Skip to main content

นายยืนยง 

ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
\\/--break--\>

ขณะที่การสื่อสารถูกโยงเชื่อมต่อถึงกันและกันอย่างรวดเร็ว กระทั่งเราอ่านและเขียนโดยการยืมถ้อยคำจากสมองกลมาใช้ในการสื่อถึงกันอย่างสนุกสำเริงใจ ถ้อยคำที่จิ้มกดฉวยใช้ตามอารมณ์ หลายครั้ง หลายอารมณ์ จนอาจเพาะบ่มผ่านเลยไปอย่างง่ายดาย.. บ่อยครั้งผู้เขียนเองก็รู้สึกเสียดายการอ่านเขียนที่ถูกคลื่นของการสื่อสารที่กล่าวมานั้นว่า อาจจะพัดพาผืนดินของการอ่านและเขียนให้แห้งหายไปจากวันคืน

โดยเฉพาะชั้นเวลาแห่งการอ่านและเขียนสิ่งที่ท่านผู้อื่นประพันธ์ไว้ มีหนังสือทางวรรณกรรมอันทรงค่าที่ถูกประพันธ์ กลั่นกรองขัดเขลาขึ้น แล้วจัดเรียงวรรค ลำดับ ตกแต่งเป็นรูปเล่ม ตามหลืบมุมจากชั้นหนังสือที่เหมือนรอให้ผู้ผ่านเดินสวนทางกันและกันได้มีจังหวะ บางเวลา เปิดพลิกอ่านทีละหน้า เหมือนว่าเวลาแห่งการอ่านได้สนทนาอยู่กับความคิดเห็น รู้สึกของผู้ประพันธ์ อาจจะคล้อยตามหรือขัดแย้งก็ตามที

สวนหนังสือเองควรเสนอความเต็มพร้อมจากสวนหนังสือ ถึงท่านผู้ผ่านแวะมาว่า ท่านเองมีหนังสือเล่มไหนน่าสนใจ แนะนำให้ผู้เขียนแสดงข้อคิดเห็นนี้ ไม่ว่าจะพิมพ์เก่าหรือพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ที่น่าสนใจสำหรับท่าน ลองเสนอแนะมา

เพราะความเต็มพร้อมจากสวนหนังสือ ส่วนหนึ่งมาจากการบ่มเพาะการอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า แล้วค่อยมาแสดงความคิดเห็นสู่กันและกัน

บทรำพึงที่เป็นเสมือนคำสนทนากับคอลัมน์ สวนหนังสือ ข้างต้นนั้น ฉันได้คัดลอกมาจากที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเป็นข้อความจากอีเมล จากจดหมาย หรือจากกระดาษเขียนลายมือสักแผ่นหนึ่ง เป็นความจำอันคลาดเคลื่อนหรือความละเลยที่จะไม่จำของฉันเองก็ว่าได้ แต่มันก็ช่างสะดุดใจ ราวกับถูกกระตุกด้วยถ้อยอารมณ์อันละเอียดอ่อนแต่ทรงพลัง

ฉันแทบจำไม่ได้เสียแล้วว่า พฤติกรรมหมกมุ่นกับการอ่าน และการเขียน ขอเรียกว่า คอลัมน์ สวนหนังสือ ก็แล้วกันนะ ได้สิงสู่ฉันมานานเท่าไรแล้ว ไอ้การที่เอาแต่อ่าน ๆ ๆ และเขียน ๆ ๆ ชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตาฟังเสียงผู้เข้ามาอ่านหรือผู้สละเวลาแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง จริงใจนั้น เป็นพฤติกรรมของฉันที่ตีบตันและคับแคบสิ้นดี ฉันคงคะนองอย่างเด็กรุ่น ๆ ที่เพิ่งได้จับมอเตอร์ไซค์ลิ่วแล่นสู่มอเตอร์เวย์ร่อนไปในราตรี เป็นครั้งแรก และมันก็ผ่านมาคืนแล้วคืนเล่า เป็นความคะนองของคนที่หลงตัวเองว่าอ่านมาเยอะ เขียนมาแยะ ทั้งที่รู้ตัวเองดีว่า ไม่ใช่ความจริงเลย เป็นความคะนองแบบขมซ่อนหวานอย่างม้าแก่ที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวในฟาร์ม ครั้นถูกปล่อยให้ลองวิ่งโลดไปตามทุ่งหญ้า มันจะควบเสียจนเต็มฝีเท้าขณะเดียวกันมันก็รู้ตัวเสียด้วยว่าฝีเท้าของตัวเองนั้น ช่างเต็มไปอารมณ์ละล้าละลัง ไม่ได้มั่นอกมั่นใจนัก แต่มันก็ควบเสียจนเต็มเหนี่ยวไปแล้ว

