Skip to main content

นายยืนยง


 

ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle)

ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami)

ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์

พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน

 

หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)

 

เมย์ คาซาฮาระ สาววัยสิบหก หนึ่งในตัวละครมากบทบาทของนวนิยายเรื่องบันทึกนกไขลานเล่มนี้แถลงความคิดข้างต้นขึ้นมาอย่างชัดถ้อยชัดคำระหว่างการสนทนากับโทรุ โอกะดะ พระเอกหนุ่มของเรื่อง ในขณะที่เขามุดลึกลงไปใต้ก้นบ่อน้ำลึกอันแห้งผากเพื่อจะมองหาความจริงแท้ให้ชัดเจน โดยที่เมย์ยืนกุมความเป็นความตายของโทรุ โอกะดะอยู่ที่ปากบ่อ พร้อมทุกเมื่อที่จะสาวบันไดเชือกซึ่งโทรุ โอกะดะใช้เป็นทางขึ้นลงบ่อน้ำขึ้นมาไว้ข้างบน เพื่อมอบความตายอันเงียบงันแก่เขา

 

สาวน้อยผู้กระหายใคร่รู้ในสัณฐานของความตายกับชายหนุ่มผู้ปรารถนาในความจริงอันลึกเร้น เป็นสองตัวละครในเรื่องที่มีพฤติกรรมอันพิลึกพิลั่นในสายตาของเรา ไม่ได้หมายความว่าตัวละครอื่นในเรื่องจะไม่เป็นอย่างนี้ ตัวละครอื่น ๆ ไล่มาตั้งแต่คูมิโกะ แฟนสาวของโทรุ โอกะดะ , มอลตา คะโน กับครีตา คะโน สองศรีพี่น้องชื่อสะดุดใจคู่นี้ก็มีมุมมองต่อโลกและชีวิตอันแสนพิลึกพิสดารไม่ต่างกัน ไหนจะผู้หมวดมามิยะ ลูกจันทร์กับอบเชย แม่ลูกคู่ประหลาดเต็มไปด้วยพลังพิเศษ ความเป็นมาของครอบครัวคูมิโกะ บ้านมิยาซาวะ บ้านผูกคอตายที่มีบ่อน้ำแห่งการรู้แจ้ง สมรภูมิอันดุเดือดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในดินแดนมองโกล โยงไปถึงแมงกะพรุน และแมวที่หายตัวไปทางทวารแมว เช่นเดียวกับตัวละครอื่น นอกจากตัวละครแปลกแล้ว ยังมีพฤติกรรมแยกร่าง แยกกายเนื้อออกจากจิต อันเป็นผลให้มี “กะหรี่ทางจิต” อย่างครีตา คะโน รวมถึงโลกไซเบอร์สเปซ ที่มีปากบอกเล่าเรื่องราวออกมาได้อีก

 

การที่นวนิยายขนาดหนาเล่มนี้ได้ให้นิยามของ “บันทึกนกไขลาน” ไว้ว่า “มหากาพย์ข้ามกาลเวลาของคนสมัครใจว่างงาน” อันแสดงถึงขอบเขตอันไร้ขีดจำกัดในเรื่องของ “เวลา” และขอบเขตอันไร้ขีดจำกัดของ “เวลา” สำหรับคนว่างงานแบบสมัครใจอย่างโทรุ โอกะดะ นั้น ได้แสดงถึงความไพศาลของเนื้อหา โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิต และโดยไม่ขาดตกบกพร่องในการจะนำเสนอให้ลึกไปถึงปริมณฑลของสัจจะหรือความจริงแท้แห่งชีวิตนั้น หากเราจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ด้วยวิธีทางการวิจารณ์วรรณกรรมแล้ว ฉันเห็นว่าไม่ควรเลยที่จะทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันฉันก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้เลยแม้แต่น้อย

แต่จะให้ฉันเว้นไม่กล่าวถึงในแง่มุมอื่นเลย คงเป็นเรื่องผิดวิสัยของนักอ่านอย่างฉัน...ใช่ไหมล่ะ

 

เพราะอย่างนี้เองฉันจึงเลือกกล่าวถึงในแง่มุมอื่น ซึ่งแยกย่อยออกมา และออกจะดูไม่สลักสำคัญนักในเชิงวิธีวิจารณ์วรรณกรรม แต่รับรองว่าแง่มุมนี้ “น่าจะ” มีสีสันอยู่ในตัวเองบ้างไม่มากก็น้อย ก่อนอื่นเรามาดูเค้าโครงเรื่องอย่างคร่าว ๆ กันก่อน

 

บันทึกนกไขลาน เล่าถึงชีวิตของชายวัยสามสิบคนหนึ่งที่ยินยอมพร้อมใจลาออกจากงานประจำในสำนักงานกฎหมาย และอย่างไม่มีเค้าลางใด ๆ ภรรยาสาวของเขาได้หนีออกจากบ้านไป ซึ่งเป็นพันธะให้เขาต้องตามหาและนำพาเธอกลับมาในที่สุดด้วย

 

เรื่องพื้น ๆ ข้างต้นกลายเป็นความยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ เนื่องจากมันเป็นการตั้งต้นอธิบายเรื่องราวของสภาวะจิตระหว่างผู้คนหลายประเภทภายใต้ความไร้ขอบเขตแห่งจักรวาล ไร้เงื่อนไขของเวลานาทีมากำกับ

ผู้คนหลายประเภทที่โคจรมาพบกันอย่างไร้เหตุผลที่สุด อันเป็นบ่อเกิดของนิยายที่สมจริงล้ำเหลือเรื่องนี้

 

ตัวละครอย่างโทรุ โอกะดะ พระเอกของเราเป็นเพียงชายวัยสามสิบที่ว่างงานอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละ แต่เขามีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างเสมือนเป็นพาหะ มีแรงดึงดูด ชักพาให้เรื่องราวอันไม่อาจเชื่อมโยงกันได้ในโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม ให้กลับมาแสดงตัวตนอันแท้จริงของมันในโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่

 

โดยที่ตัวโทรุ โอกะดะเองไม่ได้มีโลกทัศน์แบบเดิมหรือแบบใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจน นั่นคือ เขา “ไร้สังกัด” หากเป็นนักวิเคราะห์ที่นิยมการตั้งข้อสังเกต รวมถึงเป็นนักปฏิบัติตัวยง คือเดินหน้าเข้าไปคลุกคลีอยู่กับตัวละครที่ผ่านเข้ามา ซึ่งแต่ละตัวละครก็มักมาพร้อมกับโลกทัศน์อันแตกต่างกันไป ดังนั้นเราจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือของตัวละครอย่างที่วรรณกรรมส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็น ราวกับว่าผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ ได้พยายามเปิดเนื้อที่ของการแสดงถึงความจริงแท้ให้ว่างลง ขณะเดียวกันเนื้อที่นั้นไม่ใช่ “ความว่างเปล่า” หากแต่เป็นการพยายามหรือสมัครใจให้ “ว่างเปล่า” เพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุเนื้อหาของความจริงแท้ลงทีละส่วน ๆ

 

นี่ฉันคิดบ้าไปเองหรือเปล่านะ ... อะไรคือความจริงแท้ อะไรคือโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม

อะไรคือโลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ ขอสรุปนิด ๆ ตามความเข้าใจ

 

ความจริงแท้ (Truth) ที่กล่าวถึงมานักต่อนักคือ ความสัมบูรณ์ คือ สัจจะ

 

มิชิโอะ กากุ นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าจักรวาลมีมากมาย (multiverse) จักรวาลถัดไปอยู่ห่างเพียง 1 มิลลิเมตรจากผิว (brane) แต่รับรู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่เหนือมิติ(โลกสี่มิติ) ของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้มี 11 มิติ สภาวะนิพพาน (nirvana) ที่มีความถี่ละเอียดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับโลกสี่มิติของเรา

