Skip to main content

นายยืนยง

 

ขบวนรถไฟสายตาสั้น

ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ทำให้ต้องไปถามคนอ่านต่อว่า ทำไมไม่อ่านวรรณกรรมกันบ้างล่ะครับ ล่ะคะ งานเขียนประเทืองปัญญาทั้งนั้น ทำไมไม่ซื้อกันบ้างล่ะคะ ล่ะครับหนังสือที่เขาว่าดี ๆ น่ะ ที่เขาว่าอ่านแล้วจรรโลงใจ

ไม่ทราบว่าคนอ่านเขาจะตอบว่าอย่างไร ใครจะอ้างพิษเศรษฐกิจ ใครจะอ้างเรื่องสมดุลเวลาในชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวยให้อ่านหนังสือ หรือใครจะอ้างอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่.. ขอถามนักเขียนบ้างล่ะว่า ในเมื่อจำนวนคนอ่านไม่ตอบสนองปริมาณหนังสือวรรณกรรม ที่แม้แต่จะพิมพ์ขายกันแค่ไม่กี่พันเล่มก็ยังขายไม่หมด หรือจะเป็นอย่างที่เขาว่า ( “เขา” ในที่นี้เป็นบุคคลปริศนาอย่างแท้จริง เนื่องจากมันคอยย่ำต้อกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของฉัน โดยไม่เคยเผยให้เห็นใบหน้าใต้หน้ากากของมันเลยสักครั้ง)

เขาว่า วงการวรรณกรรมไทยเรานี้ ดำเนินไปในลักษณะ วานกันเขียน เวียนกันอ่าน แล้วก็พาลกันเอง
ถ้าเข้ากรณีนี้ ก็เท่ากับนักเขียน วงการวรรณกรรมไทยเรานี้ก็ช่างคับแคบเสียจนนับนิ้วมือได้ ซึ่งก็ส่งผลต่อยอดขายโดยตรง ยิ่งถ้านักเขียนด้วยกันไม่ซื้อผลงานของกันและกันแล้ว จะหวังพึ่งคนอ่านนอกวงการยิ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขบวนรถไฟวรรณกรรมสายนี้ ห้อตะบึงไปอย่างลุ่น ๆ โดยไม่ยี่หระทัศนียภาพรอบข้าง ไม่แม้แต่จะจอดรับผู้โดยสารตามสถานีรายทาง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี หรือเพราะไม่ได้สวมแว่นสายตา หรืออย่างร้ายก็เป็นบุคคลประเภทสายตาสั้น คือ หากมองในระยะใกล้ก็พอมองเห็นชัด แต่ถ้ามองในระยะใกล้ออกไป ภาพมักจะลางเลือน แต่ไม่ยอมสวมแว่นสายตาเพื่อปรับมุมมองให้ตัวเอง

แต่ถ้าวงการวรรณกรรมไทยไม่คับแคบดังกล่าว จะพิจารณาหาสาเหตุได้จากฝ่ายใดบ้าง
หากใช้หลักอุปสงค์-อุปทาน ก็ประกอบไปด้วย 2 ฝ่าย คือผู้ผลิตกับผู้บริโภค นั่นคือนักเขียนกับคนอ่าน

ในส่วนของคนอ่านซึ่งแน่นอนว่าความต้องการบริโภคหนังสือวรรณกรรมมีน้อยกว่าปริมาณหนังสือวรรณกรรม จึงทำให้ยอดขายตกต่ำ หนังสือขายไม่ออก นอกจากจะอยู่ในช่วงลดราคาที่ขายหนังสือได้บ้าง ซึ่งหากจะถือว่ากระบวนการสื่อสารวรรณกรรมสิ้นสุดลง ณ เครื่องแคชเชียร์ของร้านหนังสือตอนมีคนซื้อแล้วล่ะก็บ้าแล้ว เพราะถ้าวรรณกรรมไม่ถูกอ่านเสียแล้ว เสียงของวรรณกรรมก็เท่ากับเป็นใบ้

ไม่บ้าได้อย่างไร

คนอ่านมีเหตุผลอะไรบ้างที่ไม่ซื้อ รวมถึงไม่อ่านวรรณกรรม คำตอบนี้ยังไม่เคยเห็นมีการสำรวจความคิดเห็นกันอย่างจริงจังเสียที สำนักโพล์บรรดามีก็ไม่เห็นให้ความสำคัญอะไร สำนักพิมพ์ก็ไม่เห็นต่างจากสำนักโพล์แต่อย่างใด จะมีก็แต่เสียงที่ตีขลุมกันไปเองจากฝ่ายผู้ผลิตหรือนักเขียน ว่ากันไปต่าง ๆ นานาสารพัดจะหาคำว่าสรุปพฤติกรรมผู้บริโภคโดยไม่สนใจหาข้อเท็จจริงเลย เคยบ้างไหมที่จะไปถามหาเหตุผลจากคนอ่านโดยตรงบ้าง ดังนั้น เป็นการสมควรแล้วหรือที่จะละเลยความต้องการของคนอ่าน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่านักเขียนต้องละทิ้งอุดมคติของตัวเองเพื่อวิ่งไปเขียนงานสนองความต้องการผู้บริโภค

ในเมื่อยังไม่มีการสำรวจถึงสาเหตุของพฤติกรรมการไม่ซื้อไม่อ่านวรรณกรรมของผู้บริโภคอย่างจริงจังแล้วฝ่ายผู้ผลิตอย่างนักเขียนก็ไม่ควรละเลยการสำรวจตัวเอง วิเคราะห์ดูเสียทีว่า ผลผลิตของตัวเองนั้นมีคุณภาพ มีคุณค่า ในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องอิงกับความต้องการของผู้บริโภค มากน้อยอย่างไร

เพียงพอต่อความต้องการของตัวนักเขียนเองหรือไม่
บางทีจะอาศัยอารมณ์มุทะลุ ดื้อด้านอย่างเดียว รถไฟสายวรรณกรรมขบวนนี้จะมุ่งหน้าไปสู่สถานีอะไรได้

นักเขียนสวมมงกุฎนั่งแท่นสะลึมสะลือ

นอกจากฝ่ายของนักเขียนกับนักอ่านแล้ว สังคมการอ่านวรรณกรรมยังมีอีกนักหนึ่ง คือ นักวิจารณ์
มีหน้าที่ตามชื่อนั่นแหละ แต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงในการใดการหนึ่งในสังคมการอ่านวรรณกรรม หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือไม่ค่อยมีปากมีเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อาจเพราะเป็นโรคขายไม่ออกติดต่อมาจากฟากวรรณกรรมก็ได้ ก็คนอ่านวรรณกรรมยังน้อย นับประสาอะไรกับบทวิจารณ์วรรณกรรม ที่สำคัญนักวิจารณ์วรรณกรรมไม่เคยมีบทบาทหรือมีอำนาจเหนือนักเขียนแต่อย่างใด ยิ่งวิจารณ์ในแง่ร้าย หรือดุเด็ดเผ็ดมันอย่างไร มักจะถูกมองว่าทำไปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง ดูเหมือนจะเป็นส่วนเกินในสังคมวรรณกรรมอย่างไงอย่างงั้น

ถ้านักเขียนไม่สนนักวิจารณ์ ก็ควรสนใจผลงานของตัวเอง พิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าทำไมผลงานของตัวเองจึงไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้บริโภค

มีคำกล่าวว่า หนังสือน่าอ่านมีลักษณะดึงดูด 2 ประการ คือ สำนวนภาษา และเค้าโครงเรื่อง

ถ้าสำนวนไม่ดี แต่ดำเนินเรื่องอย่างเร้าอารมณ์ ก็พออนุโลมอ่านได้ ถ้าคนอ่านติดสำนวนแล้วเค้าโครงเรื่องเป็นอย่างไรก็ตาม ก็พออนุโลมได้

วรรณกรรมแนวสร้างสรรค์มี 2 ลักษณะดึงดูดข้างต้นหรือเปล่า
คำตอบคือ มีแบบกะปริบกะปรอย

นี่ฉันเพิ่งอ่านนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้จบไปอีกเรื่องหนึ่ง ไม่บอกว่าเป็นเรื่องอะไร เพราะว่ามันช่างน่าเหน็ดหน่ายเกินกว่าจะบรรยาย เนื่องจากใช้ภาษาแบบไม่เอาอ่าวเลย แต่เค้าโครงเรื่องพออนุโลมได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เห็นว่า นักเขียนไทยเป็นกลุ่มคนประเภทเห็นพ้องต้องกันโดยไม่ได้นัดหมาย ก็ว่าได้

เนื่องจากนวนิยายปีนี้ หรืออาจรวมถึงเรื่องสั้นในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปีมานี้ มักมีเนื้อหาเกี่ยวพ้องกับการเหลื่อมซ้อนของมิติต่าง ๆ มักกล่าวถึงเรื่องของ “พื้นที่และเวลา” เข้าหลักการของควอนตัมฟิสิกส์ โดยสร้างเรื่องขึ้นมาตอบสนองแนวคิดนี้ให้แตกต่างกันไป ตัวละครต่างกันไป และมีโครงเรื่องย่อยต่างกันไปตามความสนใจของแต่ละคน มีการพูดถึงจิตวิญญาณในแบบใหม่ ไม่ใช่ผีสางอย่างที่ยุควิทยาศาสตร์เก่าเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ แต่เป็นผีสางที่ทรงภูมิปัญญา มีคุณค่ามากพอที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้สัจธรรมได้ด้วยซ้ำ เป็นผีสางในยุคนาโนซึ่งนับว่าสอดคล้องกันดี กับยุคที่อะไร ๆ ก็มักจะยิบย่อยไปมากกว่าอณู

หากย้อนกลับไปยุควิทยาศาสตร์เก่าที่โลกตะวันตกเชิดชูให้เป็นพระเจ้าองค์ใหม่ และแผ่ขยายแนวคิดนี้มาสู่โลกตะวันออก ในขณะที่โลกตะวันออกก็มองว่า วิทยาศาสตร์เป็นผีสางที่น่ากลัวในภาคที่พิสูจน์ได้ว่ามีศักยภาพตามหลักการอย่างวิทยาศาสตร์ แต่ผีสางของโลกตะวันออกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องการบทพิสูจน์

แนวคิดโลกตะวันตกที่แผ่ครอบโลกตะวันออกได้พยายามเบี่ยงเบนจุดมุ่งหมายและอุดมคติในชีวิตของโลกตะวันออกให้คล้อยตามผู้มีอารยธรรมอย่างคนตะวันตกในแทบทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่ในงานศิลปะวรรณกรรม เรื่องสั้นไทยที่ยังอยู่ในรูปของตำนาน เรื่องเล่า ที่มีตัวละครเป็นเทวดา เป็นผี เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่าง ๆ ถูกทำให้ล้าหลังไร้อารยธรรมโดยการบอกกล่าวอย่างกลาย ๆ ว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไร้สาระ พิสูจน์ได้ว่าไม่มีอยู่จริง และทำให้โง่งมงาย ผู้ที่คิดอ่านอย่างเป็นหลักการอย่างวิทยาศาสตร์เท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นอารยชน

วรรณกรรมไทยจึงไม่ได้ถูกศึกษาที่รากเหง้าของตัวเองอย่างแท้จริง ขณะที่มันถูกอ่านและศึกษาอย่างกว้างขวางในยุคที่ศิลปะวรรณกรรมของเราตกอยู่ใน “ครอบ” ของชาติตะวันตก

ครั้นเมื่อมีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย เราจึงได้รู้จักวรรณกรรมแนวเมจิกคัลเรียลลิสต์จากกลุ่มวรรณกรรมละตินอเมริกา อย่างผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โดยเฉพาะใน “ครอบ” ของรางวัลโนเบล อีกด้วย

ช่วงนั้นสังคมวรรณกรรมไทยพากันตื่นตระหนกในความมหัศจรรย์ของมัน และยกเอาเป็นแรงบันดาลใจอย่างขนานใหญ่ ก็คล้าย ๆ กับการตื่นอะไรก็ตามที่เป็นของอิมพอร์ตนั่นแหละ

นั่นคือ อิทธิพลของ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ซึ่งกว่าจะเดินทางมาทรงอิทธิพลที่สังคมวรรณกรรมไทยก็กินเวลาราว ๆ หนึ่งร้อยปี และอาจทำให้วรรณกรรมไทยติดหล่มไปอีกราว ๆ หนึ่งร้อยปีก็เป็นได้

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่านักเขียนไทยแทบไม่เหลือสมบัติพัสถานแห่งความพิสดารของความเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากเห็นแต่ของอิมพอร์ตพิสดารอยู่สถานเดียว คงจะมีแต่แดนอรัญ แสงทองเท่านั้นที่สามารถขายวรรณกรรมไทย ด้วยจุดขายเรื่องความพิสดารของไทย โดยขายให้กับตลาดวรรณกรรมนอกประเทศ นอกวัฒนธรรม กลายเป็นของแปลกในดินแดนอารยชน

เช่นเดียวกับที่ช่วง 2 – 3 ปีมานี้ ที่นักเขียนไทยต่างลุ่มหลงงมงายอยู่กับเนื้อหาของควอนตัมฟิสิกส์ ไม่ว่าจะแค่เป็นการถาก ๆ ของแนวคิดนี้ หรือกระโจนเข้าใส่เต็มตัว อย่างไม่ลืมหูลืมตา และได้โปรดอย่าคิดอยู่เสมอว่า คนอ่านเขาจะไม่รู้ทันนักเขียน อย่าคิดว่าคนอ่านจะไม่รู้จักควอนตัมฟิสิกส์ได้มากเท่านักเขียน

ข้อสังเกตนี้ อาจทำให้มองเห็นใบหน้าของนักเขียนวรรณกรรมไทยอย่างชัดเจนขึ้นว่า เขามีใบหน้าสะลึมสะลือเพียงไร เขาถูกทำให้ซื่อเซื่องไปได้อย่างไร และมากเพียงไร หนำซ้ำยังเขียนวรรณกรรมแล้วขายไม่ออกเสียอีก ไม่ทราบว่าทศวรรษหน้า โรคเซื่องซื่อเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาอย่างไรได้ และโรคขายไม่ออกในวรรณกรรมจะเป็นเพียงคลื่นที่สาดซัดอยู่ในหล่มลึก หรือเป็นเพียงเสียงหวูดรถไฟสายนี้ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านเลย.

  

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …