Skip to main content

นายยืนยง

 

 

ชื่อหนังสือ : อาถรรพ์แห่งพงไพร

ผู้เขียน : ดอกเกด

ผู้แปล : ศรีสุดา ชมพันธุ์

ประเภท : นวนิยายรางวัลซีไรต์ พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย



กลับบ้านสวนคราวที่แล้ว ตู้หนังสือยังคงสภาพเดิม ละอองฝุ่นเหมือนได้ห่อหุ้มมันให้พ้นจากสายตาผู้คน ไม่ก็ผู้คนเองต่างหากเล่าที่ห่อหุ้มตัวเองให้พ้นจากหนังสือ


นอกจากตู้หนังสือที่เงียบเหงาแล้ว รู้สึกมีสมาชิกใหม่มาเข้าร่วมขบวนความเหงาอีกสามสิบกว่าเล่ม น่าจะเป็นของน้องสาวที่ขนเอามาฝากไว้ ฉันจึงจัดเรียงมันใหม่ในตู้ใบเล็กที่วางอยู่ข้างกัน ดูเป็นบ้านที่หนังสือเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ราวมันเองต่างหากที่เป็นเจ้าของบ้าน แต่หนังสือนั้นหากไร้คนอ่าน คุณค่าของมันจะอยู่ที่ตรงไหน เป็นเฟอร์นิเจอร์ประกาศรสนิยมเจ้าของบ้านเท่านั้นหรือ


ก่อนกลับเข้าเมือง ฉันหยิบวรรณกรรมแปลเล่มหนึ่งมาด้วย เพราะอยากรู้จักนักเขียนจากประเทศนี้ขึ้นมา


อาถรรพ์แห่งพงไพร ผลงานของ ดอกเกด ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2549 เป็นวรรณกรรมของประเทศลาว ประเทศที่อยู่ใกล้แค่นี้ ขอบคุณ คุณศรีสุดา ชมพันธุ์ ที่แปลมาเป็นภาษาไทย


ดอกเกด เป็นนามปากกาของ ดวงเดือน บุนยาวง ดูจากประวัติผู้แต่งท้ายเล่มแล้ว เห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองให้ยั่งยืน เป็นบุคคลที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง


ดอกเกดสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาเคมีจากฝรั่งเศส เป็นอาจารย์และแปลวรรณคดีรัสเซีย และเป็นนักเคมีที่สนใจค้นคว้าวิจัยศิลปะวรรณคดี โดยเฉพาะการค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าโบราณของลาว เธอได้รับรางวัลศิลปะและวัฒนธรรม ฟูกูโอกะเอเชีย ครั้งที่
16


นี่เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านวรรณกรรมของประเทศลาว เป็นความประทับใจแรกที่อยากเขียนถึง


อาถรรพ์แห่งพงไพร เป็นนวนิยายขนาดสั้น มี 10 ตอน ยาว125 หน้า นอกจากความประทับใจในตัวบทของนวนิยายที่หมดจดงดงามแล้ว ยังได้เห็นภาพชีวิต บุคลิกจำเพาะของคนลาวที่ซื่อใส จริงใจและยึดมั่นในพุทธศาสนา เอกลักษณ์เฉพาะเช่นนี้ ทำให้ชัดเจนขึ้นมาว่า ความเป็นสากลที่กล่าวถึงในงานวรรณกรรมหาใช่ความนำสมัยของแง่คิด ปรัชญาเลย หากแต่อยู่ที่ วรรณกรรมนั้นได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาค


ในยุคสมัยที่สังคมปัจจุบันกำลังขาดแคลนความดีงามที่ชัดเจน นวนิยายเรื่องนี้ได้รวบรวมความดีงามเอาไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่เรื่องของอานุภาพของความรักที่มีพลังเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ เรื่องของพลังสร้างสรรค์สังคมของคนหนุ่มสาว เรื่องของการเคารพธรรมชาติ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ประสานเข้ามาเป็นเอกภาพของนวนิยาย ซึ่งล้วนตลบอบอวลไปด้วยอาภรณ์แห่งความรัก


