Skip to main content

 

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ          :           ฉันกับแมว
ผู้แต่ง                :           เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
ประเภท              :           ความเรียงเชิงปรัชญา
จัดพิมพ์โดย        :           สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2553


หากเราเข้าใจชีวิตอย่างงมงายเสียแล้ว พรมแดนแห่งความเข้าใจผิดย่อมปรากฏกายขึ้น

นี่เป็นประโยคหนึ่งที่ฉันรู้สึกกับมันอย่างเข้มข้น จนบางครั้งดูเหมือนจะรุนแรง และมักจะนำมาซึ่งความงมงายชนิดเดียวกัน แต่มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก ถ้าหากว่า ฉันจะกลับมา
 
“สวนหนังสือ” โดย นายยืนยง ได้กลับมายืนอยู่ข้าง “ประชาไท” อีกครั้ง หลังจากแอบอยู่ในเงาอันซีดเซียวของตู้หนังสือซึ่งประตูกระจกของมันเหลืออยู่เพียงบานเดียว นับว่าเป็นน้ำใจอันชวนให้เบิกบานเสียนี่กระไร สำหรับคนอ่านหนังสืออย่างฉัน
 
ขอขอบคุณทีมงานประชาไทที่เอื้อเฟื้อพื้นที่สวนแห่งนี้เสมอมา
 
คราวนี้ ขอเบิกอารมณ์ขุ่น ๆ ของกระแสข่าว ด้วยหนังสือเล่มน้อย ที่มีนามว่า ฉันกับแมว
ความเรียงรสนุ่มนวลของ กวี เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
 
กวีกับแมว นับว่าเป็นคู่ที่ถูกโฉลกกันดีอยู่ แต่เรวัตร์เลือกให้นิยามสัมพันธภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสอง ซึ่งต่างก็เลี้ยงลูกด้วยนมว่า ฉันทะแห่งชีวิต
 
“ดอกไร่” เป็นแมวที่ปรากฏตัวขึ้นใน “กวี” ราวกับเป็นเทวทูตลึกลับ จะเป็นเทวทูตหรือปีศาจ ก็ไม่ทราบ แต่ดอกไร่ก็ได้สำแดงให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ชวนระนึกคิดของกวีกับรูปโฉมโนมพรรณของแมว ๆ ทั้งหลาย
มันคล้ายและเครือ ๆ กันอยู่ จนบางครั้ง เรายังไม่อาจแยกแยะได้ว่า ใครเป็นใคร
 
ลองดูซิว่า เจ้าดอกไร่ แมวของกวีตัวนี้ จะเหมือนกับแมว ๆ ที่บ้านของคุณหรือเปล่า
 
ดอกไร่ เป็นลูกแมวไทยพื้นถิ่น เพศผู้ ตัวลายสีส้มสลับขาว มันพลัดหลงมาสู่กระท่อมสวนในยามค่ำคืน
ซึ่งก็คือแมวธรรมดาทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่กลวิธีการเล่าของเรวัตร์ต่างหาก
 
ความเรียงชุด “ฉันกับแมว” มีวิธีการเล่าแบบพิเศษ คือ “ฉัน” เล่าเรื่องราวต่าง ๆ นานาให้ “ดอกไร่” ตัวละครตัวหนึ่งฟัง ขณะเดียวกัน เราผู้อ่านก็ได้ “ฟัง” ไปพร้อมกับสังเกตสังกาปฏิกิริยาของเจ้าดอกไร่ไปพร้อมกันด้วย (ว่าไปแล้ว ดอกไร่นับเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนาที่ดี) ต่างจากวิธีการที่ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่าน “ฟัง” โดยตรง เนื่องจากตัวละคร (ดอกไร่) ที่แทรกเข้ามาคั่นกลางระหว่างผู้อ่านนั้น ทำให้ผู้อ่านเห็นสัมพันธภาพชุดหนึ่งระหว่างผู้เขียนกับดอกไร่ ก่อเป็นความกระทบใจอย่างใหม่ที่แปลกออกไป
 
ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในกลวิธีการเล่าแบบนี้ คือ นัยยะที่ชวนให้ตีความ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมผูกโยงอยู่กับเรื่องและทำให้เกิดดุลภาพอันงดงาม นัยยะที่ว่านี้ คือ สัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” นั่นเอง
 
ยกตัวอย่างในตอน “ดาวรุ่ง” หน้า 23
ดูสิ, ดอกไร่- เมื่อเรามองผ่านเหล่าเรือนยอดของหมู่ไม้ใหญ่น้อยออกไป มองผ่านออกไปจากโอบอ้อมของอรุณรุ่งสีน้ำเงิน ขณะเข็มนาฬิกาฝาผนังบอกเวลาตีสี่ ฯลฯ
 
ราวกับมีใครสักคนเฝ้ามองดูฉันอยู่ ด้วยดวงตาของดวงใจการุณย์ เฝ้าปลอบประโลมด้วยเสียงเพลงอันเปล่าเปลือย เฉกเช่นมือหยาบกร้านของหญิงชาวนาผู้หนึ่ง ผู้เฝ้าคอยลูบไล้เนื้อตัวของบุตรธิดาผู้ป่วยไข้ ก่อนที่ประกายอันเจิดจรัสที่สุดของแววดวงตาจะหยาดหยดลง สู่ห้วงดวงใจอันมืดมนดวงหนึ่ง จนกระทั่งมันได้แปรเปลี่ยนเป็นใบไม้สีทองใบหนึ่ง และเป็นสีทองของความลับตลอดไป
 
จู่ ๆ เจ้าดอกไร่ก็ร้องรับเสียงเพรียกอันมีกังวานอ่อนโยนพลิ้วกระเพื่อมเหนือสายธารสีน้ำเงินของอรุณรุ่ง ที่หยาดหยดแล้วแผ่ขยายเป็นประกายสีทองสุกสกาว อยู่เหนือห้วงธารแห่งจิตวิญญาณ เสียงร้องของเจ้าดอกไร่ช่างเก่าแก่โบราณ ราวกับดวงใจของฉันในขณะนี้.
 
เป็นการยกตัวอย่างบทตอนที่สะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่าง “ฉัน” กับ “ดอกไร่” ที่แสดงถึงการมีตัวตนอีกหนึ่งที่สถิตอยู่ในเรา กล่าวคือ แท้จริงแล้ว เรวัตร์พยายามสื่อนัยยะออกมาว่า ดอกไร่ก็คือตัวตนหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในตัวตนของเขานั่นเอง
 
ตอน รกราก หน้า 28
ฉันไม่รู้หรอกว่าเจ้าดอกไร่กำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ มันนอนหมอบนิ่งอยู่ที่เดิม ราวกับดำรงอยู่ตรงนั้นมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ครุ่นคิดและใฝ่ฝันอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ความใฝ่ฝันคือผองผึ้งที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างรวงรัง โบกบินและหอมหวาน
 
เมื่ออายุมากขึ้น ฉันมักคิดถึงบ้านเกิด ดอกไร่- แกคิดอย่างฉันคิดไหมนะ ว่าความรักและความผูกพันนั้นทำให้เหล่ามนุษย์ยังคงมีราก.
 
ตอน บางสิ่งบางอย่างในความหลงลืม หน้า 33
ดอกไร่- ฉันรู้สึกว่าเสียงกู่ขานของกาเหว่าในฤดูหนาวนั้นเศร้าสร้อยมากกว่าฤดูอื่น ๆ นะ  
 
ในยามค่ำคืนของวัยเยาว์ ฉันแทบไม่เคยแบ่งปันอ้อมกอดของแม่ให้กับพวกพี่ ๆ จิตใจของฉันช่างคับแคบ ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียน ฉันไม่เคยถูกครูสักคนโอบกอด ...และในวัยหนุ่มในความเมามาย หลาย ๆ ครั้งเมื่อตื่นขึ้นในยามเช้าในซ่องสกปรก ฉันพบตนเองกำลังโอบกอดหญิงสาวแปลกหน้า แต่โอบกอดนั้นกลับอบอุ่นและปลอบประโลมชีวิตที่โดดเดี่ยวและสับสนของกันและกัน
 
และแม่ลูกพลัดถิ่นคู่นั้น
 
ทำให้ฉันปรารถนาอยากให้โอบกอดใครสักคน และถูกโอบกอดจากใครสักคน ให้หัวใจสองดวงได้แนบชิดกัน ได้กระซิบจำนรรจาต่อกัน
 
เหมือนที่ฉันกำลังกอดแกอยู่ในขณะนี้ไงล่ะ ดอกไร่-.
 
“ฉันกับแมว” พาเราสัญจรไปบนหนทางแห่งอารยธรรมมนุษย์ ผ่านเสียงเล่าขานที่ “ฉัน” รำพึงรำพันกับ “ดอกไร่” เพื่อตั้งคำถาม เปรียบเปรย ชวนให้ครุ่นคิด อย่างไรก็ตาม การที่เรวัตร์เลือกใช้กลวิธีการเล่าดังกล่าวนั้น อาจดูไร้น้ำหนัก แต่หากเราพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน และรวมเอาตัวละคร “ดอกไร่” ที่เปรียบดั่งตัวตนอันหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัว จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า การออกจากตัวตนหนึ่ง ไปสู่อีกตัวตนหนึ่งที่ล้วนก็เป็นตัวตนของเราเองทั้งสิ้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ภายในเรามีตัวตนอื่น ๆ แฝงอยู่มากกว่าตัวตนเดียวล้วน ๆ คล้ายกับในเรานั้นมีใบหน้าของคนอื่นและสิ่งอื่นซุกซ่อนอยู่ด้วย ต่างแต่ว่าเราจะรับรู้การมีอยู่ของมันหรือไม่เท่านั้น
 
เทียบเคียงกับกรณีนี้ เคยอ่านเรื่องราวที่กล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างชายหนุ่มกับม้าคู่หู จากนิยายเรื่อง
เปโดร ปาราโม ผลงานของ ฮวน รุลโฟ ที่เมื่อเจ้าของตายไป เจ้าม้าคู่หูก็แสดงอาการเหมือนคนคลุ้มคลั่งราวกับมันก็รับรู้ความตายของผู้เป็นนาย และมันก็ได้แสดงกิริยาท่าทางที่ดูคล้ายคลึงกับผู้เป็นนายด้วย
ในกรณีนี้ “ฉัน” ไม่ได้ตายไปไหน หากแต่ยังมีชีวิตอยู่ สนทนาวิสาสะกับโลกอยู่
 
ที่ฉันกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำในการหยิบเอาประเด็นของ ความเป็นตัวตนที่ซ้อนทับกันอยู่ของ “ฉัน” และ “ดอกไร่” นั้น อาจเป็นความเลื่อนลอยและเป็นการตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่เล็กน้อยเกินกว่าจุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ได้ให้ไว้ หากแต่ถ้าเราอ่านจนจบเล่ม จะพบว่า เรวัตร์ ได้ให้ความสำคัญกับ “ตัวตน” อยู่ไม่น้อย อย่างในบท ในดวงตา ที่ฉันกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด –แม่มองไม่เห็นฉัน- ขณะนกเขาคูขันเศร้าสร้อยมาจากพุ่มไม้ใกล้ ๆ ฉันรู้สึกสะเทือนใจล้ำลึก
 
แมวหนุ่มชื่อ “สีทอง” นั่งจับบทครุ่นคิดอยู่บนขั้นบันไดเรือน ในฤดูมรสุมอันแปรปรวนหลากไหล บ้านเกิดแทบไร้ความหมายไปสิ้นเพราะอดีตอันทอดยาว ปัจจุบันและวันพรุ่ง ล้วนหลากเข้าหลอกหลอนด้วยตัวตนอันมหึมาของฉัน ในขณะที่แมวหนุ่มตัวนั้นกลับไม่รู้สึกยินดียินร้ายแม้แต่น้อย กับการมาถึงของชายวัยกลางคน-คนหนึ่ง
 
ครั้นเมื่อเขาได้เฝ้ามองดูแมวหนุ่มตัวนั้นนอนเล่นกับหางของตัวเอง เขาก็พลันตระหนักขึ้นได้ว่า ถ้อยคำทั้งปวงเป็นเพียงความว่างเปล่า
 
ดอกไร่- ดวงตาของฉันยังคงมองเห็น.

อย่างที่บอกไปแล้ว ประเด็นเรื่องตัวตนที่ซ้อนกันอยู่นั้น เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หากเพียงว่า เราจะอ่านไปถึงอารมณ์ที่เรวัตร์ได้สื่อผ่านตัวอักษรออกมา ซึ่งทำให้เรารับรู้และสัมผัสไปพร้อมกันว่า แม้จะตระหนักว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เพียงไร แต่หากเราเหล่ามนุษย์ยังรู้สึกว่าตนเองก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันแล้ว ดุลยภาพที่เป็นดั่งความงดงามของชีวิต คงเหลือเพียงเถ้าธุลี


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ ผู้เขียน : องอาจ เดชา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา พ.ศ.2548 ได้อ่านงานเขียนสารคดีที่เป็นบทบันทึกช่วงชีวิตของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ที่กลั่นร้อยจากความมุ่งมั่นขององอาจ เดชา นักเขียนสารคดีหนุ่มมือเอกแล้ว มีหลายความรู้สึกที่อยากเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งทำให้อยากลุกมาเขียนจดหมายถึงคนต้นเรื่องคนนั้นด้วย กล่าวถึงงานเขียนสารคดีสักครู่หนึ่งเถอะ... สารคดีเป็นงานเขียนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทุกรายละเอียดล้วนเคารพต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนสารคดีเล่ม ผู้คนใกล้สูญพันธุ์ นี้ เป็นลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ม่านดอกไม้ ผู้เขียน : ร. จันทพิมพะ ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2541 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน…
สวนหนังสือ
นายยืนยง      ชื่อหนังสือ     : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ผู้เขียน          : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร จัดพิมพ์โดย   : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พิมพ์ครั้งแรก  : 27 มีนาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงจากสถานีเอเอสทีวีก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่ มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ…
สวนหนังสือ
 นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน ผู้เขียน : วิน วนาดร ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550   ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นกชีวิต ประเภท : กวีนิพนธ์ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550 ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์…
สวนหนังสือ
นายยืนยงประเภท          :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย      :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2530)ผู้ประพันธ์     :    Bhabani Bhattacharyaผู้แปล         :    จิตร ภูมิศักดิ์
สวนหนังสือ
นายยืนยง"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก…
สวนหนังสือ
นายยืนยง(หมายเหตุ ภาพนี้เป็นภาพปก ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๓๒ เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑)ภาพจาก : http://burabhawayu.multiply.com/reviews/item/16 ชื่อนิตยสาร : ปาจารยสาร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘ เดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕จัดพิมพ์โดย : บริษัท ส่องศยาม
สวนหนังสือ
นายยืนยงบทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
สวนหนังสือ
นายยืนยง  บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSEผู้ประพันธ์            :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECOผู้แปล                 :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์ บรรณาธิการ         :    วิกิจ  สุขสำราญสำนักพิมพ์        …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ         :      พี่น้องคารามาซอฟ (The Karamazov Brother)ผู้เขียน              :      ฟีโอโดร์  ดอสโตเยสกีประเภท             :      นวนิยายรัสเซียผู้แปล               :      สดใสจัดพิมพ์โดย       :      สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พิมพ์ครั้งที่สาม  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