Skip to main content

นายยืนยง



17_8_01

ชื่อหนังสือ : ก่อนเริ่มโรงเรียนวิชาหนังสือ

(สูจิบัตรในงาน ‘หนังสือ ก่อนและหลังเป็นหนังสือ’ )

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ


สัปดาห์ก่อนไปมีปัญหาเรื่องซื้อหนังสือกับพนักงานขายของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ด้วยเพราะหนังสือที่จะซื้อมีราคาไม่เป็นจำนวนถ้วน คือ ราคาขายมีเศษสตางค์ เป็นเงิน 19.50 บาท เครื่องคิดราคาไม่ยอมขายให้เรา ทำเอาพนักงานวิ่งถามหัวหน้ากันจ้าละหวั่น ต้องรอหัวหน้าใหญ่เขามาแก้ไขราคาให้เป็น 20.00 บาทถ้วน เครื่องคิดราคาจึงยอมขายให้เรา เออ..อย่างนี้ก็มีด้วย เดี๋ยวนี้เศษสตางค์มันไร้ค่าจนเป็นแค่สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เท่านั้นเอง


หนังสือเล่มดังกล่าวนั้น มีราคาถูกจนน่าตกใจเลยทีเดียว เนื่องจากสำนักพิมพ์ใช้กระดาษสีขาวเคลือบมันอย่างดี ตัวอักษรเป็นสีน้ำตาลแก่ มีภาพประกอบ ปกอ่อนแต่ใช้กระดาษแข็งสีเขียวขี้ม้า ทั้งเล่มมีจำนวน 184 หน้า เมื่อเปรียบเทียบราคากับคุณภาพหนังสือแล้วต้องบอกว่า ราคาถูกมาก


ในหน้า 2 เขาพิมพ์ไว้ว่า

หนังสือนี้ เป็นหนังสือที่ระลึก

จัดทำด้วยกรรมวิธีเร่งรีบ เพื่อให้ทันงาน

มิได้เย็บกี่ก่อนเข้าเล่มไสกาว

และกำหนดราคาไว้เพียงเพื่อให้ ‘มีราคา’

โปรดอย่าเปรียบเทียบกับราคาหนังสือเล่มอื่นใดทั้งสิ้น

ไม่ว่าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หรือสำนักพิมพ์ใดในโลก

และกรุณาอย่าส่งคืนสำนักพิมพ์

หากกระดาษหลุดจากเล่มเป็นใบปลิว

(อารมณ์ขัน)


หนอนหนังสือจะรู้ดีกว่า สำนักพิมพ์ผีเสื้อ มีนโยบายพิมพ์หนังสือด้วยความประณีต เย็บกี่เข้าเล่มอย่างดี หากหนังสือหลุดออกเป็นกระดาษก็ส่งคืนสำนักพิมพ์ได้เลย เขาจะส่งหนังสือเล่มดังกล่าวที่สมบูรณ์มาให้ พร้อมหนังสือเล่มอื่นของสำนักพิมพ์ฝากตอบแทนให้ด้วย เป็นนโยบายที่แสดงความรับผิดชอบอย่างน่ายกย่อง แต่กับหนังสือ ก่อนเริ่มโรงเรียนวิชาหนังสือ เล่มนี้ สำนักพิมพ์ผีเสื้อทำราวกับว่าเป็นการส่งสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อวงการหนังสือบ้านเรา


ทุกวันนี้ หากจะซื้อหนังสือต้องมีเงินหลักร้อยขึ้นไปทั้งสิ้น ครอบครัวที่ต้องจำกัดจำเขี่ยย่อมต้องคิดคำนวณพอสมควรหากจะซื้อหนังสือสักเล่มสองเล่ม บางทีก็รู้สึกว่ามันแพงจังนะ หนังสือสมัยนี้อย่าว่าแต่พ็อกเก็ตบุ๊คเลย แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์รายวันก็มีราคาเท่ากับ นม UHT 1 กล่อง กระทิงแดง 1 ขวด หรืออะไรต่อมิอะไร ไม่รู้ว่าหนังสือมีต้นทุนการผลิตกี่รายการ อะไรบ้าง ค่ากระดาษ ค่าหมึก ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสายส่ง ฯลฯ เคยมีคนบอกว่า นักเขียนจะได้ค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 10 % แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ร้านหนังสือประมาณ15-25 % ค่าสายส่งหนังสือตกราว ๆ 40-45 % ที่เหลือเป็นของสำนักพิมพ์ หากเป็นเช่นนั้นจริง สายส่งหนังสือก็ไม่ต่างจากเสือนอนกินเท่านั้นเอง


