Skip to main content

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี

ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน

พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550


อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที

จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ


ว่าแต่ ทำไม ฝรั่งจึงมาคลั่งผี

ส่วนหนึ่งอาจเป็นคำโฆษณา เพราะคนไทยจะคลั่งผี คนอ่านคงไม่ดูดำดูดี

เรื่องอยู่ที่ แล้วจะคลั่งไคล้มันทำไมกันล่ะ ไอ้ผี นั่น จะได้มรรคได้ผลอะไรกับชีวิต

ถ้าอย่างนั้น มาดูกันทีว่า “ผี” เป็นสิ่งสลักสำคัญปานไฉนหนอ


ผี ในพจนานุกรมของเราอาจเป็นคนละรูปโฉมกัน

ไมเคิล ไรท เขียนไว้ในหนังสือ ฝรั่งคลั่งผี ของเขา ในบทวิวัฒนาการ ‘อตฺต’ พระพุทธเจ้ากับจิตวิทยา หน้า 98 ว่า


ตามหลักพุทธศาสนา “วิญญาณ” คือการรู้ที่เกิดจากความสัมพันธ์ (ผสสฺ) ระหว่างสิ่งภายนอกกับอายตนะ (ตา,หู,จมูก,ลิ้น,ผิว,ใจ) เช่นแสงสะท้อนจากสิ่งของเข้าตา ก็เกิดจากวิญญาณหรือความรู้ว่าเห็น “วิญญาณ” ในความหมายของพระพุทธเจ้าเกิดชั่ววูบแล้วก็ดับ จะนับถือว่าเป็น “ตัวกู” หรือ “อตฺต” ไม่ได้


อย่างไรก็ดี คำว่า “วิญญาณ” ในปากชาวบ้านกลายมาหมายถึง “ผี” จนมีคนอ้างตนว่าเป็นชาวพุทธพยายามชั่งน้ำหนักคนป่วยก่อนและหลังตายเพื่อ “พิสูจน์” ว่า “วิญญาณมีจริง” เหมือนกับว่า “วิญญาณ” เป็นของมีน้ำหนัก


น่ากลุ้มใจจริง “ชาวพุทธ” เหล่านี้เรียนมาจากสำนักใดไม่ทราบ ถ้าเป็นชาวคริสต์หรือชาวอิสลามก็พอรับได้เพราะต่างเชื่อว่าคนเราแต่ละคนมี “ตัวตน” (Self, Spirit, Soul, Ghost) ที่ออกจากภายใน เมื่อคนตาย แต่ทั้งนี้มิได้มีใครเล่นเอาคนป่วยหรือศพขึ้นตราชูเพราะรู้ ๆ อยู่ว่า Spirit หรือ Soul หรือ Ghost นั้นไม่มีน้ำหนักที่จะชั่งได้เช่นเนื้อหมูหรือน้ำตาลหรือปุ๋ยคอก ... ที่ผมจำเป็นต้องอารัมภบทอย่างยืดยาวเกี่ยวกับวิญญาณนี้ ก็เพราะอยากนิยามศัพท์ก่อน จะได้ไม่เอา “วิญญาณ” (ผี) ของชาวบ้านไปปะปนกับ “อตตฺ”หรือ “อนนฺตา” ในพระไตรปิฎก


ส่วนที่ตัดมาให้อ่านนี้ แสดงให้เห็นเป็นอย่างน้อยถึงภูมิรู้ของผู้เขียน อันเป็นธรรมดาของนักเขียนสารคดีเชิงวิชาการ หรือกึ่งวิชาการ ย่อมมีอาวุธเป็นประจำกาย แต่คุณไมเคิล ไรท ของเรายังสามารถใช้ภูมิรู้บรรดาให้บังเกิดการสังสรรค์กันจนอาวุธนั้นแหลมคมเป็นการหยั่งรู้บ่อเกิดปัญญา นอกจากนั้นฝรั่งศึกษาผู้นี้ได้บ่มเพาะนิสัยช่างสังเกต ช่างสงสัย พร้อมช่างตั้งข้อสมมุติฐาน โดยยั้ง ๆ บทสรุปไว้ให้ห่างตัวก่อน ทั้งนี้หลักใหญ่ใจความ หรือหัวใจสำคัญของเขา คือ วัฏฏะแห่งสรรพสิ่ง ดังที่เขียนไว้ในหน้า 4 บท

ทำไมพระอิศวรจึงร่ายรำ?


มนุษย์เรา ผู้เกิดมาเพื่อตายจึงพยายามที่จะคว้ามือเจ้าพ่อฟ้าตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ แต่ในที่สุดเราต้องตกเป็นเหยื่อของเจ้าแม่ดินผู้เป็นทั้งแม่บังเกิดเกล้า เมียรัก และเป็นนางกาลีผู้ประหัตประหารทุกผู้ทุกคนในที่สุด


มีแต่พระพุทธองค์เท่านั้นที่สอนให้ไม่พึ่งเจ้าพ่อฟ้า และยังสอนให้หลุดพ้นจากอำนาจของเจ้าแม่ดิน ผู้คลอดและผู้มล้างทุกชาติทุกชีวิต


ไมเคิล ไรท ยึดถือในหลักการนี้ดังผู้ศึกษาเทพปกรณัมหลายท่านเชื่อกันว่า (หน้า 5) สังคมมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นสตรีนิยม ให้หญิงเป็นผู้นำทางพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ นับถือเจ้าแม่ดินเป็นใหญ่ พร้อมกับนางพระจันทร์และแม่พระคงคา แม่พระจันทร์(ดวงเดือน) นั้นเป็นผู้คุมประจำเดือนและเรื่องลับเรื่องขลังทั้งหลายของสตรี ส่วนแม่พระคงคา (แม่น้ำ) คือน้ำคร่ำอันเป็นที่มาของชีวิต ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ และผู้หญิงเท่านั้นที่มีประจำเดือนและให้กำเนิดได้ ... ต่อมาเมื่อสังคมบุรุษนิยมตั้งมั่นแล้ว ประจำเดือนจึงเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ใครที่สงสัยว่าสังคมบุรุษนิยมเอาชนะสังคมสตรีนิยมได้อย่างไร หาคำตอบที่เป็นข้อสันนิษฐานได้ในหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่น ๆ


ฝรั่งคลั่งผี เล่มนี้ พยายามอภิปลายให้คนอ่านได้รู้จัก “ผี” จากตัวเรา จากพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ ที่ปรากฏในภาพของศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ คติโบราณ ตำนาน บรรดามี ทั้งที่เป็นของแท้ (ซึ่งคงเค้าให้เห็นเพียงเสี้ยว) หรือของแท้ที่ถูกทำให้เป็นของเทียม แม้กระทั่งของเทียม โดยยึดปมความขัดแย้งระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์


เป็นที่น่าสนใจที่เทพนิยาย (Myth) กับสภาพสังคมและสภาพจิตของคนสะท้อนซึ่งกันและกันอย่างแม่นยำและเที่ยงแท้ แต่จำเป็นจะต้องแยกแยะระหว่าง Myth ที่แท้ที่เป็นของมนุษย์ตั้งแต่โบราณกับ Myth ปลอมที่คนภายหลังแต่งขึ้นมาเพื่อความสนุก ความจำเป็นอีกประการหนึ่งคือ เราจะต้อง “แปล” นิยายให้ถูกต้องและมองทะลุบางสิ่งบางอย่างที่เป็นการ “หลอกตา” หรือซ่อนความจริง อย่าได้เอาค่านิยมสมัยใหม่มา “วัด” นิยายโบราณ ตรงกันข้ามจะต้องพยายามสวมวิญญาณมนุษย์โบราณแล้วค่อยวิเคราะห์นิยาย


ปมขัดแย้งระหว่างสองเพศนี้มีอายุยืนยาวเท่าที่มีมนุษยชาติซึ่งยังปรากฏเป็นรหัสให้คนยุคปัจจุบันตีความในรากเหง้าของเราในทุกสังคม เพราะมนุษย์ไม่ได้ถือกำเนิดได้ด้วยตัวเอง เรามีที่มา ที่ไป มีบรรพบุรุษบรรพสตรีสั่งสมอยู่ในตัวเรา ไม่ใช่มีแต่ใบหน้าของปัจเจกเท่านั้น แม้เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวเข้ามามีบทบาทเหนือเจ้าพ่อฟ้า เจ้าแม่ดิน และตำนานความเชื่อทั้งปวง เค้าลางของรากเหง้าของเรากลับยังคงอยู่ ไม่ใช่เพราะความงมงาย หรือเรายังดึกดำบรรพ์อยู่ แต่เพราะนายนายวิทยาศาสตร์ไม่อาจสร้างความอบอุ่นให้ได้เท่าครรภ์มารดาอันแท้จริงของเรา (วิทยาศาสตร์คงไม่ได้แม่ของเราหรอก ใช่ไหม)


ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ชาวอีสานตั้งปลัดขิกหน้าบ้านเพื่อขออภัยเจ้าแม่ดินที่เขาเรียกว่า ผีแม่ม่าย ไมเคิล ไรทให้ทัศนะว่า ชาวอีสานของเรายังมีสัญชาตญาณเหลือพอ เมื่อเห็นว่าธรรมชาติป่าเขา แผ่นดิน ถูกทำลายถึงขั้นปางตาย ในฐานะลูกของเจ้าแม่ดินจึงกราบขออภัยเจ้าแม่ ขอให้เจ้าแม่อย่าได้ทอดทิ้งลูก ขอให้ผืนดินบริบูรณ์


เนื่องจากเจ้าแม่ดินถูกลดอำนาจลงด้วยอิทธิเจ้าพ่อฟ้า กลายเป็นสังคมบุรุษนิยม พิธีบูชาเจ้าแม่ดินด้วยเลือดของพ่อข้าวพ่อปี (ชายในหมู่บ้านผู้ถูกเลือกให้เป็นเครื่องสังเวย) เป็นการทำให้เจ้าแม่ดินตั้งท้อง เพื่อให้พืชธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ปรากฏเฉพาะประเทศไทย แต่ประจักษ์อยู่ทั่วไป ทั้งอินเดีย ยุโรป


หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมในแง่ของวิชาการเท่านั้น หากแต่ไมเคิล ไรทยังเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อไขรหัสลับบางประการที่แฝงอยู่ในปรากฏการณ์ของอดีตและปัจจุบัน เมื่ออ่านแล้วเราจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือรากเหง้าที่จะส่องทางให้มองเห็นอนาคต ถ้าเลือกได้เสียแต่ตอนนี้ เราคงไม่อยากตกอยู่ในมหาวิบัติภัยบรรดามีอันจะเกิดขึ้นในอนาคต


แม้เราจะเติบโตขึ้นมาในช่วงยามที่วิทยาศาสตร์เป็นพลังยิ่งใหญ่ทางปัญญา แต่สัญชาตญาณของเราหาได้สาบสูญไปหมดเมื่อวิทยาศาสตร์ปลดเราออกจากครรภ์มารดา เนื่องจากมันยังหลบซ่อนและถูกทำให้ด้อยค่าอยู่ภายในจิตใต้สำนึก หรือจิตไม่สำนึก เช่นนั้นแล้ว มีหรือที่มนุษย์จะหนีจิตของตัวได้พ้น เราจะอยู่กับมันและมันจะอยู่กับเราไปตลอดกาล สืบเผ่าพันธุ์ตราบที่มนุษย์ต้องการสืบเผ่าพันธุ์


คนสมัยใหม่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ของเขาได้ตัดเขาออกจากกระแสจิตไม่สำนึกของตนเอง และในขณะเดียวกันได้ทำให้เขาตกเป็นทาสของจิตไม่สำนึกเพราะเขาไม่รู้จักหน้ามันเสียแล้ว เขาเชื่อว่าเขาได้ปลดตัวเองออกจาก “ความเชื่องมงาย” แต่ในขณะเดียวกันเขาได้สาบสูญซึ่งศีลธรรมและจิตวิญญาณ มันแตกสลายสิ้น คนสมัยใหม่มองไม่เห็นทิศทางและจิตแตกแยกเยี่ยงคนโรคจิตฟุ้งซ่าน


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ได้เติบโตขึ้นมา โลกของเราได้มีความเป็นมนุษย์น้อยลง คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่ในจักรวาล ทั้งนี้เพราะว่าเราขาดออกจากความสัมพันธ์กับธรรมชาติ จิตไม่สำนึกของเราถูกปฏิเสธ คนเราจึงรู้สึกว่าถูกขังเดี่ยว สายน้ำไม่เป็นแม่เสียแล้ว ต้นไม้ไม่มีนาง งูเป็นสัตว์ที่ต้องฆ่าไม่ใช่สื่อระหว่างโลกมนุษย์กับบาดาล หินผา ต้นไม้ สัตว์ป่า ไม่มีเสียงจะพูดกับคนอีกแล้ว และคนไม่อาจจะพูดกับมันได้โดยเชื่อว่ามันจะเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติขาดเสียแล้ว “ศักดิ์ศรี” “ขวัญ” หรือสุขภาพจิตของเราจึงถอย... (หน้า 83)


สองย่อหน้าข้างต้นนี้ ไมเคิล ไรท คัดมาให้เราอ่านจากหนังสือ Man and His Myths ที่ Dr. Carl G. Jung เขียนขึ้นมาก่อนตายเพียง 60 วัน Jung นั้นเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Dr. Sigmund Freud แต่ทั้งสองท่านต่างกันตรงที่ Freud เป็นแพทย์ที่มองคนไข้เป็นคนปัจจุบันที่มีอาการผิดปกติปัจจุบัน ฝ่าย Jung นั้นสนใจมานุษวิทยา เทววิทยาและศาสนามาก่อนที่จะสนใจจิตวิทยา ท่านว่าพฤติกรรมผิดปกติและความฝันที่ไร้ความหมายที่แท้จริงสะท้อนพฤติกรรมและความคิดของบรรพบุรุษรุ่นก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งฉันถือว่าเป็นการศึกษาสรรพวิชาให้ก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติสูงสูด แม้กระทั่งตำนานพระพิฆเนศก็ยังส่องทางให้เราเห็นตัวตนของเรา(มนุษย์)จากเทพซึ่งเป็นที่เคารพบูชาอย่างแพร่หลาย


ฝรั่งคลั่งผี
ยังน่าสนใจและมีแรงดึงดูดอยู่ในตัวเองอีกมากมาย ใครชื่นชอบไมเคิล ไรท อยู่แล้วคงทราบดี ทั้งสำนวนภาษาแบบที่คนไทยอย่างเรายังทึ่ง แม้บางคนจะว่าดัดจริตไปบ้าง


อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ไรท ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนบทความที่ทำให้ความรู้เต็มไปด้วยสีสันให้เราได้อ่านอีกแล้ว เพราะเขาได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันอบอุ่นของเจ้าแม่ดินอย่างสงบแล้ว หลังจากผจญภัยไปกับเจ้าพ่อฟ้าในดินแดนแห่งสรรพวิทยา กระทั่งมีมรดกตกทอดเป็นหนังสือฝากไว้แทนตัวตนที่ดับไปแล้ว แม้จะเสียดายและเสียใจไปพร้อมกัน ทั้งรู้ ชีวิตเป็นวัฏฏะ แต่ฉันก็อยากขอบคุณไมเคิล ไรท หรือเมฆ มณีวาจา นักเขียนผู้ไม่เคยหยุดศึกษา ไม่หยุดแสวงหา นักเขียนผู้เป็นดั่งครูบาอาจารย์นอกพิธีกรรมไหว้ครูของฉันและใครอีกหลายคน.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