ในแถลงการณ์ผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 โดยท่าน ทองใบ โพทิสาน – หัวหน้าอำนวยการวารสารวรรณศิลป์ เลขาธิการสมาคมนักประพันธ์ลาว คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ลาว 2006 เขียนไว้ว่า อาถรรพ์แห่งพงไพร เขียนโดย ดอกเกด เป็นเรื่องการต่อสู้ของครูผันและชาวบ้านที่ต้องการนำไม้ออกจากป่าใกล้บ้านมาปลูกสร้างโรงเรียนซึ่งทรุดโทรม แต่ได้เกิดปัญหากับบริษัทสัมปทานไม้ ผันต้องเดินทางเข้านครหลวงเวียงจันทร์ เพื่อให้เบื้องบนช่วย ที่นั่นเขาได้พบกับมณีสวรรค์คนรักเก่า นิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นจากข้อมูลที่เก็บจากความเป็นจริงในสังคม ตัวละครเอกเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม เนื้อหามีความสร้างสรรค์และกระตุ้นให้คนในสังคมหันมาสนใจในการอนุรักษ์ป่า รวมทั้งเขียนด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับคนอ่านทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว (จากแถลงการณ์ในเล่ม)


ดอกเกดมีความสามารถในการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือพรรณนาถึงชีวิตที่อบอวลไปด้วยความหวังที่ยิ่งใหญ่ โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวของสังคม และมีอิทธิพลตั้งแต่เปิดเรื่องกระทั่งจบ การณ์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ดอกเกด ได้มอบความหวังที่จะพัฒนาประเทศชาติไว้กับคนหนุ่มสาว และเธอเชื่อมั่นว่าคนรุ่นนี้จะทำหน้าที่ได้อย่างงดงามที่สุด


ครูผันเป็นหนุ่มโสดวัยยี่สิบสี่ยี่สิบห้า มาอยู่ที่หมู่บ้านหาดโพได้สองปีกว่าย่างเข้าปีที่สามแล้ว เรียนจบวิทยาลัยครูระดับกลางจากแขวงสะหวันนะเขต และได้มาประจำการอยู่ที่หมู่บ้านหาดโพในแขวงนี้ ตามความต้องการของเขาเอง (หน้า 11)


ที่จริงแล้ว ครูผันไม่ได้เลือกเส้นทางนี้ด้วยความมุ่งมั่นหรืออุดมการณ์สูงส่งอะไร หากแต่เพราะเขาประชดชีวิต ประชดคนรักด้วยการเลือกมาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านหาดโพแห่งนี้ แต่เมื่อต้องรับหน้าที่ครูเพียงคนเดียวของโรงเรียนที่เป็น “กระต๊อบติดพื้น มุงหญ้า .. ฝาไม้ไผ่ขัดลายสองนั้นเก่าผุมีรูโหว่อยู่ทั่วไป .. เพราะความชราภาพตามกาลเวลาของไม้เนื้ออ่อนซึ่งไม่ทนแดดทนฝน .. ไม่แน่ใจว่าจะทรงตัวอยู่ได้ถึงปีหรือไม่” (หน้า 9) ครูผันและหน่วยชาวหนุ่มของหมู่บ้านได้ยื่นเรื่องของไม้ในป่าใกล้ชุมชนมาสร้างโรงเรียนหลังใหม่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มีบริษัทเข้ามาได้สัมปทานป่าไม้ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ ครูผันจึงรับหน้าที่ยื่นเรื่องร้องขอต่อเบื้องบน โดยมีมณีสวรรค์ หญิงสาวคนรักที่ทำให้เขาน้อยใจจนต้องหลบมาเป็นครูอยู่ที่นี่คอยช่วยเหลือ เธอทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนจึงเป็นทั้งหน้าที่โดยตรงและทำตามที่หัวใจเรียกร้อง เรื่องราวดำเนินต่อไปอย่างตื่นเต้น เร้าใจ โดยดอกเกดสร้างตัวละครฝ่ายชั่ว โลภหวังจะได้ผลประโยชน์จากผืนป่า เข้ามาสร้างวิกฤตให้เรื่อง สุดท้ายหน่วยหนุ่มสาวก็สามารถเข้าตัดไม้ได้ตามเจตนารม และความเข้าใจผิดระหว่างคู่รักครูหนุ่มกับสาวนักพัฒนาก็คลี่คลายลงด้วยดี เรียกได้ว่าจบแบบสมหวัง