เมื่อหนังสือแพงก็ย่อมตกถึงมือผู้อ่านไม่ทั่วถึง แม้จะมีหอสมุดแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรนัก หนังสือส่วนใหญ่ไม่ทันสมัย เคยเห็นรายการขอรับบริจาคหนังสือ เช่น หนังสือมือสองเพื่อน้อง อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวนี้เห็นมีคำขอร้องว่า ถ้าหนังสือบอบช้ำ หน้าไม่ครบ หรือจวนจะเป็นฝุ่นแล้ว ก็กรุณาเก็บรักษาไว้ที่บ้านคุณเถิด ถ้าจะบริจาคก็ขอให้เลือกหนังสือที่สภาพดี นึกถึงคนที่เขารับบริจาคบ้างเถิด เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นที่ประเทศเรา พวกใจบุญทั้งหลายที่ใจแคบ เผลอคิดว่าการทำบุญเป็นการกำจัดขยะในบ้านตัวเอง แต่ใคร ๆ ก็พยายามพูดถึงวัฒนธรรมการอ่านกันเสียจริง ไม่รู้จริงใจกับการอ่านมากน้อยแค่ไหน


เดิมทีโน้น บ้านเราจะมีสักกี่คนที่ได้เรียนหนังสือ ได้หยิบจับหนังสือ นอกจากพวกลูกเจ้าขุนมูลนาย ลูกข้าหลวง ลูกพ่อค้ามีอันจะกิน หนังสือแต่ละเล่มต้องกราบกรานกันราวพระพุทธรูป ห้ามข้าม ห้ามเหยียบ คุณค่าของหนังสือมาจากเนื้อหาที่ได้จากการอ่าน หรือ ตัวเล่มหนังสือ กันแน่หนอ


โดยส่วนตัว ฉันให้ค่าความหมายกับคุณค่าจากเนื้อในมากกว่า หนังสือบางเล่มพิมพ์อย่างดี หรูหรา ประณีต อ่านแล้วก็ต้องเก็บเข้าตู้ จะให้ใครอ่านต่อหรือบริจาคก็คงต้องรอให้เจ้าของมรณาไปเสียก่อน คุณค่าจากการอ่านจึงจำกัดไว้เฉพาะเจ้าของที่มีปัญญาซื้อ คนไม่ได้เป็นเจ้าของก็หมดสิทธิ์ไป


ว่าไปแล้ว หนังสือนั้นจะมีค่าคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีคนอ่านเท่านั้นแหละ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง เป็นของประดับบ้าน เสริมบารมี ไม่ต่างจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่แน่นอนว่า หากหนังสือที่จัดพิมพ์ด้วยกรรมวิธีประณีต เพิ่มความคงทน ก็ช่วยยืดอายุหนังสือได้มาก ยาวนานไปถึงรุ่น ลูก หลาน เหลนโน่น จะมีคุณประโยชน์ตรงนั้น
(ถ้าเขาหยิบมาอ่านนะ)


ลองคิดเล่น ๆ ดูว่า การให้คุณค่าหนังสือระหว่างเนื้อหาที่ได้จากการอ่านและคุณค่าของตัวหนังสือในสังคมไทยก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้น้ำหนักไปทางด้านใดมากกว่ากัน หรืออาจจะพอ ๆ กัน แต่สำหรับบางคนที่นับถือเนื้อในมากกว่าย่อมไม่พอใจแน่หากหนังสือจะมีต้นทุนทางกรรมวิธีการจัดพิมพ์เป็นเล่มที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสูงตามไปด้วย


