Skip to main content

นายยืนยง


 

ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle)

ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami)

ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์

พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน

 

หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)

 

เมย์ คาซาฮาระ สาววัยสิบหก หนึ่งในตัวละครมากบทบาทของนวนิยายเรื่องบันทึกนกไขลานเล่มนี้แถลงความคิดข้างต้นขึ้นมาอย่างชัดถ้อยชัดคำระหว่างการสนทนากับโทรุ โอกะดะ พระเอกหนุ่มของเรื่อง ในขณะที่เขามุดลึกลงไปใต้ก้นบ่อน้ำลึกอันแห้งผากเพื่อจะมองหาความจริงแท้ให้ชัดเจน โดยที่เมย์ยืนกุมความเป็นความตายของโทรุ โอกะดะอยู่ที่ปากบ่อ พร้อมทุกเมื่อที่จะสาวบันไดเชือกซึ่งโทรุ โอกะดะใช้เป็นทางขึ้นลงบ่อน้ำขึ้นมาไว้ข้างบน เพื่อมอบความตายอันเงียบงันแก่เขา

 

สาวน้อยผู้กระหายใคร่รู้ในสัณฐานของความตายกับชายหนุ่มผู้ปรารถนาในความจริงอันลึกเร้น เป็นสองตัวละครในเรื่องที่มีพฤติกรรมอันพิลึกพิลั่นในสายตาของเรา ไม่ได้หมายความว่าตัวละครอื่นในเรื่องจะไม่เป็นอย่างนี้ ตัวละครอื่น ๆ ไล่มาตั้งแต่คูมิโกะ แฟนสาวของโทรุ โอกะดะ , มอลตา คะโน กับครีตา คะโน สองศรีพี่น้องชื่อสะดุดใจคู่นี้ก็มีมุมมองต่อโลกและชีวิตอันแสนพิลึกพิสดารไม่ต่างกัน ไหนจะผู้หมวดมามิยะ ลูกจันทร์กับอบเชย แม่ลูกคู่ประหลาดเต็มไปด้วยพลังพิเศษ ความเป็นมาของครอบครัวคูมิโกะ บ้านมิยาซาวะ บ้านผูกคอตายที่มีบ่อน้ำแห่งการรู้แจ้ง สมรภูมิอันดุเดือดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในดินแดนมองโกล โยงไปถึงแมงกะพรุน และแมวที่หายตัวไปทางทวารแมว เช่นเดียวกับตัวละครอื่น นอกจากตัวละครแปลกแล้ว ยังมีพฤติกรรมแยกร่าง แยกกายเนื้อออกจากจิต อันเป็นผลให้มี “กะหรี่ทางจิต” อย่างครีตา คะโน รวมถึงโลกไซเบอร์สเปซ ที่มีปากบอกเล่าเรื่องราวออกมาได้อีก

 

การที่นวนิยายขนาดหนาเล่มนี้ได้ให้นิยามของ “บันทึกนกไขลาน” ไว้ว่า “มหากาพย์ข้ามกาลเวลาของคนสมัครใจว่างงาน” อันแสดงถึงขอบเขตอันไร้ขีดจำกัดในเรื่องของ “เวลา” และขอบเขตอันไร้ขีดจำกัดของ “เวลา” สำหรับคนว่างงานแบบสมัครใจอย่างโทรุ โอกะดะ นั้น ได้แสดงถึงความไพศาลของเนื้อหา โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิต และโดยไม่ขาดตกบกพร่องในการจะนำเสนอให้ลึกไปถึงปริมณฑลของสัจจะหรือความจริงแท้แห่งชีวิตนั้น หากเราจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ด้วยวิธีทางการวิจารณ์วรรณกรรมแล้ว ฉันเห็นว่าไม่ควรเลยที่จะทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันฉันก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้เลยแม้แต่น้อย

