นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการจัดการป่าไม้ที่ดินที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมานานแล้ว ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำก็ยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังอีกเรื่องหนึ่ง จนหลายคนพูดว่าขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ในเรื่องนี้เป็นมหากาพย์ยาวๆ ได้หลายเรื่องเลยทีเดียว ประเด็นขัดแย้งที่สำคัญประเด็นหนึ่งในเรื่องของการจัดการน้ำคือการสร้างเขื่อน ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้สามารถสร้างค่านิยมให้คนไทยเชื่อได้ว่าการสร้างเขื่อนเป็นคำตอบสุดท้ายและเป็นคำตอบที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง
การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลในเรื่องการสร้างเขื่อน ที่สร้างภาพฝันให้เห็นว่าถ้าสร้างเขื่อนแล้วจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จะสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จะเพิ่มความมั่นคงในระบบอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของต่างชาติ อันจะนำมาสู่ความมั่งคั่งของประเทศชาติ ประชาชน
แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนศรีนครินทร์ ฯลฯ ไม่เคยมีการติดตามสอบถามว่าคนเหล่านั้นอยู่กินกันอย่างไร ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแค่ไหน แม้กระทั่งมีการร้องเรียน มีการประท้วงอยู่มากมายแต่รัฐบาลก็ไม่เคยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ไม่เคยแม้จะเปิดเผยและยอมรับข้อมูลความเดือดร้อนที่เป็นจริง หนำซ้ำหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานยังใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องอีกด้วย เช่น ช่วยเหลือไปมากมายแล้วไม่รู้จักพอ ชาวบ้านไม่ได้เดือดร้อนจริง เป็นต้น
ต่อมาในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ยังได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการทรัพยาการน้ำ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่กำหนดเรื่องการจ่ายค่าชดเชยว่า
กรณีโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย
กรณีโครงการขนาดกลาง จ่ายค่าชดเชยที่ดินเพียงอย่างเดียว
กรณีโครงการขนาดใหญ่ นอกจากจ่ายค่าชดเชยที่ดินแล้วยังต้องจัดหาที่ดินรองรับการอพยพด้วย
เรื่องนี้ดูง่าย ๆเหมือนจะเป็นธรรม แต่ถ้าลองดูรายละเอียดจริง ๆ ในโครงการขนาดเล็กเช่น เขื่อนห้วยละห้าของยายไฮ ขันจันทา ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็กทั้งที่น้ำท่วมที่ทำกินแกหมด แล้วด้วยสาเหตุอะไรที่แกไม่ควรจะได้ชดเชย และถ้าว่ากันตรงไปตรงมาสิ่งที่ยายไฮควรจะได้รับไม่ใช่เป็นค่าชดเชย แต่ต้องเป็นการชดใช้ความเสียหายเพราะแกไม่ได้ยินยอม แต่สุดท้ายสิ่งที่ออกมาคือกลายเป็นการช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมเพียงเท่านั้น
คนที่ต้องการให้สร้างเขื่อนนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง นึกถึงแต่ความเสียหายที่ตัวเองจะได้รับ แต่ไม่เคยคิดถึงคนที่จะต้องเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน ไม่เคยสนใจว่าคนที่ถูกน้ำท่วมจะกินจะอยู่อย่างไร ผมอยากให้คนที่ต้องการสร้างเขื่อนออกไปดูบ้างว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเขาอยู่เขากินกันอย่างไร สิ่งที่รัฐบาลจ่ายให้เขาไปนั้นมันคุ้มค่า มันเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่เอาแต่จะได้อย่างเดียว
ในสังคมที่เราเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่เอาสองมาตรฐาน เราก็ควรจะมาช่วยคิดด้วยว่าการสร้างเขื่อนที่เป็นธรรมควรจะต้องทำอย่างไร สมมติว่าถ้าต้องการให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็ต้องมาดูว่าใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์และได้รับประโยชน์เท่าไร ถ้าคิดตลอดการใช้งานของเขื่อนแก่งเสือเต้น เขาจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าไร และเขาจะจัดสรรผลประโยชน์นั้นให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างไร ไม่ใช่จะมาจ่ายเงินชดเชยแค่ครั้งเดียวแล้วก็จบไปปล่อยให้ชาวบ้านไปผจญชะตากรรมเอาเอง ที่สำคัญคือเงินค่าชดเชยก็ไม่เป็นธรรมอีกด้วย และค่าชดเชยที่เป็นธรรมต้องไม่ใช่แค่เอาเงินไปฟาดหัวเท่านั้น แต่ต้องคิดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างถาวรและไม่มีวันกลับคืนมาได้อีก
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่ามาจากฝ่ายประชาชนที่รักความเป็นธรรม ไม่เอาสองมาตรฐาน ควรจะต้องคิดคำนึงถึงเรื่องนี้ให้รอบคอบรอบด้านและรับฟังเสียงของคนที่จะได้รับผลกระทบให้มากกว่านี ไม่ใช่จะดันทุรังสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะหากยังคงดำเนินการในแบบเดิมต่อไปการสร้างเขื่อนก็จะกลายเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมยิ่งขึ้นไปอีก
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้ไม่ได้ต้องการโต้เถียงในเรื่องระบบนิเวศ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ และไม่ได้เป็นข้อเสนอใด ๆ จากชาวบ้านว่าต้องการแบบนี้ แต่เป็นมุมมองของผู้เขียนเองที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐาน เป็นการเลือกปฎิบัติจากรัฐบาลที่อ้างว่าไม่เลือกปฎิบัติ ไม่เอาสองมาตรฐาน เท่านั้น