แน่นอนหากหนังสือมีราคาถูก ซื้อหาได้ง่าย น่าจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือลงไปได้มากโขอยู่ โลกทุกวันนี้ก็เป็นอย่างที่รู้เห็นกันนั่นเอง มีสื่อให้เลือกเสพตามสะดวก ทั้งโทรทัศน์ ทั้งอินเตอร์เน็ต แต่กับสังคมไทยเรา อย่าลืมว่า สื่ออิเล็คทรอนิคส์ต่าง ๆ ล้วนกระจุกอยู่ในกลุ่มคนจำเพาะ เช่น คนชั้นกลาง ยังมีคนไทยอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ไร้ช่องทางจะเข้าถึงสื่อเหล่านี้ ไม่เว้นกระทั่งโทรทัศน์ เพราะบางคนเขาไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ฉะนั้นหนังสือน่าจะเป็นทางเลือกที่กว้างขวางและไร้ขีดจำกัดมากที่สุด แม้ว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออก อย่างไรก็ตาม จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ถ้าหนังสือจะมีราคาค่างวดหรือต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อกระจายโอกาสการอ่านได้ทั่วถึง


อีกข้อหนึ่งที่มาพร้อมกับทัศนคติแบบยกย่องบูชาหนังสือจนเกินกว่าเหตุ จนทำให้หนังสือกลายเป็นสินค้าที่ต้องมาพร้อมกับทัศนคติทางการตลาดแบบพิเศษ ทำนองว่า หนังสือประเภทนี้คนอ่านต้องเป็นครูบาอาจารย์เท่านั้น เคยเห็นกับตามาแล้ว ที่ตลาดนัดหนังสือมือสองมีคนเอาพวกมติชน เนชั่นสุดสัปดาห์เล่มเก่า ๆ มาขาย มีเสียงแซวจากบางคนว่า หนังสือพวกนี้ขายไม่ได้ร้อก โน่นต้องพวกปริญญาโทอะไรโน่น เป็นอย่างนั้นไปได้เนอะ... ไอ้อย่างงี้เราพอจะเรียกว่าเป็นเศษซากของระบบศักดินาได้หรอกกระมัง


อีกอย่างหนึ่ง หนังสือหนังหาทุกวันนี้ มีอันจะต้องขายในห้องแอร์เย็น ๆ มีพนักงานขาย มีโปรโมทชั่นสมัครสมาชิกได้ส่วนลด มีเพลงฟังขณะเลือกซื้อหนังสือ กาแฟสด ขนมปัง ให้บริการตลอดบรรยากาศการอ่าน กว่าจะได้หนังสือสักเล่มต้องลากสังขารไปถึงห้างสรรพสินค้า เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของหนังสือแต่ละเล่มใช่หรือไม่? ต่อให้ตาสีตาสาตายไปแล้วเกิดใหม่อีกกี่ภพชาติ ก็ไม่มีวันได้ซื้อหนังสืออ่านกันหรอก บรรดาอุปสรรคเหล่านี้มันชักจะโยงใยเป็นเครือข่ายกระบวนการกันไปทุกทีแล้ว โอกาสที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะเข้าถึงหนังสือนั้นเหมือนเป็นเรื่องของการตายแล้วเกิดใหม่ หรือต้องนั่งระลึกชาติกันเอง บางคนก็โทษว่า ตาสีตาสาเหล่านั้นไม่อ่านหนังสือหรอก เขาไม่อ่านหนังสือกันหรอกคนพวกนี้น่ะ เขาคิดแต่เรื่องหากินไปวัน ๆ ต่อให้มีหนังสืออ่านฟรี ๆ เขาก็ไม่สนใจจะหยิบมาอ่าน ไม่รู้ว่าทัศนคติอย่างนี้ถูกหรือผิดหรอก แต่ที่เราแน่ใจตลอดมาคือ ทุกคนล้วนมีสิทธิ์เท่าเทียมที่จะเข้าถึงโอกาส ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า การอ่านของเราเป็นเรื่องที่ต้องมีพิธีรีตอง เป็นปราการกีดกั้นคนจำนวนมากจากหนังสือ ที่ถือได้ว่าเป็นสื่อที่ทันสมัยตลอดกาล เปิดกว้างและเป็นเอกเทศที่สุดอย่างหนึ่ง