แต่จะให้ฉันเว้นไม่กล่าวถึงในแง่มุมอื่นเลย คงเป็นเรื่องผิดวิสัยของนักอ่านอย่างฉัน...ใช่ไหมล่ะ

 

เพราะอย่างนี้เองฉันจึงเลือกกล่าวถึงในแง่มุมอื่น ซึ่งแยกย่อยออกมา และออกจะดูไม่สลักสำคัญนักในเชิงวิธีวิจารณ์วรรณกรรม แต่รับรองว่าแง่มุมนี้ “น่าจะ” มีสีสันอยู่ในตัวเองบ้างไม่มากก็น้อย ก่อนอื่นเรามาดูเค้าโครงเรื่องอย่างคร่าว ๆ กันก่อน

 

บันทึกนกไขลาน เล่าถึงชีวิตของชายวัยสามสิบคนหนึ่งที่ยินยอมพร้อมใจลาออกจากงานประจำในสำนักงานกฎหมาย และอย่างไม่มีเค้าลางใด ๆ ภรรยาสาวของเขาได้หนีออกจากบ้านไป ซึ่งเป็นพันธะให้เขาต้องตามหาและนำพาเธอกลับมาในที่สุดด้วย

 

เรื่องพื้น ๆ ข้างต้นกลายเป็นความยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ เนื่องจากมันเป็นการตั้งต้นอธิบายเรื่องราวของสภาวะจิตระหว่างผู้คนหลายประเภทภายใต้ความไร้ขอบเขตแห่งจักรวาล ไร้เงื่อนไขของเวลานาทีมากำกับ

ผู้คนหลายประเภทที่โคจรมาพบกันอย่างไร้เหตุผลที่สุด อันเป็นบ่อเกิดของนิยายที่สมจริงล้ำเหลือเรื่องนี้

 

ตัวละครอย่างโทรุ โอกะดะ พระเอกของเราเป็นเพียงชายวัยสามสิบที่ว่างงานอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละ แต่เขามีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างเสมือนเป็นพาหะ มีแรงดึงดูด ชักพาให้เรื่องราวอันไม่อาจเชื่อมโยงกันได้ในโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม ให้กลับมาแสดงตัวตนอันแท้จริงของมันในโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่

 

โดยที่ตัวโทรุ โอกะดะเองไม่ได้มีโลกทัศน์แบบเดิมหรือแบบใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจน นั่นคือ เขา “ไร้สังกัด” หากเป็นนักวิเคราะห์ที่นิยมการตั้งข้อสังเกต รวมถึงเป็นนักปฏิบัติตัวยง คือเดินหน้าเข้าไปคลุกคลีอยู่กับตัวละครที่ผ่านเข้ามา ซึ่งแต่ละตัวละครก็มักมาพร้อมกับโลกทัศน์อันแตกต่างกันไป ดังนั้นเราจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือของตัวละครอย่างที่วรรณกรรมส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็น ราวกับว่าผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ ได้พยายามเปิดเนื้อที่ของการแสดงถึงความจริงแท้ให้ว่างลง ขณะเดียวกันเนื้อที่นั้นไม่ใช่ “ความว่างเปล่า” หากแต่เป็นการพยายามหรือสมัครใจให้ “ว่างเปล่า” เพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุเนื้อหาของความจริงแท้ลงทีละส่วน ๆ

 

นี่ฉันคิดบ้าไปเองหรือเปล่านะ ... อะไรคือความจริงแท้ อะไรคือโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม

อะไรคือโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ ขอสรุปนิด ๆ ตามความเข้าใจ

 

ความจริงแท้ (Truth) ที่กล่าวถึงมานักต่อนักคือ ความสัมบูรณ์ คือ สัจจะ

 

มิชิโอะ กากุ นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าจักรวาลมีมากมาย (multiverse) จักรวาลถัดไปอยู่ห่างเพียง 1 มิลลิเมตรจากผิว (brane) แต่รับรู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่เหนือมิติ(โลกสี่มิติ) ของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้มี 11 มิติ สภาวะนิพพาน (nirvana) ที่มีความถี่ละเอียดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับโลกสี่มิติของเรา

จักวาลที่เราอยู่นี้ มี 3 ลักษณะ คือ

1.มหาโลกธาตุ ประกอบด้วย กลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก

2.มัชฌิมโลกธาตุ ประกอบด้วย โลกจำนวนมาก

3.จุลโลกธาตุ ประกอบด้วย ระบบสุริยะและโลกมนุษย์กับดาวเคราะห์อื่น ๆ

 

นี่เป็นบางส่วนของแนวคิดเกี่ยวกับความจริงแท้ดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาให้อ่านกัน เพื่อให้เห็นว่ามุมมองแบบวัตถุวิสัย (Objectivism) รวมทั้งแบบสสารนิยม (Materialism) ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองแบบอัตวิสัย (Subjectivism) ต้องหันมายอมรับความสำคัญของภาพที่เป็นอัตวิสัย subjectivism image มากกว่าเดิมแม้มันจะจับต้องไม่ได้ก็ตาม เนื่องจากมีคำอธิบายและข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่เคยพิสูจน์ไม่ได้เหล่านั้นขึ้นมาแล้วจากบรรดานักจักรวาลวิทยาใหม่ ฉะนั้นปริมณฑลของการเข้าถึงความจริงแท้นั้น ได้ขยายขอบเขตออกมามากและเป็นไปอย่างกลับตาลปัตร

 

ขณะเดียวกันทัศนคติที่มีต่อความจริงแท้นี้ยังได้เคลื่อนเปลี่ยนไปทุกขณะ เสมือนว่าความจริงแท้ไม่ใช่สภาวะหนึ่งสภาวะใดที่หยุดนิ่งแล้วยืนรอเราไปค้นพบ หากแต่มันมีการเคลื่อน ดูง่าย ๆ จากสำนักคิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างนักจักรวาลวิทยาใหม่ในปัจจุบันนี้ (ซึ่งอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้) กลับมาความเห็นสอดคล้องกับนักจักรวาลวิทยายุคดึกดำบรรพ์ที่โยงความคิดเข้ากับตำนานปรัมปรา เทพเจ้า ซึ่งอยู่คู่กันมากับความหมาย (Myth) ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันปีก่อนมนุษย์จะรู้จักวิทยาศาสตร์

***(ข้อความตัวหนาทั้งหมดในบทความนี้ ได้จับใจความมาจากหนังสือรวมบทความ จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก นำเสนอโดย กลุ่มจิตวิวัฒน์ สำนักพิมพ์ มติชน)

 

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างแนวคิดใหม่หรือโลกทัศน์ใหม่เพื่อขยายความเป็นไปได้ของ ความจริงแท้ที่กล่าวถึงเท่านั้น แต่โปรดอย่าลืมว่า ทุกความคิดเป็นเพียงสมมุติฐาน ไม่ใช่สัจจะ

 

โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม หรือโลกแบบตรรกยะนิยม หรือเหตุผลนิยม (Rationalism) ที่ยืนยันในความสำคัญของการสังเกตและรับรู้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธความสำคัญของประสบการณ์ แต่ถือว่า ความรู้จากประสาทสัมผัสไม่อาจให้ความจริงที่เป็นสัจจะได้

 

โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ อันนี้ไม่ใช่ อตรรกยะนิยม (Irrationalisim) ที่ตรงกันข้ามกับตรรกยะนิยม ข้างต้น หากแต่เป็นการอธิบายเหตุผลของความไร้เหตุผลแบบอตรรกยะ หรือหาเหตุผลให้สิ่งที่ดำรงอยู่เหนือเหตุผลนั่นเอง ทั้งนี้โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ก็สอดคล้องกับแนวคิดของนักจักรวาลวิทยาใหม่อีกด้วย

 

งานนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่านักเขียนไทยหรือเทศต่างก็ให้ความสนใจกับโลกทัศน์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่หนทางของความจริงแท้ โดยได้พยายามยกเอานิทานปรัมปรา คตินิยมท้องถิ่น ความลี้ลับ อันไร้เหตุผลทั้งหลาย หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่า Myth นั่นแหละ มาอธิบายความจริงแท้กันถ้วนหน้า เหมือนเราขึ้นรถไฟขบวนเดียวกัน เลือกปลายทางเหมือนกัน และมีเป้สัมภาระอันประกอบด้วยเครื่องยังชีพประเภทเดียวกันนั่นเอง

 

ออกนอกเรื่องมาพอสมควร กลับเข้าเรื่องเสียที...

ดังนั้นที่กล่าวว่า ฮารูกิ มูราคามิ ได้พยายามเปิดเนื้อที่ของการแสดงถึงความจริงแท้ให้ว่างลง ขณะเดียวกันเนื้อที่นั้นไม่ใช่ “ความว่างเปล่า” หากแต่เป็นการพยายามหรือสมัครใจให้ “ว่างเปล่า” เพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุเนื้อหาของความจริงแท้ลงทีละส่วน ๆ นั้น ฮารูกิ มูราคามิ ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เขามีต่อความจริงแท้ว่ามันหาได้เกิดขึ้นเองอย่างโดด ๆ และไม่ได้ก่อกำเนิดจากความว่างเปล่า แต่มันคือภารกิจที่ต้องมุ่งแสวงหา ขณะเดียวกันมันก็ได้ปลดเปลื้องตัวเราไปด้วย เช่นเดียวกับโทรุ โอกะดะ ที่มีภารกิจติดตามหาภรรยาสาว คูมิโกะให้กลับคืนมา ขณะเดียวกันเขาได้พบกับผู้คนอันนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ล่วงข้ามพรมแดนของสถานที่ และเวลา ไปอย่างล้นหลาม บางครั้งหากเราจะมองอย่างชาวพุทธแบบกฎแห่งกรรม มันดูคล้ายปรากฎการณ์ “กลับชาติมาเกิด” หรือ “การระลึกชาติ” ของชายผู้มีปานสีน้ำเงินข้างแก้ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปลดเปลื้องตัวเขาไปในขณะเดียวกัน

 

สรุปได้ขั้นหนึ่งว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นการแสดงออกถึง วิถีทางอันนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งไม่ใช่วิถีที่เป็นครรลองแบบใดแบบหนึ่ง หากแต่เป็นวิถีแห่งการเปิดรับอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนต่อความดำรงอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด” และนักวิทยาศาสตร์ใหม่หรือควอนตัมฟิสิกส์เน้นถึงความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และบันทึกนกไขลาน เรื่องนี้ก็ส่งเสียงคล้าย ๆ กันเช่นนี้ รวมถึงแสดงออกถึงวิธี (Method) อันจะนำพาวิถี (Way) ไปสู่ภาวะแห่งการรู้แจ้งและเข้าใกล้สัจจะ ซึ่งสัจจะดังกล่าวนั้น หาใช่สิ่งยิ่งใหญ่มั่งคงสถาพรเฉกเช่นปราสาทราชวัง หากแต่เป็นภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันด้วยซ้ำไป

 

ใครสนใจจะรู้แจ้งในบ่อน้ำลึกอันแห้งผาก เห็นว่างานนี้ต้องไปหาบันทึกนกไขลานมาอ่านแล้วล่ะ

เพราะฉันแทบไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวใด ๆ เลย มัวแต่ผจญอยู่กับความคิดที่แทรกและซ้อนเข้ามาระหว่างการอ่านบันทึกแห่งนวนิยายเล่มนี้ ส่งท้ายอีกทีว่า นอกจากอ่านแล้วจะสนุกในการตีความ เราจะไม่พลาดอรรถรสของมันเลยแม้แต่หยดเดียว จริง ๆ .

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