Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้
ประเภท : เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต
        
คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน

๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียน
วรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ

เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลย

ขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้

สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้

วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖

เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลง

นั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             

บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )

องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง

สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเอง

เทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่ง

กับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน

ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    

เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหา

ลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  

ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียน

กับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖

ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน

เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔

นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.

แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง

ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน

แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม