Skip to main content

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี

ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน

พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550


อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที

จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ


ว่าแต่ ทำไม ฝรั่งจึงมาคลั่งผี

ส่วนหนึ่งอาจเป็นคำโฆษณา เพราะคนไทยจะคลั่งผี คนอ่านคงไม่ดูดำดูดี

เรื่องอยู่ที่ แล้วจะคลั่งไคล้มันทำไมกันล่ะ ไอ้ผี นั่น จะได้มรรคได้ผลอะไรกับชีวิต

ถ้าอย่างนั้น มาดูกันทีว่า “ผี” เป็นสิ่งสลักสำคัญปานไฉนหนอ


ผี ในพจนานุกรมของเราอาจเป็นคนละรูปโฉมกัน

ไมเคิล ไรท เขียนไว้ในหนังสือ ฝรั่งคลั่งผี ของเขา ในบทวิวัฒนาการ ‘อตฺต’ พระพุทธเจ้ากับจิตวิทยา หน้า 98 ว่า


ตามหลักพุทธศาสนา “วิญญาณ” คือการรู้ที่เกิดจากความสัมพันธ์ (ผสสฺ) ระหว่างสิ่งภายนอกกับอายตนะ (ตา,หู,จมูก,ลิ้น,ผิว,ใจ) เช่นแสงสะท้อนจากสิ่งของเข้าตา ก็เกิดจากวิญญาณหรือความรู้ว่าเห็น “วิญญาณ” ในความหมายของพระพุทธเจ้าเกิดชั่ววูบแล้วก็ดับ จะนับถือว่าเป็น “ตัวกู” หรือ “อตฺต” ไม่ได้


อย่างไรก็ดี คำว่า “วิญญาณ” ในปากชาวบ้านกลายมาหมายถึง “ผี” จนมีคนอ้างตนว่าเป็นชาวพุทธพยายามชั่งน้ำหนักคนป่วยก่อนและหลังตายเพื่อ “พิสูจน์” ว่า “วิญญาณมีจริง” เหมือนกับว่า “วิญญาณ” เป็นของมีน้ำหนัก


น่ากลุ้มใจจริง “ชาวพุทธ” เหล่านี้เรียนมาจากสำนักใดไม่ทราบ ถ้าเป็นชาวคริสต์หรือชาวอิสลามก็พอรับได้เพราะต่างเชื่อว่าคนเราแต่ละคนมี “ตัวตน” (Self, Spirit, Soul, Ghost) ที่ออกจากภายใน เมื่อคนตาย แต่ทั้งนี้มิได้มีใครเล่นเอาคนป่วยหรือศพขึ้นตราชูเพราะรู้ ๆ อยู่ว่า Spirit หรือ Soul หรือ Ghost นั้นไม่มีน้ำหนักที่จะชั่งได้เช่นเนื้อหมูหรือน้ำตาลหรือปุ๋ยคอก ... ที่ผมจำเป็นต้องอารัมภบทอย่างยืดยาวเกี่ยวกับวิญญาณนี้ ก็เพราะอยากนิยามศัพท์ก่อน จะได้ไม่เอา “วิญญาณ” (ผี) ของชาวบ้านไปปะปนกับ “อตตฺ”หรือ “อนนฺตา” ในพระไตรปิฎก


ส่วนที่ตัดมาให้อ่านนี้ แสดงให้เห็นเป็นอย่างน้อยถึงภูมิรู้ของผู้เขียน อันเป็นธรรมดาของนักเขียนสารคดีเชิงวิชาการ หรือกึ่งวิชาการ ย่อมมีอาวุธเป็นประจำกาย แต่คุณไมเคิล ไรท ของเรายังสามารถใช้ภูมิรู้บรรดาให้บังเกิดการสังสรรค์กันจนอาวุธนั้นแหลมคมเป็นการหยั่งรู้บ่อเกิดปัญญา นอกจากนั้นฝรั่งศึกษาผู้นี้ได้บ่มเพาะนิสัยช่างสังเกต ช่างสงสัย พร้อมช่างตั้งข้อสมมุติฐาน โดยยั้ง ๆ บทสรุปไว้ให้ห่างตัวก่อน ทั้งนี้หลักใหญ่ใจความ หรือหัวใจสำคัญของเขา คือ วัฏฏะแห่งสรรพสิ่ง ดังที่เขียนไว้ในหน้า 4 บท

ทำไมพระอิศวรจึงร่ายรำ?


