นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ )
ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน
บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา
สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน
คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน อันนี้คงพิจารณายาก ลำพังอาศัยเสียงจากความรู้สึกเข้าจับ แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นที่หลอมเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาวนั้น ก็พอจะสรุปได้
นอกจากนั้นแนวเพื่อชีวิตต้องไม่สักแต่สะท้อนภาพปัญหาเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องไม่เทศนาอย่างไร้ศรัทธา เหมือนดั่งที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยเตือนว่า
อย่าเทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต่อลมหายใจให้แนวเพื่อชีวิต คือการชี้นำ หรืออภิปลายให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นำเสนอนั้นด้วย มิเช่นนั้น แนวเพื่อชีวิตอาจกลายเป็น แนวเขียนที่เร่อร่าล้าสมัย หรือบ้องตื้นกว่ารายการโทรทัศน์
จากการกลับมาของ ช่อการะเกด ฉบับที่ ๔๒ ปี ๒๕๕๐ นี้ คำว่าเพื่อชีวิตที่มีชีวิตและลมหายใจของวันนี้ได้กลับมาให้เราได้เชยชมกันแล้วในเรื่องสั้นเด็ดดวงของ เดช อัคร
ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยเกี่ยวกับช่อการะเกด เผื่อว่าจะเป็นเกร็ดเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบความเป็นมา
ช่อการะเกด เป็นหนังสือต่อเนื่อง ( pocket magazine ) ถือกำเนิดครั้งแรกในรูปเล่มของ “โลกหนังสือ” ฉบับ “เรื่องสั้น” เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑ เพื่อให้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานเรื่องสั้นของผู้สนใจและรักการเขียนในขอบเขตทั่วประเทศโดยไม่จำกัดรุ่นวัยใหม่เก่า ทั้งไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา
ช่อกำเนิดใหม่อีกครั้งโดยฝีมือศิษย์เก่าอย่างเวียง-วชิระ บัวสนธ์ และสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ซึ่งเราไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากมีเรื่องสั้นมือสังหาร ของเดช อัครรอให้กล่าวถึงอย่างไม่อาจระงับใจได้
มือสังหาร เขียนเป็นแนวเพื่อชีวิตเหมือนต้นฉบับแต่แตกแขนงใหม่ได้ชัดเจน แต่ทำไมต้องยกย่องกันปานนี้ เพราะประเด็นที่เดช อัครพูดถึงเป็นเรื่องหนักหน่วงและเร่งเร้าเหลือเกิน มันร้อนมากเมื่อกล่าวถึงปัญหาชายแดนใต้ ที่ถูกคลุมโปงให้อยู่ใต้รักแร้ของรัฐบาลหน้าสื่อแทบทุกประเภท
เรื่องเขียนถึงครอบครัวหนึ่งที่ไทยพุทธกับไทยมุสลิมร่วมชีวิตสมรส ฝ่ายสามี คืออับรอมานกับภรรยา คือลิมะ (แต่เดิมชื่อมะลิ แต่เมื่อแต่งงานและเข้ารับศาสนาอิสลาม โต๊ะอีหม่ามก็ตั้งให้ใหม่) เราจะพบจุดขัดแย้งในตั้งแต่นาทีแรกและดำเนินต่อไปอย่างบีบคั้นกดดันยิ่ง
อับรอมานมีอาชีพฆ่าวัว เขาไม่กินไก่ส่วนลิมะไม่กินเนื้อวัว ทุกครั้งที่อับรอมานกลับมาหลังจากฆ่าวัวพร้อมเนื้อ ลิมะจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรงสาหัส ขณะที่อับรอมานไม่กินไก่ แต่มะลิกลับฆ่าไก่กินเพื่อประชดเขา
(หน้า ๔๙) อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงของลิมะใช่ว่าจะเพิ่งเกิดขึ้นกับลูกคนนี้ มันเป็นตั้งแต่ท้องลูกคนแรกได้เพียงห้าเดือน วันก่อนที่จะรู้ว่าพี่ชายของตัวเองเสียชีวิต ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าครั้งนี้ด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะอาเจียนอย่างหนักแล้ว นางยังนึกอยากกินเนื้อคนที่เป็นตำรวจ เมื่อเห็นอับรอมานหิ้วเนื้อสด ๆ เลือดแดงยังไหลเยิ้มกลับมา ทั้งที่เป็นคนไม่กินเนื้อ ลิมะวิ่งเข้าไปแย่งเนื้อในมือสามีมายัดใส่ปาก เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยราวกับกระสืออดอยาก ชั่วพริบตาเนื้อพร่องไปครึ่งพวง ...ฯลฯ... อาการอยากกินเนื้อมนุษย์ของลิมะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อท้องยูนุส (ลูกคนที่สอง)ได้สามเดือน ก่อนที่สานุดิงถูกยิงเพียงสองวัน คราวนี้นางไม่ได้อยากกินเนื้อตำรวจเหมือนครั้งก่อน แต่กลับเป็นเนื้อคนที่เป็นทหาร ...ฯลฯ... กระทั่งลิมะมีอาการแพ้ท้องครั้งใหม่ นางเหม็นแม้กระทั่งเสื้อที่เขานำกลับมาจนแทบทนไม่ไหว ...ฯลฯ...
เค้าโครงเรื่องผูกโยงถึงสถานการณ์ที่ญาติของสองสามีภรรยาถูกสังหารด้วยฝีมือผู้ที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา ขณะอาการแพ้ท้องรุนแรงของลิมะก็ถูกนำมาร้อยเข้าด้วย เหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพระหว่างการตายและการเกิดของคนในสังคมที่มีพันธะร่วมระหว่างกัน เหมือนเครือข่ายทางจิตวิญญาณ
ทั้งนี้ เดช อัครได้สรุปข้อขัดแย้งระหว่างสองสามีภรรยาต่างความเชื่อนี้ในตอนจบว่า “ หยุดเถอะ ” เขาพึมพำออกมาพอให้ตัวเองได้ยิน ทั้งที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงหลุดคำนี้ออกมา แต่พลันนึกได้ว่า หากเขาหยุดเอาเนื้อกลับมาบ้าน ลิมะก็คงหยุดฆ่าไก่ เพราะที่นางต้องฆ่านั้นไม่ใช่ว่าฆ่าเพราะอยากกิน แต่เพื่อต้องการที่จะเอาคืน...
ปัญหาที่เดช อัครมองอย่างใคร่ครวญและถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาคือความขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเชิงจิตวิญญาณ ที่ถูกกระทำมารุ่นต่อรุ่น ราวกับเป็นมรดกตกทอดอันบัดซบ ทางออกก็คือหยุดนั่นเอง
กล่าวถึงกลไกของการสำแดงพลังของเรื่องนี้โดยย่นย่อได้ว่า เดช อัครถ่ายทอดคู่ขัดแย้ง (ที่อยู่ในกระแสสถานการณ์ปัจจุบัน) อาศัยภาพลักษณ์ภายนอกที่ห่อหุ้มไว้ด้วยความเชื่อทางศาสนา พุทธ –อิสลาม นั่นคือปมปัญหาแรกที่เป็นสัญลักษณ์ร่วมระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน แล้วนำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในอารมณ์ร่วมเชิงสังคม (ปัญหาชายแดนใต้) มาเชื่อมต่อเข้ากับสถาบันครอบครัว สร้างตัวละครที่สดใหม่ คืออยู่ในเหตุการณ์จริงของอารมณ์ร่วมเชิงสังคมดังกล่าว ผูกปมขัดแย้งย่อยที่สอดคล้องกับปมแรก แล้วดำเนินเรื่องไปพร้อมกับปลุกเร้าความสนใจของผู้อ่านด้วยปัญหาครอบครัวนั้น เมื่อถึงจุด climax เรื่องก็พร้อมคลี่คลายตามปมย่อยที่ผูกไว้
ทำไมปมย่อยที่คลี่คลายแล้ว คือ “หยุด”จะเชื่อมโยงให้ปมใหญ่คลี่คลายตามไปด้วย นั่นคือเรื่องที่ผู้อ่านต้องครุ่นคิดต่อไปเพราะผู้เขียนได้บอกแล้วว่าปัญหาต้องแก้ไขจากจุดเล็ก ๆ ที่เป็นปัจเจกเสียก่อน ซึ่งการณ์นี้ต้องอาศัยกระบวนการแบบพลวัต
แม้เรื่องมือสังหารจะโดดเด่นดังกล่าวมาแล้วเพียงไร เราก็ไม่ควรละเลยจะกล่าวถึงข้อบกพร่องสักเล็กน้อย เนื่องจากเรื่องสั้นที่ดีเด่นและทรงพลังนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือ คือภาษา เพื่อถ่ายทอด โดยการใช้คำระหว่าง ๓,๐๐๐ –๑๐,๐๐๐ คำตามรูปแบบของเรื่องสั้นนั้น คือใช้คำน้อยแต่กินความมากนั่นเอง ดังนั้นการเขียนเรื่องสั้นที่ดีนักเขียนจำต้องประหยัดคำ ขัดเกลา ตัดทอน คำซ้ำ คำซ้อน เพราะเรื่องสั้นที่ดีก็มีคุณค่าเทียบเท่ากวีนิพนธ์ได้เช่นกัน
สำหรับเรื่องสั้นที่ไม่ใช้คำฟุ่มเฟื่อย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวเหยียดชนิดที่เรียกได้ว่าถั่งโถมออกมาอย่างหมดเปลือก คือ เรื่องผู้ไร้เหย้าของ ภาณุ ตรัยเวช
ผู้ไร้เหย้า เป็นเรื่องสั้นที่ให้เกร็ดความรู้แก่ผู้อ่านไปพร้อมด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเรานี้ ยังมุ่งเน้นให้แสดงทัศนคติ อุดมคติ หรือสำแดงอารมณ์กันจนสนุกสนาน หลงลืมไปว่าโลกนี้ยังมีสรรพวิทยาการอีกท่วมท้นที่จะจำนัลแด่ผู้อ่าน ไม่เท่านั้น เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องเทียบเคียงประวัติศาสตร์ที่หาอ่านยากในสังคมวรรณกรรมไทยอีกด้วย
ขณะเดียวกันความยาวของเรื่องเป็นความต่อเนื่องที่กระชับรัดกุม การใช้ภาษาก็ไม่ฟุ่มเฟื่อยเรื้อยเจื้อยแต่อย่างใด นอกเสียจากขาดการขัดเกลาให้เกิดสำนวนโวหาร เพื่อเปรียบเทียบ หรือตัดทอนเนื้อเรื่องให้แน่นขึ้น
ช่อการะเกด เล่มนี้ บรรจุเรื่องสั้นไว้ทั้งหมด ๑๒ เรื่อง จะน่าอ่านชวนชื่นเพียงไร ขอบอกว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ต้องนำมาคำนวณ เพราะนอกจากจะทำให้รู้ซึ้งว่าสถานการณ์เรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเป็นเช่นไรแล้ว อาจทำให้บางคนที่ชื่นชอบเขียนเรื่องสั้นเกิดลำพองใจ คิดจะเขียนส่งตรงถึงรสนิยมของบรรณาธิการในฉับพลันก็เป็นได้
พิจารณาจากเล่มนี้แล้วเชื่อว่ารสนิยมของบรรณาธิการช่อการะเกดในยุคนี้ อาจไม่ได้เป็นความหวังสูงส่งอะไรนักที่จะ สร้างสรรค์ ส่งเสริมวรรณกรรมไทยให้เลิศเลอนักทั้งนี้ก็ต้องฝากความหวังไว้กับนักเขียนด้วย ต้องติดตามในเล่มต่อไป
หากใครมีรสนิยมเคี้ยวข้าวโพดคั่วขณะอ่านหนังสือ ช่อการะเกดก็มีของแถมให้ในรูปแบบบทความของมุกหอม วงษ์เทศที่ตั้งข้อสังเกตแบบกระจายกระจาดเกี่ยวกับงานเขียนร่วมสมัย ส่วนที่พลาดไม่ได้คือ บทความวรรณกรรม ของ นพพร สุวรรณพานิชในบทความเรื่อง วรรณกรรมและ “กำเนิดเรื่องผี” ในเมืองไทยและวรรณกรรมสายรอบโลก โดย เฟย์ บางทีเกร็ดความรู้ก็สำคัญกว่าทัศนคติหากเราเองก็คิดวิเคราะห์เองได้ แต่อย่าลืม มือสังหาร และ ผู้ไร้เหย้าก็แล้วกัน.