เนื่องจากปัญหาที่ตัวละครเผชิญอยู่ไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือนอย่างวรรณกรรมที่เราเคยอ่าน เห็นได้ชัดจากเค้าโครงเรื่องคล้ายจะเป็นแบบสำเร็จรูป มีการผูกปมไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หากนวนิยายเป็นดั่งกระจกสะท้อนความเป็นไปในสังคม เราจะพูดได้ไหมว่า สังคมลาวยังเป็นเมืองที่น่าอยู่มากกว่าอีกหลาย ๆ เมืองในโลกนี้


ขณะเดียวกันนวนิยายเรื่องนี้ก็ยังคงความงดงามเอาไว้ได้ด้วยวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของตัวละคร ด้วยมีส่วนผสมที่ผสานอยู่ตลอดเรื่อง และคอยหล่อเลี้ยงชีวิตชีวาของตัวละคร นั่นก็คือวรรณคดี โดยดอกเกดใช้คำผญา สุภาษิต ขับขานความงามของวัฒนธรรม ผ่านบทสนทนาของตัวละครได้อย่างแนบเนียน


เช่นหน้า 19 ช้างเข้านา พญาเข้าบ้าน เป็นสุภาษิตลาว หมายถึง เมื่อมีคนใหญ่คนโตมาเยือน ชาวบ้านต้องสิ้นเปลืองในการต้อนรับ โดยผันเป็นคนพูดอย่างเสียอารมณ์เมื่อต้องคลาดจากปลาช่อนตัวเขื่องที่ติดเบ็ดเพื่อมาร่วมปรึกษากับแม่บุญธรรมและชาวบ้านเรื่องที่จะมีเจ้าหน้าที่จากเมืองใหญ่


หรืออย่างในตอนการเยี่ยมเยือน เป็นฉากที่ชาวบ้านหาดโพจัดงานเลี้ยงต้อนรับครูผันที่ได้รับการประกันตัวออกจากคุก ซึ่งต้องมีคนรินเหล้าโดยจันทร์เพ็งเป็นผู้รับหน้าที่ หน้า 103

ธรรมดารินเหล้า คนรินต้องกินก่อน บางทีเหล้าอาจมียา ปลาอาจมีพิษ มีฤทธิ์ถึงตาย” มาจากผญาลาวที่ว่า “ธรรมดากินเหล่า คนหย่ายต้องกินก่อน ลางเทือเหล่าใส่ยาปาใส่ง้วน อวนข่อยส่วนสิตาย” ตามธรรมเนียมคนลาวดื่มเหล้าด้วยแก้วใบเดียวกัน โดยเวียนกันไปรอบวง คนรินเหล้าถูกเรียกว่า มืออ่อน มักจะถูกบังคับให้ดื่มเหล้าก่อนเสมอ ด้วยเหตุผลว่ากลัวเหล้ามียาพิษ


หรือในหน้า 122 ที่ดอกเกดจัดวางพิธีกรรมอันสืบเนื่องถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งผูกพันอยู่กับการเคารพในคุณค่าของป่าเอาไว้ในตอนที่ครูผันกับมณีสวรรค์เข้าป่าและได้พบกับไม้กฤษณา ก่อนที่ครูผันจะกรีดเอาน้ำยางไป ผันยกมือขึ้นไหว้ พึมพำขอบคุณเทวดาฟ้าดิน และเจ้าที่เจ้าทาง ทำให้มณีสวรรค์พลอยต้องพนมมือไปด้วย

ลูกช้างไม่อยากทำลายตัดต้นไม้ต้นนี้ให้ตายทั้งต้น อยากขอเพียงแบ่งยางของท่านไปใช้เป็นยา ปลายมีดนี้จิ้มลงไปแล้ว ขออย่าได้เจ็บได้ปวด และขอให้ถูกจุดที่มียางด้วย” ผันอธิษฐานตามคำบอกเล่าของทิดแก่น แล้วจึงพิจารณามองหาจุดพิเศษก่อนจะตัดสินใจทิ่มแทง มณีสวรรค์ไม่รู้ธรรมเนียมเหล่านี้ แต่เธอก็รู้สึกตื้นตันไปด้วย ถ้าทุกคนนับถือจารีตนี้เหมือนกับผัน ไม่ตัดฟันต้นไม้ไปทั่ว นับถือและรู้คุณของป่า ป่าไม้คงจะสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด


ที่กล่าวมานั้นเป็นรายละเอียดที่เติมเต็มให้เนื้อหานุ่มนวลดั่งภาพเหมือนจริง ว่าไปแล้วนวนิยายส่วนใหญ่จะงดงามได้ด้วยเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ แต่ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความรักไว้ตอนต้นนั้น ก็เพราะดอกเกดได้จุดประกายเรื่องราวนี้ไว้ด้วยต้นกำเนิดของความรัก


ความรักในที่นี้หาใช่เป็นรักระหว่างมนุษย์หรือคู่รัก หากแต่เป็นความรักที่มนุษย์มีต่อโลก ต่อสังคม และต่อธรรมชาติ ขอยกตัวอย่างที่ฉันคิดว่าเป็นหัวใจของเรื่องในหน้า 91 มาให้อ่าน เป็นฉากก่อนที่ครูผันจะถูกจับข้อหาลักลอบตัดไม้ ดอกเกดเขียนไว้ราวกับร่ายมนต์ไว้ว่า


ดูเหมือนว่าป่าดงพงไพรร่ายเวทมนต์คาถาสร้างเสน่ห์ให้ผันหวงแหนหลงใหลมันยิ่งขึ้น ชายหนุ่มรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นที่เห็นซากไม้กฤษณาลำต้นขนาดแขนขาถูกฟันล้มเป็นแถว น้ำตาของลูกผู้ชายคลอเบ้า ในวันแรกที่เห็นต้นประดู่ต้นแรกถูกโค่นลงด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง เสียงลำไม้ฉีกขาดล้มดังสะท้านป่าคล้ายเสียงสะอื้นสั่งลาของเนื้อไม้สีแดง ยางไม้ไหลอาบโคนต้นจนเปียกและซึมลงสู่พื้นดินรอบ ๆ โคนต้นอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้ดินรอบตอไม้เปียกชื้น ราวกับอยากจะเรียกร้องให้รากไม้ที่ยังฝังอยู่ใต้พื้นดินดูดซึมมันเอาไว้ แต่รากของตอไม้ปราศจากองคอินทรีย์อย่างอื่น ไม่อาจมีแรงดูดซึมวัตถุอินทรีย์ใด ๆ ได้อีกแล้ว เมื่อถูกคมโลหะที่แข็งแกร่งกว่าแทรกซึมตัดแยกทุกอณูเนื้อ พลังของมันก็สูญสลายไปพร้อมกับลำต้นอันแข็งแรง


ขณะที่ครูผันซาบซึ้งในวิถีชีวิตของชาวบ้านหาดโพ มณีสวรรค์ก็เริ่มเข้าใจ เห็นใจและยื่นมือเข้าช่วยเหลือเต็มกำลัง เรื่องจึงจบลงได้


สำหรับคอวรรณกรรมที่เรียกหาความเข้มข้นของเนื้อหา ชวนขบคิด ตีความเหมือนวรรณกรรมแปลจากกลุ่มละติน ยุโรป อาจผิดหวังบ้าง แต่ขอยืนยันว่า ในแง่ของความสามัญอันงดงามของชีวิต อาถรรพ์แห่งพงไพร ให้ได้เต็มร้อย.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …