‘ นายยืนยง ’
ชื่อหนังสือ ประเภท จัดพิมพ์โดย พิมพ์ครั้งที่ ๑ ผู้เขียน ผู้แปล | : : : : : : : | เดวิด หนีสุดชีวิต ( I am David ) วรรณกรรมแปล / นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีน กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ Anne Holm อัจฉรัตน์ |
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม
เดวิด หนีสุดชีวิต ( I am David ) ก็เป็นวรรณกรรมอีกเล่มที่สะท้อนภาพสภาวะจิตใจของเดวิด เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งได้บรรจุไว้ด้วยความหวาดกลัวจนหนักอึ้ง
นวนิยายสำหรับเด็กจากประเทศเดนมาร์กเล่มนี้ ได้สารภาพทัศนคติที่มีต่อผลพวงจากสงครามของ Anne Holm ผู้เขียน ผ่านเรื่องราวของเดวิด เด็กชายผู้ได้รับโอกาสจากผู้คุมให้ใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาที หนีออกไปจากค่ายกักกันของนาซี โดยมีเข็มทิศ มีดพับ ขนมปังกระบอกน้ำ และสบู่ติดตัวไปด้วย
ในความมืดของคืนนั้น เขาต้องวิ่งสุดแรงชีวิต รู้เพียงว่าต้องมุ่งหน้าสู่ทิศใต้เพื่อไปให้ถึงเมืองซาโลนีกา ขึ้นเรือไปอิตาลี เดินขึ้นเหนือต่อไปจนถึงปลายทางคือประเทศเดนมาร์ก ขณะที่อุปสรรคในการหนีครั้งนี้ ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เขาสงสัยในโอกาสที่ได้รับครั้งนี้
เดวิด เด็กชายผู้เติบโตมาในค่ายกักกัน ผู้ไม่รู้จักเข็มทิศ ไม่รู้จักสีสันอื่นนอกจากสีเทาของเสื้อผ้า และสีฟ้าของท้องฟ้า ดำรงชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง ลมหายใจเจือกลิ่นความตายอย่างคล้ายจะชาชิน เขาต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ ขณะเดียวกันโลกภายนอกค่ายกักกันที่ไม่รู้จักเลยนั้นเป็นเพียงอุปสรรคภายนอก แต่อุปสรรคในใจที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แปลกแยก เขาต้องก้าวข้ามให้พ้น
โดยการดำเนินเรื่องเป็นการเคลื่อนไปเบื้องหน้าของสองสิ่งคือ ระยะทางในการเดินทางและการเรียนรู้โลกภายนอกค่ายกักกันของเดวิด แต่รายละเอียดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สัญลักษณ์ในวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้
แม้นแนวทางของเรื่องจะมีลักษณะของธรรมชาตินิยม Natrulism เป็นแกน โดยเฉพาะการสร้างบุคลิกจำเพาะของตัวละคร คือ เดวิด ที่มีนิสัย ทัศนคติ มุมมองของเด็กที่แปลกแยกจากเด็กอื่น สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา ซึ่งที่นั่นสอนให้รู้จักชินกับการอย่างจำกัดจำเขี่ย ความหนาว หรือรู้จักระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน และเอาชนะแม้กระทั่งความรู้สึกโหยหาอิสรภาพ ขณะที่การหนีของเดวิดคือการไปให้พ้นจากเงื้อมมือของคนชั่วร้าย ความรุนแรง และความตาย เพื่อจะได้มีชีวิต เขารู้อย่างเดียวว่าต้องวิ่งไปเท่าที่ขาจะมีเรี่ยวแรง หนีให้พ้นจากความรู้สึกรุนแรงที่พร้อมจะกระชากเอาอิสรภาพและลมหายใจของเขาไปพร้อมกับการถูกตามจับของคนที่ให้โอกาสเขาหนีออกมา
ลักษณะธรรมชาตินิยมนั่นเองที่ประสานให้การตีความเชิงสัญลักษณ์ได้บังเกิดขึ้นในความคิดของผู้อ่าน เนื่องจากผู้เขียนได้พยายามเว้นวรรคอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึกในการหนีของเดวิดด้วยการบรรยายถึงสภาพจิตใจของเขาในต่างเวลาและต่างสถานการณ์
สัญลักษณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวโยงกันนั้น อาจเลือกออกมาพิจารณาได้ ๓ ข้อใหญ่ ๆ เพราะถูกกล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นกระทั่งจบเรื่อง ได้แก่
( ๑ ) เข็มทิศ อันหมายถึง โอกาส
( ๒ ) โยฮันเนส เพื่อนที่เคยอยู่ในค่ายกักกัน อันหมายถึง ความทรงจำอันอบอุ่น หรืออาจจะเป็นจิตสำนึก
( ๓ ) พระเจ้า อันหมายถึง ความหวัง อิสรภาพ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับพระเจ้านั้น บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นมิตรภาพได้ด้วย
อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนพยายามวางทัศนคติต่อชีวิตไว้ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ สิ่งนั้น คือ โอกาส ความทรงจำและความหวัง โดยโอกาสนั้น ผู้อื่นอาจวางไว้ให้เราแล้วเพียงแต่สำคัญว่าเราจะเลือกใช้มันหรือไม่ ขณะที่บางครั้ง โอกาสก็มีน้อยเกินไป และไม่เคยอยู่กับเราได้ตลอดเวลา แม้จะต้องการมันมากเพียงไรก็ตาม เห็นได้จากเรื่องนี้ ในตอนที่เดวิดเผลอทำเข็มทิศตกทะเล แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ที่จะเดินไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องอาศัยเข็มทิศ
โยฮันเนส เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่คงความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ โดยโยฮันเนสเป็นชายชายฝรั่งเศสที่คอยให้ความรู้ มอบความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ (ผู้ใหญ่)ให้เดวิด หลายครั้งที่ความทรงจำระหว่างทั้งสองได้ช่วยเดวิดให้รอดจากภาวะฉุกเฉิน ทำให้ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และสัญลักษณ์นี้ก็เชื่อมโยงไปถึงพระเจ้าด้วย เห็นได้จากหน้า ๔๒ – ๔๔ หลังจากเข็มทิศตกทะเลไปแล้ว
...ยังไม่มีเข็มทิศอีกด้วย อิสรภาพเป็นสิ่งล้ำค่า และตอนนี้เขาไม่มีอะไรที่จะมาใช้ปกป้องอิสรภาพของเขาได้เลย . .. (น.๔๒)
... เดวิดจึงตัดสินใจว่าเขาต้องมีพระเจ้าสักองค์ที่จะช่วยเขาได้ แต่เขาจะเลือกพระเจ้าองค์ไหนกันเล่า การเลือกนับถือพระเจ้าให้ถูกองค์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ... ฯลฯ
เขาคิดถึงความทรงจำที่ผูกโยงโยฮันเนสไว้ว่า โยฮันเนสไม่ได้สอนเขาเรื่องพระเจ้าแต่เคยเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ชื่อเดวิด นึกได้ดังนั้น เขาจึงเลือกพระเจ้าองค์นี้
พระองค์ให้ข้าได้ทอดกายลงบนทุ่งหญ้าเขียวขจี พระองค์นำข้ามาสู่สายน้ำนิ่งสงบ
เดวิดรู้สึกได้ปลดปล่อยและเข้มแข็งขึ้นเหมือนกับเช้าวันที่เขารู้ว่าเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขายินดีที่ได้คิดถึงเรื่องพระเจ้าเพราะการนับถือพระผู้เป็นเจ้าคงจะดีกว่าการมีเข็มทิศเป็นไหน ๆ ...ถึงแม้คงจะดีกว่านี้แน่หากเขาสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน
การตีความเชิงสัญลักษณ์เป็นเสน่ห์ดึงดูดประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดมากขึ้นจากการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม เพราะการอ่านวรรณกรรมแนวธรรมชาตินิยมนั้น หากผู้เขียนมุ่งเน้นให้ในเค้าโครงของเรื่องจนมากเกินไป แรงกระทบใจที่มีต่ออารมณ์ ทัศนคติของผู้อ่านก็คงไม่ดำเนินต่อไปโดยที่เรื่องจบลงแล้ว
ขณะเดียวกัน หากผู้เขียนจงใจมุ่งเน้นใส่สัญลักษณ์ไว้จนเลอะเทอะ ไม่ประสานกลมกลืนกับเนื้อหาของเรื่องแล้ว ก็เป็นการทำลายเสน่ห์ของเรื่องได้ แต่สำหรับ เดวิด หนีสุดชีวิต นอกจากข้อสังเกตที่ได้กล่าวมาแล้ว วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เท่านั้น กับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน
หากใครที่ให้ความสำคัญกับจุดหมายปลายทางของความสำเร็จเพียงประการเดียว โดยไม่ยอมเหลียวมองหรือให้ความสำคัญกับรายละเอียดระหว่างทางแล้ว บางที เดวิดอาจจะอยากบอกว่า การเรียนรู้ที่จะไปให้ถึงจุดหมาย เอาชนะปัญหากับทุกย่างก้าวที่ผ่านเผชิญ กับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นั้นเองที่จะนำพาให้ถึงจุดหมาย.
หมายเหตุ เดวิด หนีสุดชีวิต ได้รับรางวัล First Prize for the Best Scandinavian Children ‘s Book 1963 และ ALA Notable Book Award 1965