มนุษย์เรา ผู้เกิดมาเพื่อตายจึงพยายามที่จะคว้ามือเจ้าพ่อฟ้าตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ แต่ในที่สุดเราต้องตกเป็นเหยื่อของเจ้าแม่ดินผู้เป็นทั้งแม่บังเกิดเกล้า เมียรัก และเป็นนางกาลีผู้ประหัตประหารทุกผู้ทุกคนในที่สุด


มีแต่พระพุทธองค์เท่านั้นที่สอนให้ไม่พึ่งเจ้าพ่อฟ้า และยังสอนให้หลุดพ้นจากอำนาจของเจ้าแม่ดิน ผู้คลอดและผู้มล้างทุกชาติทุกชีวิต


ไมเคิล ไรท ยึดถือในหลักการนี้ดังผู้ศึกษาเทพปกรณัมหลายท่านเชื่อกันว่า (หน้า 5) สังคมมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นสตรีนิยม ให้หญิงเป็นผู้นำทางพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ นับถือเจ้าแม่ดินเป็นใหญ่ พร้อมกับนางพระจันทร์และแม่พระคงคา แม่พระจันทร์(ดวงเดือน) นั้นเป็นผู้คุมประจำเดือนและเรื่องลับเรื่องขลังทั้งหลายของสตรี ส่วนแม่พระคงคา (แม่น้ำ) คือน้ำคร่ำอันเป็นที่มาของชีวิต ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ และผู้หญิงเท่านั้นที่มีประจำเดือนและให้กำเนิดได้ ... ต่อมาเมื่อสังคมบุรุษนิยมตั้งมั่นแล้ว ประจำเดือนจึงเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ใครที่สงสัยว่าสังคมบุรุษนิยมเอาชนะสังคมสตรีนิยมได้อย่างไร หาคำตอบที่เป็นข้อสันนิษฐานได้ในหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่น ๆ


ฝรั่งคลั่งผี เล่มนี้ พยายามอภิปลายให้คนอ่านได้รู้จัก “ผี” จากตัวเรา จากพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ ที่ปรากฏในภาพของศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ คติโบราณ ตำนาน บรรดามี ทั้งที่เป็นของแท้ (ซึ่งคงเค้าให้เห็นเพียงเสี้ยว) หรือของแท้ที่ถูกทำให้เป็นของเทียม แม้กระทั่งของเทียม โดยยึดปมความขัดแย้งระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์


เป็นที่น่าสนใจที่เทพนิยาย (Myth) กับสภาพสังคมและสภาพจิตของคนสะท้อนซึ่งกันและกันอย่างแม่นยำและเที่ยงแท้ แต่จำเป็นจะต้องแยกแยะระหว่าง Myth ที่แท้ที่เป็นของมนุษย์ตั้งแต่โบราณกับ Myth ปลอมที่คนภายหลังแต่งขึ้นมาเพื่อความสนุก ความจำเป็นอีกประการหนึ่งคือ เราจะต้อง “แปล” นิยายให้ถูกต้องและมองทะลุบางสิ่งบางอย่างที่เป็นการ “หลอกตา” หรือซ่อนความจริง อย่าได้เอาค่านิยมสมัยใหม่มา “วัด” นิยายโบราณ ตรงกันข้ามจะต้องพยายามสวมวิญญาณมนุษย์โบราณแล้วค่อยวิเคราะห์นิยาย


ปมขัดแย้งระหว่างสองเพศนี้มีอายุยืนยาวเท่าที่มีมนุษยชาติซึ่งยังปรากฏเป็นรหัสให้คนยุคปัจจุบันตีความในรากเหง้าของเราในทุกสังคม เพราะมนุษย์ไม่ได้ถือกำเนิดได้ด้วยตัวเอง เรามีที่มา ที่ไป มีบรรพบุรุษบรรพสตรีสั่งสมอยู่ในตัวเรา ไม่ใช่มีแต่ใบหน้าของปัจเจกเท่านั้น แม้เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวเข้ามามีบทบาทเหนือเจ้าพ่อฟ้า เจ้าแม่ดิน และตำนานความเชื่อทั้งปวง เค้าลางของรากเหง้าของเรากลับยังคงอยู่ ไม่ใช่เพราะความงมงาย หรือเรายังดึกดำบรรพ์อยู่ แต่เพราะนายนายวิทยาศาสตร์ไม่อาจสร้างความอบอุ่นให้ได้เท่าครรภ์มารดาอันแท้จริงของเรา (วิทยาศาสตร์คงไม่ได้แม่ของเราหรอก ใช่ไหม)


ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ชาวอีสานตั้งปลัดขิกหน้าบ้านเพื่อขออภัยเจ้าแม่ดินที่เขาเรียกว่า ผีแม่ม่าย ไมเคิล ไรทให้ทัศนะว่า ชาวอีสานของเรายังมีสัญชาตญาณเหลือพอ เมื่อเห็นว่าธรรมชาติป่าเขา แผ่นดิน ถูกทำลายถึงขั้นปางตาย ในฐานะลูกของเจ้าแม่ดินจึงกราบขออภัยเจ้าแม่ ขอให้เจ้าแม่อย่าได้ทอดทิ้งลูก ขอให้ผืนดินบริบูรณ์


เนื่องจากเจ้าแม่ดินถูกลดอำนาจลงด้วยอิทธิเจ้าพ่อฟ้า กลายเป็นสังคมบุรุษนิยม พิธีบูชาเจ้าแม่ดินด้วยเลือดของพ่อข้าวพ่อปี (ชายในหมู่บ้านผู้ถูกเลือกให้เป็นเครื่องสังเวย) เป็นการทำให้เจ้าแม่ดินตั้งท้อง เพื่อให้พืชธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ปรากฏเฉพาะประเทศไทย แต่ประจักษ์อยู่ทั่วไป ทั้งอินเดีย ยุโรป


หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมในแง่ของวิชาการเท่านั้น หากแต่ไมเคิล ไรทยังเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อไขรหัสลับบางประการที่แฝงอยู่ในปรากฏการณ์ของอดีตและปัจจุบัน เมื่ออ่านแล้วเราจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือรากเหง้าที่จะส่องทางให้มองเห็นอนาคต ถ้าเลือกได้เสียแต่ตอนนี้ เราคงไม่อยากตกอยู่ในมหาวิบัติภัยบรรดามีอันจะเกิดขึ้นในอนาคต


แม้เราจะเติบโตขึ้นมาในช่วงยามที่วิทยาศาสตร์เป็นพลังยิ่งใหญ่ทางปัญญา แต่สัญชาตญาณของเราหาได้สาบสูญไปหมดเมื่อวิทยาศาสตร์ปลดเราออกจากครรภ์มารดา เนื่องจากมันยังหลบซ่อนและถูกทำให้ด้อยค่าอยู่ภายในจิตใต้สำนึก หรือจิตไม่สำนึก เช่นนั้นแล้ว มีหรือที่มนุษย์จะหนีจิตของตัวได้พ้น เราจะอยู่กับมันและมันจะอยู่กับเราไปตลอดกาล สืบเผ่าพันธุ์ตราบที่มนุษย์ต้องการสืบเผ่าพันธุ์


คนสมัยใหม่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ของเขาได้ตัดเขาออกจากกระแสจิตไม่สำนึกของตนเอง และในขณะเดียวกันได้ทำให้เขาตกเป็นทาสของจิตไม่สำนึกเพราะเขาไม่รู้จักหน้ามันเสียแล้ว เขาเชื่อว่าเขาได้ปลดตัวเองออกจาก “ความเชื่องมงาย” แต่ในขณะเดียวกันเขาได้สาบสูญซึ่งศีลธรรมและจิตวิญญาณ มันแตกสลายสิ้น คนสมัยใหม่มองไม่เห็นทิศทางและจิตแตกแยกเยี่ยงคนโรคจิตฟุ้งซ่าน


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ได้เติบโตขึ้นมา โลกของเราได้มีความเป็นมนุษย์น้อยลง คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่ในจักรวาล ทั้งนี้เพราะว่าเราขาดออกจากความสัมพันธ์กับธรรมชาติ จิตไม่สำนึกของเราถูกปฏิเสธ คนเราจึงรู้สึกว่าถูกขังเดี่ยว สายน้ำไม่เป็นแม่เสียแล้ว ต้นไม้ไม่มีนาง งูเป็นสัตว์ที่ต้องฆ่าไม่ใช่สื่อระหว่างโลกมนุษย์กับบาดาล หินผา ต้นไม้ สัตว์ป่า ไม่มีเสียงจะพูดกับคนอีกแล้ว และคนไม่อาจจะพูดกับมันได้โดยเชื่อว่ามันจะเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติขาดเสียแล้ว “ศักดิ์ศรี” “ขวัญ” หรือสุขภาพจิตของเราจึงถอย... (หน้า 83)


สองย่อหน้าข้างต้นนี้ ไมเคิล ไรท คัดมาให้เราอ่านจากหนังสือ Man and His Myths ที่ Dr. Carl G. Jung เขียนขึ้นมาก่อนตายเพียง 60 วัน Jung นั้นเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Dr. Sigmund Freud แต่ทั้งสองท่านต่างกันตรงที่ Freud เป็นแพทย์ที่มองคนไข้เป็นคนปัจจุบันที่มีอาการผิดปกติปัจจุบัน ฝ่าย Jung นั้นสนใจมานุษวิทยา เทววิทยาและศาสนามาก่อนที่จะสนใจจิตวิทยา ท่านว่าพฤติกรรมผิดปกติและความฝันที่ไร้ความหมายที่แท้จริงสะท้อนพฤติกรรมและความคิดของบรรพบุรุษรุ่นก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งฉันถือว่าเป็นการศึกษาสรรพวิชาให้ก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติสูงสูด แม้กระทั่งตำนานพระพิฆเนศก็ยังส่องทางให้เราเห็นตัวตนของเรา(มนุษย์)จากเทพซึ่งเป็นที่เคารพบูชาอย่างแพร่หลาย


ฝรั่งคลั่งผี
ยังน่าสนใจและมีแรงดึงดูดอยู่ในตัวเองอีกมากมาย ใครชื่นชอบไมเคิล ไรท อยู่แล้วคงทราบดี ทั้งสำนวนภาษาแบบที่คนไทยอย่างเรายังทึ่ง แม้บางคนจะว่าดัดจริตไปบ้าง


อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ไรท ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนบทความที่ทำให้ความรู้เต็มไปด้วยสีสันให้เราได้อ่านอีกแล้ว เพราะเขาได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันอบอุ่นของเจ้าแม่ดินอย่างสงบแล้ว หลังจากผจญภัยไปกับเจ้าพ่อฟ้าในดินแดนแห่งสรรพวิทยา กระทั่งมีมรดกตกทอดเป็นหนังสือฝากไว้แทนตัวตนที่ดับไปแล้ว แม้จะเสียดายและเสียใจไปพร้อมกัน ทั้งรู้ ชีวิตเป็นวัฏฏะ แต่ฉันก็อยากขอบคุณไมเคิล ไรท หรือเมฆ มณีวาจา นักเขียนผู้ไม่เคยหยุดศึกษา ไม่หยุดแสวงหา นักเขียนผู้เป็นดั่งครูบาอาจารย์นอกพิธีกรรมไหว้ครูของฉันและใครอีกหลายคน.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…