Skip to main content

นายยืนยง

ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
\\/--break--\>

สิบปีมานี่ ฉันย้ายบ้านสิบครั้ง เป็นตัวเลขที่ลงตัวเหลือเกิน ขณะเดียวกันมันก็เป็นชะตากรรมอันแสนสาหัสของครอบครัวเล็ก ๆ อย่างฉัน เพราะเราไม่ได้ย้ายบ้านกันด้วยกระเป๋าสามใบ หากแต่ต้องหอบข้าวของหลายเที่ยวปิคอัพบรรทุก เริ่มตั้งแต่ตู้บรรจุหนังสือเก่าแก่ชราภาพ ไปจนถึงเตาแก๊ส ตู้เย็น นี่ก็ร่ำ ๆ จะต้องระเห็จไปอีก ทั้งที่แสนเสียดายบรรยากาศในฝันแห่งท้องทุ่งชนบท แต่ความขมขื่นใจที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากอิทธิพลของบุพการีซึ่งมีแนวคิดแบบคลื่นลูกที่สอง และหลงบริโภคแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนหลงจตุคามรามเทพ ทำให้ฉันต้องอพยพครอบครัวหนีออกจากรากเหง้าแห่งบรรพบุรุษ

หากดูตามเค้าโครงเรื่องข้างต้น ที่เน้นย่ำไปถึงภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดนั้น มีจุดกึ่งกลางอยู่ตรงความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น คือรุ่นพ่อ-แม่ กับรุ่นลูก อันเป็นผลให้คนรุ่นลูกไม่อาจทานทนในการจะสานต่อชีวิตและอุดมการณ์ของคนรุ่นตัวเองภายใต้ปีกอิทธิพลของผู้ให้กำเนิด มีอันต้องกระจัดพลัดพรายย้ายถิ่นฐาน ตั้งรกรากใหม่ในผืนแผ่นดินอื่น จุดนี้เองที่ฉันอยากสรุปคร่าว ๆ ว่า เป็นต้นธารของการสร้างสรรค์ทางหนึ่ง และจุดขัดแย้งนี้เองที่ถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาของวรรณกรรมไทยหลายเรื่อง

เห็นชัดเจนจากนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ ผลงานของวิมล ไทรนิ่มนวล นั่นคือ วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ซึ่งให้น้ำหนักในการอพยพย้ายถิ่นฐานตั้งแต่รุ่นของปู่ทวดโน่น แต่วิมลไม่หยุดเท่านั้น เขาได้สานต่อไปอีกขั้น ในการสร้างความขัดแย้งขั้นลึกลงไปจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับนวนิยายซีไรต์ปีนี้อย่าง ลับแล,แก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล ที่ใช้การอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นปมเปิดเรื่อง โดยตัวละครมุมานะสร้างครอบครัวใหม่ในดินแดนอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุอันดึกดำบรรพ์ พร้อมกันนั้นอุทิศได้สานต่อในเชิงจิตวิเคราะห์ และเน้นย้ำไปที่การสร้างอัตลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวด้วย

 

ที่เกริ่นนำมายืดยาวก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตกับแนวอื่น ๆ หรือวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตที่แตกหน่อต่อยอดมาจากยุคของอัศนี พลจันทร์ อันถือเป็นต้นธารใหญ่ของวรรณกรรมแนวนี้ เพราะขอบข่ายของคำว่า "แนวเพื่อชีวิต" ในงานวรรณกรรมนั้น จะแคบหรือกว้างขึ้นอยู่กับมุมมองอันผสานอยู่กับแนวความคิดของผู้มอง ในที่นี้จะเสนอมุมมองของตัวเองที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ในการอ่าน จะแคบหรือกว้าง ก็รบกวนท่านผู้อ่าน "พิจารณา" ร่วมกันด้วยจะเป็นการดีที่สุด

ในมุมมองของฉันเห็นว่า วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมีความชัดเจน แม่นยำในการที่จะชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นทางสังคม ไม่ว่าชนชั้นนั้นจะถูกเครื่องมือชนิดใดจัดแบ่งก็ตาม

เช่น หากใช้บทบาทหน้าที่ที่บุคคลมีต่อสังคมมาเป็นเครื่องมือจัดแบ่ง จะได้ชนชั้นของข้าราชการ กับชนชั้นของชาวบ้าน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ทำให้เห็นชัดถึงเส้นทางของการใช้อำนาจที่มาจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง และวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตก็มักแสดงออกในน้ำเสียงของการฟ้องร้องถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิด การกดขี่ข่มเหงของข้าราชการต่อชาวบ้าน หรือการใช้อำนาจกดขี่กันเองระหว่างข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กับชั้นผู้น้อย

หรือหากใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจจัดแบ่ง จะได้คนรวยกับคนจน วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตก็มักสะท้อนภาพการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงของคนรวยที่กระทำต่อคนจน แต่ความรวยกับความจนที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงตัวเงินหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว หากแต่หมายถึงโอกาสอันจะมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า ตามแนวความคิดแบบคนรวยนั้นจะรวยขึ้นมาได้ก็เพราะหากินกับคนจน หรือคนจนที่จนอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะถูกคนรวยปล้นความรวยของตนไปจนสิ้นเนื้อประดาตัว

นี่เป็นเพียงส่วนคร่าว ๆ ของแนวความคิดแบบวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ เราจะได้เห็นแนวความคิดที่จัดแบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว คือ โลกเก่าแบบอนุรักษ์ขนบประเพณีความเชื่อเดิม กับโลกใหม่แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งมักจะมาพร้อมกับลัทธิบริโภคนิยม, ความทันสมัย

ทั้งสามตัวอย่างนี้ เราสามารถจัดขั้วคู่ขัดแย้งได้สามคู่ คือ ข้าราชการกับชาวบ้าน คนรวยกับคนจน โลกเก่ากับโลกใหม่ ซึ่งล้วนเป็นคู่ขัดแย้งที่ถูกวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนำเสนออย่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกันตลอดเวลา ทำให้เกิดสงคราม เกิดผู้ชนะกับผู้แพ้ในที่สุด หากจะกล่าวว่าเป็นความซ้ำซากจำเจอันน่าหน่ายก็ว่าได้เต็มปากเต็มคำเลยทีเดียว เพราะไม่เพียงเหตุผลข้างต้นเท่านั้น หากวรรณกรรมแนวนี้ยังมีน้ำเสียงของการเรียกร้องหาความยุติธรรม การร้องทุกข์ของผู้ถูกกระทำ อันเต็มไปด้วยกลิ่นไอของความยากจนข้นแค้น กลิ่นสยดสยองของโศกนาฏกรรมซ้ำซากราวกับเป็นกลิ่นสาปประจำศตวรรษ หรือไม่ก็กลิ่นไออันแสนเศร้าหมองของสังคมประจำฤดูกาล

ประจำฤดูกาลอย่างไรหรือ

ฤดูกาลคือการหมุนวนซ้ำเป็นวาระตามกระแส เช่นกระแสแอนตี้สังคมเมือง วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตก็จะโพนทะนาความระยำตำบอนของสังคมเมือง ขณะเดียวกันก็ร่ายมหากาพย์เชื้อเชิญผู้คนให้บ่ายหน้าไปสู่สังคมชนบทอันสวยงามดุจเดียวกับภาพทิวทัศน์ในกรอบประดับบ้าน หรือเมื่อผู้คนพากันเห่อบ้าเทคโนโลยี พี่เพื่อชีวิตก็จะถ่มถุยบรรดาสัญลักษณ์ของเทคโนโลยีเสพติดความเร็วทั้งหลาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนหันมาเสพติดอดีตอันแสนหวาน ครก สาก กระด้ง เตาฟืน ควันไฟ หรือถ้าสถานการณ์การเมืองระอุขึ้นตามวาระแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พี่เพื่อชีวิตคนเดิมก็โหมโรงทฤษฎีเพื่อประชาชนกันครึกครื้นไปทั้งแผงหนังสือ เหมือนอย่างปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็พาเหรดเขียนวรรณกรรมแจกแจงปัญหาตื้นลึกหนาบางกันจนเป็นที่น่าศรัทธาราวกับเป็นพระมาโปรด 

ทั้งนี้ ฉันไม่ได้บอกว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตจะเหลวเป๋วไปเสียหมด ตรงข้ามฉันอยากบอกว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตของเรานั้นตายแล้วและกำลังเกิดขึ้นใหม่อย่างเปี่ยมประสบการณ์มากขึ้น เคี่ยวกรำ ลุ่มลึกมากขึ้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องหรือกลวิธีการนำเสนอ ทำให้ผู้อ่านตีความได้ลึก-กว้างขึ้น เนื่องจากได้ขยายขอบเขตความรับรู้ไปสู่ปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของสองขั้วดังกล่าวเท่านั้น แต่มันได้ย้ายความสำคัญของเนื้อหาไปสู่หัวข้อของจิตวิเคราะห์ สู่จิตวิญญาณ ฯลฯ

โดยส่วนใหญ่เน้นย้ำไปที่การสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ปัจเจกบุคคลอย่างขนานใหญ่ สังเกตได้จากตัวละครที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการให้ภูมิหลังอันละเอียดยิบย่อย ให้รายละเอียดของประสบการณ์ความรับรู้อันนำไปสู่แนวความคิดอย่างใหม่ ๆ ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับฉันก็คือ วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตได้ขยายขอบเขตไปสู่อาณาจักรแห่งความจริงอย่างใหม่ ๆ ด้วย สังเกตได้จากวรรณกรรมบางเรื่องที่อาจได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมแปลทั้งฟากยุโรป ละตินและญี่ปุ่น

ในที่นี้ขอยกบางส่วนของนวนิยายแปลเรื่อง บันทึกนกไขลาน (THE WIND-UP BIRD CHRONICLE ) มหากาพย์ข้ามกาลเวลาของคนสมัครใจว่างงาน ผลงานของ Haruki Murakame ที่ นพดล เวชสวัสดิ์ ฝากสำนวนแปลไว้ (พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2549, สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน/มติชน) บางส่วนของบทจบภาคสอง นกพยากรณ์ หน้า 407

ผมไม่อาจหนี และไม่ควรหนีไปจากที่นี่ ไม่ไปครีต ไม่ไปที่ไหน ผมจะต้องดึงคูมิโกะกลับมาให้จงได้ ด้วยมือสองข้างของผม  ผมจะดึงคูมิโกะ กลับมายังโลกนี้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น นั่นจะเป็นจุดจบของผม บุคคลผู้นี้คนที่เรียกว่า ผม' จะสลายหายไป ไม่มีวันได้ย้อนกลับมาอีกแล้ว

จากบางส่วนที่ยกมานั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตัวตนในปัจเจกบุคคลที่คาบเกี่ยว สอดประสานอยู่กับปัจเจกบุคคลอื่น อย่างในเรื่องนี้ ผม' ต้องดึงภรรยาที่หนีจากเขาไปอย่างปัจจุบันทันด่วนให้กลับคืนมา ทั้งที่หล่อนเขียนจดหมายมาสารภาพกับเขาถึงสาเหตุที่ต้องหย่าก็เพราะลับหลังสามี หล่อนแอบไปนอนกับชายอื่น ทั้งที่ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา หล่อนไม่เคยทำให้เขาต้องระแวง และเขาก็เชื่อใจหล่อนตลอดมา ซึ่งตลอดทั้งเรื่องของบันทึกนกไขลาน มีการกล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกบุคคลอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ อยู่เหนือขอบเขตความรับรู้แบบสมจริง และเน้นย้ำถึงกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ซึ่งอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์เฉพาะตัว (ใครอ่านนวนิยายเรื่องนี้คงมีภาพฝังใจกับมันไม่น้อยทีเดียว)

ส่วนใครที่ติดตามวรรณกรรมจากกลุ่มปักษ์ใต้หลายกลุ่มจะเห็นการเกิดใหม่ครั้งนี้อย่างกว้างขวาง (ไม่ได้หมายความว่าวรรณกรรมจากภาคอื่นจะไม่ได้เกิดใหม่นะ) อย่างนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้ เรื่องประเทศใต้ ของ ชาคริต โภชะเรือง เป็นต้น

แต่ที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ เดี๋ยวนี้ พี่ ๆ วรรณกรรมเขาหันมาเป็นพวกธรรมะธัมโมกันเยอะ แต่เขาเน้นไปที่การตีความพระธรรมคำสอน หรือพุทธประวัติ ไม่ก็ตำนานเชิงพุทธ เพื่อนำเสนอศักยภาพของพุทธธรรมในวรรณกรรมหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ แต่เขาก็พยายามชี้ให้เห็นความสามารถในการตีความให้แตกต่างไปตามยุคสมัย ทั้งลึกซึ้งและสมเหตุสมผลกว่าบทสรุปห้วน ๆ อย่าง "กฎแห่งกรรม" หรือบางเรื่องเขาก็ไปเน้นที่พุทธแบบวัชรยาน

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อขยายขอบเขตของอาณาจักรแห่งความจริง โดยการเพิ่มปัจจัย เพิ่มตัวแปรในการจะไขรหัสแห่งสัจจะ อันจริงแท้ อันสัมบูรณ์ อันสูงสุด แล้วแต่จะนิยามกันไป

ฉันถือว่านี่เป็นสาเหตุแท้จริงของการเกิดใหม่ของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ ไอ้เจ้าความจริงหรือสัจจะอย่างที่ว่า มันคืออะไรกันแน่ แล้วมันมีอายุขัยหรืออยู่เหนือกาลเวลา เป็นอมตะหรือเกิด ๆ ดับ ๆ เหมือนนิพพานเทียม

ฉันเองก็หวังว่า หากสักวันหนึ่ง ฉันเกิดค้นพบบทสรุปของสัจจะอย่างชัดแจ้งขึ้นมา ... แค่คิดก็จินตนาการไม่ออกเสียแล้วล่ะ ฉันคงไม่มีปัญญาปานนั้นได้ เท่าที่มีชีวิตกระพร่องกระแพร่งอย่างทุกวันนี้ได้ ก็นับว่าดีถมไปแล้ว จะมัวฝันหวานไร้เดียงสากับเศรษฐกิจพอเพียงเลย เอาแค่สมานฉันท์กับบุพการีฉันก็แทบกระอักแล้ว คราวนี้เห็นทีต้องบ้านแตกสาแหรกขาดอีกครั้ง เอาเถอะ.. อย่างน้อยฉันก็จะได้อพยพไปตั้งรกรากใหม่ ที่ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของมนุษยชาติก็แล้วกัน...ว่าไหม.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…