โดย ‘นายยืนยง’
ชื่อหนังสือ : ภาพเหมือน ( The Portrait ) ประเภท : วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑ : ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน : นิโคไล โกโกล ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ CHRISTOPHER ENGLISH |
หากเคยจ้องมองเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกายของชีวิตจากภาพเหมือน คุณอาจจะได้สัมผัสกับบุคลิกภาพของคนในภาพนั้น แต่กับ “ภาพเหมือน” รหัสคดีเล่มบางของนิโคไล โกโกล นอกจากจะขนพองสยองเกล้าไปกับลูกนัยน์ตาอันน่าสะอิดสะเอียดของชายแก่ร่างโทรมเซียว ที่จ้องเขม็งกลับมายังดวงตาของคุณแล้ว มันอาจปลุกสัญชาติญาณที่ซ่อนลึกอยู่ในซอกหลืบหัวใจคุณได้อย่างง่ายดาย แม้เพียงเสี้ยวสัมผัส ราวกับมันเป็นซาตานที่โผล่ออกมาจากขุมนรก เพื่อฉุกกระชากตัวตนของคุณออกไปจากชะตากรรมอันสามัญที่เคยเป็นอยู่...
ใครก็ตามที่ครอบครองภาพเหมือนนั้นไว้ ล้วนประสบชะตากรรมอันน่าสังเวช... เริ่มตั้งแต่ศิลปินไส้แห้งที่กำลังจะถูกตะเพิดออกจากห้องเช่าโกโรโกโส เมื่อเขานำภาพเหมือนนี้เข้ามาในห้อง ชีวิตก็เปลี่ยนดั่งพลิกฝ่ามือ ไม่ใช่แค่สถานภาพภายนอก แต่ในส่วนลึกของจิตใจ เขาก็เป็นคนใหม่ จวบกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันน่าสมเพทเพียงใด
นิโคไล โกโกล เขียนวรรณกรรมเล่มนี้ขึ้นราวกับเพื่อประกาศให้โลกศิลปะได้ตระหนักว่า ผลสะท้อนจากงานศิลป์แต่ละชิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ศิลปินควรจริงจังและรอบคอบยิ่ง เสมือนหนึ่งว่างานศิลปะนั้น เปี่ยมด้วยพลังบางอย่างของศิลปินที่ถ่ายทอด ถั่งเทออกมาจากจิตวิญญาณ ใส่ลงไปในงานศิลป์นั้น หากแต่พลังอันนั้นมิได้สิ้นสุดลง ณ จุดสมบูรณ์ของผลงานเท่านั้น เพราะพลังลึกลับดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ เมื่อมีผู้คนได้สัมผัสกับมัน พลังนั้นก็กลับสำแดงอำนาจอีกครั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นอำนาจด้านดีหรือชั่วร้ายประการใด
จากโครงสร้างของวรรณกรรมรัสเซียเรื่องนี้ องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งก็คือตัวละคร ซึ่งล้วนโดดเด่นเป็นพิเศษ ในด้านที่โกโกลได้สร้างให้เห็นถึงการพัฒนาของแต่ละตัวละครอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้น พลิกผัน และจบนิ่งลง เช่น ศิลปินหนุ่มชาร์ทคอฟผู้สะดุดตากับภาพเหมือนที่มีดวงตาลึกลับดึงดูดใจอย่างประหลาด ขณะความสับสนในชีวิตศิลปินผู้แร้นแค้น และทัศนคติเรื่องศิลปะสองขั้วที่ยื้อเขาไว้จนเลือกไม่ถูกว่าจะตัดสินใจไปทางใดแน่ กระทั่งภาพเหมือนของชายแก่เหมือนคนซมพิษไข้นั้นได้เปลี่ยนเขาเป็นศิลปินผู้รุ่มรวยรสนิยม มั่งคั่งและมีชื่อเสียงในชั่วพริบตา แต่สุดท้ายชีวิตเขาก็ต้องจบสิ้นเมื่อถูกหลอกหลอนจากคู่ดวงตาน่ากลัวในภาพนั้น ดังหน้า ๕๒
ภาพเหมือนนี้เองที่เป็นเหตุทำให้เกิดการลอกคราบขึ้นกับตัวเขา โชคอันเขาได้รับมาอย่างน่าอัศจรรย์นั่นแหละที่ชักพาให้เขาหลงทางไปกับการไข่วคว้าอันเปล่าไร้ทั้งปวง และจึงทำลายพรสามารถของเขาจนสิ้น
อีกตัวละครคือ ศิลปินผู้สร้างภาพเหมือนนั้นขึ้นมาเมื่อถูกว่าจ้างจากชายชราประหลาด เจ้าของกิจการปล่อยเงินกู้ที่เต็มไปด้วยรัศมีแห่งความน่าประหวั่นพรั่นพรึง เมื่อนั้นชีวิตอันเรียบง่ายของเขาก็เปลี่ยนไป ขณะที่ศิลปินหนุ่มชาร์ทคอฟไม่อาจเอาชนะอำนาจเหนือภาพเหมือนนั้นได้ แต่ศิลปินผู้สร้างมันขึ้นมาสามารถรับมือ ต่อต้านทำลายอำนาจชั่วร้ายนั้นออกไปจากตัวเขาได้สำเร็จ
ขณะพัฒนาการของแต่ละตัวละครเป็นเรื่องที่น่าศึกษายิ่ง ภาพเหมือนเต็มไปด้วยทัศนคติในด้านศิลปะอันละเอียดลึกซึ้ง และเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งชีวิตในแบบฉบับของจิตวิญญาณชาวรัสเซีย ซึ่งจะเห็นได้จากวรรณกรรมแทบทุกเล่มของประเทศนี้ ดังหน้า ๔๕
ชื่อเสียงไม่อาจให้ความพึงใจยินดีได้กับคนผู้มาสู่มันโดยไม่สุจริต โดยไม่พึงได้รับ มันก่อความตื่นเร้าได้อย่างสืบเนื่องก็แต่กับคนผู้ควรค่ากับมัน
สิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องกล่าวถึงคือสำนวนการถ่ายทอดของดลสิทธิ์ บางคมบาง ที่พยายามรักษารูปประโยคความอันซับซ้อนไว้ และคงเอกลักษณ์ลีลาตามต้นฉบับเดิม ด้วยภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำ กระชับ และเต็มด้วยชีวิตชีวา หากแต่เราจะไม่อาจละสายตาจากอารมณ์ที่เกี่ยวโยงของตัวละครได้เลยแม้สักนาทีเดียว กระทั่งในจุดพลิกผันสำคัญของภาคหนึ่ง ซึ่งได้ทิ้งน้ำหนักลงอย่างเจ็บปวดแม้นในอักษรตัวสุดท้าย
ผู้แปลยังได้เกริ่นนำไว้ว่า “ภาพเหมือน” เป็นเสมือนงานที่โกโกลมองเข้าไปในงานของตัวเอง เขาทำมันออกมาได้ดีอย่างถึงขนาดของความเหมือน ฯลฯ
แม้รายละเอียดที่สำคัญอื่นจะไม่ได้ถูกกล่าวถึง ณ ที่นี้ แต่สำหรับผู้ที่ทำงานศิลปะทั้งหลายน่าจะหาโอกาสหยิบภาพเหมือนเล่มนี้มาอ่าน ไม่แน่ว่าชั่วเวลาเพียงคืนเดียวที่คุณได้อยู่กับมัน ชีวิตของคุณอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็เป็นได้.