‘พิณประภา ขันธวุธ’
ชื่อหนังสือ : ฉลาม
ผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์
สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัด
ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้น
ไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...
ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้น
ในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน การทำสิ่งใดโดยไม่ตามใคร
“ฉลาม” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ที่โปรยปกท้าทายคนที่ไม่เชื่อมั่นในความรักว่า “เรื่องรัก ที่จะกัดกินไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ” ตัวอักษรในหนังสือ165 หน้าถ่ายทอดเรื่องราวของ หญิงสาวชาวไทยที่ไม่ปลื้มกับชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองนัก “น้ำใจ บุญบดินทร์” อายุเพียงยี่สิบปีเศษ หญิงสาวสุดเปรี้ยว แต่ในความเปรี้ยวของเธอนั้นเหมือนน้ำส้มสายชูมากกว่ามะนาวเพราะอะไรนะหรือ? ความเปรี้ยวที่เกิดในตัวเธอมันเกิดจากการแต้มแต่งชีวิตของเธอเองในขณะที่หัวใจและจิตวิญาณเธอยังสับสนกับความหมายของชีวิต เราจะรู้สึกทันที่ถึงความอ้างว่าง-เปล่าดายในลมหายใจของตัวละคร หลักๆ สองคน คือหญิงสาวกับชายหนุ่มนาม “กระถิก” ผู้อาศัยอยู่ในต่างแดน
เหล้า-บุหรี่ -โคเคน-กัญชา นำมาซึ่งคราบน้ำตาของตัวละครทั้งสอง
ฉันอ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดตามไปด้วยไมได้ว่า ชีวิตฉัน ถึงจะข้องแวะสารเสพติดบ้างแต่ก็แค่นิดๆหน่อย พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหตุผลหลักของฉันคือ ...ฉันจะไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสสิ่งใดฉันจะไม่ยอมอยู่อย่าง...
คล้ายว่าต้องค่อยพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น หากไม่มีมัน ฉันจะทุรนทุราย นั่นคือ เหตุผลที่ฉันจะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นเช่นนั้น
เช่นเดียวกันกับ “น้ำใจ” และ“กระถิก” พวกเขาไม่ติดสารเสพติดเหล่านั้น แต่มีชีวิตอยู่เหมือนขาดแก่นแกนให้ยึดเหนี่ยว แม้กระทั้งความรักที่เกิดขึ้นก็ยังถูกปฎิเสธให้มันเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ในความดิบ-เถื่อนและคำสบถหยาบคายต่าง ๆ ที่หลุดจากปากตัวเอกของเรื่องราวกับโลกทั้งโลกไม่มีความหมาย ภาพรูปแบบ ปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน
“ตัวกู-อย่างยุ่งเรื่องของกู”
ในสังคมที่ต้องเดินเบียดไหล่กับคนแปลกหน้าในท้องถนน เรามักโหยหาความเป็น “ส่วนตัว” แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการให้มีคน “ห่วงใย” แท้จริงแล้ว...เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้จริงหรือ?
อ่านเพียงผิวเผิน ฉลามอาจไม่ต่างจากนิยายที่ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวใจแตก กับวังวนของชีวิต แต่สิ่งที่ทำแตกต่างกว่านิยายเกลื่อนแผงคือการถามหาความหมายของชีวิตในตัวละคร และโดยเฉพาะเมื่อ “น้ำใจ” ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากคนที่เป็นลูกมาเป็นรับบทแม่ แต่สิ่งที่บรรเทาและเยี่ยวหัวใจที่บาดเจ็บของ "น้ำใจ"คือความรัก ของ ผู้ซึ่งเธอเรียกว่า "แม่" น้ำใจ ที่กำลังจะเป็น "แม่" กับความรู้สึกสับสนว่าการเป็น "แม่" มันคืออะไร และบทบาท "แม่" ที่ต้องคอยดูแล "ลูก" ที่กำลังจะกลายเป็น "แม่"
ฉันมองเห็นช่องว่างของสังคมที่ถ่างและกว้างสุดกว้างในขณะเดียวกันมันก็ใกล้แต่ใช้มือโอบกอด และสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนที่มีในซ่อนในตัวอักษรไม่ต่างจากความอ่อนโยนของแม่ของน้ำใจที่มีให้ลูกสาวผ่านท่าทีที่เย็นชา ราวกับไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของลูก ทว่าในความเป็นจริงมันตรงข้าม เธอแทบกลายเป็นคนเสียสติเมื่อลูกสาวได้รับอุบัติเหตุ
ความรู้สึกของถิกที่มีต่อน้ำใจ ไม่ได้เด่นชัดพอให้ฉันประทับใจได้ แต่ในทางตรงข้ามทำให้ฉันเผลอยิ้มกับความอ่อนหวานของผู้ชายอ่อนโยนที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายคนนี้ ทำให้เห็นว่า ความรัก เป็นได้มากกว่าทิ่คิด
‘ในท้องน้ำที่สงบร่มเย็น เราคิดอย่างดีแล้วว่า หนทางข้างหน้าคือปะการังที่สวยงาม ไม่มีภยันตรายใด ๆ ปลาน้อยแหวกว่ายเล่นได้ ไม่มีพิษ เราเลือกที่จะดำน้ำลงไป กับคนที่เรารัก กับรอยยิ้มที่กำลังแค่เริ่มผลิ
...แต่บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า อะไรบางอย่างที่กำลังตามมาหรืออยู่ข้างหลังอาจจะเป็น ในสิ่งที่ไม่มีวันคาดถึง’
ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้น
ไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้น
เพราะเราได้มองเห็นจุดเจ็บที่ปวดร้าวตอนจบและหนทาง...ก่อนที่ความผิดพลาดจะมาเยือน