ฉันก็คงไม่ต่างจากม้าแก่ตัวนั้น

การเฝ้าอ่านอย่างหมกมุ่น ดำดิ่งไปตามหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า เพื่อถอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดมาประมวลเป็นบทความในสวนหนังสือแห่งนี้ เริ่มมาตั้งแต่กันยายน 2550 นับเวลาแล้วก็ล่วงเข้าสู่ปีที่สามแล้ว ด้วยมั่นหมายให้เป็นบทความเชิงวิจารณ์เป็นอย่างมาก และอย่างน้อยก็ปรารถนาให้เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับหนังสือที่คงประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ผู้ผ่านเข้ามาอ่านประชาไท

ขณะเพียรพยายามสังเกตและวิจารณ์ผลงานของนักเขียนทั้งหลายนั้น ฉันเพิ่งนึกขึ้นได้ก็จากบทรำพึงข้างต้นนั่นเองว่า นี่ฉันไม่เคยคิดจะวิจารณ์ตัวเองเลยหรือไง และหากจะวิจารณ์ตัวเองก็ออกจะเป็นการกระทำที่มีมารยาทน้อยเต็มแก่

แต่เอาล่ะ ฉันจะถือวิสาสะวิจารณ์ตัวเองสักเล็กน้อย ถือเป็นการเรียกน้ำย่อย เผื่อว่าจะมีผู้ผ่านเข้ามาอ่าน ยอมสละเวลาวิจารณ์ฉันบ้าง

ข้อแรกเลยที่น่าจะกล่าวถึงคือประเภทของหนังสือที่นำมาเขียนถึง

สังเกตว่า ฉันออกจะเป็นพวกบ้าวรรณกรรมไปหน่อย บ้าพวกเรื่องสั้น นวนิยาย มีกวีนิพนธ์บ้างพอสังเขป แต่ชอบเหลือเกินที่จะเยาะหยันพี่กวีทั้งหลาย อาจเป็นความสะใจเล็กน้อยที่กวีนิพนธ์อันสูงส่งในสายตาของฉันและใครหลายคน กลับเป็นงานเขียนที่ขายไม่ออก กลายเป็นปานแดง

ที่บรรดาสำนักพิมพ์อยากใช้เลเซอร์ลบทิ้งไปจากสารระบบของบัญชีกำไรขาดทุน อนิจจา กวีนิพนธ์ไทย จะตายแล้วก็ไม่ยอมตายเสียที จะลูกผีลูกคนก็รอดูกันตามวาระสามปีครั้งตามงานประกาศผลรางวัลซีไรต์

แล้วฉันไปอาฆาตมาดร้ายพี่กวีเขาทำไมกันนะ กระแนะกระแหนได้ไม่เว้นปีเดือน

ข้อหานี้ ฉันยืดอกยอมรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ถ้าสั่งสมประสบการณ์คิดอ่านเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ได้มากกว่านี้สักหน่อย ฉันจะเขียนบทความเพื่อเด็ดจมูกพี่กวีให้สะใจตัวเองอย่างแน่นอน

ไอ้ความบ้าวรรณกรรมของฉันนี่เอง ที่ทำให้ความหลากหลายของหนังสือที่นำมาอ่านและเขียนถึงคับแคบไปตามอารมณ์ส่วนตัว ที่ทำให้โลกทัศน์ตีบลงเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าในบรรดาผู้ผ่านเข้ามาอ่าน จะมีสักกี่มากน้อยที่นิยมชมชอบวรรณกรรมเหมือนฉัน งานนี้ก็เท่ากับเป็นการจำกัดวงรอบผู้อ่านไปเท่านั้นเอง ทางออกที่ควรแนะนำตัวเองมากที่สุด คือ เหลือบตามองหาหนังสือประเภทอื่นบ้าง หรือไม่ก็เลิกบ้าวรรณกรรมซะที ดูเหมือนว่าอย่างหลังนี่ฉันควรแนะนำตัวเองมากที่สุด ก็ไอ้ความบ้าวรรณกรรมนี่แหละที่ก่อปัญหาให้ตัวเองมานักต่อนัก