จักวาลที่เราอยู่นี้ มี 3 ลักษณะ คือ

1.มหาโลกธาตุ ประกอบด้วย กลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก

2.มัชฌิมโลกธาตุ ประกอบด้วย โลกจำนวนมาก

3.จุลโลกธาตุ ประกอบด้วย ระบบสุริยะและโลกมนุษย์กับดาวเคราะห์อื่น ๆ

 

นี่เป็นบางส่วนของแนวคิดเกี่ยวกับความจริงแท้ดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาให้อ่านกัน เพื่อให้เห็นว่ามุมมองแบบวัตถุวิสัย (Objectivism) รวมทั้งแบบสสารนิยม (Materialism) ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองแบบอัตวิสัย (Subjectivism) ต้องหันมายอมรับความสำคัญของภาพที่เป็นอัตวิสัย subjectivism image มากกว่าเดิมแม้มันจะจับต้องไม่ได้ก็ตาม เนื่องจากมีคำอธิบายและข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่เคยพิสูจน์ไม่ได้เหล่านั้นขึ้นมาแล้วจากบรรดานักจักรวาลวิทยาใหม่ ฉะนั้นปริมณฑลของการเข้าถึงความจริงแท้นั้น ได้ขยายขอบเขตออกมามากและเป็นไปอย่างกลับตาลปัตร

 

ขณะเดียวกันทัศนคติที่มีต่อความจริงแท้นี้ยังได้เคลื่อนเปลี่ยนไปทุกขณะ เสมือนว่าความจริงแท้ไม่ใช่สภาวะหนึ่งสภาวะใดที่หยุดนิ่งแล้วยืนรอเราไปค้นพบ หากแต่มันมีการเคลื่อน ดูง่าย ๆ จากสำนักคิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างนักจักรวาลวิทยาใหม่ในปัจจุบันนี้ (ซึ่งอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้) กลับมาความเห็นสอดคล้องกับนักจักรวาลวิทยายุคดึกดำบรรพ์ที่โยงความคิดเข้ากับตำนานปรัมปรา เทพเจ้า ซึ่งอยู่คู่กันมากับความหมาย (Myth) ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันปีก่อนมนุษย์จะรู้จักวิทยาศาสตร์

***(ข้อความตัวหนาทั้งหมดในบทความนี้ ได้จับใจความมาจากหนังสือรวมบทความ จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก นำเสนอโดย กลุ่มจิตวิวัฒน์ สำนักพิมพ์ มติชน)

 

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างแนวคิดใหม่หรือโลกทัศน์ใหม่เพื่อขยายความเป็นไปได้ของ ความจริงแท้ที่กล่าวถึงเท่านั้น แต่โปรดอย่าลืมว่า ทุกความคิดเป็นเพียงสมมุติฐาน ไม่ใช่สัจจะ

 

โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบเดิม หรือโลกแบบตรรกยะนิยม หรือเหตุผลนิยม (Rationalism) ที่ยืนยันในความสำคัญของการสังเกตและรับรู้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธความสำคัญของประสบการณ์ แต่ถือว่า ความรู้จากประสาทสัมผัสไม่อาจให้ความจริงที่เป็นสัจจะได้

 

โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ อันนี้ไม่ใช่ อตรรกยะนิยม (Irrationalisim) ที่ตรงกันข้ามกับตรรกยะนิยม ข้างต้น หากแต่เป็นการอธิบายเหตุผลของความไร้เหตุผลแบบอตรรกยะ หรือหาเหตุผลให้สิ่งที่ดำรงอยู่เหนือเหตุผลนั่นเอง ทั้งนี้โลกของความเป็นเหตุเป็นผลแบบใหม่ก็สอดคล้องกับแนวคิดของนักจักรวาลวิทยาใหม่อีกด้วย

 

งานนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่านักเขียนไทยหรือเทศต่างก็ให้ความสนใจกับโลกทัศน์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่หนทางของความจริงแท้ โดยได้พยายามยกเอานิทานปรัมปรา คตินิยมท้องถิ่น ความลี้ลับ อันไร้เหตุผลทั้งหลาย หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่า Myth นั่นแหละ มาอธิบายความจริงแท้กันถ้วนหน้า เหมือนเราขึ้นรถไฟขบวนเดียวกัน เลือกปลายทางเหมือนกัน และมีเป้สัมภาระอันประกอบด้วยเครื่องยังชีพประเภทเดียวกันนั่นเอง

 

ออกนอกเรื่องมาพอสมควร กลับเข้าเรื่องเสียที...

ดังนั้นที่กล่าวว่า ฮารูกิ มูราคามิ ได้พยายามเปิดเนื้อที่ของการแสดงถึงความจริงแท้ให้ว่างลง ขณะเดียวกันเนื้อที่นั้นไม่ใช่ “ความว่างเปล่า” หากแต่เป็นการพยายามหรือสมัครใจให้ “ว่างเปล่า” เพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุเนื้อหาของความจริงแท้ลงทีละส่วน ๆ นั้น ฮารูกิ มูราคามิ ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เขามีต่อความจริงแท้ว่ามันหาได้เกิดขึ้นเองอย่างโดด ๆ และไม่ได้ก่อกำเนิดจากความว่างเปล่า แต่มันคือภารกิจที่ต้องมุ่งแสวงหา ขณะเดียวกันมันก็ได้ปลดเปลื้องตัวเราไปด้วย เช่นเดียวกับโทรุ โอกะดะ ที่มีภารกิจติดตามหาภรรยาสาว คูมิโกะให้กลับคืนมา ขณะเดียวกันเขาได้พบกับผู้คนอันนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ล่วงข้ามพรมแดนของสถานที่ และเวลา ไปอย่างล้นหลาม บางครั้งหากเราจะมองอย่างชาวพุทธแบบกฎแห่งกรรม มันดูคล้ายปรากฎการณ์ “กลับชาติมาเกิด” หรือ “การระลึกชาติ” ของชายผู้มีปานสีน้ำเงินข้างแก้ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปลดเปลื้องตัวเขาไปในขณะเดียวกัน

 

สรุปได้ขั้นหนึ่งว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นการแสดงออกถึง วิถีทางอันนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งไม่ใช่วิถีที่เป็นครรลองแบบใดแบบหนึ่ง หากแต่เป็นวิถีแห่งการเปิดรับอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนต่อความดำรงอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย

 

ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิด” และนักวิทยาศาสตร์ใหม่หรือควอนตัมฟิสิกส์เน้นถึงความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และบันทึกนกไขลาน เรื่องนี้ก็ส่งเสียงคล้าย ๆ กันเช่นนี้ รวมถึงแสดงออกถึงวิธี (Method) อันจะนำพาวิถี (Way) ไปสู่ภาวะแห่งการรู้แจ้งและเข้าใกล้สัจจะ ซึ่งสัจจะดังกล่าวนั้น หาใช่สิ่งยิ่งใหญ่มั่งคงสถาพรเฉกเช่นปราสาทราชวัง หากแต่เป็นภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันด้วยซ้ำไป

 

ใครสนใจจะรู้แจ้งในบ่อน้ำลึกอันแห้งผาก เห็นว่างานนี้ต้องไปหาบันทึกนกไขลานมาอ่านแล้วล่ะ

เพราะฉันแทบไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวใด ๆ เลย มัวแต่ผจญอยู่กับความคิดที่แทรกและซ้อนเข้ามาระหว่างการอ่านบันทึกแห่งนวนิยายเล่มนี้ ส่งท้ายอีกทีว่า นอกจากอ่านแล้วจะสนุกในการตีความ เราจะไม่พลาดอรรถรสของมันเลยแม้แต่หยดเดียว จริง ๆ .

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…