นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
ประเภท : เรื่องสั้น
ผู้เขียน : จำลอง ฝั่งชลจิตร
จัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม ๒๕๔๘
รวมเรื่องสั้น เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ๑๕ เรื่องสั้น ผลงานล่าสุดของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ที่กำลังวางแผง อ่านแล้วต้องยอมรับในกลวิธีการเล่าเรื่องของเขา ที่ก้าวนำนักเขียนแนวเพื่อชีวิตไปหลายขุม ขณะรวมเรื่องสั้น ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป ผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ๒๕๔๘ ก็ยังมีข้อสังเกตควรกล่าวถึงต่อกลวิธีการเล่าเรื่องของจำลอง ถึงเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบรอบตัวอันนำมาซึ่งการปรุงแต่งรสเรื่องสั้นให้ชวนอ่าน
เคยกล่าวถึงวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมาพอสมควรแล้ว หากจะชื่นชมนักเขียนคนใดกว่าใคร หาใช่เพราะรู้จักใกล้ชิด สนิทพิศวาสแต่อย่างใดทั้งสิ้น เหตุผลเดียวคือต้องการบอกเล่าถึงวิธีการเขียนที่น่าสนใจเป็นสำคัญ
ขอยกตัวอย่างเรื่องสั้น ชื่อ ทำบุญบ้าน (หน้า ๓๓) ที่มุ่งสะท้อนวิถีชีวิตของสังคม (ไม่เฉพาะเมืองลิกอร์) ที่เปลี่ยนไป จากหน้ามือเป็นหลังมือ
เรื่องสั้นชุดนี้ จำลองทำหมันการวางโครงเรื่องเดี่ยวทิ้งไป โดยเลือกใช้วิธีการวางกับดัก เปิดจุดชนวนความขัดแย้งย่อย ๆ ที่ผูกร้อยกับความขัดแย้งใหญ่ที่ครอบอยู่อย่างคร่าว ๆ นำตัวละครใหม่เข้ามาพร้อมดึงชนวนความขัดแย้งย่อยให้ระเบิดต่อเนื่องกันไปกระทั่งจบเรื่อง ทั้งนี้เขาก็ไม่หลงลืมที่จะให้ความสำคัญกับแก่นของเรื่อง
ทำบุญบ้าน – เริ่มเรื่องจากความฝัน ความเชื่อ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชน เมื่อนางสะอาดฝันถึงพ่อแม่ที่ตายจากไปแล้ว นางคิดฝังใจต่อความฝัน (ตามแบบแผนความเชื่อ) ว่าพ่อแม่มาขอให้ทำบุญส่งอุทิศกุศลไปให้ในยมโลก การทำบุญตามคตินิยมต้องอาศัยเงินเป็นปัจจัยส่งให้ได้บุญ ต้องนิมนต์พระ เชิญเพื่อนบ้านญาติพี่น้องมาร่วมงาน ทำอาหารคาวหวานเลี้ยงแขกคน ขณะที่นางเองก็มีชีวิตยากลำบาก ต้องอาศัยญาติพี่น้องจุนเจือ
ดังหน้า ๓๖ --- วันไหนครัวโหรงเหรง หลานสาวจะขี่จักรยานยนต์เก่าคร่ำคร่าไปหาน้องสาวพี่เลี้ยงเด็ก ไม่ต้องบอกเล่าอะไร เห็นหลานมาหาก็เป็นที่รู้กัน..ฯลฯ.. บางวันน้องสาวฝากมาให้ห้าร้อย หลานชายอีกสามร้อย ทุกข์ยากบรรเทาลงไปสักเก้าวันสิบวัน แล้ววนกลับมาเริ่มรอบใหม่ เป็นวงรอบเล็ก ๆ วนเวียนซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่รู้สักอีกกี่รอบถึงจะหลุดพ้นวงเวียนกรรมไปอีกคน ---
โชคดีน้องชายที่เป็นข้าราชการออกปากช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำบุญบ้านครั้งนี้เอง จากนั้นก็เป็นฉากชุลมุนของการตระเตรียมงาน ซึ่งแสดงออกชัดเจนถึงวิถีชีวิตที่เกื้อกูล เอื้ออาศัยซึ่งกันและกัน
จำลองบรรยายละเอียดลออถึงวิธีล้างผัก หั่นสะตอ พร้อมเติมทัศนคติของชุมชนเข้าไปอย่างแนบเนียน ดังบทพูดในหน้า ๓๙ -- เม็ดไหนหนอนฝังตัวข้างใจ แกะทิ้งไปก่อน บาปกรรมจะได้ไม่เปื้อนปากพระเณร –
ขณะเดียวกันปมขัดแย้งย่อยก็เดินเข้ามาพร้อมบทสนทนาในวิถีชีวิตแบบที่จำลองนำเสนอ (แบบอวดนิด ๆ ) “ข้าวสารซื้อกินกูไม่เคยถูกปากเหมือนทำนาเอง” (หน้า ๔๐)
เรื่องดำเนินต่อในบรรยากาศของงานบุญ และเพิ่มปมผูกเข้ามาใหม่ด้วยเรื่องของบทบาท หน้าที่ สถานภาพทางเพศระหว่างชาย – หญิง ที่กำลังจะแปรสภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น งานหุงข้าวเลี้ยงแขกที่ต้องหุงในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ที่เมื่อก่อนเคยเป็นงานของพวกผู้ชาย แต่เมื่อคนเป็นงานตายไปแล้วก็ไร้คนสานต่อ นางศรีต้องรับมือเอง แม้ยากเย็นในช่วงแรกแต่ต่อมานางก็ทำได้ดี
เมื่อฝ่ายผู้ใหญ่ในบ้านต่างเร่งมือช่วยงานนั่นนี่จนไม่หยุดมืออย่างรู้หน้าที่ ฝ่ายคนรุ่นลูกหลานก็รู้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัว จึงตั้งวงเหล้าแยกไปต่างหาก จนนางสะอาดนึกตำหนิอยู่ในใจ นี่เป็นปมขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น หัวเก่า – หัวใหม่ ที่เชื่อมรัดเข้ามาในเรื่องอีกข้อ
อีกปมหนึ่งคือ เรื่องบ่อนไก่ชน ที่เมื่อก่อนเคยผิดกฎหมาย แต่เดี๋ยวนี้กลับเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เล่นกันเปิดเผยทุกชนชั้น พวกผู้ชายได้โอกาสเข้าบ่อนสะดวกขึ้น บางคนไม่เป็นอันทำมาหากิน
สุดท้าย บทบาทของผู้ที่ต้องรับหน้าที่ประเคนถาดอาหารถวายพระ ก็ตกมาเป็นของพวกผู้หญิง บทสนทนาระหว่างพระกับโยมในหน้า ๔๔ ที่ว่า
“ เดี๋ยวนี้พวกผู้ชายบ้านเราเขาไม่ทำเรื่องพวกนี้กันแล้ว ”
“ หมู่บ้านไหน ๆ ก็คล้ายกันแหละโยมช่วย เด็กเดี๋ยวนี้มันไม่เอากันแล้ว อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่เอา... หลายที่ผู้หญิงเป็นคนนำไหว้พระขออาราธนาศีล อาราธนาพระปริตรเสียเอง ”
“ แล้วผิดไหม ”
“ ไม่ผิดนะโยม ผู้หญิงก็อาราธนาพระปริตรได้ แต่โยมลองนึกให้ดี ๆ เมื่อก่อนเป็นหน้าที่ผู้ชาย โดยเฉพาะคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว เดี๋ยวนี้ผู้หญิงไม่ได้บวชเรียนต้องทำแทน ...ฯลฯ ...”
ลักษณะมุมมองของจำลองในเรื่องนี้ นอกจากการวางจุดขัดแย้งย่อย ๆ ให้สัมพันธ์เกี่ยวโยงกันแล้ว มุมมองดังกล่าวยังสำแดงให้เห็นว่า กลไกการเคลื่อนไหวของสังคมนั้นเกี่ยวโยงกันไปหมด ดังที่เราเคยชินกับคำว่า “ พลวัต ”
ขณะเดียวกัน มุมมองของเรื่องไม่ได้มาจากมุมเดียวอย่างที่เราเคยชิน แต่เป็นการมองจากหลายที่ หลายมุม และพยายามกวาดต้อนให้รอบด้านมากที่สุด
จากมุมมองแบบตาสัปปะรดนี่เอง ที่สามารถสะท้อนภาพซ้อน ที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ตามมุมต่าง ๆ ในสังคมออกมาอย่างมากมาย บางครั้งหากนักเขียนควบคุมจังหวะจะโคน และการเชื่อมโยงเข้า - ออก ของปมขัดแย้งย่อยไม่อยู่มือ อาจทำให้เรื่องล้นหละหลวม สุดท้ายจะล่มไม่เป็น
มุมมองดังกล่าวนั้นเมื่อนำมาผสมผสานอยู่ในเรื่อง ทำให้เราได้ยินเสียง มองเห็นทัศนคติที่พุ่งเข้ามารอบด้าน รู้จักอารมณ์ของเรื่องได้จากตัวละครแทบทุกตัวที่เดินเข้ามาสู่เรื่องราว
วิธีการเช่นนี้ทำให้เรื่องมีชีวิตและไม่แล้งแห้งขอดดั่งเช่นวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตอื่น ทำให้เราตีความได้ครอบคลุม รอบด้านมากขึ้น ไม่กระตุ้นให้เราด่วนสรุป ตัดสิน คาดโทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งจากคนในสังคม ทั้งจากนายทุน หรือรัฐ เท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาถึงข้อปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้น หรือได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่ปัญหาข้อเดียว เดี่ยว ๆ
จำลองสามารถใช้ศิลปะของเรื่องสั้นแสดงศักยภาพของตัวเองได้มากกว่าหลายคน นี่กระมังที่ทำให้เขายืนหยัดมาได้ถึง ๓๐ ปี ในผลงานเล่มใหม่ของเขาจะเป็นอย่างไร คำว่าประสบการณ์ ๓๐ ปี จะมีเรื่องให้ต้องเปรียบเทียบระหว่าง ระยะเวลา คุณภาพ ปริมาณ ได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วเรื่องสั้น
“อย่างว่าจะคลี่คลาย” ของจำลองจะมีจริงหรือไม่? ต้องหามาอ่านเพื่อพิสูจน์ .