ข้อหาที่สอง คือ ความไม่เป็นวิชาการของบทความที่อยากจะเรียกว่าบทวิจารณ์ แต่ไม่กล้าเรียก

ฉันเคยคิดตลบหน้าตลบหลังอยู่นาน ว่าบทความวิจารณ์หนังสือนี่จะมีคนสนใจอ่านสักกี่กระหยิบมือกันเชียว อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเน้นวิชาการมากไป ฉันคงไม่มีหัวคิดจะเขียน เพราะไม่ถนัด ไม่เก่งกล้าสามารถปานนั้น บทสรุปจึงออกมาอย่างที่ได้อ่านผ่านตากันไป ฉันจึงไม่กล้าจะเรียกว่าเป็นบทวิจารณ์ ถ้าจะลองอวดเบ่งเขียนแบบวิชาการกับเขาดู ก็เป็นการไม่เหมาะสมอย่างที่สุด เก็บความถูกต้องตามหลักการไว้กับนักวิชาการวรรณกรรมจะดีกว่า

และแล้ว บทความของฉัน จึงเป็นเพียงบทแสดงทัศนะอันขาด ๆ เกิน ๆ ของผู้อ่านคนหนึ่ง ที่มุ่งเน้นแสดงให้เห็นว่า หนังสือแต่ละเล่ม เรื่องสั้น หรือนวนิยายแต่ละเรื่อง มันน่าอ่านตรงไหน มันน่าอ้วกตรงไหน น่าเอียนอย่างไร และที่สำคัญกว่าคือ น่ายกย่องตรงไหน ซึ่งเป็นความแน่นอนที่สุดว่า เป็นเพียงทัศนะส่วนบุคคลเท่านั้น ฉันไม่กล้าพอจะประเมินค่าหนังสือแต่ละเล่มหรอก (แต่ถ้าพูดลับหลังกันสองต่อสองล่ะก็ว่าไปอย่าง)

ข้อหานี้เองที่ทำให้บทความของฉัน ไม่ควรค่าแก่การอ้างอิงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าจะอ่านเพื่อให้ได้อารมณ์แบบเพื่อนคุยกับเพื่อน ฉันคงพอมีคะแนนอยู่บ้าง...ใช่ไหม

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครที่เคยอ่านสวนหนังสือบ่อย ๆ จะพอรู้ว่า ฉันพยายามทำตัว ปรุงทัศนะตัวเองให้ทันสมัยตามทฤษฎีวิจารณ์เขาอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่พยายาม "อ่าน" ผลงาน (ตัวบท) โดยไม่นำเอาตัวนักเขียน (ผู้สร้าง) เข้ามาร่วมวินิจฉัยด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันช่างขัดแย้งกับนิสัยส่วนตัวของฉันอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ เวลาที่อ่านโดยเฉพาะเรื่องสั้นหรือนวนิยาย รวมถึงกวีนิพนธ์ ฉันจะอดจินตนาการไม่ได้ว่า ผู้สร้างซึ่งก็คือนักเขียนหรือกวี เขาเป็นคนประเภทไหนกันหว่า เขาเป็นนักอุดมคติหรือเปล่า เขาโรแมนติกขนาดไหน หรือแม้กระทั่งเขามีนิสัยใจคออย่างไรจึงเขียนหนังสือออกมาได้อย่างนี้ จึงกลับกลายเป็นว่าฉันนำเอาผลงานหรือตัวบทมาตัดสินประเมินผู้สร้างไปเสีย ข้อนี้ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการ รู้ทั้งรู้แต่อดไม่ได้      (นี่นิสัยเสียอย่างแรงของฉันเลยทีเดียว) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มีความพยายามจะประมวลนำเอาด้านร้าย ๆ ของนักเขียนบางท่านที่เคยเห็นหน้าค่าตาตามสื่อ เคยอ่านบทสัมภาษณ์ มาผูกเป็นข้อเสียที่ปรากฏอยู่ในผลงานของนักเขียนท่านนั้น ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการนำเอาตัวตนของผู้สร้างมาประเมินค่าผลงานหรือตัวบทอยู่ในทีด้วย

งานนี้คงไม่สบอารมณ์พวก "นว" ทั้งหลายเป็นแน่ ทั้งที่ฉันก็อยากเป็นพวก "นว" นะ แต่สันดานมันไม่ยอมเปลี่ยนตามสมัยนิยมง่าย ๆ แถมยังเป็นพวกโหยหาอัตชีวประวัติของนักเขียนอยู่ลึก ๆ เหมือนคนในศตวรรษที่แล้วยังไงยังงั้น ช่างเป็นรากเหง้าที่ตัดไม่ขาดเอาเสียเลย

นี่เป็นเพียงบางส่วนในข้อเสียหายที่ฉันปล่อยให้เกิดขึ้นในบทความของตัวเอง ถือเป็นการยอมให้ความชั่วร้ายสิงสู่อยู่ในตัวเอง ราวกับไอ้ความชั่วร้ายนั้นคอยทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ฉันนึกถึงสิ่งดี ๆ ซึ่งรอคอยการปลดปล่อยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และมันทำให้เกิดคำถามว่า ต่อไปฉันจะทำอย่างไร จะเขียนให้ดีขึ้น น่าอ่านขึ้น น่าสนใจมากขึ้น และถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นอย่างไร แม้ว่าจะตอบตัวเองได้ ฉันกลับไม่เชื่อถือในคำตอบของตัวเองมากนัก

เขียนวิจารณ์ตัวเองแบบไร้หลักการมาถึงตรงนี้ ฉันนึกขึ้นได้ว่า เคยอ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง เป็นทฤษฎีวิจารณ์วรรณกรรมตะวันตก ที่แปลมาเป็นภาษาไทยแล้ว เขาเขียนไว้ว่า
แบรดลีย์ กล่าวว่า คุณค่าของกวีนิพนธ์เป็นคนละเรื่องกับประโยชน์ใช้สอย
(ฉันไม่ได้ยกเปรียบบทความของตัวเองกับกวีนิพนธ์นะ)

และ มาริแตงกล่าวว่า ที่ว่ารถยนต์วิ่งได้ 130 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่คนขับต่างปฏิบัติตามกฎหมายจึงขับได้เพียง 55 ไมล์ต่อชั่วโมง แสดงให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายของศิลปะและจุดมุ่งหมายของมนุษย์เป็นคนละเรื่องกัน

ทำให้ฉันย้อนนึกถึงกวีนิพนธ์ที่ขายไม่ออกขึ้นมาทันทีว่า กวีนิพนธ์กับการขายหนังสือกวีนิพนธ์นั้น มีจุดมุ่งหมายคนละอย่างกัน ฉะนั้นแล้ว หากหนังสือกวีนิพนธ์ขายไม่ออก ผู้สร้างกวีนิพนธ์หรือกวีก็ไม่จำเป็นต้องสะดุ้งสะเทือนแต่อย่างใด นอกเสียจากกวีจะเป็นทั้งผู้สร้างและเป็นทั้งพ่อค้าหนังสือกวีนิพนธ์

อย่างไรก็ตาม ทุกความคิดเห็นของฉันที่ได้แสดงผ่านบทความสวนหนังสือ ที่แม้จะขาดไร้หลักการ เร่อร่าล้าสมัย หรือไร้มารยาทเพียงใด ฉันยังยืนยันว่าเป็นความคิดเห็นที่จริงจังและบริสุทธิ์ใจอย่างยิ่ง และด้วยความปรารถนาให้วงการ การอ่านการเขียนหรือวงการหนังสือบ้านเรา มีความหลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านของผู้อ่าน และมีความเป็นธรรมทั้งแก่ผู้อ่าน ผู้เขียน รวมถึงพ่อค้านักธุรกิจสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่ปล่อยให้สื่อโฆษณากล่อมหูเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รวมถึงพยายามไม่ให้บทความของตัวเองเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้สำนักอุดมคติใด ๆ แม้ทำได้ยากจนดูเหมือนเป็นคนไม่มีจุดยืนก็ตาม

เหนืออื่นใด แม้ว่าทุกขณะที่เผชิญกับชีวิตอันแสนสามัญธรรมดาทุกวันคืนนี้ ฉันยังหวังอยู่ว่า คอลัมน์สวนหนังสือ จะเป็นดั่งเนื้อดินให้เมล็ดพันธุ์บรรดามีทั้งหลาย แวะเวียนเข้ามา เหมือนสวนอันอุดมด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน.

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…