ขณะที่ มกุฏ อรฤดี ได้เขียนแสดงทัศนคติไว้ในเล่ม ก่อนเริ่ม โรงเรียนวิชาหนังสือ (หน้า 12)

เรื่อง ความเข้าใจเรื่องหนังสือ การอ่าน และระบบหนังสือสาธารณะ ไว้ว่า


อีกไม่ช้าไม่นาน ประเทศไทยก็จะมีสถาบันทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องหนังสือ ระบบหนังสือสาธารณะ และการอ่านในชาติ ชื่อ ‘สถาบันส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้’ เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล


สถาบันดังกล่าวนี้มีภาระหน้าที่หนักหนาสาหัสรออยู่มาก ด้วยว่า ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างจริงจังและตรงจุดว่า ทำอย่างไรให้คนไทยอ่านหนังสือได้ทัดเทียมฅนในชาติอื่น ประเทศอื่น ทำอย่างไรให้เรื่องการอ่านหนังสือเป็นสิ่งปกติธรรมดาในชีวิต ที่ไม่ต้องรณรงค์หรือชักชวนกัน (คงไม่จำเป็นต้องอธิบายอีกแล้วว่า การอ่านนั้นจะนำประโยชน์ใหญ่หลวงมาสู่คนไทย และประเทศชาติอย่างไร) จะมีก็แต่การวิจัยที่ได้ตัวเลขออกมาว่า ฅนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละไม่กี่บรรทัด


(หน้า 15)

ข้อเท็จจริงของระบบหนังสือ กระบวนการส่งเสริมการอ่านและระบบหนังสือสาธารณะของประเทศไทยนั้น หากกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา (ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำเช่นนั้น) ก็คือมีปัญหาไปเสียทุกจุด ทุกขั้น ทุกตอน ทุกส่วน ทั้งระบบ เสมือนห่วงโซ่แห่งปัญหาที่กระจัดกระจายกันอยู่ แม้เมื่อนำมาคล้องเข้าด้วยกัน ก็จะเห็นตรวนปัญหาที่ใหญ่ยิ่งและยากจะแก้ ยากจะปลด หากไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบจริงจัง และพิจารณาปัญหาทั้งระบบ ซึ่งต้องปฏิบัติอย่างเข้าใจและซื่อตรง


ลองไล่เรียงจากส่วนยอดสุดที่ถือว่าสำคัญยิ่งของระบบหนังสือแห่งชาติ คือ ราชบัณฑิตยสถาน


ถัดไปจะเป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (..2542) ที่มีข้อควรพิจารณาสองด้าน คือ

.ข้อผิดพลาดบกพร่องที่เสมือนหนึ่งจงใจ

.ข้อผิดพลาดบกพร่องที่เสมือนไม่เข้าใจเรื่องหนังสือ


ในหน้า 17 – 18 มีคำถามที่น่าสนใจว่า

เหตุใดจึงไม่ใช่กระดาษสำหรับพจนานุกรม แต่ใช้กระดาษปอนด์ ๘๐ แกรม

พจนานุกรมเป็นหนังสือชนิดพิเศษ นานาอารยประเทศหรือแม้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็รู้ดีว่า

การพิมพ์พจนานุกรมจำต้องใช้กระดาษชนิดพิเศษที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลว่าเป็นกระดาษบางกว่ากระดาษพิมพ์หนังสือปกติ มีเนื้อเหนียวแน่น ทั้งนี้ก็เพราะพจนานุกรมนั้นต้องใช้งานบ่อย ตัวเล่มไม่ควรให้มีน้ำหนักมาก และไม่หนาจนเกินควร


แต่พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ..๒๕๔๒ นี้ หนาถึง ๑,๔๗๒ หน้า (จำนวนหน้าจริงของพจนานุกรม เมื่อพิมพ์เสร็จคือ ๑,๔๙๐ หน้า) กำหนดให้พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ ๘๐ แกรม ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกยิ่ง


(หน้า 20)

รูปเล่มเทอะทะ โดยเฉพาะเมื่อวางเทียบกับพจนานุกรมของชาติอื่นที่ผลิตในศักราชเดียวกัน ย่อมทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจไปว่าฅนไทยไม่รู้เรื่องการทำหนังสือ เพราะแม้แต่พจนานุกรมซึ่งเป็นหนังสือสำคัญของชาติ ก็ทำออกมาเช่นนี้


หากราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้กระดาษสำหรับพิมพ์พจนานุกรมในการพิมพ์ ความหนาก็เหลือเพียงประมาณ ๖.๖ เซนติเมตร น้ำหนักเหลือเพียง ๒ กิโลกรัมเศษ การใช้งานจะสะดวกขึ้นมาก รูปเล่มก็สวยงามขึ้นด้วย (เล่มที่เราเห็นกันมีน้ำหนักถึง 3 กิโลกรัมเศษ)


ยังมีข้อสังเกตที่มกุฎ อรฤดี เขียนไว้อย่างน่าคิด คือ ทำไมพจนานุกรมต้องพิมพ์สองสี ทำไมจึงเป็นสีน้ำเงิน (ฟ้าอ่อน) และ ทำไม พจนานุกรมสันโค้งของราชบัณฑิตยสถานไทยจึงแตกต่างจากหนังสือสันโค้งของชาติอื่น


หากใครสนใจจะหามาอ่านต่อก็จะเป็นการดี เพราะในเล่มมีจดหมายจากเลขาธิการ ราชบัณฑิตยสถาน ที่พยายามชี้แจง ให้เหตุผลอธิบายข้อสังเกตของมกุฏ อรฤดี พิมพ์ประกบไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นการให้เหตุผลแห้งแล้งแบบระบบราชการไทยตามเคยนั่นเอง



ไม่ว่าหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงโดยอ้อมจะมีมติ นโยบายอะไรอย่างไร ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้ผลิตหนังสือ สำนักพิมพ์ นักเขียน ต่างล้วนตระหนักในวิกฤตข้อนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ฉันยังอยากให้มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงหนังสือและการอ่านได้อย่างสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมการ ไม่ใช่ว่ามีรัฐบาลที่พยายามยัดเยียดความเป็นคนยากจน ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำจนแทบจะไม่มีเวลาหยิบหนังสือให้ประชาชนอยู่ตลอด เช่นนั้นคงไม่ต่างจากวางยาพิษประชาชนเท่านั้นเอง


จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า หนังสือแต่ละเรื่องจะจัดพิมพ์ไว้หลายราคา เหมือนอย่างที่ชาติ กอบจิตติ นักเขียนเจ้าของผลงานลือชื่ออย่าง คำพิพากษา พันธุ์หมาบ้า ฯลฯ ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือของเขาไว้สองแบบ มีทั้งปกอ่อน ราคาย่อมเยา และแบบปกแข็งสำหรับนักอ่านที่นิยมการเก็บสะสม หรือจะจัดพิมพ์หนังสือให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด (อาจยกเว้นให้กับหนังสือบางประเภท) คือให้ใช้กระดาษรีไซเคิล ที่มีราคาประหยัด ทำให้หนังสือมีน้ำหนักเบา ขนาดเหมาะมือ สามารถถืออ่านขณะยืนรอรถประจำทาง อ่านบนรถไฟ อย่างประเทศชาติบ้านเมืองอื่นเขา อ่านจบแล้วถ้าไม่อยากเก็บไว้ก็สามารถวางใส่ตะกร้าที่จะมีไว้รองรับบริจาคหนังสือได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องนึกเสียดายให้มากนัก คนอื่นมาเห็นเกิดอยากอ่านก็หยิบมาอ่าน ไม่ผิดกติกาอะไร


ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า หนังสือบางประเภท เช่น พจนานุกรม คัมภีร์ทางศาสนา ก็ควรจะจัดพิมพ์พิเศษไว้ หนังสือประเภทนี้มีอรรถประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะพจนานุกรมที่ไม่ได้หมายถึงการสะกดคำให้ถูกต้องแต่เพียงอย่างเดียว


แม้ว่าการอ่านจะไม่มีตัวเลขชี้วัดว่าจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุด การที่เราได้อ่านหนังสือสักเล่ม ก็ทำให้เราพูดคุยกันได้น้อยลง ตอนนั้นโลกคงเงียบเสียงลงบ้าง

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …