบัวระเหว เคยเดินอยู่แต่ในป่า นอกจากปลัดอำเภอคนนั้นแล้วก็ไม่เคยมีใครมาหา
จนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็นปี มีคนกลุ่มใหม่เข้ามา คนกลุ่มนี้มาแปลกมาหาซื้อที่ใครอยากขายที่มาขายกับเขาได้ ที่เตียนได้ไร่ละ ๕๐๐ ๘๐๐ ที่ป่าได้ไร่ละ ๑๐๐ ๓๐๐ แล้วแต่การเจรจาตกลงกัน คนที่ขายที่ส่วนใหญ่เป็นคนจากที่อื่นที่เข้ามาอยู่ มีแต่พวกคนดงที่ไม่ยอมขายที่ แล้วจู่ ๆก็มีประกาศมาว่ามีการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนย้ายให้ชาวบ้านไร่ละ ๘๐๐๐ บาทแต่นายทุนก็ซื้อที่ไปเกือบหมดแล้ว ต่อมาพวกนายทุนก็จ้างรถมาไถที่ และจ้างชาวบ้านที่นั่นแหละมาปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่จะปลูกมะขาม พอปลูกแล้วก็จะมีคนมาถ่ายรูป พอถ่ายรูปเสร็จนายทุนก็จะจ้างชาวบ้านกลุ่มเดิมนี่แหละให้ขุดมะขามขึ้นมาใหม่แล้วย้ายแปลงปลูกไปเรื่อย ๆ ทั้งปลูกทั้งไถจนป่าแทบไม่เหลือ แล้วก็มีประกาศออกมาอีกฉบับว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยทรัพย์สินให้กับชาวบ้านด้วย
2.......
........ เมื่อรู้ว่ามีการจ่ายค่าทรัพย์สินด้วย ชาวบ้านก็เริ่มไม่พอใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พร้อม ๆ กันนั้น ชาวบ้านบางคนก็ได้ยินข่าวการประท้วงของพี่น้องปากมูล ชาวบ้านบางคนที่เคยเดินทางมากรุงเทพฯ ก็เลยตัดสินใจชักชวนกันสี่ห้าคนมาสังเกตการณ์การชุมนุมของพี่น้องปากมูล และต่อมาก็ได้เขียนจดหมายไปหาพี่มด(วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ที่ปากมูล เพื่อขอคำปรึกษาหารือ พี่พิเชษฐ์ เพชรน้ำรอบ อาสาลงมาดูพื้นที่และได้ช่วยให้ข้อมูลกับชาวบ้านอีกหลายอย่าง เพื่อให้ชาวบ้านได้ตั้งคำถามกับชลประทานได้ เริ่มตั้งแต่ว่าพื้นที่ป่าที่เอาวัวไปเลี้ยงจะจ่ายค่าชดเชยไหม ตัวหมู่บ้านน้ำจะท่วมไหม จะมีการจัดที่ให้ไหม ฯลฯ
ในที่สุดกรมชลประทานต้องส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจงให้ชาวบ้านได้ทราบว่า โครงการโป่งขุนเพชรเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการจ่ายค่าชดเชยตามมติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532 ใครมีที่ดินเท่าไรจ่ายหมด ส่วนหมู่บ้านน้ำท่วมไม่ถึง นี่นับเป็นการได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเป็นอย่างเป็นทางการเบื้องต้น ซึ่งพี่พิเชษฐกับชาวบ้านก็ได้ช่วยกันค้นคว้าต่อ และได้กลับมาตั้งคำถามกับชลประทานเช่น ถ้าบ้านเป็นเกาะจะเดินทางอย่างไร จะมีการช่วยเหลืออาชีพชาวบ้านอย่างไร
คำตอบที่ได้รับกลายเป็นคำตอบโกหกตอแหลจากพวกข้าราชการไม่เว้นแม้แต่คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจัดรายการวิทยุบอกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องบ้านที่เป็นเกาะไม่ต้องกลัวน้ำไม่ท่วมแน่นอน เพราะจะทำกำแพงล้อมรอบหมู่บ้านไว้ให้ แล้วจะสร้างสะพานยาวประมาณสองกิโลเมตรเชื่อมต่อ โดยจะซื้อจักรยานแจกเด็กนักเรียนให้ขี่ไปโรงเรียน เรียกว่าแต่งนิยายโกหกกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็เป็นคำพูดที่ดูถูกดูแคลนคนฟัง เห็นว่าชาวบ้านเป็นคนโง่ไม่รู้จักคิดถึงได้พูดออกมาอย่างนี้ได้ แต่หารู้ไม่ว่าด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อถือข้อมูลจากฝ่ายรัฐ จนนำมาสู่การจัดมหกรรมค้านเขื่อนที่ได้เชิญชวนพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนหลาย ๆเขื่อนไปพูดคุยให้ประสบการณ์
และในที่สุดพี่น้องโป่งขุนเพชรก็เข้าร่วมเรียกร้องกับ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการทุจริตจากการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร โดยเฉพาะเรื่องการทำอีไอเอและการจัดที่รองรับการอพยพ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ได้รับการตอบรับกลับมากลายเป็นการปลุกระดมชาวบ้านโดยพวกนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นว่าการสร้างเขื่อนจะได้ประโยชน์อย่างไร น้ำท่วมก็ป้องกันได้น้ำแล้งก็แก้ไขได้ ที่ชาวบ้านที่อยู่บนเขาเหนือเขื่อนก็สามารถสูบน้ำขึ้นไปทำการเกษตรได้ ถ้าสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรแล้วน้ำจะไม่ท่วมชัยภูมิ ถ้าสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรแล้วจะได้ขยายพื้นที่ชลประทานเป็นแสนไร่ คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่ชัยภูมิ แต่ไปถึงขอนแก่น ร้อยเอ็ด และพวกคัดค้านเขื่อนเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคอมมิวนิสต์
3.........
..........จากการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเข้ามาทำงานในพื้นที่อย่างจริงจังมากขึ้น ทุกคำพูดทุกคำกล่าวล้วนแล้วแต่สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับชาวบ้าน เช่น จะจ่ายค่าที่ดินที่เป็นป่าให้ด้วย ไม่ว่าวัวเดินไปกินถึงไหนก็จ่ายค่าชดเชยให้ถึงนั่น หรือลานกี่ต้น ไผ่กี่กอก็จ่ายหมด เพราะชาวบ้านได้เห็นบัญชีจ่ายค่าต้นไม้แล้วว่าเขาจ่ายค่าอะไร เท่าไร
และในอีกด้านหนึ่งกรมชลประทานก็ไปดำเนินการปรับปรุงโดยลดขนาดเขื่อนลงจากโครงการขนาดใหญ่ กลายเป็นโครงการขนาดกลาง เพื่อที่ไม่ต้องทำอีไอเอ ไม่ต้องจัดที่รองรับการอพยพ จากการเรียกร้องค่าชดเชยของชาวบ้าน เลยกลายเป็นการคัดค้านการสร้างเขื่อน ยิ่งได้ไปเจอกับพี่น้องเขื่อนสิรินธร ก็ยิ่งเห็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ก็ยิ่งคัดค้านการสร้างเขื่อนมากขึ้น
ทางชลประทานกับจังหวัดและพวกนักการเมืองก็ยิ่งปลุกระดมให้คนสนับสนุนการสร้างเขื่อนมากขึ้นด้วย จนตัดสินใจย้ายหมู่บ้านเข้าไปอยู่ในท้องอ่าง กะว่าถ้าสร้างเขื่อนก็จะยอมให้น้ำท่วมตาย จนถึงกับผู้ว่าราชการจังหวัดและ ส.ส. ส.จ.ในพื้นที่พากองกำลัง อ.ส.ติดอาวุธครบมือเป็นร้อยคนและชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่าสองร้อยคน เข้าไปบุกหมู่บ้าน เข้าไปข่มขู่ชาวบ้าน และประกาศว่าบ้านห้วยหินฝนใหม่และบ้านห้วยทับนายน้อยทำตัวเป็นรัฐอิสระ อยู่เหนือกฎหมายมีนายพิเชษฐเป็นประธานาธิบดี นายบารมีเป็นรองประธานาธิบดี ผลิตอาวุธสงครามและยาม้าจำหน่าย เสียดายว่าเมื่อชาวบ้านเอาเรื่องนี้มาร้องเรียนที่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าที่กล้าทำคนนั้นกลับไม่กล้ารับว่าเป็นตัวเขาเอง ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเหมือนตอนที่เดินกร่างเข้าไปในหมู่บ้านเลย
กลับไปจากกระทรวงมหาดไทย ชาวบ้านไปจัดอบรมสิทธมนุษยชนมีนักกฎหมายจากสมาคมนักสิทธิอีสานมาช่วยอบรมให้ หลังจากนั้นก็มีการจัดทำบุญในหมุ่บ้านปรากฎว่าระหว่างทำบุญที ฮ.มาบินวนในตอนกลางวัน พอตกกลางคืนก็มีคนมายิงขู่ผม เฉียดหัวไปสักวาเห็นจะได้ พอมาร้องเรียนที่กระทรวงมหาดไทยอีก เลขา มท.1 มโนญช์ วิชัยกุลก็กล่าวหาว่าเราสร้างสถานการณ์กันเอง
เมื่ือพึงไม่ได้ก็เลยไปจัดแถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวที่ตอนนั้นอยู่แถวราชดำเนิน ตอนที่แถลงข่าวก็มีการเอาข้อมูลทุจริตไปเล่าด้วย ปรากฎว่ากรมชลประทานส่งคนไปฟังด้วยและไปตอบโต้ว่ากรมชลประทานไม่มีความผิด ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ไม่ได้สมคบกับนายทุนไปหลอกลวงชาวบ้าน เพราะข้อมูลการสร้างเขื่อนเป็นข้อมูลที่เปิดเผยใคร ๆก็สามารถรู้ได้ ถ้ามีการทุจริตจริงก็ต้องมีการตรวจสอบเอาผิด แต่การทุจริตไม่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ยังไงการสร้างเขื่อนก็ควรจะเดินหน้าต่อไป
แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยมีวี่แววว่ากรมชลประทานจะจับคนทุจริตได้ และก็ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกว่าเป็นข้อมูลเปิดเผยที่ใคร ๆก็รู้ได้นั้น ชาวบ้านที่เป็นผุ้ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับไม่รู้ และไม่เคยมีโอกาสจะได้รับรู้ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานไม่ได้ปิดบัง แต่ไม่ได้บอกให้รู้เลยต่างหาก
4..........
..........ต่อมาหลังจากที่ทำอะไรชาวบ้านไม่ได้ ท่าน ส.ส.ก็ไปร้องกรรมาธิการอะไรสักอย่างของสภา พวกกรรมธิการก็มาลงพื้นที่ จำได้ว่ามีอยู่คนนึงแนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์กฎหมายชื่อกุหลาบ อะไรประมาณนี้มาเที่ยวข่มขู่ชาวบ้านว่าบุกรุกป่าผิดกฎหมาย ส่วนคนที่เป็นประธานชื่อสนิท จากพรรคประชากรไทย ก็ไม่ได้รับฟังอะไรชาวบ้านเลย มีแต่บอกให้ชาวบ้านอย่าไปฟังคำยุยงจากพวกเอ็นจีโอ อย่าคัดค้านการสร้างเขื่อน พูดๆๆๆ อยู่สักพักก็กลับไป แล้วไปประชุมกันมีมติว่ายังไงก็ไม่ทราบได้ เพราะไม่มีใครสนใจ เนืองจากไม่มีใครนับถือกรรมาธิการชุดนี้
แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปเจอชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนลำคันฉู เมื่อได้คุยกันจึงทราบว่าวิธีการหากินแบบนี้เป็นเรื่องปกติเคยมีคนในกรมชลประทานที่ถูกไล่ออกเพราะเรื่องนี้ก็มีเหมือนกัน แต่การทุจริตก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
ชาวบ้านโป่งขุนเพชรได้เอาเรื่องราวของชาวบ้านลำคันฉุมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับคือมีการลักลอบเผาบ้านของชาวบ้าน มีการลงข่าวใส่ร้ายป้ายสีชาวบ้านผ่านหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียวกันเลยทีเดียว
เริ่มมีทหารจากกองทัพภาค ๒ เข้ามาวุ่นวาย โดยนายทหารอ้างชื่อว่า เสธ.ขาว มาอาสาแก้ไขปัญหา แบบว่าถ้าไม่ยอมไกล่เกลี่ยจะไม่รับประกันความปลอดภัยอะไรประมาณนั้น ว่าแล้วก็มีนักสันติวิธีชื่อวันชัย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอาสาเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย
แกมากับทหารที่มาบังคับให้เราไกล่เกลี่ย แต่แกบอกว่าแกเป็นนักสันติวิธี แล้วแกก็มาจัดอบรมให้กับชาวบ้านด้วยการโฆษณาสรรพคุณว่าแกได้ไปไกล่เกลี่ยเรื่องโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก บ้านกรูดมา เรื่องท่อก๊าซเมืองกาญจน์ เรื่องท่อก๊าซจะนะ แกก็เป็นคนไกล่เกลี่ย แล้วแกก็อบรมสั่งสอนชาวบ้าน ว่าการไกล่เกลี่ยคืออะไร มีกี่วิธี คนกลางคือใครมีหน้าที่อะไร ต้องทำตัวอย่างไร ประมาณนี้แหละ แล้วก็จัดคู่ขัดแย้งให้เราคือ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านกลุ่มที่ต้องการน้ำ เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวแกก็ลากมาหมด และนัดหมายว่าให้ไปจัดที่ป่าหินงามตามที่เราเสนอ
ก่อนจะถึงวันนัดหมายก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรต่อมิอะไร เดี๋ยวมีคนยิงปืน เดี๋ยวมีคนเจอรอยรองเท้าทหารอยู่รอบๆ หมู่บ้าน และก็มีไฟไหม้บ้านอีก ทีนี้เห็นหลังไว ๆว่าใส่เสื้อสีเขียวแบบเสื้อทหาร ชาวบ้านก็เลยโทรหาหมอวันชัยว่าถูกข่มขู่คุกคาม คุยไปคุยมาหมอเสนอให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมไกล่เกลี่ยจากป่าหินงามเป็นวัดบ้านไร่ ของหลวงพ่อคูณ แต่เราเสนอให้ไปจัดที่สถาบันราชภัฎนครราชสีมา ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ที่เป็นกลางมากกว่า หมอวันชัยก็เห็นดีเห็นงามด้วย
แต่พอถึงวันนัดหมาย หมอกลับพาพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านไปที่วัดหลวงพ่อคูณ เมื่อไม่พบพวกเราก็กล่าวหาว่าพวกเราไม่จริงใจแล้วก็พากันไปกราบขอพรหลวงพ่อคูณ ๆ ก็สนับสนุนให้สร้างเขื่อนจะได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แล้วไปลงข่าวในหนังสือพิมพ์หัวเขียวว่าพวกเราไปแต่ไม่ยอมเข้าประชุม แต่ความจริงพวกเราไปโคราช ไปรอตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ก็ไม่เจอใคร ชาวบ้านจึงพากันไปแถลงข่าวที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาขอให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพยานว่าเรามาตามนัดแล้ว แต่หมอวันชัยต่างหากที่เบี้ยว
หลังจากนั้นพวกชาวบ้านกับหมอวันชัยก็ไม่เคยได้เจอกันอีก และเมื่อชาวบ้านมาเจอกับพี่น้องบ่อนอก บ้านกรูด ทั้งกระรอกและพี่เจี๊ยบต่างยืนยันว่า หมอวันชัยแค่มาศึกษาไม่ได้มาไกล่เกลี่ยอะไรเลย และทั้งสองคนก็ไม่ได้มีความนับถือ เชื่อถืออะไรหมอวันชัยเป็นพิเศษด้วย
5........
..........เมื่อพวกนักสันติวิธีหายหัวไป ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างสบายขึ้น การกดดันจากฝ่ายต่าง ๆลดลง แต่ปัญหาที่พบเจอกลับกลายเป็นความแห้งแล้งที่เข้ามาเยือน และราคาของป่าที่ตกต่ำลงทุกวัน หน่อไม้ปี๊บขายแทบไม่ได้เพราะมีคนแถวภาคเหนือที่กินหน่อไม้ปี๊บแล้วเป็นพิษ ชาวบ้านถึงขนาดต้องขุดเผือกขุดกลอยกินกัน เนื้อสัตว์แทบไม่ได้แตะ จนพูดล้อเล่นกันในหมู่บ้านว่ากินแกงหน่อไม้สดใสหน่อไม้ดอง แกงมะเขือขื่นใส่มะเขือพวง หลายคน หลายครัวเริ่มทะยอยออกมาทำมาหากินในกรุงเทพ
พร้อมๆกันนั้นรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาทำการศึกษาเรื่องเขื่อนที่ยังไม่ได้ก่อสร้างซึ่งมีเขื่อนโป่งขุนเพชรรวมอยู่ด้วย และต่อมาคณะกรรมกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ มี อ.นวลน้อย ตรีรัตน์เป็นประธาน มาศึกษาเรื่องโป่งขุนเพชรโดยเฉพาะ มีนักวิชาการเช่น อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศานต์ และใครอีกหลายคนมาศึกษาข้อมูลในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยสะแกราชมาศึกษาเรื่องสมุนไพร แบบว่ามาสองวันเดินได้ไม่ถึงสามกิโลเมตร เพราะเดินไปตรงไหนก็เจอแต่สมุนไพร แกบรรยายสรรพคุณจนชาวบ้านจดกันไม่ทัน สุดท้ายไม่ได้ดูป่า แค่เดินอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านนั่นก็หมดเวลาแล้ว
พอเรื่องเงียบหายไปคนที่อยู่ไม่ได้คือพวกนักการเมืองทั้ง ส.ส.และ ส.จ. มาประกาศจัดชุมนุมที่อำเภอหนองบัวระเหว ใช้สโลแกนว่า "น้ำคือชีวิต เราต้องการเขื่อน" กะว่าจะระดมคนสักห้าพันเพื่อมาลุยมาทำลายในพื้นที่กันเลยทีเดียว ตอนนั้นช่วงประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เสธ.หนั่นเป็น รมว.มหาดไทยและได้ไปตั้งศูนย์ขจรเดชเป็นศูนย์บัญชาการอยู่ที่สนามม้านางเลิ้ง
พี่มดได้ติดต่อไปยังที่ปรึกษาที่นั่นเพื่อขอความช่วยเหลือให้หยุดการกระทำของพวกนักการเมือง โดย พี่มดและผมได้เข้าไปพบกับที่ปรึกษา มท.๑ ซึ่งต่อมาก็ได้ลงมาดูที่พื้นที่ด้วยคือ อ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ พี่ปรีชา ไพรัมย์และรองผู้ว่านครราชสีมานายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ทั้งสามท่านนี้ได้ ช่วยพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิให้ช่วยหยุดการกระทำของพวก ส.ส. ส.จ. แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะจะต้องเสียหายขายหน้ามาก
สุดท้ายทราบมาว่ามีการเจรจากันว่าขอให้จัดเวทีแค่นั้นพอ ห้ามเคลื่อนม๊อบไปไหนเด็ดขาด และผู้ว่าฯยังมาประกาศออกวิทยุในเช้าวันชุมนุมห้ามไม่ให้คนไปชุมนุมอีกด้วย สุดท้ายมีคนไปชุมนุมสักสามร้อยคนเห็นจะได้ ในส่วนพื้นที่พวกเราก็เตรียมการต้อนรับ โดยให้ชาวบ้านไปหลบอยู่ในที่ปลอดภัยและจัดเตรียมคนไว้คอยเจรจาด้วย
หัวหน้าเหลาไทและหัวหน้าปิยะที่มาให้กำลังใจอาสาไปดูลาดเลาที่ชุมนุมให้ ซึ่งปรากฏว่าทั้งสองไปทำหน้าที่ได้ดีเกินคาด พาชาวบ้านฝ่ายนั้นกินเหล้าเมากันอุตลุดโดยให้ชาวบ้านไปเอาเหล้าจากแม่ค้าให้อ้างว่า ส.จ.คนหนึ่งจะเป็นคนจ่ายให้ แม่ค้าให้เหล้ามาพวกชุมนุมก็กินกันไปสุดท้ายคุมกันไม่อยู่ ต้องยุติการชุมนุมไปเอง เข้าใจว่าพวก ส.ส. ส.จ. คงบอบช้ำกันไปหลายเงิน
เสร็จจากการชุมนุมผมก็เข้ากรุงเทพมาทำกรมทะเบียนการค้า ค้นหาบริษัทที่กรมชลประทานอ้างว่าไปรับเหมา ปรากฎว่าเป็นจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลาง ผมตามไปดูถึงจังหวัดนั้น แต่ไม่พบบริษัท มีแต่ห้องแถวปิดอยู่เท่านั้นสอบถามคนแถวนั้นก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นบ้านพักธรรมดา ไม่เคยเป็นบริษัทเลยตั้งแต่ก่อสร้างห้องแถวนี้มา ผมก็ได้แต่พกความสงสัยกลับมาเล่าให้ชาวบ้านฟัง
ต่อมาคณะอนุกรรมการได้จัดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน โดยรับฟังจากฝ่ายสนับสนุนก่อน เนื้อหาที่ฝ่ายสนับสนุนนำเสนอก็ไม่มีอะไร เป็นข้อมูลเดิมๆที่ชลประทานพูดกรอกหูไว้เท่านั้น แต่ในขณะที่ความเห็นของฝ่ายคัดค้าน พวกชาวบ้านเอาวิถึชีวิตจริงมานำเสนอว่าเราใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไร มีเห็ดอะไรบ้าง มีไผ่อะไรบ้าง ใช้ใบลานทำอะไร ใช้ยังไง แบบว่าตอนที่เอาไปแสดงนี้ฝ่ายสนับสนุนมองกันตาค้าง เงียบกริบทั้งห้องประชุม
หลังจากที่แสดงเสร็จมีเสียงกระซิบจากพวกสนับสนุนว่า "คงสร้างไม่ได้แล้วละ เขามีของดีจริง" พวกชาวบ้านกลับบ้านด้วยความปลาบปลื้มใจ แต่สุดท้ายข้อสรุปของคณะอนุกรรมการซึ่งเขียนโดย อ.นวลน้อย สรุปว่า หากจะสร้างต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อน เป็นที่ผิดหวังแก่ชาวบ้านยิ่งนัก
6.......
..........วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 มีการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำ